จิตตปัญญาเวชศึกษา 209: ตัวชีวัดระบบใจสัมผัส


ตัวชี้วัดระบบใจสัมผัส

เดี๋ยวนี้เป็นยุคแห่งการบริหารจัดการ ไม่ว่าวงการไหนๆก็หันมาใช้ "ระบบบริหารจัดการ" มาช่วย นัยว่าเพื่อเพิ่มผลผลิต เพิ่มประสิทธิภาพ ยิ่งวัดได้ชัดเท่าไร ยิ่งพัฒนาได้มากเท่านั้น Kaplan & Norton ไปไกลถึงขนาดเขียนไว้ในหน้าแรกๆของหนังสือบริหารจัดการชื่อดัง Balance Scorecard ว่า "Only measurables are improvable" หรือ "สิ่งที่วัดได้เท่านั้นถึงจะพัฒนาได้" วาทะที่ว่านี้เป็นจริงยิ่งกว่าจริงใน business section หรือการบริหารจัดการภาคธุรกิจ เพราะที่สุดแล้วคนก็ลงทุนเพื่อแสวงหากำไร แสวงหารายได้ การลงทุนอะไรลงไปกับสิ่งที่ไม่ได้กำไร ก็เป็นการสูญเปล่า หรือขาดทุนนั่นเอง

ทว่าในโลกนี้ไม่ได้มีกิจกรรมของมนุษย์เพื่อกำไรแต่เพียงอย่างเดียว คำว่า benefit นั้นสามารถมีได้หลายมิตินอกเหนือจากกำไร หรือเงิน อาทิ เพื่อความภาคภูมิใจ เพื่อการอยู่รอด เพื่อคุณภาพชีวิต เพื่อสิ่งแวดล้อม เพื่อมิติทางจิตวิญญาณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพของคน เพราะสุขภาวะของคนนั้นเป็นองค์รวม

การบริหารระบบบริการสาธารณสุขจึงซับซ้อน เพราะโสตหนึ่งการบริการสาธารณสุขต้องมีการ "ลงทุน" คือสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น อาทิ สถานบริการพยาบาลระดับต่างๆ ตั้งแต่ปฐมภูมิ ทุติยภูมิ ตติยภูมิ (ไปๆมาๆอาจจะมีจตุรภูมิ ปัญจภูมิรึเปล่า? ไม่แน่ใจ....) ต้องซื้อเครื่องไม้เครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์ ต้องมีเงินเดือนจ้างบุคลากรทางการแพทย์ ซื้อยา ซื้อเครื่องผ่าตัด ฯลฯ ทุกอย่างต้องใช้เงิน และดูเหมือนว่าจะต้องการเงินอย่างไม่มีขอบเขต มีเท่าไหร่ก็จะใช้ได้จนเกลี้ยงเกลา การบริหารจัดการที่มีการ "หมุนเวียนเงิน" เพื่อกลับมาลงทุน รักษาสภาพ ซ่อมแซม และพัฒนา มีความสำคัญอย่างยิ่ง ในมิตินี้ การบริหารจัดการธุรกิจก็สำคัญ

แต่ในขณะเดียวกัน ความเจ็บไข้ได้ป่วย จะนำมาซึ่งมิติทางอารมณ์ สังคม และจิตวิญญาณแห่งความเป็นมนุษย์ควบคู่กันไปด้วย มิได้มีแค่เรื่องการลงทุน ขาดทุน หรือกำไรเท่านั้น

เรื่องเล่าที่หนึ่ง : เราควรจะทำอะไรได้มากกว่านี้ไหม?

น้องพยาบาลคนหนึ่ง อยู่ รพ.เล็กๆชานเมือง เล่าว่ามีคนไข้อยู่คนหนึ่งมารักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล ป่วยหนักเป็นโรคมะเร็ง ถูกส่งมารักษาตัวที่โรงพยาบาลแต่ก็รักษาไม่หายแล้ว ทำอะไรไม่ได้มากนักเนื่องจากเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย ก็ได้รักษาประทังอาการไปไม่ให้เจ็บ ไม่ให้ปวด ไม่ให้ทรมาน จนกระทั่งอาการดีขึ้น แต่พอพูดเรื่องจะจำหน่าย (ภาษาแพทย์ แปลว่าให้กลับบ้าน หรือ discharge ออกจากโรงพยาบาล) ทีไร ก็จะกระสับกระส่าย เป็นทุกข์ จึงเข้าไปพูดคุยด้วย ได้ใจความว่าคนไข้เป็นนักโทษกำลังถูกจำคุกตามโทษอยู่ในเรือนจำ และถ้าหากจำหน่ายจากโรงพยาบาลเมื่อไรก็ต้องกลับไปอยู่ในคุกเหมือนเดิม ตอนนี้เขาทราบว่าเป็นโรคที่รักษาไม่หาย และต้องตายในที่สุด แต่ไม่อยากจะตายในคุก อยากจะตายที่โรงพยาบาล

น้องพยาบาลทราบเรื่องก็ไม่รู้จะช่วยยังไง อาการคนไข้ก็ดีขึ้นตามลำดับ แม้ว่าตัวโรคจะไม่มีทางหาย แต่ครั้งนี้ดูเหมือนว่าคนไข้จะรอดกลับจากโรงพยาบาลได้ จนวันหนึ่งพยาบาลกลับไปเยี่ยมอีกครั้ง ก็พบว่าแพทย์ที่หอผู้ป่วยได้สั่งจำหน่ายคนไข้ออกไปจากโรงพยาบาลแล้ว ตอนนี้คนไข้เดินทางกลับไปที่เรือนจำ

น้องพยาบาลรู้สึกเป็นทุกข์ เพราะไม่ทราบว่าตนเองยังไม่ได้ทำอะไรที่ทำได้อีกหรือไม่ ควรจะไปหาหมอ บอกหมอเรื่องนี้ไหม หรือว่าระบบของโรงพยาบาลจะเอื้ออำนวยอะไรได้มากกว่านี้หรือไม่

คนไข้กลับไปไม่นาน ก็เสียชีวิตในคุก

เรื่องเล่าที่สอง : ทำเพราะรัก

ผู้ป่วยรายหนึ่งเป็นคนมีฐานะ มียศฐาบรรดาศักดิ์ แต่ป่วยอยู่ที่ต่างแดน เป็นโรคเลือดออกในสมอง มีอาการเป็นอัมพาตครึ่งซีก จากเดิมที่มีชีวิตอิสระ เดินทางไปไหนมาไหนได้ กลายเป็นต้องนอนติดเตียง และต้องมีคนช่วยคือศรีภรรยาคนเดียวอยู่ตลอด ๒๔ ชั่วโมง ผู้ป่วยได้ไปอยู่ในโรงพยาบาลระดับชั้นเลิศ มีการดูแลอย่างใกล้ชิด ทำกายภาพบำบัดอยู่เจ็ดปี ปรากฏว่าอาการดีขึ้น จนถึงกับสามารถลุกขึ้นนั่ง และขับรถได้ แม้ว่าจะยังคงอ่อนแรงอยู่ครึ่งซีกก็ตาม ขณะที่ทุกคนกำลังดีใจในการฟื้นตัวของคนไข้นั้นเอง การไปโรงพยาบาลอีกครั้งหนึ่งก็ได้ทราบข่าวร้ายเพิ่มเติม

คือคนไข้เป็นมะเร็ง และเป็นมะเร็งที่ลุกลามรุนแรง

ท่ามกลางความตกใจและเสียใจของภรรยาและญาติสนิทมิตรสหาย รวมทั้งข่าวร้ายที่มะเร็งที่เป็นนั้น รักษาไม่ได้ ได้แต่ประคับประคองอาการมิให้ทรมานเท่านั้น ผู้ป่วยและภรรยาจึงขอย้ายไปอยู่ที่บ้านอีกประเทศหนึ่ง ซึ่งเป็นสถานที่เกิดและเติบโตของคนไข้เอง แต่ด้วยความที่อาการทรุดลง อยู่ได้ไม่นานก็ต้องกลับมาเมืองไทย

ขณะที่อยู่ที่เมืองไทย จากที่มีทั้งอาการอ่อนแรงจากโรคสมองเดิม เมื่อผนวกกับอาการที่ทรุดลงของมะเร็ง ยิ่งทำให้คนไข้ช่วยเหลือตนเองไม่ได้มากยิ่งขึ้น เดชะบุญที่ภรรยาเป็นคนที่เข้มแข็งและอดทนอย่างสูง เธอทุ่มเทความรักทั้งหมดมาเป็นกำลังในการดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด ตั้งแต่ตื่นนอน เข้าห้องน้ำทำความสะอาด ป้อนข้าวป้อนอาหาร พาไปที่ต่างๆที่ปราถนา อันเป็นภาระงานที่หนักมาก แต่ด้วยความรักสามี ภรรยาก็ได้ปรนนิบัติให้สามีมีความสุขที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

ในการวางแผนการรักษา สามีเข้าใจเรื่องโรคต่างๆเป็นอย่างดี และบอกความหวังไว้ว่าต้องการเสียชีวิตที่บ้าน ไม่อยากเสียชีวิตที่โรงพยาบาล ทุกคนที่ร่วมวางแผนการรักษาก็ทราบถึงความต้องการสุดท้ายนี้ขอผู้ป่วย แต่ปรากฏว่าในระยะท้าย อาการของโรคทำให้ผู้ป่วยเกิดความทุกข์ทรมานอย่างมาก ต้องการการดูแลทางการแพทย์อย่างใกล้ชิด จนในที่สุด เมื่อภรรยาและญาติๆได้ปรึกษากันและถามความเห็นจากแพทย์ที่เกี่ยวข้อง ก็ตกลงกันว่าน่าจะพาผู้ป่วยไปนอนที่โรงพยาบาลจะดีกว่า เพราะไม่สามารถจะดูแลอาการต่างๆได้อย่างเต็มที่ที่บ้าน เมื่อผู้ป่วยมานอนโรงพยาบาลในที่สุด ก็ต้องการให้ภรรยาอยู่ใกล้ๆตลอดเวลา ใครคนอื่นมาดูแล ก็จะไม่เหมือนกัน จะโทรตาม และถามไถ่ตลอดว่าจะมาเยี่ยมอีกเมื่อไร สุดท้ายภรรยาก็บอกว่าเธอจะมาอยู่กับสามีที่โรงพยาบาลตลอดเวลา

จนกระทั่งผู้ป่วยเสียชีวิตอย่างสงบ เคียงข้างภรรยาคู่ชีวิตในโรงพยาบาลนั้นเอง

หลังจากงานศพเสร็จสิ้น ภรรยากลับมาอยู่เพียงลำพัง และเกิดความเศร้าจากการคิดถึงผู้ป่วย นึกทบทวนสิ่งต่างๆที่ได้ทำลงไป บางครั้งก็มีเรื่องที่กลับมาคิดดูแล้ว น่าจะทำอย่างนั้น อย่างนี้ น่าจะดีกว่านี้ ก็เกิดความรู้สึกผิด รู้สึกเสียใจ เป็นมากขึ้นจนมีภาวะเศร้าซึม ต้องไปปรึกษาจิตแพทย์ขอความช่วยเหลือ จิตแพทย์ได้ให้การรักษาและคำปรึกษาอย่างใกล้ชิดอยู่นานพอสมควรจนอาการดีขึ้น และในที่สุดภรรยาก็สามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติอย่างมีความสุข

เธอเล่าว่า "ถึงตอนนี้ สิ่งที่หลงเหลืออยู่ในใจของเธอนั้น ไม่มีเรื่องรู้สึกผิด หรือเสียใจอะไรอีกต่อไป มีแต่ความปลื้มปิติและสุขใจเมื่อได้นึกถึงสิ่งที่เธอได้ทำดีที่สุดเพราะความ รักสามี เป็นต้นทุนและกำลังใจในชีวิตของเธอในปัจจุบัน"
=========================================================

ทั้งสองเรื่องนี้ หากจะดูจาก "ตัวชี้วัด" ว่าผู้ป่วยได้รับการดูแลตามความปราถนาหรือไม่ ก็คงจะตอบว่าล้มเหลวทั้งคู่ เพราะคนแรกไม่อยากตายในคุกก็กลับไปตายในคุก คนที่สองอยากจะตายที่บ้าน ก็กลับไปตายที่โรงพยาบาล

แต่ถามจริงๆว่า "ล้มเหลวจริงหรือ?"

อันความเป็นมนุษย์นั้น อาจจะไม่ได้วัดที่สำเร็จ/ล้มเหลว แต่น่าจะวัดที่เมื่อเกิดอะไรขึ้นมาก็ตาม จะล้มเหลวหรือสำเร็จก็ตาม มนุษย์เกิด "ปัญญา" เกิด "บุญกุศล" ขึ้นกับตนเองหรือไม่ต่างหาก

เพราะวิบากนั้นก็คือกรรมอันสุกงอมแล้ว เกิดขึ้นมาแล้ว จะไปแก้ไขอะไรก็ไม่ได้ ย้อนอดีตไม่ได้ มันสุกงอม และตกลงมาบนผืนโลกไปแล้ว การไปครุ่นคิดหมกมุ่นว่าน่าจะทำอย่างนั้น น่าจะทำอย่างนี้จะดีกว่า เป็นสิ่งที่คิดวนเวียนแล้วไม่มีคำตอบ ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง

แต่สิ่งที่ทำได้ก็คือ เมื่อเกิดวิบากมาแล้วจากกรรมใดๆ เราได้เรียนรู้อะไรหรือไม่?

น้องพยาบาลคนแรกก็จะได้เรียนรู้ว่า เรื่องบางเรื่อง หากเรามีสัมมาทิฏฐิคือคิดชอบ มีสัมมาวาจาก็พูดชอบ ก็ควรจะมีสัมมากัมมันตะ คือลงมือกระทำให้ชอบ มิฉะนั้น เอาแต่คิด เอาแต่ลังเล รอคำตอบที่แน่นอน (ซึ่งไม่มี และอาจจะไม่มีวันมี) ก็จะไม่มีการกระทำเกิดขึ้น หากเรียนรู้แล้ว ครั้งต่อไปก็คงจะถามหมอ ปรึกษาคนอื่นๆ หรือศึกษาระบบว่าเราจะเอื้ออาทรช่วยเหลืออย่างไรได้บ้างไหม เพราะบุญ หรือปุญญ คือ จิตใจผ่องใสเบาสบาย และกุศลนั้น ก็จะเป็นการกระทำที่เป็นเมล็ดพันธุ๋แห่งปัญญา ให้วางได้ ปล่อยได้ และเข้าใจมากยิ่งๆขึ้นในธรรมชาติ

ภรรยาในเรื่องที่สองก็ได้ใคร่ครวญและทราบว่าตนเองได้ทำอย่างเต็มที่ในบริบท นั้นๆแล้ว มิได้มีอะไรหลงเหลือคาใจให้ค้าง ให้คิดว่ายังไม่ได้ทำอะไรให้กับผู้ที่ตนเองรักที่สุด

การวัด การชี้ หรือการชี้วัดในการดูแลเยียวยามนุษย์ คงจะใช้ระบบไม้บรรทัด เส้นกราฟ ตาราง หรือจะชั่ง จะตวงนั้นไม่ได้ แต่คงจะต้องใช้ใจ ใช้โยนิโสมนสิการ ใช้มงคลแห่งความเป็นพหูสูตร ร่ำเรียนรู้จากความจริงที่สุดของชีวิตเบื้องหน้า ความยากและอุปสรรคต่างๆนั้นเป็นเพียงการสอบเลื่อนชั้นของปัญญาเท่านั้น เราควรที่จะคาดหวังว่าเมื่อเราสอบผ่านประถม ข้อสอบมัธยมมันควรจะยากขึ้น สอบผ่านปริญญาตรี จะได้ปริญญาโทเอกก็ต้องยากขึ้น

แต่รางวัลคือปัญญานั้น เป็นที่สุดของรางวัลของมนุษย์แล้ว

เขียนโดยนพ.สกล สิงหะ
หน่วยชีวันตาภิบาล โรงพยาบาลสงขลานครินทร์
วันจันทร์ที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๗ เวลา ๑๓ นาฬิกา ๒๒ นาที
วันแรม ๔ ค่ำ เดือน ๑๒ ปีมะเมีย

หมายเลขบันทึก: 580133เขียนเมื่อ 10 พฤศจิกายน 2014 13:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 พฤศจิกายน 2014 13:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท