Story Telling



ชื่อ นางสาวโชติรส เจษฎาสิริ รหัสนักศึกษา 57D0103105

สาขาวิชา หลักสูตรและการสอน (Curriculum and Instruction) ปริญญาโท ภาคพิเศษ

วัน/เวลา วันอาทิตย์ที่ 24 สิงหาคม พ.ศ.2557 เวลา 8.40 น. – 11.00 น.

รายวิชา การศึกษาเพื่อพัฒนาสังคมแห่งการเรียนรู้ (102611) อาจารย์ผู้สอน ดร.อดิศร เนาวนนท์

1. ผู้เล่า นางสาวโชติรส เจษฎาสิริ

2. ประเด็นเรื่องเล่า ความเชื่อมั่นในตัวครูของนักเรียน

3. สิ่งที่ผู้เล่าภูมิใจ สามารถปรับความคิดให้นักเรียนฝากเงินออมทรัพย์ในชั้นเรียนทุกคน จากเดิมที่ฝากเงินน้อยมาก

4. วิธีการสู่ความสำเร็จในครั้งนี้

เรื่องที่อยากจะแชร์ประสบการณ์ในครั้งนี้อาจจะเป็นเพียงเรื่องเล็กๆน้อยๆที่เกิดขึ้นในมุมหนึ่งของวงการการศึกษา เชื่อว่าทุกโรงเรียนน่าจะมีกิจกรรมการฝากเงินออมทรัพย์ในชั้นเรียนโดยวัตถุประสงค์ก็เพื่อให้นักเรียนได้รู้จักการประหยัดอดออม ฝึกวินัยในการใช้จ่ายเงิน ฝึกการวางแผนการใช้จ่ายของตนเองและให้นักเรียนมีเงินเก็บไว้ใช้ในยามจำเป็น โดยส่วนใหญ่เกือบจะร้อยเปอร์เซ็นต์ ที่นักเรียนจะฝากออมทรัพย์ ซึ่งต่างจากชั้นเรียนของดิฉัน

ปีการศึกษานี้ดิฉันได้รับมอบหมายให้เป็นครูประจำชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ดูแลการทำกิจกรรมต่างๆในชั้น งานธุรการชั้นเรียนและอื่นๆ รวมทั้งการฝากเงินออมทรัพย์ของนักเรียนด้วย หลังจากที่เปิดเทอมเพียงไม่กี่วันเราก็เริ่มกิจกรรมการฝากเงิน นักเรียนในชั้นฝากเงินกันน้อยมาก บ้างก็บอกว่าทานขนมหมดแล้ว บ้างก็ว่าจะเก็บเอาไปหยอดกระปุกออมสินที่บ้าน จนผ่านไปเกือบสัปดาห์ดิฉันจึงเปรยขึ้นมากว่า "ห้องเราฝากเงินกันน้อยจัง" ซึ่งสิ่งที่ได้รับกลับมาทำให้ดิฉันต้องแปลกใจกับคำถามที่ว่า "ครูครับ ถ้าพวกผมฝากเงิน แล้วผมจะได้เงินของพวกผมคืนหรือเปล่าครับ" ดิฉันคิดว่าคำถามนี้ไม่น่าจะเกิดขึ้นเพราะโดยปกติแล้วเมื่อสิ้นปีการศึกษานักเรียนก็จะได้รับเงินฝากคืนอยู่แล้ว ดิฉันจึงได้ซักถามถึงสิ่งที่นักเรียนตั้งคำถาม และแล้วก็พบว่าเมื่อปีที่แล้วนักเรียนต่างก็พากันฝากเงิน แต่พวกเขาไม่ได้รับเงินฝากคืน จนถึงวันที่เขาเรียนในชั้นที่สูงกว่าคือชั้นป.6 ก็ยังไม่ได้รับเงินคืน สิ่งนี้เลยทำให้เขาไม่กล้าฝากเงินออมทรัพย์กับครูในเทอมนี้ ดิฉันได้ถามถึงสาเหตุที่เกิดขึ้น พบว่า คุณครูประจำชั้นคนเก่าทำสมุดบัญชีเงินฝากที่บันทึกการฝากเงินของนักเรียนหายไป ทำให้ไม่ทราบจำนวนเงินฝากของนักเรียนแต่ละคน จึงไม่สามารถคืนเงินได้ถูกต้อง อีกทั้งนักเรียนไม่เคยทราบเลยว่าตัวเขาเองมีเงินฝากอยู่เท่าไร ครูจึงยังไม่คืนเงินฝากให้

เมื่อทราบสาเหตุของเรื่อง ดิฉันจึงได้ทำความเข้าใจกับนักเรียนใหม่ว่าสิ่งเคยเกิดขึ้นกับนักเรียนมาแล้วนั้นจะไม่เกิดขึ้นอีกในชั้นเรียนนี้ อธิบายถึงวัตถุประสงค์ของการฝากเงิน ชี้แจงสิ่งที่เขาจะได้รับจากการออมทรัพย์ของตนเอง ให้เขาบอกถึงประโยชน์และข้อดีของการออมทรัพย์ ซึ่งเขาก็เข้าใจและมีความเชื่อมั่นมากขึ้น ดิฉันนำบัญชีเงินฝากที่ได้ทำขึ้นมาให้นักเรียนดู ชี้แจงว่านักเรียนสามารถมาตรวจสอบยอดเงินฝากของตนเองได้ทุกเมื่อ และครูจะแจ้งยอดการฝากเงินของแต่ละคนในทุกๆเดือน เพื่อให้เขาทราบถึงจำนวนเงินที่เขาออมไว้ได้

หลังจากที่ทำความเข้าใจร่วมกันและสร้างความเชื่อมั่นและความไว้วางใจที่มีต่อครูให้กับตัวนักเรียนได้ เขาก็ฝากเงินเพิ่มขึ้น ทุกคนในชั้นมีส่วนร่วมกับกิจกรรมนี้ร้อยเปอร์เซ็นต์ และดิฉันก็ได้แจ้งยอดเงินฝากแก่นักเรียนในทุกๆเดือนตามที่ได้บอกไว้

เหตุการณ์นี้ดิฉันคิดว่าเราผู้ซึ่งเป็นครูไม่ควรจะมองข้ามไป แม้ว่าจะเป็นเพียงเรื่องเล็กๆน้อยๆแต่ถ้าครูไม่สนใจ ไม่เอาใจใส่ วินัยบางเรื่องของเด็กก็จะขาดหายไป ความเชื่อมั่นที่ว่าครูคือผู้ที่เขาสามารถไว้วางใจ เชื่อใจได้นั้นก็จะหายไปด้วย และเรื่องนี้ก็คือเรื่องที่ดิฉันอยากที่จะบอกเล่าเพื่อร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในครั้งนี้

5. เทคนิค/กลยุทธ์ที่ใช้

สาเหตุที่นักเรียนไม่ฝากเงินเนื่องจากเขาขาดความมั่น ไม่เชื่อถือครู ดิฉันจึงสร้างความเชื่อมั่นให้

เขาก่อน เมื่อมีความเชื่อมั่นในตัวเราเขาก็ไว้วางใจในการฝากเงิน

6. เครื่องมือที่ใช้ -

7. ความเชื่อ/แนวคิดของผู้เล่า

เรื่องบางเรื่องเรามองว่าเป็นสิ่งเล็กๆน้อยๆ แต่สำหรับเด็กแล้วมันเป็นสิ่งที่ปลูกฝังลักษณะนิสัย

ให้เขา ในชั้นเรียนมีครูกับนักเรียนดังนั้นสิ่งที่เขาจะเอาไปเป็นแบบอย่างก็คือเพื่อนในชั้นกับตัวครู

ห้องเรียนที่มีคุณภาพ ครูที่มีคุณธรรมจะช่วยให้เขาได้เติบโตอย่างสมบูรณ์

8. อื่นๆ -

คำสำคัญ (Tags): #story telling
หมายเลขบันทึก: 580493เขียนเมื่อ 14 พฤศจิกายน 2014 22:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 พฤศจิกายน 2014 22:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

So it is 'trust' that is at work here.

True trust is reflexive (it goes both ways) and duration of trust is very much the duration of commitment to the development of trust. Trust is often broken when relationships end. Do you consider using trust as a long term commitment or just a tool to get quick result?

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท