360-Degree Leader


ผู้นำทุกทิศ คือผู้ที่ช่วยให้บุคลากรทุกระดับประสบความสำเร็จ

ผู้นำทุกทิศ

360-Degree Leader

พันเอก มารวย ส่งทานินทร์

[email protected]

8 พฤศจิกายน 2557

John C. Maxwell เป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องภาวะผู้นำ เขาบรรยายและถ่ายทอดเรื่องภาวะผู้นำให้กับบริษัทใน Fortune 500, โรงเรียนนายทหาร West Point, และองค์กรกีฬาเช่น NCAA, NBA, และ NFL เขาเป็นผู้ก่อตั้ง Injoy Stewardship Services, Maximum Impact และ EQUIP (ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไร) เขาประพันธ์หนังสือขายดีหลายเล่ม เช่น Winning with People, Thinking for a Change, Developing the Leader Within You และ The 21 Irrefutable Laws of Leadership

John C. Maxwell ได้อธิบายถึงหลักภาวะผู้นำที่ใช้ได้กับระดับที่สูงกว่า ระดับเดียวกัน และระดับที่ต่ำกว่า ถ้าผู้นำระดับกลางสามารถใช้หลักการดังกล่าว เขาก็จะเป็น ผู้นำทุกทิศ (360-Degree Leader)

ผู้ที่สนใจเอกสารแบบ PowerPoint (PDF file) สามารถ Download ได้ที่ http://www.slideshare.net/maruay/360-degree-leader-31408043

ปัญหาเรื่องภาวะผู้นำในทุกองค์กรที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันคือ การบริหารจัดการเรื่องของบุคลากรที่มีอยู่รอบตัว ซึ่งร้อยละ 99 มักเกิดขึ้นกับผู้นำระดับกลาง John C. Maxwell จึงได้เน้นอธิบายภาวะผู้นำที่อยู่ในระดับกลางขององค์กร ให้มีความสามารถในการนำองค์กร ซึ่งจะมีอิทธิพล (influence) กับผู้นำระดับที่สูงกว่า ระดับเดียวกัน และระดับที่ต่ำกว่า ผู้จัดการหลายคนคิดว่า ตนเองไม่ได้เป็นผู้นำหลักขององค์กร จึงไม่สามารถมีอิทธิพลกับใครได้ ในความเป็นจริงแล้ว ถ้าเขานำทักษะเรื่องการนำได้ทุกทิศมาใช้ เขาจะสามารถสร้างอิทธิพลกับผู้คนได้รอบตัว

ก. ตำนานหรือความเชื่อ 7 ประการ (ที่ผิด ๆ)

1. ตำนานแรกคือ ถ้าตนเองไม่ได้เป็นผู้นำระดับสูง ก็ไม่สามารถนำองค์กรได้ (The POSITION Myth "I can't lead if I am not at the top") เขาเหล่านั้นจะทำตามระเบียบปฏิบัติที่วางไว้ ถ้าไม่มีคำสั่งก็ไม่ต้องปฏิบัติ เพราะไม่ได้อยู่ในใบบรรยายลักษณะงาน ผู้นำที่มีศักยภาพ ไม่จำเป็นต้องอยู่ในตำแหน่งสูงสุดขององค์กร ผู้นำสามารถมีอิทธิพลกับผู้อื่นได้ไม่ว่าจะอยู่ในตำแหน่งใด การที่ผู้จัดการสอนทักษะการนำให้กับทีมงาน จะทำให้เขามีทักษะในการนำเพิ่มขึ้น

2. ตำนานที่สองคือ เมื่อตนเองอยู่ในตำแหน่งสูง จึงจะเรียนรู้เรื่องการนำ (The DESTINATION Myth "When I get to the top, then I'll learn to lead") การเป็นผู้นำ คือการเดินทางของการเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา เพราะต้องแสวงหาแนวคิดใหม่ ๆ ทักษะใหม่ ๆ และพฤติกรรมใหม่ ๆ John Wooden โค้ชหอเกียรติยศกีฬาบาสเก็ตบอลของอเมริกากล่าวว่า เมื่อโอกาสมาถึง เป็นการสายเกินไปที่จะเตรียมตัว (when opportunity comes, it's too late to prepare) หมายถึง ต้องเตรียมตัวให้พร้อมอยู่เสมอ เผื่อมีโอกาสผ่านมา

3.ตำนานที่สามคือ ถ้าตนเองเป็นผู้นำระดับสูง ผู้คนก็จะยอมทำตาม (The INFLUENCE Myth "If I were on top, then people would follow me") การที่ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงในตำแหน่งระดับสูง ไม่ได้หมายความว่าเขาจะมีการนำที่ดีได้ เพราะภาวะผู้นำที่มีอิทธิพลกับผู้อื่นได้นั้น ไม่ได้ขึ้นกับตำแหน่งที่เป็นอยู่ ผู้นำต้องเป็นผู้ที่ได้รับการยอมรับ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาสร้างสม

4.ตำนานที่สี่คือ เมื่อตนเองเป็นผู้นำระดับสูง ก็จะมีอำนาจในการควบคุมได้ทุกสิ่ง (The INEXPERIENCE Myth "When I get to the top, I'll be in control") มีปัจจัยหลายหลากในการที่จะมีอำนาจควบคุมองค์กรได้ การมีตำแหน่งสูง ไม่ได้ประกันว่าจะมีอิทธิพลได้เสมอไป การมีชีวิตอยู่ตำแหน่งบนสุดไม่ใช่เรื่องง่าย

5.ตำนานที่ห้าคือ เมื่อตนเองอยู่ในตำแหน่งสูง ก็สามารถทำได้ทุกสิ่ง (The FREEDOM Myth "When I get to the top, I'll no longer be limited") การได้เลื่อนตำแหน่งสูงขึ้น หมายถึงความรับผิดชอบที่ต้องมีเพิ่มขึ้น ความกดดันเพิ่มขึ้น และความคาดหวังก็เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน แทนที่จะมีอิสระเพิ่มขึ้น ความจริงอาจจะลดลงก็ได้

6.ตำนานที่หกคือ ตนเองไม่สามารถใช้ศักยภาพได้เต็มที่ ถ้าหากไม่ได้เป็นผู้นำระดับสูง (The POTENTIAL Myth "I can't reach my potential if I'm not the top leader") ในความเป็นจริง มีผู้คนจำนวนน้อยมาก ที่ได้เป็นผู้นำระดับสูง การทำให้ดีที่สุด ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้นำระดับสูง ผู้นำที่มีอิทธิพลสูงสุด บ่อยครั้งคือผู้นำระดับกลาง

7. ตำนานที่เจ็ดคือ ถ้าตนเองไม่ได้เป็นผู้นำระดับสูง ก็จะไม่ทำอะไรเลย (The ALL-OR-NOTHING Myth "If I can't get to the top, then I won't try to lead") ผู้บริหารสูงสุด ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ที่มีอิทธิพลได้เพียงผู้เดียว การเป็นผู้นำระดับกลาง ที่มีทักษะในการนำ จะสามารถมีอิทธิพลต่อบุคคลทุกระดับในองค์กรได้มากกว่า ทั้งต่อผู้นำที่อยู่ในระดับสูงกว่า ระดับเดียวกัน และระดับต่ำกว่า

ข. ความท้าทายที่ผู้นำทุกทิศต้องเผชิญ 7 ประการ

1.ความท้าทายประการแรก คือ ความตึงเครียด (The TENSION Challenge: The Pressure of Being Caught In the Middle) เนื่องจากไม่แน่ใจในจุดยืน ว่ามีอำนาจ หน้าที่ การเข้าถึงทรัพยากร และข้อจำกัดอื่น ๆ ซึ่งอาจก้าวก่ายหน้าที่ของผู้อื่น ผู้นำที่ดีจะมีการประเมินสภาวะแวดล้อมขององค์กร เพื่อกำหนดข้อดีและข้อเสียของการตัดสินใจในเรื่องอะไรก็ตาม มีหลายทางในการลดความตึงเครียด เช่น รู้ว่าอะไรควรทำ อะไรควรปล่อย พยายามหาคำตอบอย่างรวดเร็ว อย่าทำลายความไว้วางใจ และรู้จักผ่อนคลายความเครียด

2.ความท้าทายประการที่สอง คือ ผู้นำที่ไม่มีประสิทธิภาพ (The FRUSTRATION Challenge: Following an Ineffective Leader) ผู้นำที่ไม่มั่นคงก่อเกิดความอึดอัด กลัวผู้นำอื่นจะทำได้ดีกว่าตน ผู้นำประเภทนี้มักแสดงอาการฉุนเฉียว ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง ทำให้ทีมเกิดความแตกแยก วิธีแก้ไขความอึดอัดคือ มีความเป็นมิตร รู้จักการยกย่องและขอบคุณ ชมเชยในจุดแข็งและช่วยกำจัดจุดอ่อนต่อผู้นำอื่น ๆ

3.ความท้าทายประการที่สาม คือ ต้องทำหน้าที่หลายอย่าง (The MULTI-HAT Challenge: One Head… Many Hats) ผู้นำระดับกลางจะต้องเผชิญกับแรงกดดันทุกด้าน เป็นประจำทุกวัน ไม่ว่าจากนาย ลูกน้อง ลูกค้า หรือเพื่อนร่วมงาน การจัดการคือ รู้ว่าควรสวมหมวกใบใดในสถานการณ์ใดจึงจะเหมาะสม มีความมุ่งมั่นต่อความรับผิดชอบ และมีความยืดหยุ่น

4.ความท้าทายประการที่สี่ คือ ถูกบดบังบทบาท (The EGO Challenge: You're Often Hidden in the Middle) เป็นเรื่องของอัตตา ที่มักจะถูกมองข้ามผลงานที่ตนได้กระทำ วิธีแก้ไขคือ มีความภูมิใจในตำแหน่งที่ตนดำรงอยู่ มุ่งเน้นความสนใจไปที่ความสำเร็จมากกว่าการส่งเสริมตนเอง ทำดีต่อไปแล้วผลงานจะแสดงตนเองออกมา ความภูมิใจที่ได้รับคำชมเชยจะเป็นไปอย่างธรรมชาติกว่า

5.ความท้าทายประการที่ห้า คือ อยากอยู่ข้างหน้ามากกว่าอยู่ตรงกลาง (The FUFILLMENT Challenge: Like the Front More than the Middle) เป็นความปรารถนาของปุถุชนทั่วไป ที่อยากมีความก้าวหน้าเพิ่มขึ้น และอยากเป็นผู้กำหนดทิศทาง ผู้นำควรระวังว่า การก้าวหน้าที่เร็วเกินไป จะทำให้ขาดผู้ร่วมทาง นั่นคือขาดกาสนับสนุนที่เกิดจากการกระทำของผู้นำระดับกลาง วิธีแก้ไขคือ การมีทัศนคติที่ถูกต้อง มีความสัมพันธ์ที่เข้มแข็งกับบุคคลสำคัญ และมีความปรารถนาที่จะชนะร่วมกับทีมมากกว่าส่วนตัว มีการสื่อสารสม่ำเสมอ จึงจะเป็นที่ต้องการขององค์กร

6.ความท้าทายประการที่หก คือ สนับสนุนวิสัยทัศน์ที่ตนไม่ได้สร้าง (The VISION Challenge: Championing the Vision When You Didn't Create It) ผู้นำระดับกลางมีหน้าที่ถ่ายทอดวิสัยทัศน์ขององค์กร ที่โดยมากตนเองไม่ได้มีส่วนร่วมในการสร้าง ผู้นำทุกทิศจึงมีส่วนเชื่อมต่อวิสัยทัศน์ขององค์กร ตั้งแต่บนลงถึงล่างสุด โดยการทำตนให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ เพิ่มคุณค่าให้กับผู้นำและบุคลากรทุกระดับ ในการทำให้วิสัยทัศน์เป็นจริง

7.ความท้าทายประการที่เจ็ด คือ การมีอิทธิพลต่อผู้อื่น (The INFLUENCE Challenge: Leading Others Beyond Your Position is Not Easy) ผู้นำมีบทบาทในการชักนำผู้อื่น ด้วยการทำให้ผู้อื่นอยากก้าวตามด้วยความสมัครใจ เพราะความรู้สึกว่า ได้รับการเอาใจใส่ อีกทั้งผู้นำมีความน่าเชื่อถือ มีความสามารถ มีความสม่ำเสมอ และมุ่งมั่นต่อการทำให้เป็นจริง เมื่อผู้นำแสดงคุณสมบัติเหล่านี้ออกมา จะมีแรงที่มีอิทธิพลต่อผู้อื่น ซึ่งเป็นคุณลักษณะของผู้นำได้ทุกทิศ

The INFLUENCE

  • INTEGRITY – builds relationships on trust
  • NURTURING – cares about people as individuals
  • FAITH – believes in people
  • LISTENING – values what others have to say
  • UNDERSTANDING – sees from their point of view
  • ENLARGING – helps others through difficulties
  • CONNECTING – initiates positive relationships
  • EMPOWERING – gives them the power to lead

ค. หลักการนำผู้นำระดับที่สูงกว่า 9 ประการ

1.หลักการนำระดับที่สูงกว่า ข้อแรกคือ การนำตนเองให้ได้ดีเสียก่อน (Lead yourself Exceptionally Well) การบริหารตนเองให้ดีขึ้นกับ การมีจุดเน้น มีวินัย มีจุดหมาย และมีการจัดการกับคำพูดและอารมณ์ในการแสดงออกได้อย่างเหมาะสม ผู้นำต้องมีการบริหารจัดการกับเวลาที่ดี โดยมีการจัดลำดับความสำคัญของงาน และชีวิตของตนเอง การนำระดับที่สูงกว่า ต้องมีการนำตนเองที่ดีเสียก่อน ถ้านำตนเองยังได้ไม่ดี ก็จะไม่มีคนทำตาม ให้ความนับถือ หรือมาร่วมงานด้วย

2.หลักการนำระดับที่สูงกว่า ข้อที่สองคือ การแบ่งเบาภาระงาน (Lighten your Leader's Load) งานของนายสำเร็จ องค์กรก็ประสบความสำเร็จด้วย ผู้ที่ช่วยงานผู้อื่นจะได้รับการชื่นชม และได้รับความช่วยเหลือเป็นการตอบแทน บุคคลควรยืนหยัดอยู่ข้างนายและคอยปกป้องผู้เป็นนาย คอยช่วยแก้ปัญหาให้ คอยถามนายว่ามีอะไรให้ช่วยเหลือ อย่างจริงใจ เป็นบวก และมีความพยายามติดตามงานอย่างต่อเนื่อง

3.หลักการนำระดับที่สูงกว่า ข้อที่สามคือ ทำในสิ่งที่ผู้อื่นปฏิเสธ (Be Willing to Do What Others Won't) การทำงานที่ยาก มีความเสี่ยงว่าจะไม่สำเร็จ คนอื่น ๆ อาจปฏิเสธ แต่ผู้นำทุกทิศจะอาสาทำงานดังกล่าว ถึงแม้ว่าไม่ได้เป็นงานในหน้าที่ โดยไม่มีการถือตน ไม่แก้ตัว มีความรับผิดชอบ และทำงานได้ดีเกินความคาดหมาย

4.หลักการนำระดับที่สูงกว่า ข้อที่สี่คือ การนำ (Do More than Manage—Lead!) ข้อแตกต่างของผู้นำและผู้จัดการคือ ผู้นำทำงานกับบุคคล ผู้จัดการทำงานกับกระบวนการ ซึ่งมีความสำคัญต่อความสำเร็จขององค์กรทั้งคู่ เพราะผู้นำมองไปในอนาคต ผู้จัดการมองความเป็นจริงในปัจจุบัน การนำองค์กรสู่อนาคต ผู้นำต้องแสวงหาวิธีการที่ดีกว่าเดิม และเป็นนวัตกรรม ผู้นำต้องมีความปรีชาในเรื่องสิ่งที่จับต้องไม่ได้ เช่น ขวัญและกำลังใจ การสร้างแรงกระตุ้น เรื่องของอารมณ์ และทัศนคติ

5.หลักการนำระดับที่สูงกว่า ข้อที่ห้าคือ การมีสัมพันธภาพที่ดี (Invest in Relational Chemistry) ผู้นำจะมีสัมพันธภาพที่ดีต่อบุคคลได้รอบตัว หนทางคือการฟัง ว่าอะไรคือสิ่งที่สำคัญสำหรับพวกเขา เข้าใจบุคลิกภาพ สนับสนุนวิสัยทัศน์ และความสนใจที่มีร่วมกัน (ของผู้นำระดับที่สูงกว่า) ซึ่งทำให้ผู้นำระดับกลางมีข้อมูลข่าวสาร ที่สามารถกำหนดความเร่งด่วนในการทำงาน จะส่งผลให้ได้รับการสนับสนุน และความไว้วางใจ

6.หลักการนำระดับที่สูงกว่า ข้อที่หกคือ การใช้เวลาให้ได้ประโยชน์สูงสุด (Be Prepared Every time you Take your Leader's Time (10x rule)) เพราะเวลาเป็นสิ่งสำคัญของผู้นำระดับสูง การเข้าพบแต่ละครั้งต้องเตรียมตัวทุกอย่างให้พร้อม โดยใช้เวลาเตรียมล่วงหน้า 10 นาทีต่อทุกนาที ที่ใช้กับผู้นำระดับสูง เมื่อได้รับอนุญาตให้พูดหรือขอความคิดเห็น นั่นคือการเปิดโอกาส อย่าพูดเรื่องไร้สาระทำให้เสียเวลา ควรนำเสนอสิ่งที่เป็นสาระ มีความคิดเห็นที่ดี ๆ เป็นเชิงบวก เรียนรู้ที่จะพูดภาษาเดียวกันกับนาย และมีบทสรุปที่ทำให้นายคิดว่ามีความคุ้มค่า

7.หลักการนำระดับที่สูงกว่า ข้อที่เจ็ดคือ รู้ว่าเมื่อใดควรรุกเมื่อใดควรถอย (Know When to Push and When to Back Off) การนำเสนอความคิดดีๆ ในเวลาที่ไม่ถูกไม่ควร ก็ถือได้ว่าเป็นความคิดที่ไม่ดี ดังนั้นผู้นำระดับกลางพึงสังวรว่า เมื่อใดควรพูดเมื่อใดไม่ควรพูด ให้รู้จักประเมินสถานการณ์และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ ควรถอยเมื่อหมดเวลาแล้ว หรือได้นำเสนอจุดยืนไปเรียบร้อยแล้ว

8.หลักการนำระดับที่สูงกว่า ข้อที่แปดคือ เป็นผู้ที่นายนึกถึงเมื่อต้องการใช้งาน (Become a Go-To Player) เพราะเป็นผู้ที่ทำงานได้สำเร็จ มีความสามารถพิเศษ มีความรับผิดชอบ และเป็นผู้ที่ทำให้งานเกิดขึ้นมาได้ ผู้นำระดับสูง จะมองหาผู้ที่เสนอตัวรับความท้าทายในเวลาที่เกิดเหตุการณ์คับขัน ทรัพยากรมีน้อย ในเวลาจำกัด และสามารถทำงานให้สำเร็จตามกำหนด นั่นคือ เป็นคนที่ถูกเลือกใช้ในเวลาที่ต้องการ

9.หลักการนำระดับที่สูงกว่า ข้อที่เก้าคือ ทำพรุ่งนี้ให้ดีกว่าวันนี้ (Be Better Tomorrow than you are Today) ผู้นำต้องเรียนรู้ในการพัฒนาตนตลอดเวลา ถ้าหยุดการเรียนรู้ ความสามารถในการนำจะด้อยลง Maxwell กล่าวว่า ไม่ว่าค่าใช้จ่ายในการพัฒนาและเรียนรู้จะแพงเท่าใด ยังถูกกว่าการไม่ทำอะไรเลย

ง. หลักการนำระดับเดียวกัน 7 ประการ

1.หลักการนำระดับเดียวกัน ข้อแรกคือ ความเข้าใจ การฝึกฝน และใช้วงจรภาวะผู้นำ (Understand, Practice and Complete the Leadership Loop) ภาวะผู้นำเป็นกระบวนการต่อเนื่องและต้องใช้เวลา วงจรภาวะผู้นำประกอบด้วย 7 ปัจจัยคือ การเอาใจใส่ การเรียนรู้ การขอบคุณ การสนับสนุน การพูดแสดงออก การนำ และ การประสบความสำเร็จ (caring, learning, appreciating, contributing, verbalizing, leading, and succeeding) ความท้าทายคือการช่วยผู้อื่นให้สำเร็จโดยไม่มีการข้ามขั้นตอนทั้ง 7 และมีการเน้นย้ำอย่างสม่ำเสมอ

2.หลักการนำระดับเดียวกัน ข้อที่สองคือ ให้ความร่วมมือกัน (Put Completing Fellow Leaders Ahead of Competing with Them) ถ้าจะมีการแข่งขัน ต้องเป็นไปอย่างยุติธรรม ไม่ควรเป็นการแข่งขันภายในทีมเดียวกัน แต่ควรเป็นการแข่งขันระหว่างทีม การทำงานร่วมกันเป็นทีม จะทำให้เกิดการเคารพซึ่งกันและกัน สร้างความน่าเชื่อถือ และมีอิทธิพลสูง

3.หลักการนำระดับเดียวกัน ข้อที่สามคือ ความเป็นมิตร (Be a Friend) ทุกคนต้องการมีเพื่อนไม่ว่าในสถานการณ์ใด การมีเพื่อนที่ดีเป็นหนทางสู่ความสำเร็จ ความเป็นมิตรหมายถึงการตั้งใจฟัง มีเวลาให้เสมอ มีจุดยืนที่เหมือนกัน มีอารมณ์ขัน และไว้วางใจกันและกัน

4.หลักการนำระดับเดียวกัน ข้อที่สี่คือ หลีกเลี่ยงการเมืองในที่ทำงาน (Avoid Office Politics) การเล่นการเมืองในที่ทำงานทำให้เกิดการแบ่งพรรคแบ่งพวก การหลีกเลี่ยงการเมืองในที่ทำงานคือ อย่าเข้าไปยุ่งเกี่ยวในวงซุบซิบนินทา และการทะเลาะเบาะแว้งเล็ก ๆ น้อย ๆ ผู้นำทุกทิศควรยืนหยัดเคียงข้างความถูกต้อง มองทุกด้านของประเด็นต่าง ๆ ไม่เข้าข้างตนเอง พูดจริงทำจริง และสร้างความมั่นใจกับทุกคนได้แม้จะมีแรงกดดันเพียงใดก็ตาม

5.หลักการนำระดับเดียวกัน ข้อที่ห้าคือ ทำความรู้จักกับผู้คน (Expand Your Circle of Acquaintances) แม้นว่าการอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่แคบ ๆ จะรู้สึกปลอดภัย แต่ผู้นำควรขยายวงการรู้จักกับผู้คนให้มากขึ้น เพราะจะได้รับฟังความคิดเห็นใหม่ ๆ ผู้นำควรขยายวงการรู้จักผู้คน เพื่อความเชี่ยวชาญ ความเข้มแข็ง และเพื่อลดอคติและการทำตามความเคยชิน

6.หลักการนำระดับเดียวกัน ข้อที่หกคือ ยอมรับความคิดเห็นที่ดีที่สุด (Let the Best Idea Win) ผู้นำทุกทิศไม่ควรยึดถือว่าความคิดเห็นของตนถูกต้องและดีที่สุด นั่นคือยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นด้วย เปิดใจฟังความคิดเห็นใหม่ ๆ ปกป้องผู้ที่มีความคิดสร้างสรรค์และผู้มีความคิดริเริ่มใหม่ ๆ ไม่ควรยึดถือเรื่องส่วนตัวสำคัญกว่าประโยชน์ส่วนรวม

7.หลักการนำระดับเดียวกัน ข้อที่เจ็ดคือ รู้ตนว่ายังไม่สมบูรณ์แบบ (Don't Pretend You're Perfect) ผู้นำหลายคนพยายามแสดงออกว่าตนรู้ทุกเรื่อง ความเป็นจริงแล้ว ควรรู้จักยอมรับว่า ตนเองอาจผิดพลาดได้ ไม่ต้องกลัวการติฉินนินทา รู้จักทำใจให้กว้างขึ้นในการเรียนรู้จากผู้อื่น

จ.หลักการนำระดับที่ต่ำกว่า 7 ประการ

1.หลักการนำระดับที่ต่ำกว่า ข้อแรกคือ เดินในที่ทำงานช้า ๆ (Walk Slowly Through the Halls) หมายถึงผู้นำควรมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา รู้จักทักทายและทำตนเป็นคนติดดินที่ผู้คนสามารถเข้าถึงได้ ผู้นำที่ทำตนอยู่สูง ยากในการพบหา จะมีอิทธิพลต่อทีมน้อย ถ้าผู้นำแสดงออกถึงการใส่ใจต่อผู้คน จะทำให้เกิดความสมดุลของเรื่องส่วนตัวและอาชีพ

2.หลักการนำระดับที่ต่ำกว่า ข้อที่สองคือ ทุกคนพยายามทำดี (See Everyone as a "10") ผู้นำที่แสดงถึงการยอมรับในตัวบุคคลอื่น ชื่นชมทันทีที่เห็นการกระทำที่ดี จะเป็นแรงกระตุ้นให้บุคลากรเกิดความเชื่อมั่นในตนเองและมีการพัฒนาเพิ่มขึ้น ผู้นำไม่ควรให้รางวัลกับผลงานที่ย่ำแย่ แต่ยังเคารพในศักดิ์ศรีของบุคคล ซึ่งจะส่งผลทำให้บุคลากรมีความมานะพยายามที่จะทำผลงานให้ดีขึ้น ให้สมกับความคาดหวังของผู้นำ

3.หลักการนำระดับที่ต่ำกว่า ข้อที่สามคือ พัฒนาบุคลากรเป็นรายบุคคล (Develop Each Team Member as a Person) ผู้นำที่ดีควรพัฒนาบุคลากรให้มีคุณภาพในการทำงานเป็นรายบุคคล การพัฒนาบุคลากรเป็นงานที่ต้องใช้เวลา การพัฒนาบุคลากรขึ้นกับความจำเป็นของแต่ละบุคคลซึ่งแตกต่างกันออกไป แต่จะต้องสอดคล้องกับเป้าหมายขององค์กรด้วย

4.หลักการนำระดับที่ต่ำกว่า ข้อที่สี่คือ จัดงานให้เหมาะกับคน (Place People in Their Strength Zones) ถ้าหากจัดงานไม่ตรงกับความถนัดของบุคลากรแล้ว จะทำให้งานออกมาไม่ดี บุคลากรเกิดความท้อแท้ ประการแรก ผู้นำต้องรู้จุดแข็งของบุคลากรแต่ละคน ประการต่อไปต้องจัดการงานให้เหมาะสมกับบุคคลนั้น ประการสุดท้ายคือระบุทักษะที่บุคลากรควรมี แล้วการจัดอบรมระดับดีเยี่ยมให้กับบุคลากรเพื่อการทำงานให้สำเร็จ

5.หลักการนำระดับที่ต่ำกว่า ข้อที่ห้าคือ การเป็นบุคคลตัวอย่างที่ดี (Model the Behavior You Desire) ทัศนคติและพฤติกรรมของผู้นำบ่งบอกวัฒนธรรมขององค์กร การตัดสินใจของผู้นำขึ้นกับค่านิยมขององค์กร ซึ่งจะมีผลต่อบุคลากร ที่จะประพฤติปฏิบัติเช่นเดียวกับผู้นำ

6.หลักการนำระดับที่ต่ำกว่า ข้อที่หกคือ การถ่ายทอดวิสัยทัศน์ (Transfer the Vision) วิสัยทัศน์ เป็นตัวบ่งชี้เป้าหมายหรือทิศทางขององค์กร ทำให้บุคลากรเกิดแรงจูงใจ ดังนั้นวิสัยทัศน์ควรมีเป้าหมายที่ชัดเจน เชื่อมโยงกับอดีต ปัจจุบัน และอนาคต มีความท้าทาย สร้างความใฝ่ฝัน ต้องมั่นใจว่าบุคลากรเข้าใจจุดมุ่งหมาย มอบหมายความรับผิดชอบที่ท้าทาย และกระตุ้นให้เกิดแรงจูงใจ

7.หลักการนำระดับที่ต่ำกว่า ข้อที่เจ็ดคือ ให้รางวัลตามผลลัพธ์ (Reward for Results) "Whatever action leaders reward will be repeated". การให้รางวัลเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมซ้ำ ๆ ผู้นำควรให้รางวัลและคำยกย่องโดยส่วนตัวและในที่สาธารณะ สำหรับผู้ที่มีผลงานดี ไม่ควรให้รางวัลทุกคนเท่าเทียมกัน เพราะแต่ละคนมีผลงานที่ไม่เท่าเทียมกัน และการให้รางวัลคนที่ผิด จะทำให้เกิดความวุ่นวาย

ฉ. คุณค่าของผู้นำทุกทิศ 5 ประการ

1.ผู้นำเป็นทีม มีประสิทธิผลมากกว่าผู้นำเดี่ยว (A Leadership Team is More Effective Than Just One Leader) ผู้นำที่ดีมีการสร้างทีมนำ โดยการสรรหาบุคคลที่เก่งกว่าตน มีความมั่นคงในบทบาทของตนเอง มีการมอบอำนาจ เป็นนักฟังที่ดี และมีความเข้าใจว่าตนเพียงคนเดียวทำให้สำเร็จได้ยาก

2.ผู้นำ เป็นที่ต้องการในทุกระดับขององค์กร (Leaders are Needed at Every Level of the Organization) ถ้าขาดผู้นำ ทำให้ขาดวิสัยทัศน์ การตัดสินใจทุกอย่างเกิดความล่าช้า ปัญหาสะสม มีการขัดแย้ง ขวัญและกำลังใจลดลง ผลิตผลลดลง และความสำเร็จเกิดได้ยาก การพัฒนาทีมให้เข้มแข็ง เป็นการพัฒนาผู้นำในทุกระดับขององค์กร

3.ผู้นำที่ทำสำเร็จในระดับตนเอง ควรได้รับการเลื่อนขั้นสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้น (Leading Successfully at One Level is a Qualifier for Leading at the Next Level) การมีผู้นำที่ดีในระดับสูงขึ้นไปได้ ขึ้นอยู่กับการมีทักษะภาวะผู้นำที่ดีในระดับปัจจุบัน ถ้าคุณสามารถนำอาสาสมัครได้ดี คุณสามารถนำได้เกือบทุกคน

4.ผู้นำระดับกลางที่มีประสิทธิภาพ จะช่วยงานผู้นำระดับสูงได้ดี (Good Leaders in the Middle Make better Leaders at the Top) เพราะผู้นำระดับกลางมีการใกล้ชิดกับบุคลากรผู้ปฏิบัติงาน และรู้ความจริงว่าเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น เขาสามารถช่วยให้ผู้นำระดับสูง ให้มุ่งทำหน้าที่เฉพาะที่ควรทำคือ การจัดลำดับความสำคัญ และสร้างการเจริญเติบโตให้กับองค์กร เพราะผู้นำระดับกลางสามารถให้ความรู้กับผู้นำระดับสูงได้ดี และมีอิทธิพลกับบุคลากรระดับล่าง

5.ทุกองค์กรต้องการผู้นำทุกทิศ (360º Leaders Possess Qualities Every Organization Needs) ที่สามารถนำได้ทั้งขึ้นบน ด้านข้าง และลงล่าง เพราะเขาเหล่านี้มีความสามารถในการปรับตัว มีความฉลาด มีมุมมอง มีวุฒิภาวะ มีการสื่อสาร มีความอดทน มีความรับผิดชอบ และมีความสามารถที่พึ่งพาได้ ผู้นำในวันพรุ่งนี้ จะมีความคิดเห็นใหม่ ๆ ในการแก้ปัญหา กล้าเสี่ยง และเห็นโอกาสพัฒนาใหม่ ๆ

ลักษณะพิเศษผู้นำทุกทิศ 12 ประการ

  • 1. Place a high value on people
  • 2. Commit resources to develop people
  • 3. Place a high value on leadership
  • 4. Look for potential leaders
  • 5. Know and respect your people
  • 6. Provide your people with leadership experiences
  • 7. Reward leadership initiative
  • 8. Provide a safe environment where people are questions, share ideas, and take risk
  • 9. Grow with your people
  • 10. Draw people with high potential into your inner circle
  • 11. Commit yourself to developing a leadership team
  • 12.Unleash your leaders to lead

หลักการสำคัญ John C. Maxwell ระบุหลักการสามประการในการนำองค์กรของผู้นำระดับกลาง คือ:

1. การนำระดับที่สูงกว่า (Lead-Up): เป็นกระบวนการที่มีผลต่อผู้นำที่อยู่ระดับสูงกว่า นั่นคือ มีการแบ่งเบาภาระงาน โดยการอาสาทำงานที่ผู้อื่นปฏิเสธ ในขณะที่รู้ว่าเมื่อใดควรรุก เมื่อใดควรถอย

2. การนำระดับเดียวกัน (Lead-Across): เป็นการช่วยเหลือเพื่อนฝูงให้มีผลลัพธ์ออกมาดี โดยยอมรับความเห็นที่ดีที่สุด มีความเคารพซึ่งกันและกัน มีการพัฒนาให้ร่วมแรงร่วมใจ มีความน่าเชื่อถือ และมีอิทธิพลสูง

3. การนำระดับที่ต่ำกว่า (Lead-Down): เป็นการช่วยให้บุคลากรระดับล่างพัฒนาศักยภาพ โดยการเป็นแบบอย่างที่ดี มีปฏิสัมพันธ์กับบุคลากร มีการถ่ายทอดวิสัยทัศน์ และให้รางวัลตามผลลัพธ์

สรุป ผู้นำทุกทิศ คือผู้ที่ช่วยให้บุคลากรทุกระดับประสบความสำเร็จ องค์กรต้องพึ่งพาอาศัยผู้นำได้ทุกทิศ นั่นคือผู้นำระดับกลาง ที่สามารถมีอิทธิพลต่อบุคลากรทุกระดับ โดยการทำตนให้เป็นที่ยอมรับ และมีการทำงานเป็นทีม

*****************************************

คำสำคัญ (Tags): #360-Degree Leader#leadership#John C. Maxwell
หมายเลขบันทึก: 579949เขียนเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2014 13:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 ธันวาคม 2014 13:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

นำตนเองให้ดีก่อน เป็น Role Model นี่แหละ สุดสุด ครับ ท่าน

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท