After Action Review ครั้งที่ 1 เรื่อง Flipped Classroom ห้องเรียนกลับด้าน


ชื่อ นางสาวโชติรส เจษฎาสิริ รหัสนักศึกษา 57D0103105

สาขาวิชา หลักสูตรและการสอน (Curriculum and Instruction) ปริญญาโท รุ่นที่ 13 ภาคพิเศษ

วัน/เวลา วันเสาร์ที่ 9 สิงหาคม พ.ศ.2557 เวลา 8.40 น. – 11.00 น.

รายวิชา การศึกษาเพื่อพัฒนาสังคมแห่งการเรียนรู้ (102611)

1. ความคาดหวังในการทำกิจกรรม

Flipped Classroom หรือที่เรียกว่าห้องเรียนกลับด้านนี้ เป็นนวัตกรรมการการเรียนสอนที่ยังไม่เคยได้ยินได้รู้จักมาก่อน ดังนั้นเมื่อพูดถึงหัวข้อนี้จึงมีความคาดหวังในหลายๆประเด็น คือ

1)อยากทราบถึงความหมายของสิ่งที่เรียกว่า Flipped Classroom ห้องเรียนกลับด้าน ว่าสิ่งนี้คืออะไร เกี่ยวข้องกับการจัดการเรียนการสอนอย่างไร

2)อยากทราบถึงความเป็นมาของการเกิดนวัตกรรมนี้ว่ามีที่มาอย่างไร ถูกสร้างขึ้นมาจากองค์ประกอบใดบ้าง

3)อยากทราบถึงการนำแนวความคิดของ Flipped Classroom ห้องเรียนกลับด้าน ว่านำมาใช้ในการเรียนการสอนอย่างไร เราสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในแง่มุมใดได้บ้าง

4)อยากทราบถึงจุดเด่นและจุดด้อยของนวัตกรรมนี้

2. สิ่งที่ได้เรียนรู้ในวันนี้ และความคิดเห็นที่มีต่อเรื่องนี้

Flipped Classroom ห้องเรียนกลับด้าน เป็นอีกนวัตกรรมการสอนที่ถูกหยิบยกขึ้นมาใช้ในการจัดการการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับสภาวะทางสังคม สิ่งแวดล้อม และปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาในปัจจุบัน คงต้องบอกว่าเยาวชนรุ่นใหม่มีวัฒนธรรมหลายๆด้านที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย เช่น การใช้เทคโนโลยีการสื่อสารที่ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการดำรงชีวิต การสนทนาที่ไม่มีการพูดคุยกันซึ่งหน้ามีมากขึ้นโดยใช้การสนทนาผ่านตัวอักษร รูปภาพ วิดีโอหรือคลิปเสียง ผู้เรียนมีความสามารถในการทำงานที่หลากหลายในเวลาเดียวกัน มีทักษะในการสืบค้นที่ดี มีความกล้าที่จะแสดงความเห็นต่างและกล้าที่จะตัดสินใจทำในสิ่งที่ตนเชื่อมั่น รวมไปถึงความชอบที่จะค้นหาสิ่งใหม่มากกว่าจดจำสิ่งที่มีอยู่เดิมเนื่องจากความสะดวกในการรับส่งข้อมูลที่รวดเร็วในปัจจุบัน จากปัจจัยที่เปลี่ยนแปลงไปดังกล่าวจึงทำให้เกิดแนวคิดที่จะปรับรูปแบบการเรียนการสอนให้ทันสมัยขึ้น เพื่อแก้ปัญหาที่พบในชั้นเรียนและเพื่อตอบสนองกับสภาพแวดล้อมของสังคม จึงมีการเรียนการสอนแบบ Flipped Classroom ห้องเรียนกลับด้าน ขึ้น

แล้ว Flipped Classroom หรือห้องเรียนกลับด้าน คืออะไร จากการเข้ารับการอบรมพบว่า Flipped Classroom คือการที่กิจกรรมในชั้นเรียนถูกสลับสับเปลี่ยนบริบทกัน นั่นคือ การสลับกันระหว่างกิจกรรมการเรียนการสอนกับการทำการบ้านหรือการทำแบบฝึกหัดของนักเรียน จากเดิมกิจกรรมการเรียนการสอนหรือการศึกษาข้อความรู้ต่างๆจะถูกจัดขึ้นที่โรงเรียน และการทำแบบฝึกหัด/การทำการบ้านเป็นกิจกรรมที่ถูกดำเนินขึ้นที่บ้าน ปรับเปลี่ยนมาเป็นการไปศึกษาข้อความรู้เองที่บ้านแล้วกลับมาทำการบ้านและแบบฝึกหัดที่โรงเรียน ซึ่งการเรียนการสอนในรูปแบบนี้เป็นการแก้ปัญหาในการจัดการเรียนการสอนที่ว่านักเรียนไม่ทำการบ้าน เด็กไม่ฟังที่ครูสอน เนื้อหาวิชาเยอะครูสอนในชั่วโมงไม่ทัน

Flipped Classroom ห้องเรียนกลับด้านช่วยในการจัดการเรียนการสอนหลายด้านดังนี้

1.ครูไม่ต้องสอนเนื้อหาวิชาให้เด็กทั้งหมด แต่ให้เขาได้ศึกษาเรียนรู้ พบอุปสรรคและข้อสงสัยต่างๆด้วยตนเอง ซึ่งเมื่อเกิดข้อสงสัยและไม่สามารถหาคำตอบได้ด้วยตนเอง ครูก็จะกลายเป็นตัวช่วยสำคัญของผู้เรียนไปโดยบริยาย

2.ในขณะที่เด็กทำแบบฝึกหัด/การบ้าน/ชิ้นงานต่างๆ ครูก็มีเวลาในการตรวจเช็คระดับความเข้าใจของนักเรียนในระหว่างที่เด็กสร้างชิ้นงานได้

3.เมื่อเด็กเกิดข้อสงสัยหรือไม่เข้าใจในการทำแบบฝึกหัดก็สามารถปรึกษาครูที่โรงเรียนได้

จากรูปแบบการเรียนการสอนแนวใหม่ ครูผู้สอนก็ควรมีการพัฒนาตนเองและพัฒนาในด้านต่างๆที่เกี่ยวข้อง ปรับห้องเรียนเปลี่ยนแนวการสอน(Teaching Style) ให้เป็น The 21 st Century Classroom ดังนี้

1.ครูจะต้องศึกษารูปแบบของเด็กยุคใหม่(Gen Z) และเข้าใจในวิธีการเรียนรู้ที่นักเรียนถนัดเพื่อจัดการเรียนการสอนได้ตรงกับความต้องการของผู้เรียน

2.หลักสูตรสถานศึกษา หลักสูตรท้องถิ่น ไม่ควรจัดแต่ละรายวิชาแบบแยกส่วน แต่ควรนำทุกๆรายวิชามาจัดการเรียนการสอนแบบบูรณาการโดยใช้กิจกรรมต่างๆมาช่วยในการจัดการเรียนการสอน

3.แนวการสอนที่คิดว่าการสอนเด็กให้เก่งในเนื้อหาควรปรับเปลี่ยนมาเป็น การจัดการเรียนการสอนให้เด็กเกิดแรงบันดาลใจในการเรียนรู้ เป็นผู้ใฝ่รู้ มีกระบวนการในการเรียนรู้(Learning Skill)

4.ทักษะที่ผู้สอนควรมุ่งเน้นให้เกิดกับเด็ก คือ ทักษะชีวิตในการทำงาน ทักษะด้านการเรียนรู้และการใช้นวัตกรรมใหม่ๆ และทักษะด้านสารสนเทศ สื่อและเทคโลโลยี

5.เปลี่ยนการจัดการเรียนการสอนที่ครูเป็นหลักมาเป็นให้นักเรียนเห็นหัวใจในกิจกรรมการเรียนการสอน ใช้การสอนที่เน้นกระบวนการอย่างเช่น Project Based Learning ครูทำหน้าที่เป็นครูฝึก (Coach)

6.การวัดประเมินผลใช้การวัดพัฒนาการของเด็ก วัดจากความก้าวหน้า

7.ครูควรมีการวางแผนการเรียนรู้ร่วมกัน การสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ของครู(Professional Learning Community)จะช่วยให้เด็กมีสังคมแห่งการเรียนรู้

3. การนำไปประยุกต์ใช้ในอนาคตและการทำงานของตนเอง

จากแนวความคิดของเรื่อง ทำให้มองเห็นภาพของการนำประยุกต์ใช้ในแง่มุมที่ว่า การที่เราจะปรับเปลี่ยนห้องเรียนให้ก้าวทันยุคสมัย ครูควรที่จะปรับเปลี่ยนทัศนคติของตนเองเสียด้วย พัฒนาวัฒนธรรมองค์กรในโรงเรียน สร้างสังคมที่แลกเปลี่ยนรู้เรียนซึ่งกันและกันให้เกิดขึ้น ห้องเรียนที่เราปรารถนาหวังอยากให้เด็กเป็นผู้เรียนแบบ Active Learner ก็ย่อมเกิดขึ้นแน่นอน

**************************************************************

หมายเลขบันทึก: 580489เขียนเมื่อ 14 พฤศจิกายน 2014 22:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 พฤศจิกายน 2014 22:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท