AAR การอบรม Flipped Classroom


AAR รายวิชาการศึกษาเพื่อพัฒนาสังคมแห่งการเรียนรู้

โดย นางสาวอุไรวรรณ ภูจ่าพล นักศึกษาปริญญาโทรุ่นที่ 13 สาขาหลักสูตรและการสอน
รหัส 57D0103124 ระดับปริญญาโท สาขาวิชาหลักสูตรและการสอน ภาคพิเศษ หมู่ 1 

ครูผู้สอน ผศ.รศ. อดิศร เนาวนนท์

วันที่ 2 เดือน สิงหาคม พ.ศ. 2557 เรื่อง การอบรม Flipped Classroom 

1. ได้เรียนรู้อะไร 

ความรู้ที่ได้รับจากการทำกิจกรรม Jukebox Game คือ การที่ได้ยินได้ฟัง หรือ ทำอะไรซ้ำ ๆ จะทำให้เกิดการเรียนรู้ ซึงแต่ละคนจะมีประสบการณ์การเรียนรู้ที่ไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับแต่ละช่วงวัย Type of Ganaration แต่ละช่วงวัยจะมีสไตล์ของตัวเอง โดยแบ่งออกเป็นช่วงวัย ดังนี้ 1. Baby Boomer เป็นคนที่มีชีวิตเพื่อการทำงาน เคารพกฎเกณฑ์ รักองค์กร ไม่เปลี่ยนงานบ่อย เพราะต้องต่อสู้และทำงานด้วยตนเอง 2. Gen X พฤติกรรมจะชอบอะไรที่ง่าย ๆ ให้ความสำคัญทั้งทางด้านชีวิต งาน ครอบครัว ทำทุกอย่างได้โดยลำพัง ไม่พึ่งพาใคร มีความคิดเปิดกว้างพร้อมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น 3. Gen Y เติบโตมาพร้อมกับคอมพิวเตอร์ ชอบอะไรที่นอกกรอบ รักอิสระ อะไรที่ไม่ชอบจะทำการเปลี่ยนเลย จึงทำให้เปลี่ยนงานบ่อย มีนิสัยชอบแสดงออก มีความสามารถในการทำงานหลายอย่างได้พร้อมกัน ไม่ชอบเงื่อนไข 4. Gen Z คือเด็กนักเรียนในศตวรรษที่ 21 คือ จะมีอิสระที่จะเลือกในสิ่งที่ตนเองพอใจ ต้องการดัดแปลงสิ่งต่าง ๆ เพื่อให้ตรงกับความต้องการของตน ชอบตรวจสอบหาความจริงเบื้องหลัง และชอบให้การเล่นเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ มีความเป็นตัวของตัวเองและมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ต้องการความรวดเร็วในการสื่อสาร การหาข้อมูลและคำตอบ และสร้างนวัตกรรมต่อทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิต การศึกษาในศตวรรษที่ 21 หลักสูตรไม่ควรแยกเป็นส่วนของใครของมันแต่ควรจัดให้มีการบูรณาการ สิ่งที่เด็กควรรู้เกี่ยวกับแนวคิดสำคัญในศตวรรษที่ 21 คือ ความรู้เกี่ยวกับโลก เศรษฐกิจ พลเมืองที่ดี สุขภาพ และสิ่งแวดล้อม
สิ่งที่ครูควรปลูกฝังให้กับนักเรียนในศตวรรษที่ 21
1. ทักษะชีวิตและการทำงาน 

2. ทักษะการเรียนรู้และนวัตกรรม เช่น การมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ การคิดอย่างมีวิจารณญาณ

3. ทักษะด้านสารสนเทศและสื่อเทคโนโลยี 

โครงสร้างพื้นฐานในการเรียน 

1. มาตรฐานและการประเมิน 

2. หลักสูตร 

3. การพัฒนาที่ไม่ใช่แค่การอบรม

4. สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ 

สรุป คือ เปลี่ยนวิถีการศึกษาเป็นแบบความรู้คู่ทักษะ และยึดผู้เรียนเป็นหลักในการเรียนรู้ สามารถจัดการเรียนการสอนได้ตามวิธีการดังนี้ `1. PBL ผู้เรียนได้เรียนรู้กระบวนการทำงานจริง ครูเป็นเพียงผู้คอยให้ความช่วยเหลือ หรืออำนวยความสะดวกเท่านั้น ผู้เรียนได้ใช้ทักษะต่าง ๆ ฝึกปฏิบัติและนำเสนออย่างสร้างสรรค์ ฝึกการทำงานเป็นทีมแลกเปลี่ยนเรียนรู้จึงเกิดการการต่อยอดความรู้ ครูเป็นผู้ฝึก หรือครูฝึก คือฝึกให้ผู้เรียนทำงานทักษะที่สำคัญของครู คือ การสร้างแรงบันดาลใจ PBL เป็นการเรียนรู้ที่ไม่มีกรอบ สนใจที่กระบวนการหาคำตอบ การวัดประเมินจะไม่ใช่การวัดว่าได้หรือไม่ได้ ผ่านหรือไม่ผ่าน แต่เป็นการวัดเพื่อประเมินความก้าวหน้า 

2. PCL ทุกฝ่ายสามารถรวมตัวกันเพื่อเป็นชมชนแห่งการเรียนรู้ ศักยภาพการเรียนรู้สามารถพัฒนาเป็นกลุ่มได้

3. Teach Less ,Learn More คือ ครูจะต้องสอนให้น้อยลง และให้ผู้เรียนเรียนรู้เองให้มากขึ้น

วิถีการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21
1. ชื่นชมให้กำลังใจ

2. ความเป็นกันเอง

3. ค้นหาความสนใจ ความรู้ที่ได้ เรื่อง Flipped Classroom เป็นวิธีการจัดการเรียนการสอนแบบใหม่ เป็นวิธีการที่ครอบคลุมการใช้งานและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต เพื่อยกระดับการเรียนรู้ Flipped Classroom คือ “เรียนที่บ้าน ทำการบ้านที่โรงเรียน” หรือที่เข้าใจง่าย ๆ คือ นำสิ่งที่เดิมแล้วเคยทำในชั้นเรียน ไปทำที่บ้าน และนำสิ่งที่ถูกเคยมอบหมายให้ทำที่บ้านมาทำที่โรงเรียนแทน ซึ่งแทนที่เด็กจะมาตัวเปล่าแล้วมานั่นรอรับความรู้จากครู เด็กจะมาเรียนด้วยความเข้าใจเพราะเรียนรู้เนื้อหาล่วงหน้ามาแล้ว ในชั้นเรียนจะเป็นการซักถามเพิ่มเติม

2.รู้แล้วคิดอย่างไร คิดอะไรต่อ 

จากที่ได้รับการอบรมแล้ว ทำให้ข้าพเจ้าเกิดแง่คิดที่ว่า ก่อนที่เราจะจัดกิจกรรมการเรียนการสอนนั้น จะต้องเรียนรู้ก่อนว่าเราจัดการเรียนการสอนให้กับบุคคลในช่วงวัยใด แล้วสไตล์หรือธรรมชาติของช่วงวัยนั้นเป็นแบบใดควรจัดการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียน ส่วนใหญ่แล้วทุกวันนี้นักเรียนที่โรงเรียนที่ข้าพเจ้าสอนจะจัดอยู่ใน Gen Z จะมีอิสระที่จะเลือกในสิ่งที่ตนเองพอใจ ชอบให้การเล่นเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ ต้องการความรวดเร็วในการสื่อสาร การหาข้อมูลและคำตอบ ในการจัดการเรียนการสอนนักเรียนจะชอบให้ครูนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการจัดการเรียนการสอน และนักเรียนจะชอบการเรียนที่ไม่ใช่แบบบรรยาย เนื่องจากข้าพเจ้าสอนในรายวิชาวิทยาศาสตร์ นักเรียนก็จะชอบอยู่แล้วเพราะเป็นการทดลอง ซึ่งเปิดโอกาสให้นักเรียนได้ลงมือปฏิบัติจริง ผู้เรียนได้ใช้ทักษะต่าง ๆ ฝึกปฏิบัติและนำเสนออย่างสร้างสรรค์ ฝึกการทำงานเป็นทีมแลกเปลี่ยนเรียนรู้จึงเกิดการการต่อยอดความรู้ ตามแนวของ PBL

3.จะนำไปปรับประยุกต์ใช้อย่างไร 

เกี่ยวกับ Flipped Classroom ข้าพเจ้าคิดว่า เป็นวิธีการสอนที่ดีเพราะทุกวันนี้นักเรียนไม่ได้ต้องการที่จะมานั่งฟังครูพูดเพียงอย่างเดียว เพราะจากเดิมสิ่งที่นักเรียนได้เรียนจะเป็นเนื้อหาเป็นส่วนใหญ่ แล้วการบ้านจะเป็นสิ่งที่ครูมอบหมายให้นักเรียนไปทำที่บ้าน อาจเป็นแบบฝึกหัด หรืองานต่าง ๆ ซึ่งเวลาที่นักเรียนต้องการจะพบครูจริง ๆ คือเวลาที่นักเรียนต้องการความช่วยเหลือ นั่นคือเวลาที่นักเรียนทำแบบฝึกหัดแล้ว สงสัย ติดขัด หรือไม่เข้าใจ นักเรียนไม่ได้ต้อการให้ครูอยู่ในชั้นเพื่อสอนเนื้อหา เพราะสิ่งเหล่านั้นเขาสามารถจะศึกษาด้วยตนเองได้ นักเรียนจะชอบการเรียนการสอนที่ครูนำเทคโนโลยีมาใช้ เช่น เวลาที่นักเรียนได้เรียนจากแหล่งการเรียนรู้ที่เป็นสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เช่น PPT VDO Internet นักเรียนจะมีความสนุกสนาน ตื่นเต้น แล้วมีความสนใจใจการเรียนมากกว่าการที่ครูมายืนบรรยายหน้าชั้นเรียน ถ้าครูจัดการเรียนการสอนที่เป็นแบบห้องเรียนกลับด้านได้จะเป็นสิ่งที่ดีมาก เพราะนักเรียนได้เรียนรู้เนื้อหามาก่อนอาจจะเรียนรู้จาก VDO ที่ครูทำขึ้นหรือแหล่งเรียนรู้อื่น ๆ ซึ่งการเรียนรู้เนื้อหามาก่อนล่วงหน้าจะทำให้นักเรียนสามารถนำความรู้ที่ได้มาประยุกต์ใช้ในกิจกรรม การทำงาน หรือแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้ แต่ข้อจำกัดของการจัดการเรียนการสอนแบบ Flipped Classroom สำหรับโรงเรียนของข้าพเจ้าคือ โรงเรียนของข้าพเจ้าเป็นโรงเรียนขยายโอกาส ซึ่งนักเรียนส่วนใหญ่ มีฐานะยากจนถึงฐานะปานกลาง ซึ่งทำให้การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของนักเรียนเป็นเรื่องที่ยาก โดยส่วนใหญ่แล้วนักเรียนไม่ได้อาศัยอยู่กับบิดามารดา แต่จะอาศัยอยู่กับ ปู่ ย่า ตา หรือ ยาย ซึ่งไม่สามารถที่จะสนับสนุนให้นักเรียนทำการศึกษาค้นคว้าจากอินเทอร์เน็ตได้ดีเท่าที่ควร แต่ถ้าเปลี่ยนจากการให้ดู VDO สื่อทางอินเทอร์เน็ตมาเป็นการให้ใบความรู้ไปศึกษา นักเรียนก็จะไม่สนใจ และเกิดความเบื่อหน่าย จึงทำให้ถ้าจัดการเรียนการสอนแบบ Flipped Classroom สำหรับโรงเรียนของข้าพเจ้าน่าจะไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร

คำสำคัญ (Tags): #flipped classroom
หมายเลขบันทึก: 579515เขียนเมื่อ 31 ตุลาคม 2014 13:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 ตุลาคม 2014 13:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท