Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

หากเด็กหญิงมารูโกะ บุตรของมารดาสัญชาติไทย แต่ยังไม่ได้ใช้สิทธิในสัญชาติไทย จะมาท่องเที่ยวในประเทศไทย เธอจะมีสถานะบุคคลตามกฎหมายไทยว่าด้วยคนเข้าเมืองอย่างไร ?


กรณีศึกษาเด็กหญิงมารูโกะ 

: ปัญหาสิทธิเข้าเมืองไทยของคนที่มีสิทธิในสัญชาติไทย แต่ยังไม่ได้รับการรับรองในทะเบียนราษฎรของรัฐไทย และตกเป็น “คนต่างด้าวเทียม” ในสายตาของรัฐไทย 

โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

เมื่อวันที่  ๑๔  กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๔  ปรับปรุงล่าสุดเมื่อวันที่ ๑๑  ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๓

------------

ประเด็นแห่งการพิจารณา

-------------

จากข้อเท็จจริงเดียวกับข้อที่ผ่านมา โดยหลักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล ถามว่า ในกรณีที่มารดาจะพาเด็กหญิงมารูโกะมาเยี่ยมตาและยายในประเทศไทย เธอจะต้องร้องขอวีซ่าเพื่อการเดินทางเข้ามาในประเทศไทยหรือไม่ ? เพราะเหตุใด ?

-----------

ข้อเท็จจริง

------------

ในเดือนสิงหาคม พ.ศ.๒๕๔๑ นางมาลาซึ่งมีสัญชาติไทย ได้จดทะเบียนสมรสตามกฎหมายไทยกับนายโยชิซึ่งมีสัญชาติญี่ปุ่น เขาเกิดในประเทศญี่ปุ่นในปี พ.ศ.๒๕๑๑ จากบิดามารดาซึ่งมีสัญชาติญี่ปุ่น การจดทะเบียนสมรสทำในสถานกงสุลไทยประจำประเทศสหรัฐอเมริกา 

ส่วนนางมาลาเกิดในประเทศไทยเมื่อ พ.ศ.๒๕๑๗ จากบิดาและมารดาซึ่งเป็นคนสัญชาติไทยซึ่งมีชื่อในทะเบียนราษฎรของรัฐไทย และถือเอกสารรับรองตัวบุคคลที่ออกโดยรัฐไทย การจดทะเบียนสมรสระหว่างบิดาและมารดาของนางมาลาทำตามกฎหมายไทยในประเทศไทยก่อนการเกิดของนางมาลา

นับแต่การสมรสจนถึงปัจจุบัน นางมาลาและสามีตั้งบ้านเรือนอยู่ในมลรัฐนิวยอร์ค ประเทศสหรัฐอเมริกา เพราะบุคคลทั้งสองประกอบธุรกิจซึ่งมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในมลรัฐนิวยอร์ค แม้จะเดินทางไปประเทศไทยและญี่ปุ่นอยู่เสมอและมีคอนโดมิเนียมในประเทศทั้งสอง แต่เวลาส่วนใหญ่ของชีวิตก็เป็นไปในประเทศสหรัฐอเมริกา

ปรากฏข้อเท็จจริงอีกว่า บุคคลทั้งสองก็มิได้ร้องขอบันทึกชื่อของตนในทะเบียนราษฎรของสหรัฐอเมริกา มาลายังมีชื่อในทะเบียนราษฎรของประเทศไทยและถือหนังสือเดินทางที่ออกโดยรัฐบาลไทย ในขณะที่โยชิก็ยังมีชื่อในทะเบียนราษฎรของประเทศญี่ปุ่นและถือหนังสือเดินทางที่ออกโดยรัฐบาลญี่ปุ่น ส่วนมาลามีชื่อในทะเบียนคนอยู่ถาวรตามกฎหมายการทะเบียนราษฎรไทยประเภท ท.ร.๑๔ ในสถานะคนสัญชาติไทย 

ทั้งมาลาและโยชิทั้งสองยังมีทรัพย์สินตั้งอยู่ในประเทศไทย ประเทศญี่ปุ่น และประเทศสหรัฐอเมริกา 

ใน พ.ศ.๒๕๕๐ มาลาและโยชิมีบุตรสาวด้วยกัน ๑ คน อันได้แก่  “เด็กหญิงมารูโกะ” ซึ่งเกิดในประเทศสหรัฐอเมริกา ในปัจจุบัน มารูโกะอาศัยอยู่กับบิดาและมารดาในประเทศสหรัฐอเมริกา โยชิได้แจ้งการเกิดของเด็กหญิงมารูโกะในทะเบียนราษฎรของประเทศญี่ปุ่นในสถานะคนสัญชาติญี่ปุ่น แต่มาลายังมิได้แจ้งการเกิดของเด็กหญิงมารูโกะในทะเบียนราษฎรของประเทศไทย

ขอให้สังเกตว่า  มารูโกะย่อมมีสิทธิในสัญชาติไทยโดยการเกิดโดยผลของมาตรา ๗ (๑) แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งถูกแก้ไขและเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕ ซึ่งบัญญัติว่า บุคคลที่เกิดจากบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายหรือมารดาเป็นคนสัญชาติไทย ย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิด 

แต่เมื่อเด็กหญิงมารูโกะยังไม่ถูกบันทึกรายการสถานะบุคคลในทะเบียนราษฎรไทยในสถานะคนสัญชาติไทยในทะเบียนบ้านคนอยู่ถาวร (ท.ร.๑๔) ตามมาตรา ๓๖ แห่ง พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๕๓๔ ซึ่งแก้ไขและเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๕๑ เธอจึงไม่อาจได้รับเอกสารแสดงสถานะคนสัญชาติไทยที่ออกโดยรัฐไทย กล่าวคือ บัตรประชาชนตามกฎหมายว่าด้วยบัตรประชาชน และหนังสือเดินทางคนสัญชาติไทย

-------------

แนวการพิจารณา

-------------

โดยหลักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล สิทธิในการเข้าเมืองย่อมเป็นไปภายใต้กฎหมายคนเข้าเมืองของรัฐเจ้าของดินแดนซึ่งเป็นรัฐคู่กรณี ทั้งนี้ เพราะเรื่องการเข้าเมืองเป็นเรื่องตามกฎหมายมหาชนย่อมเป็นไปภายใต้กฎหมายมหาชนภายในของรัฐเจ้าของดินแดน ซึ่งเป็นรัฐคู่กรณี แต่อย่างไรก็ตาม รัฐที่เกี่ยวข้องอาจจะมีการกำหนดเป็นอย่างอื่น

ในข้อเท็จจริงนี้ กฎหมายมหาชนของรัฐคู่กรณี ก็คือ กฎหมายไทยว่าการเข้าเมือง ในปัจจุบัน บทกฎหมายหลัก ก็คือ พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒ จึงต้องใช้กฎหมายนี้พิจารณาปัญหาการเข้าเมืองไทยของ ดญ.มารูโกะ

โดยหลักกฎหมายว่าด้วยการเข้าเมือง การเข้าเมืองของคนชาติเป็นสิทธิที่เด็ดขาด ในขณะที่การเข้าเมืองของคนต่างด้าวเป็นสิทธิที่มีเงื่อนไข จะเห็นว่า บทบัญญัติใน พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒ ก็ยอมรับแนวดังกล่าวเช่นกัน โดยผลของมาตรา ๔ แห่ง พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒ คำว่า “คนต่างด้าว” หมายถึงบุคคลที่ไม่มีสัญชาติไทย และคำว่า “คนเข้าเมือง” หมายถึงคนต่างด้าวเท่านั้น เมื่อ ดญ.มารูโกะ มีสัญชาติไทย เธอจึงมิใช่คนต่างด้าวและคนเข้าเมือง เธอจึงมีสิทธิเข้าเมืองโดยไม่มีเงื่อนไข

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อไม่มีการร้องขอเพิ่มชื่อมารูโกะในทะเบียนราษฎรไทย รัฐไทยจึงยังไม่มีโอกาสรับรองสิทธิในสัญชาติไทยให้แก่มารูโกะ แม้เธอจะมีสิทธิในสัญชาติไทย และอาจใช้สิทธิได้โดยพลัน แต่หากเธอไม่ใช้สิทธิในสัญชาตินี้ เธอจึงยังไม่ได้รับการรับรองว่า มีสถานะเป็นคนสัญชาติไทย โดยผลต่อไป มารูโกะจึงถูกถือว่า “คนต่างด้าว” โดยมาตรา ๕๗ แห่ง พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒ จนกว่าจะพิสูจน์ความเป็นผู้ทรงสิทธิในสัญชาติไทย

ดังนั้น มารดาจึงควรจะต้องดำเนินการพิสูจน์สิทธิในสัญชาติไทยเสียก่อนต่อสถานกงสุลไทยในสหรัฐอเมริกา เพื่อที่จะดำเนินการทำหนังสือเดินทางตามกฎหมายไทยเพื่อแสดงความเป็นคนสัญชาติไทยให้แก่ ดญ.มารูโกะ หรือหากมิได้มีการพิสูจน์สิทธิในสัญชาติไทยให้แก่มารูโกะ เธอก็อาจจะเดินทางเข้ามาในประเทศไทยโดยใช้หนังสือเดินทางตามกฎหมายญี่ปุ่นในสถานะคนสัญชาติญี่ปุ่น ในกรณีนี้ เธอก็จะต้องร้องขออนุญาตเข้าเมืองตามมาตรา ๑๒ แห่ง พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒ ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่ใช้อนุญาตการเข้าเมืองสำหรับคนต่างด้าวทั่วไป การพิสูจน์สิทธิในสัญชาติไทยสำหรับมารูโกะเพื่อการรับรองสิทธิที่จะเข้าสู่ทะเบียนราษฎรไทยอาจทำได้ในประเทศไทยอีกด้วย 

นอกจากนั้น โปรดตระหนักว่า  ศาลรัฐธรรมนูญของรัฐไทยได้ยืนยันสิทธิเข้ามาในประเทศไทยของ บุตรของมารดาสัญชาติไทย แม้บิดาจะเป็นคนต่างด้าว และแม้จะเกิดนอกประเทศไทย ผ่านคำวินิจฉัยที่ ๗/๒๕๖๓ ลงวันที่ ๒๗ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๖๓ ยืนยันว่า การเนรเทศคนที่มีสิทธิในสัญชาติไทย หรือการห้ามคนที่มีสิทธิในสัญชาติไทยเข้าประเทศไทย ย่อมขัดมาตรา ๓๙ วรรค ๑ แห่ง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๖๐ แม้บุคคลดังกล่าวจะยังมิได้รับการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายไทยว่าด้วยการทะเบียนราษฎร หรือแม้กระทำความผิดอาญา ก็ตาม  เขาจึงกลับเข้าประเทศไทยได้ และสามารถใช้สิทธิในสถานะคนสัญชาติไทยในที่สุด 

โดยสรุป สิทธิเข้ามาในประเทศไทยของมารูโกะย่อมเด็ดขาดและไม่มีสิ้นสุดตราบเท่าที่ยังไม่เสียสิทธิในสัญชาติไทย แต่อาจมีปัญหาในการพิสูจน์สิทธิในช่วงเวลาที่ผ่านด่านตรวจคนเข้าเมือง หากไม่มีเอกสารรับรองสถานะคนสัญชาติไทย  เธอจึงตกเป็นเพียง “คนต่างด้าวเทียม” ในประเทศไทย ดังนั้น เมื่อความปรากฏว่า มารูโกะมีสิทธิในสัญชาติไทยโดยการเกิดโดยหลักสืบสายโลหิตจากมารดา การปฏิเสธ สิทธิของเธอที่จะเข้ามาในประเทศไทยมิได้เลย หรือแม้เพียงตั้งเงื่อนไขใดๆ ในการเข้ามาในประเทศนี้ ก็ไม่อาจทำได้ เพราะข้อเท็จจริงตามธรรมชาติที่เป็นคนสืบสายโลหิตจากมารดาสัญชาติไทย ก่อตั้งสิทธิเด็ดขาดที่จะเข้ามาในประเทศไทย

หมายเลขบันทึก: 579890เขียนเมื่อ 7 พฤศจิกายน 2014 15:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 ตุลาคม 2020 00:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท