ญัฮกุร (Nyah Kur) หรือ ชาวบน : “คนดง” มอญโบราณแห่งอีสานใต้


ญัฮกุร (Nyah Kur) หรือ ชาวบน : “คนดง” มอญโบราณแห่งอีสานใต้

"ญัฮกุร" (Nyah Kur) หรือ "เนียะกูร" (Nia-kuol) [1] คำว่า "ญัฮกุร" อ่านออกเสียงขึ้นนาสิกว่า "ยงะกรุ้น" เป็น ภาษาตระกูลออสโตรเอเชียติก (Austroasiatic language family) ตระกูลเดียวกับภาษามอญ (Mon) ซึ่งเป็นภาษาในกลุ่ม ๑๔ ภาษา ที่ใกล้สูญ เช่น ญัฮกุร โซ่(ทะวึง) ชอง กะชอง ซัมเร ฯ เป็นต้น [2]

ผู้เขียนได้พยายามค้นคว้า เรื่อง "ชาวบน" หรือ "ญัฮกุร" มาตั้งแต่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๑ เพราะเป็นกลุ่มชนที่มีอยู่ในพื้นที่ที่ทำงาน คือ ท้องที่เทศบาลตำบลตะขบ อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา

คน Nia-kuol ในอดีตเคยอาศัยอยู่บนที่สูงในป่าแถบเทือกเขาดงรัก มีวิถีชีวิตแบบหาของป่าล่าสัตว์ และเร่ร่อนประมาณเมื่อ ๖๐ ปีที่แล้ว (ประมาณ พ.ศ. ๒๔๐๐) จึงอพยพลงมาอยู่ในอำเภอปักธงชัยและอำเภอกระโทก (อำเภอโชคชัย อำเภอครบุรี) จังหวัดนครราชสีมา เปลี่ยนจากเร่ร่อนมาตั้งถิ่นฐานถาวร มีคนพูดภาษา Nia-kual อยู่ ๕๐๐-๖๐๐ คน เมื่ออยู่ในพื้นที่ราบก็ทำการปลูกข้าว ข้าวโพด ยาสูบ ไม่ได้เลี้ยงสัตว์พวกวัวควายมากนัก [3]

ชาวบนมีถิ่นฐานดั้งเดิมอยู่ในเขตที่ราบสูงโคราชบริเวณลุ่มแม่น้ำมูล ตอนต้น ในปัจจุบันอาศัยอยู่ในพื้นที่ ๓ จังหวัดเท่านั้น คือ จังหวัดชัยภูมิ จังหวัดเพชรบูรณ์ และจังหวัดนครราชสีมา นักวิชาการทางนิรุกติศาสตร์เรียกชนชาตินี้ว่า "ชาวบน" หรือ "คนดง" เพราะกลุ่มชนนี้ ชอบมีวิถีชีวิตอยู่บนที่สูง ในป่า แตกต่างจากกลุ่มชนในพื้นที่โดยทั่วไป

จากงานวิจัยของนักวิชาการพบว่า ภาษาญัฮกูรมีลักษณะสำคัญเพราะนอกจากจะแสดงลักษณะของ กลุ่มมอญ-เขมรที่เด่นชัดแล้วยังพบว่าภาษาญัฮกูร ในปัจจุบัน มีความ คล้ายคลึงกับภาษามอญโบราณที่ปรากฏในจารึกสมัยทวารวดีที่ค้นพบในประเทศไทย [4] จึงมีความเป็นไปได้ว่าชาวบนอาจสืบเชื้อสายมาจากประชากรสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริเวณเดียวกันมาก่อน [5] และชาวบนเป็นกลุ่มชนมอญโบราณที่สืบสายมาจากมอญทวารวดีเมื่อ ๒๐๐๐ ปีก่อน ปัจจุบันกลุ่มชนดังกล่าวได้ถูกกลืนวัฒนธรรม จนใกล้จะสูญหายเอกลักษณ์ของตนเองไป แม้จะพอยังคงมีเอกลักษณ์ของตนเอง แต่สำหรับภาษาและวัฒนธรรมได้เริ่มตาย เพราะไม่มีภาษาเขียน คงเหลือแต่คนแก่ ผู้เฒ่า ที่ยังพออนุรักษ์ภาษาวัฒนธรรมพื้นบ้านอยู่บ้าง

ในจังหวัดนครราชสีมา อาศัยอยู่มากที่บ้านพระบึง บ้านกลาง ตำบลบ่อปลาทอง บ้านวังตะเคียน ตำบลลำนางแก้ว อำเภอปักธงชัย ได้มีการศึกษาถึงวิถีชีวิตพื้นบ้านของชาวบนที่ผ่านมา ดังนี้

เมื่อวันเสาร์ที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๕๐ ศูนย์การเรียนรู้อำเภอปักธงชัย ไปลงพื้นที่ในวิชาภูมิปัญญากันที่หมู่บ้านพระบึง ตำบลบ่อปลาทอง อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งทางคณะนักศึกษาได้รับการต้อนรับจากนายสุรพล เจตนาดี กำนันตำบลบ่อปลาทอง เจ้าของสถานที่ ผู้สืบเชื้อสายมาจากบรรพบุรุษชาวบน โดยนำศึกษาวิถีชีวิตพื้นบ้านจากผู้อาวุโส กลุ่มคณะนักศึกษาได้ศึกษาเรียนรู้วิถีชีวิตและภาษาที่ใช้ ได้รับความรู้ต่างๆ เกี่ยวกับภูมิปัญญาและวิถีชีวิตความเป็นอยู่การประกอบอาชีพหาเลี้ยงตน ทั้งการปลูกละมุด การทำนา การปลูกหอม ผักชี ถั่วพู ไปชมสวนมีกล้วยต้นบุกต้นไพรกระชายชะอมมะละกอฯลฯเอกลักษณ์ของยุ้งเก็บข้าวเก่าๆข้างบ้าน ด้านในมีทั้งข้าวเปลือกหอมกระเทียม แขวนเรียงรายอยู่เต็มไปหมด สอบถามได้ความว่าเก็บไว้ทำพันธุ์และเก็บไว้กินตลอดปี ได้เห็นภูมิปัญญาพื้นบ้านในการถนอมอาหาร เก็บหน่อไม้ลวกปอกเปือกใส่ถุงพลาสติก ๒ ชั้นมัดด้วยเชือกแขวนเรียงกัน [6]

อำเภอปักธงชัย ได้จัดงานเฉลิมฉลอง ๑๐๐ ปี ปักธงชัย (อายุครบ๑๐๐ ปี) เริ่มงานระหว่างวันที่ ๒ - ๘ ธันวาคม ๒๕๕๑ และในคืนวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๕๑ หน่วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้ง ๔ แห่งในพื้นที่ ประกอบด้วย เทศบาลตำบลตะขบ เทศบาลตำบลบ่อปลาทอง เทศบาลตำบลลำนางแก้ว และ องค์การบริหารส่วนตำบลตะขบ ได้จัดการแสดงวิถีชีวิตชาวบน เป็นที่น่าสนใจยิ่ง โดยจัดการแสดงตั้งแต่ชีวิตความเป็นอยู่ทั้งหมดของชาวบน ตั้งแต่เกิด จนตาย มาแสดงบนเวที ทั้งนี้มีคณะนักเรียน ครูมาจาก รร.บ้านวังอ้ายคง อ.เทพสถิต จ.ชัยภูมิ ซึ่งมีชาวบนปัจจุบันอาศัยอยู่หนาแน่น มาร่วมแสดง และเป็นพิธีกรในรายการแสดงด้วย [7]

สำหรับในจังหวัดชัยภูมิ มีอาศัยอยู่หนาแน่นที่สุดที่บ้านน้ำลาด ตำบลนายางกลัก อำเภอเทพสถิต วิถีชีวิตชาวบน จังหวัดได้อนุรักษ์ไว้และนำมาแสดงให้นักท่องเที่ยวได้ศึกษา หมู่บ้านชาวบนอยู่ในพื้นที่เชิงเขา มีวิถีชีวิตและภาษาที่เป็นของตนเอง แต่กำลังถูกสังคมเมืองสมัยใหม่ครอบงำและกำลังจะหายไป [8]

สำหรับในจังหวัดเพชรบูรณ์ มีอาศัยอยู่ที่บ้านน้ำเลา บ้านห้วยไคร้ อำเภอเมือง และบ้านท่าด้วง อำเภอหนองไผ่ [9]


[1] ดู "ญัฮกุร", จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี, http://th.wikipedia.org/wiki/ญัฮกุร ,

"ญัฮกุร หรือเนียะกุล(ชาวบน)", http://gi.bru.ac.th/gis/dr/files/16/11.pdf

"ญัฮกุร", นิตยสารคู่สร้างคู่สม ปีที่ ๓๔ ฉบับที่ ๘๑๓ ศุกร์ที่ ๖ กันยายน ๒๕๕๖ หน้า ๖๘-๖๙,

"คนไทยหลากหลายชาติพันธุ์", สำนักกิจการชาติพันธุ์ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

"ชาวบน" Nyakur, ฐานข้อมูลกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน),http://www.sac.or.th/databases/ethnic/Content/Information/nyarkur.html

[2] กรเพชร เพชรรุ่ง, "แผนที่ภาษาชาติพันธุ์ในประเทศไทย : ภาพรวมของภาษาที่หลากหลาย", มหาวิทยาลัยราชภฏเชียงใหม่, ๑ ตุลาคม ๒๕๕๐. http://gotoknow.org/blog/phetroong/133744 ดู พรพรรณ อมรวรวิทย์, "ชนกลุ่มน้อยในประเทศไทย ตอนที่ ๑", ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙. http://gotoknow.org/blog/sompornpan/50822

[3] Erik Seidenfaden, "Some notes about the Chaubun", Journal of the Siam Society Volume XII. (Part 3) Bangkok 1918, ใน เว็บศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร(Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre), http://www.sac.or.th/databases/ethnicredb/research_detail.php?id=775& http://www.siamese-heritage.org/jsspdf/1911/JSS_012_3b_Seidenfaden_SomeNotesAboutTheChaubun.pdf

[4] ดู "ชาวบน" Nyakur, ฐานข้อมูลกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), อ้างแล้ว. และอ้างใน วารสารของสยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ ฉบับที่ ๗๙ ตอนที่ ๑ ปี พ.ศ. ๒๕๓๔โดยนายปันละNAI PAN HLA.

[5]กรกฎ บุญลพ, "ดีเอ็นเอ ไมโทคอนเดรีย (mt DNA) โบราณกับการสืบค้นบรรพบุรุษของผู้คนในดินแดนประเทศไทย", สำนักวิจัย, ๘ กรกฎาคม ๒๕๕๑ ใน Sakkarin Na Nan เผยแพร่ในเว็บศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร https://www.l3nr.org/posts/171438

[6] กลุ่มรักความรู้ , มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง ศูนย์เรียนรู้มหาวิทยาลัยชีวิต อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา, ๘ ตุลาคม ๒๕๕๐. http://gotoknow.org/blog/love-learning1/136313?class=yuimenuitemlabel

[7] ดูเวบไซต์ เทศบาลตำบลตะขบhttp://www.nmt.or.th/korat/takhob/

[8] หมู่บ้านชาวบน(มอญญักุร), http://chaiyaphum.mots.go.th/index.php?lay=show&ac=article&Id=539170887&Ntype=3

[9] "ข้อมูลประจำจังหวัดเพชรบูรณ์",http://www.phetchabun.com/information/phetchabun01-07.html

หมายเลขบันทึก: 579860เขียนเมื่อ 6 พฤศจิกายน 2014 23:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 พฤศจิกายน 2014 02:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท