โรคติดเชื้ออุบัติใหม่ (Emerging infectious diseases)


โรคติดเชื้ออุบัติใหม่

โรคติดเชื้ออุบัติใหม่

โรคติดเชื้ออุบัติใหม่ (Emerging infectious diseases) คือ โรคติดต่อที่มีอุบัติการณ์ในมนุษย์เพิ่มสูงขึ้นมากในช่วงที่ผ่านมา หรือมีแนวโน้มความเสี่ยงที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคตอันใกล้ยังหมายรวมถึงโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อใหม่ (New infectious diseases) โรคติดต่อที่พบในพื้นที่ใหม่ (New geographical areas)

แนวโน้มโรคติดต่ออุบัติใหม่ที่มีความเสี่ยงสำหรับประเทศไทยในปัจจุบัน

สถานการณ์ของโรคติดต่ออุบัติใหม่ในปัจจุบัน มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น โดยโรคติดต่ออุบัติใหม่ ที่เกิดในมนุษย์จำนวนมากมีต้นกำเนิดมาจากสัตว์ หรือสัตว์ป่า และมีปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคมากมาย ได้แก่ การเคลื่อนย้ายของประชากร สัตว์พาหะนำโรค เช่น ยุง การขาดความรู้ความเข้าใจและความตระหนักในการป้องกันควบคุมโรคของประชาชน การปฏิบัติตนยังไม่ถูกต้องตามหลักสุขอนามัยหรือสุขลักษณะ การที่มีกลุ่มคนอยู่กันอย่างหนาแน่นในขณะที่กลุ่มเสี่ยงส่วนใหญ่ ได้แก่ ผู้ที่มีความต้านทานต่อโรคต่ำ เช่น กลุ่มเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป กลุ่มผู้ป่วยที่มีโรคเรื้อรัง หญิงตั้งครรภ์ ผู้มีภาวะอ้วน (ดัชนีมวลกายมากกว่า 35 หรือน้ำหนักมากกว่า 100 กิโลกรัมขึ้นไป) หรือกลุ่มอาชีพเฉพาะ เช่น เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ คนทำงานในโรงฆ่าสัตว์ คนชำแหละเนื้อสัตว์ สัตวบาล และสัตวแพทย์ รวมทั้งกลุ่มที่อาจมีการแพร่โรคหรือรับโรคได้ง่าย เช่น กลุ่มผู้ปกครอง ผู้ดูแลเด็ก หรือกลุ่มผู้ที่จะเดินทางไปต่างประเทศ

การประเมินความเสี่ยงของโรคติดต่ออุบัติใหม่เป็นส่วนสำคัญในการคาดการณ์ความเสี่ยงและแนวโน้มของการเกิดโรค อันจะนำไปสู่ข้อเสนอแนะแนวทางการป้องกันควบคุมโรคได้อย่างถูกต้องและเฉพาะเจาะจงมากขึ้น โดยโรคติดต่ออุบัติใหม่ที่มีความเสี่ยงสำหรับประเทศไทย อาจแบ่งได้ 3 กลุ่ม คือ

1. โรคติดต่ออุบัติใหม่อุบัติซ้ำที่พบในประเทศไทย ได้แก่ โรคไข้หวัดนก โรคไข้หวัดใหญ่ โรคมือ เท้า ปาก โรคลีเจียนแนร์ โรคไข้ปวดข้อยุงลาย โรคไข้กาฬหลังแอ่นจากเชื้อสายพันธุ์ใหม่ เช่น serogroup W-135 และสายพันธุ์อื่นๆ ที่อาจเข้ามากับแรงงานต่างด้าว

2. โรคติดต่ออุบัติใหม่ที่อาจแพร่มาจากต่างประเทศ เช่น โรคไข้เหลือง(Yellow fever)โรคลิชมาเนียสิส (Leishmaniasis) โรคติดเชื้อไวรัสนิปาห์ (Nipah viral disease) โรคไข้เวสต์ไนล์ (West nile fever) โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา-มาร์บูร์ก (Ebola-marburg viral disease) โรคสมองฝ่อวาเรียนท์ (variant-Creutzfeldt-Jakob disease: vCJD)ที่เกิดจากจากโรคสมองฝ่อในวัวหรือโรควัวบ้า (BovineSpongiformEncephalophathy: BSE ormad cowdisease) และโรคที่อาจเข้ามากับสัตว์เช่น โรคฝีดาษลิง (Monkeypox) และโรคติดเชื้อจากการใช้อาวุธชีวภาพ (Bioterrorism) เช่น โรคแอนแทรกซ์ (Anthrax) ไข้ทรพิษ (Smallpox) กาฬโรค (Plague)

3. โรคติดต่ออุบัติใหม่ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เช่น โรคที่เกิดจากการกลายพันธุ์ของเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ โรคจากเชื้อดื้อยาชนิดใหม่

ผลจากการประเมินความเสี่ยงโดยใช้ข้อมูลทางระบาดวิทยา ข้อมูลด้านชุมชน ข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม ฐานข้อมูลประชากรจากกรมการปกครอง ข้อมูลด้านปศุสัตว์ เพื่อการคาดการณ์โรคติดต่ออุบัติใหม่ที่จะเป็นปัญหาสำคัญของพื้นที่กลุ่มเสี่ยงในประเทศไทย เมื่อปีพ.ศ. 2553 นั้นพบว่า โรคที่มีคะแนนความเสี่ยงสูงมากและความเสี่ยงสูงได้แก่ โรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล โรคมือ เท้า ปาก โรคไข้หวัดนก โรคไข้ปวดข้อยุงลาย โรคไข้กาฬหลังแอ่น (Meningococcal infection) โรคติดเชื้อจากสเตรฟโตคอกคัสซูอิส (Streptococcus suis) และโรคชีวพิษโบทูลิซึม (Bolulism) นอกจากนี้ยังควรต้องระมัดระวังโรคติดต่ออุบัติใหม่อื่นๆที่มีอยู่ประปรายในพื้นที่ เช่น โรคลีเจียนแนร์ โรคเมลิออยโดสิส รวมทั้งโรคที่อาจแพร่มาจากต่างประเทศเช่น โรคติดเชื้อไวรัสนิปาห์ โรคไข้เวสต์ไนล์หรือโรคที่อาจเกิดขึ้นใหม่ในอนาคต ดังนั้น ประเทศไทยจึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีศักยภาพ ระบบ และเครื่องมือในการป้องกันควบคุมโรคติดต่ออุบัติใหม่รวมทั้งมีการเตรียมพร้อมตอบโต้โรคติดต่ออุบัติใหม่ที่มีประสิทธิภาพอันจะช่วยลดผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมที่จะเกิดตามมาจากการระบาดของโรคติดต่ออุบัติใหม่ได้

โรคติดเชื้ออุบัติใหม่ที่สำคัญในประเทศไทย

โรคไข้หวัดนก


สถานการณ์โรคไข้หวัดนกในประเทศไทย

ข้อมูลจากศูนย์ควบคุมไข้หวัดนก กรมปศุสัตว์เริ่มมีรายงานการระบาดของโรคไข้หวัดนกในสัตว์ปีกครั้งแรกในช่วงเดือนมกราคม 2547 จากนั้นมีการระบาดครั้งต่อๆ มาอีกทุกปีรวม 5 ระลอก ปี พ.ศ.2551 มีการระบาดของไข้หวัดนกในสัตว์ปีก 4 จุด คือ เดือนมกราคม 2551 พบการระบาดในไก่เนื้อที่อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ ในไก่ที่พื้นเมือง อำเภอสากเหล็ก จังหวัดพิจิตร เดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2551 พบการระบาดในไก่พื้นเมือง อำเภอทุ่งเสลี่ยม จังหวัดสุโขทัยและอำเภอหนองฉาง จังหวัดอุทัยธานี สำหรับปี พ.ศ. 2552 ไม่มีรายงานการเกิดโรคไข้หวัดนก 288 วัน นับจากวันที่ทำลายสัตว์ป่วยรายสุดท้ายเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2551

สำหรับสถานการณ์โรคไข้หวัดนกในคน รายงานผู้ป่วยยืนยันไข้หวัดนกครั้งแรกในเดือนมกราคม 2547 จนถึงปัจจุบัน ไทยมีผู้ป่วยทั้งสิ้น 25 ราย เสียชีวิต 17 ราย โดยพบผู้ป่วยรายสุดท้ายเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2549 ที่จังหวัดหนองบัวลำภู ณ ขณะนี้ยังไม่พบผู้ป่วยรายใหม่ (สำนักระบาดวิทยา, 2552)

ถึงแม้ว่าปัจจุบัน ประเทศไทยจะไม่พบผู้ป่วยโรคไข้หวัดนกมาเป็นระยะเวลากว่า 3 ปีแล้ว แต่เนื่องจากในต่างประเทศ โดยเฉพาะเพื่อนบ้านของไทย เช่น จีน และเวียดนามยังคงพบการระบาดอย่างต่อเนื่อง และมีความเสี่ยงที่จะแพร่กระจายเชื้อมายังไทยได้รวมทั้งยังพบสัตว์ปีกป่วยตายผิดปกติในไทยอยู่เป็นระยะ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงควรติดตามสถานการณ์การระบาดอย่างใกล้ชิด กำชับเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินมาตรการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคทั้งในสัตว์และในคนที่มีอยู่ให้เข้มแข็งโดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่เสี่ยงต่อโรคไข้หวัดนกและบริเวณพื้นที่ชายแดนและดำเนินการประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนให้ความรู้กับประชาชน เพื่อการปฏิบัติตัวที่ถูกต้อง


โรคมือเท้าปาก จากเชื้อเอนเทอโรไวรัส 71


สถานการณ์ในประเทศไทย

ปี พ.ศ.2551 สำนักระบาดวิทยา กระทรวงสาธารณสุข ได้รับรายงานผู้ป่วยโรคมือเท้าปากจำนวน 11,227 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 17.84 ต่อประชากรแสนคน เสียชีวิต 4 ราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่อายุต่ำกว่า 5 ปี พบผู้ป่วยสูงสุดตั้งแต่ต้นปี (มกราคม-กุมภาพันธ์) ต่อเนื่องจากปลายปี พ.ศ. 2550 หลังจากนั้นเริ่มพบผู้ป่วยลดลง และลดลงต่ำสุดในเดือนธันวาคม โดยภาคที่มีอัตราป่วยสูงสุดคือ ภาคเหนือ 30.99 ต่อประชากรแสนคน จังหวัดที่มีอัตราป่วยต่อแสนประชากรสูงสุด 5 อันดับแรกคือลำปาง ระยอง พะเยา เชียงราย นครนายก ปี พ.ศ.2552 สำนักระบาดวิทยา กระทรวงสาธารณสุข (ข้อมูล ณ วันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ.2552) ได้รับรายงานผู้ป่วยแล้วจำนวน 4,859 ราย จาก 76 จังหวัด คิดเป็นอัตราป่วย 7.71 ต่อประชากรแสนคน เสียชีวิต 3 ราย ภาคเหนือยังคงมีอัตราป่วยสูงสุดคิดเป็น 12.27 ต่อประชากรแสนคน จังหวัดที่มีอัตราป่วยต่อแสนประชากรสูงสุด 5 อันดับแรก คือ น่าน สุโขทัย สมุทรสาคร สมุทรปราการและตรัง ซึ่งควรมีการติดตามสถานการณ์ในจังหวัดดังกล่าวอย่างใกล้ชิด และดำเนินการมาตรการต่างๆ เพื่อลดอัตราป่วยในพื้นที่ต่อไป

โรคมือเท้าปาก เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสในกลุ่ม Enteroviruses ซึ่งมีหลายสายพันธุ์ มีอาการตั้งแต่เล็กน้อย เด็กหายได้เอง ไม่มียารักษา จนถึงอาการรุนแรงโดยเฉพาะจากเชื้อ Enterovirus71 มีแนวโน้มการเพิ่มของผู้ป่วยที่เสียชีวิตโดยที่ไม่มีอาการของโรคมือเท้าปากซึ่งนำไปสู่การเพิ่มคำจำกัดความโรคที่ต้องเฝ้าระวังกลุ่มอาการไข้ (ตั้งแต่ 38 องศาเซลเซียส) และปอดบวมน้ำ (Children with fever and acute pulmonary edema) ไม่ว่าจะมีอาการผื่นที่มือ ปาก เท้า หรือไม่ (Fever with Acute Pulmonary Edema) รวมถึงกรณีผู้ป่วยโรคมือเท้าปากเป็นกลุ่มก้อนเพื่อให้เพื่อเพิ่มความสามารถในการดักจับและวินิจฉัยโรคได้ตั้งแต่ต้น รวมทั้งการสอบสวนโรคที่เร็วและมีประสิทธิภาพจะช่วยทำให้การควบคุมโรคเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

โรคติดเชื้อสเตร็พโตค็อกคัส ซูอิส


โรคติดเชื้อสเตร็พโตค็อกคัส ซูอิส เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย Streptococcus suisโดยการสัมผัสสุกรติดโรค หรือการบริโภคเนื้อหรือเลือดสุกรดิบ โดยมีสุกรเป็นสัตว์รังโรคระยะฟักตัวของโรคประมาณ 1-3 วัน อาการที่พบ ได้แก่ มีไข้ คลื่นเหียน ปวดศีรษะ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ข้ออักเสบ ม่านตาอักเสบ มีจ้ำเลือด เนื้อเยื่อใต้ผิวหนังอักเสบ ผู้ป่วยอาจสูญเสียการได้ยินจนถึงขั้นหูหนวก ภายหลังที่หายจากอาการป่วยแล้วอาจจะมีความผิดปกติในการทรงตัวในรายที่มีอาการรุนแรงอาจถึงขั้นเสียชีวิตเนื่องมาจากการติดเชื้อในกระแสโลหิต ผู้ที่มีโอกาสเสี่ยงสูงต่อการติดโรคในภาวะปกติ ได้แก่ เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร คนทำงานในโรงฆ่าสัตว์ คนชำแหละเนื้อสุกร สัตวบาล และสัตวแพทย์ เชื้อจะเข้าสู่ร่างกายผ่านทางบาดแผล รอยถลอก หรือเยื่อบุตา รวมทั้งการบริโภคเนื้อหรือเลือดสุกรที่ ไม่ผ่านการปรุงสุก

สถานการณ์ในประเทศไทย

ในปี พ.ศ.2551 สำนักระบาดวิทยา กระทรวงสาธารณสุข ได้รับรายงานผู้ป่วยติดเชื้อStreptococcus suis รวมทั้งหมด 230 ราย อัตราป่วย 0.36 ต่อแสนประชากร เสียชีวิต 11 ราย อัตราตาย

0.02 ต่อแสนประชากร อัตราป่วยตายร้อยละ 4.78 ผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในเขตจังหวัดภาคเหนือเช่น เขตตรวจราชการ 15 (เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน) พบผู้ป่วย 145 ราย เสียชีวิต 4 ราย เขตตรวจราชการ 16 (น่าน พะเยา เชียงราย แพร่) พบผู้ป่วย 31 ราย เสียชีวิต 3 ราย เขตตรวจราชการ 17 (ตาก พิษณุโลก สุโขทัย เพชรบูรณ์ อุตรดิตถ์) พบผู้ป่วย 11 ราย เสียชีวิต 1 ราย เขตตรวจราชการ 18 (กำแพงเพชร พิจิตร นครสวรรค์ อุทัยธานี) พบผู้ป่วย 27 ราย เสียชีวิต 3 ราย ผู้ป่วยเสียชีวิตส่วนใหญ่มีอาการสมองอักเสบ ประชากรกลุ่มเสี่ยงคือกลุ่มที่รับประทานเนื้อสุกรดิบ/เลือดดิบ หรือทำงานเกี่ยวข้องกับการชำแหละเนื้อสุกร สัตวบาล สัตวแพทย์ และมีประวัติการดื่มสุราเป็นประจำ ยังไม่พบการติดต่อจากคนสู่คน

โรคไข้หวัดใหญ่ (Seasonal influenza)


เกิดจากเชื้อ ไวรัสอินฟลูเอนซา ( Influenza virus) ซึ่งมีอยู่ 3 ชนิด เรียกว่า ชนิด เอ, บี และซี

ซึ่งแต่ละชนิดยังแบ่งเป็นพันธุ์ย่อยๆ อีก เชื้อไวรัสจะอยู่ในน้ำมูก น้ำลาย หรือเสมหะของผู้ป่วย การติดต่อของโรคโดยการไอ จาม หรือการสัมผัสถูกพื้นผิว หรืออุปกรณ์เครื่องใช้ที่ปนเปื้อนเชื้อโรค ระยะฟักตัว 1-4 วัน ลักษณะอาการมีไข้สูง 39-40 องศาเซลเซียส ตัวร้อน หนาว ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อมาก โดยเฉพาะที่หลัง ต้นแขนต้นขา ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ขมในคอ คัดจมูก มีน้ำมูกใสๆ ไอแห้งๆ จุกแน่นท้อง อาการส่วนมากจะหายได้เองโดยไม่มีภาวะแทรกซ้อน ภาวะแทรกซ้อนจะเกิดขึ้นเป็นส่วนน้อย ที่พบได้บ่อย ได้แก่ ไซนัสอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ หูชั้นในอักเสบ หลอดลมอักเสบ ภาวะที่สำคัญคือปอดอักเสบ ภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรงมักจะเกิดในเด็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ที่สูบบุหรี่จัด หรือผู้ป่วยที่มีโรคเรื้อรังทางปอดหรือหัวใจ ผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ที่จะมีโอกาสแทรกซ้อนถึงตายมีน้อยมากซึ่งมักจะเกิดขึ้นในเด็กเล็ก หรือผู้ป่วยเรื้อรัง

สถานการณ์ในประเทศไทย

ปี พ.ศ. 2551 สำนักระบาดวิทยาได้รับรายงานผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ 20,881 ราย อัตราป่วย

33.03 ต่อประชากรแสนคน ซึ่งมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่องหลังจากลดลงต่ำสุดในปี พ.ศ. 2548 มีผู้เสียชีวิต 2 ราย เป็นผู้ป่วยหญิงจากจังหวัดสุรินทร์และจังหวัดนครศรีธรรมราช คิดเป็นอัตราป่วยตาย ร้อยละ 0.01 พบอัตราป่วยมากในเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี โดยกลุ่มอายุ 0-4 ปี มีอัตราป่วยสูงสุด ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 เป็นต้นมา อัตราป่วยเพิ่มขึ้นทุกกลุ่มอายุ ยกเว้นกลุ่มอายุ 65 ปีขึ้นไปที่มีอัตราป่วยลดลงต่อเนื่อง ทั้งนี้อาจเป็นผลจากการให้วัคซีนไข้หวัดใหญ่ทั่วประเทศที่เริ่มในเดือนมิถุนายน 2551

ฤดูกาลเกิดโรคมีแนวโน้มเปลี่ยนไป คือ จากเดิมพบผู้ป่วยมากในฤดูฝน เป็นพบมากใน 3ช่วงคือ เดือนกุมภาพันธ์ เดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคม และเดือนพฤศจิกายน ภาคที่มีอัตราป่วยสูงสุดคือ ภาคกลาง รองลงมาคือ ภาคใต้ ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตามลำดับ ส่วนจังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ตรัง จันทบุรี พังงา ราชบุรี และตราด ข้อมูลเฝ้าระวังโรค ตั้งแต่ 1 มกราคม -31 สิงหาคม 2552 พบผู้ป่วย 43,887 ราย จาก 76 จังหวัดคิดเป็นอัตราป่วย 69.62 ต่อแสนประชากร เสียชีวิต 25 ราย คิดเป็นอัตราตาย 0.04 ต่อแสนประชากร กลุ่มอายุที่พบมากเป็นช่วงอายุ 15-24 ปี จังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ตรัง ภูเก็ต จันทบุรี ระยอง และพิษณุโลก ภาคที่มีอัตราป่วยสูงสุด คือ ภาคใต้ รองลงมา ได้แก่ ภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตามลำดับ

ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 (Influenza A H1N1)


โรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 เกิดจากเชื้อไข้หวัดใหญ่ชนิดเอ (เอช 1 เอ็น 1) ซึ่งเป็นไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ของคน และไม่เคยพบมาก่อน เนื่องจากเป็นการผสมกันของสารพันธุกรรมไข้หวัดใหญ่ในมนุษย์, ไข้หวัดนกที่พบในทวีปอเมริกาเหนือและไข้หวัดหมูที่พบในทวีปเอเชีย และยุโรป การติดต่อเหมือนกับโรคไข้หวัดใหญ่ในคนทั่วไปและเชื้อจะมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

ระยะฟักตัวอยู่ที่ประมาณ 3-7 วัน หากผู้ป่วยได้รับเชื้อมากระยะฟักตัวก็จะสั้นซึ่งทั้งนี้จะขึ้นอยู่กับตัวผู้ป่วยด้วยว่าสุขภาพร่างกายแข็งแรงมากน้อยแค่ไหนอาการของโรคคล้ายกับโรคไข้หวัดใหญ่ธรรมดา แต่มีอาการรุนแรงกว่าและรวดเร็วกว่าคือ มีไข้สูงราว 38 องศาเซลเซียส ปวดเมื่อยตามร่างกาย ตามข้อ ไอ มีน้ำมูก มีเสมหะ ปอดบวม เบื่ออาหาร บางรายอาจท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน จากนั้นเชื้อจะแพร่เข้าสู่กระแสโลหิต จึงทำให้เกิดเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ผู้ป่วยจะมีการทรงตัวผิดปกติ เดินเอนไปเอนมาเหมือนคนเมาสุรา นอกจากนี้อาจสูญเสียการได้ยินจนถึงขั้นหูหนวกได้และอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ประชากรกลุ่มเสี่ยงได้แก่ เด็กเล็ก, ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ ผู้มีโรคประจำตัวเช่น โรคเบาหวาน ตับ ไต หัวใจ โรคอ้วน ผู้ที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน เป็นต้น

สถานการณ์ในประเทศไทย

ตั้งแต่วันที่ 28 เมษายน 2552 ถึงวันที่ 22 สิงหาคม 2552 สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค

ได้รับแจ้งจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สำนักงานป้องกันควบคุมโรคเขต โรงพยาบาล สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พบผู้ป่วยที่ตรวจยืนยันว่าติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิดเอ (เอช1เอ็น1) จำนวน 14,976 ราย ในทุกจังหวัดของประเทศไทย และผู้เสียชีวิต 119 ราย แนวโน้มการระบาดในกรุงเทพฯ และปริมณฑลมีการชะลอตัวอย่างต่อเนื่องและขยายตัวไปสู่ต่างจังหวัด กระจายลงสู่เขตชนบท โดยพบผู้ป่วยทุกกลุ่มอายุ แต่พบมากขึ้นในกลุ่มวัยแรงงานอายุ 31-45 ปี และผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และพบมีการแพร่ระบาดในสถานที่ที่มีคนอยู่จำนวนมากหรือมีกิจกรรมที่ต้องอยู่ร่วมกัน เช่น โรงเรียน เรือนจำ ค่ายเยาวชน เป็นต้น อย่างไรก็ตามในความเป็นจริงตัวเลขจำนวนผู้ป่วยข้างต้นยังน้อยกว่าความเป็นจริงอยู่หลายเท่าตัว เนื่องจาก ผู้ที่ติดเชื้อส่วนใหญ่ที่มีอาการน้อยก็มิได้มีการตรวจยืนยันเชื้อทางห้องปฏิบัติการ ในบางประเทศมีการคำนวณว่า จำนวนผู้ป่วยที่มีอยู่จริงภายในประเทศ อาจเป็นจำนวน 40-60 เท่าตัวของจำนวนผู้ป่วยที่ตรวจยืนยันเชื้อ

โรคไข้เลือดออกอีโบลา

ไข้เลือดออกอีโบล่าจัดเป็นโรคที่มีอัตราป่วยตายสูงมากกว่าร้อยละ 50-90 โดยส่วนใหญ่จะเสียชีวิตจากอาการเสียเลือดมากหรืออวัยวะต่างๆไม่ทำงาน โดยเชื่อว่าโรคไข้เลือดออกอีโบล่าเป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน แต่การวิจัยขององค์การอนามัยโลกยังไม่สามารถระบุได้แน่ชัดว่าเป็นสัตว์ประเภทใดเป็นแหล่งรังโรค คาดเพียงว่าน่าจะเป็นค้างคาวประเภทกินผลไม้ โรคไข้เลือดออกอีโบล่ามีแนวโน้มสูงที่จะเกิดการระบาดโดยพบการติดเชื้อไวรัสในคนครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2519 ในจังหวัดทางภาคตะวันตกของประเทศซูดานและประเทศซาอีร์ (ปัจจุบันคือประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก) หลังจากนั้นพบการระบาดอย่างต่อเนื่องในทวีปแอฟริกา ได้แก่ ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (ซาอีร์) ไลบีเรีย สาธารณรัฐคองโก สาธารณรัฐกาบอง สาธารณรัฐซูดาน สาธารณรัฐโกตดิวัวร์ สาธารณรัฐยูกันดา และสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ เป็นต้น

สถานการณ์ในประเทศไทย

สำหรับประเทศไทย ยังไม่เคยมีรายงานผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกอีโบลา จนถึงปัจจุบันยังไม่พบวิธีรักษาหรือบำบัดโรคร้ายนี้ ซึ่งทำให้ผู้ป่วยเลือดออกทั้งร่างกายจนเสียชีวิต โรคนี้ระบาดผ่านทางการสัมผัสกับเลือดหรือน้ำคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อ หรือสิ่งที่ปนเปื้อนน้ำคัดหลั่งที่ติดเชื้อ แม้ว่ายังไม่พบผู้ป่วยโรคนี้ในประเทศไทย แต่ปัจจุบันการเดินทางข้ามทวีปเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้นอาจพบผู้ติดเชื้อมาจากแหล่งที่มีการระบาดเดินทางเข้ามาภายในประเทศได้ เนื่องจากระยะฟักตัวของโรคกว่าจะมีอาการนานที่สุด พบได้ถึง 21 วัน สำหรับคนไทยที่เดินทางไปประเทศที่มีการระบาดของโรคต้องระมัดระวังไม่ให้ใกล้ชิดผู้ป่วยหรือผู้ที่มีอาการสงสัย และควรเพิ่มมาตรการเฝ้าระวังโรคเป็นพิเศษ เช่น ด่านควบคุมโรคระหว่างประเทศซึ่งมีหน้าที่คอยดูแลตรวจตราผู้เดินทางเข้าออกระหว่างประเทศควรเพิ่มความเข้มงวดในการคัดกรองให้มากขึ้นในผู้ที่เดินทางมาจากประเทศที่มีการระบาดของโรค

โรคไข้เหลือง


โรคไข้เหลืองเป็นโรคติดเชื้อไวรัสไข้เหลือง ในตระกูล Flaviviridaeซึ่งมีมานานและมีการแพร่ระบาดในทวีปแอฟริกาและอเมริกา มียุงลาย (Aedes sp. และHaemogogus sp.) เป็นพาหะนำโรค โดยผู้ป่วยจะมีลักษณะอาการแสดงได้หลายชนิดและระดับความรุนแรงที่แตกต่างกัน ตั้งแต่รับเชื้อแล้วไม่ปรากฏอาการหรือบางรายมีอาการรุนแรงจนเสียชีวิต แม้ว่าได้มีการใช้วัคซีนป้องกันโรคไข้เหลืองมากว่า 60ปีแล้วก็ตาม แต่ยังคงพบผู้ป่วยโรคไข้เหลืองเป็นจำนวนมาก ในแต่ละปีจะพบผู้ป่วยประมาณ

200,000 ราย และมีผู้เสียชีวิต 30,000 ราย โดยเฉพาะประชากรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีปัจจัยเสี่ยง เช่น

เมืองที่มีการรุกเข้าไปในพื้นที่ป่า ทำให้โอกาสที่มนุษย์จะโดนยุงกัดและได้รับเชื้อไวรัสมากขึ้น

อย่างไรก็ตามข้อมูลผู้ป่วยโรคไข้เหลืองที่มีการรายงานยังคงต่ำกว่าความเป็นจริง เนื่องจากมีผู้ป่วยเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นที่ได้รับการวินิจฉัยโรคที่ถูกต้อง

สถานการณ์ในประเทศไทย

ในประเทศไทย ยังไม่เคยพบผู้ป่วยโรคไข้เหลือง

อย่างไรก็ตามประเทศไทยต้องมีมาตรการป้องกันควบคุมโรคเตรียมการเฝ้าระวังโรคทั้งในคนและในสัตว์ที่อาจแพร่ระบาดมาจากเขตติดโรคอยู่ตลอดเวลา



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท