หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน : ฐานข้อมูล (ระบบบริหารจัดการข้อมูล)


ระบบบริหารจัดการข้อมูลชุดที่จัดทำขึ้น ย่อมทำหน้าที่เป็นเสมือน “คลังข้อมูล” หนุนเสริมการทำงานของเหล่าบรรดานักวิชาการที่ทำงานวิชาการรับใช้สังคมได้เป็นอย่างดี เพราะจะทำให้รู้ว่าแต่ละชุมชนมีการขับเคลื่อนประเด็นเชิงพื้นที่อะไรไปบ้างแล้ว

เมื่อวันที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๕๕๗ คณะทำงานฯ ได้ร่วมกันจัดการอบรมเกี่ยวกับเรื่องระบบบริหารจัดการโครงการบริการวิชาการแก่สังคม หรือที่เรียกโดยทั่วไปว่า “ฐานข้อมูลการบริการวิชาการแก่สังคม” ณ สำนักงานคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ซึ่งมีคณาจารย์ เจ้าหน้าที่และนิสิตเข้าร่วม ๓๑ หลักสูตร

การจัดทำฐานข้อมูลการบริการวิชาการแก่สังคม (ระบบบริหารจัดการข้อมูล) ในชื่อโครงการ “หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน” ถือเป็นอีกนวัตกรรมอีกชิ้นหนึ่งที่คณะทำงานได้เพียรพยายามบุกเบิกและขับเคลื่อนขึ้นอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี ๒๕๕๕ 



การขับเคลื่อนดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งจากการศึกษาวิจัยเรื่อง “ระบบและกลไกการจัดตั้งหน่วยวิจัยเพื่อท้องถิ่นในมหาวิทยาลัยมหาสารคาม” อันเป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยมหาสารคามกับ สกว.ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น ซึ่งการวิจัยในปีที่ ๑ ค้นพบระบบและกลไกสำคัญๆ ๕ ประเด็น กล่าวคือ

  • การกลั่นกรองโครงการ
  • การหนุนเสริมการปฏิบัติการ
  • การจัดการความรู้
  • การสื่อสารสร้างสรรค์
  • การบริหารโครงการและงบประมาณ



โดยเรื่องระบบฐานข้อมูล (ระบบบริหารจัดการข้อมูล) เป็นหนึ่งในระบบและกลไกเรื่อง “การสื่อสารสร้างพลัง” ซึ่งตลอดปี ๒๕๕๕-๒๕๕๗ คณะทำงานได้รังสรรค์ออกมาในหลายลักษณะ เช่น  เรื่องเล่าเร้าพลัง (storytelling) หนังสืออ่านเล่น (หนังสือเล่มเล็ก) Blog โปสเตอร์ วีดีทัศน์ หนังสั้น ภาพถ่าย เว็บไซด์ Faecbook จดหมายข่าว E-book นิทรรศการ ฯลฯ

ปัจจุบันระบบฐานข้อมูลดังกล่าว ปรากฏเป็นรูปร่างที่ชัดเจน สามารถสืบค้นข้อมูลได้อย่างรวดเร็วและเป็นรูปธรรม ข้อมูลทั้งหมดไม่ได้ครอบคลุมแต่เฉพาะงานบริการวิชาการแก่สังคม (หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน) เท่านั้น แต่ยังครอบคลุมถึงภารกิจอื่นๆ อาทิ การทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม (หนึ่งคณะหนึ่งศิลปวัฒนธรรม) และการวิจัยเพื่อชุมชน ซึ่งทั้งหมดเรียกในภาพรวมร่วมกันว่า “งานวิชาการรับใช้สังคม”





อ.กนกกุล มาเวียง : อาจารย์ผู้รับผิดชอบโครงการหลักสูตรสาขาเกาหลี
และคณะกรรมการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน



ะบบฐานข้อมูลดังกล่าวนี้ได้รับการพัฒนาร่วมกันระหว่างคณะทำงานโครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชนและคณาจารย์ในสังกัดคณะวิทยาการสารสนเทศ ซึ่งมี อาจารย์สำรวน เวียงสมุทร เป็นผู้พัฒนาโปรแกรมและมีนางสาวจันเพ็ญ ศรีดาว หัวหน้างานประชาสัมพันธ์และสารสนเทศจากกองกิจการนิสิตทำหน้าที่ดูแลระบบสืบมาจนถึงปัจจุบัน

ระบบฐานข้อมูลชุดนี้สามารถถูกออกแบบให้อาจารย์ผู้รับผิดชอบแต่ละโครงการสามารถนำข้อมูลต่างๆ  ลงสู่ระบบได้ด้วยตนเอง  ทั้งที่เป็นข้อความ ไฟล์โครงการ ภาพถ่าย วีดีโอ ฯลฯ  และสามารถดึงข้อมูลออกไปสู่การรายงานและเผยแพร่เป็นเอกสารได้อย่างไม่ซับซ้อน  รวมถึงบุคคลภายนอกก็สามารถเข้าสืบค้นได้อย่างไม่ยากเย็น  เพียงแต่จะไม่สามารถเข้าไปเปลี่ยนแปลงข้อมูลในระบบของฐานข้อมูลได้

อย่างไรก็ดีระบบฐานข้อมูลชุดนี้สามารถเข้าไปสืบค้นได้โดยง่ายผ่านคำสำคัญๆ ต่างๆ เช่น   ชื่อนักวิชาการ (ผู้รับผิดชอบ)  ชื่อโครงการ  ชื่อหลักสูตร  ชื่อคณะ  ชื่อหมู่บ้าน (ชุมชน)  ชื่อปีงบประมาณ ประเด็นเนื้อหา  ประเภทโครงการ ซึ่งทั้งปวงนั้นเมื่อสืบค้นเข้าไปจะทำให้รู้ว่าการขับเคลื่อนโครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน หรืออื่นๆ ในมิติงานวิชาการรับใช้สังคมของมหาวิทยาลัยมหาสารคามในรอบปี ๒๕๕๕-๒๕๕๗  ดำเนินการไปในทิศทางใด  มีชุมชน  หรือประเด็นเชิงพื้นที่อะไรที่ขับเคลื่อนไปบ้างแล้ว



ผศ.ดร.ฉันทนา เวชโอสถศักดา : ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายพัฒนานิสิต 
ผู้รับผิดชอบหลักด้านหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน



ในอนาคตอันใกล้นี้คณะทำงานวางหมุดหมายแจ่มชัดว่าปี ๒๕๕๗-๒๕๕๘  ฐานข้อมูล หรือ “ระบบบริหารจัดการข้อมูล”  จะถูกพัฒนาขึ้นมาในอีกระดับหนึ่ง  นั่นก็คือการจัดเข้าสู่ระบบ “GIS”  เพื่่อให้มีมาตรฐานและเป็นสากลมากขึ้น

อย่างไรก็ดีกระบวนการขับเคลื่อนมิได้เพียงพัฒนาระบบสารสนเทศเท่านั้น  หากแต่ยังพัฒนาศักยภาพของอาจารย์และบุคลากรที่เกี่ยวข้องไปพร้อมๆ กัน   ดังจะเห็นได้จากในแต่ละปีการศึกษา  หรือปีงบประมาณ   คณะกรรมการดำเนินงานได้จัดเวทีอบรมเชิงปฏิบัติการให้กับอาจารย์และบุคลากร  หรือกระทั่งนิสิตที่เกี่ยวข้องอย่างน้อยปีละ ๑ ครั้ง  เพื่อให้แต่ละคนสามารถบริหารจัดการระบบข้อมูลต่างๆ  ได้ด้วยตนเอง  ซึ่งหมายถึงรวดเร็ว ถูกต้อง และเป็นจุบัน



จันเพ็ญ ศรีดาว : ผู้ดูแลระบบฐานข้อมูล


ปรีชา  ศรีบุญเศษ : ผู้ดูแลสื่อสร้างสรรค์


เวทีการอบรมดังกล่าว ไม่เพียงเสริมสร้างความรู้และทักษะเกี่ยวกับระบบบริหารการจัดการข้อมูล (ฐานข้อมูล) เท่านั้น แต่ยังเป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้แต่ละคนได้ร่วมให้ข้อเสนอแนะที่เกี่ยวกับการพัฒนาระบบบริหารจัดการข้องมูลร่วมกัน รวมถึงการช่วยให้อาจารย์จากแต่ละหลักสูตรได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกับคณะทำงานของมหาวิทยาลัยฯ  ในประเด็นต่างๆ ที่เป็นปัญหาอุปสรรค  ความสำเร็จ  ตลอดจนการเขียนรายงานผลการดำเนินงาน  การจัดทำวีดีทัศน์  การเขียนเรื่องเล่าเร้าพลัง  การเบิกจ่ายงบประมาณ  ฯลฯ  ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นการจัดการความรู้และความรักร่วมกัน  ยึดโยงความเป็นเครือข่ายไปอย่างแน่นเหนียว


แน่นอนครับ  ฐานข้อมูลหรือระบบบริหารจัดการข้อมูลชุดที่จัดทำขึ้น  ย่อมทำหน้าที่เป็นเสมือน “คลังข้อมูล” หนุนเสริมการทำงานของเหล่าบรรดานักวิชาการที่ทำงานวิชาการรับใช้สังคมได้เป็นอย่างดี เพราะจะทำให้รู้ว่าแต่ละชุมชนมีการขับเคลื่อนประเด็นเชิงพื้นที่อะไรไปบ้างแล้ว – หรือเรียกง่ายๆ คือใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร... ย่นเวลาของการต้องไปสอบถาม ค้นโจทย์ซ้ำแล้วซ้ำอีกจนชาวบ้านในชุมชนรู้สึกเหนื่อยกับการต้องให้ข้อมูล...ซ้ำแล้วซ้ำอีก ซ้ำแล้วซ้ำเล่า


ต่อเมื่อฐานข้อมูล หรือระบบบริหารจัดการข้อมูลมีประสิทธิภาพ ย่อมช่วยให้การทำงานเห็นภาพที่ชัดขึ้น สามารถต่อยอดได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งยังสามารถยึดโยงเครือข่ายที่เกี่ยวข้องเข้ามาผนึกกำลังร่วมกันได้อย่างไม่ยากเย็น


๒๘  ตุลาคม ๒๕๕๗
สำนักคอมพิวเตอร์ ม.มหาสารคาม



หมายเลขบันทึก: 579501เขียนเมื่อ 31 ตุลาคม 2014 06:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 ตุลาคม 2014 07:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

เป็นหลักสูตร  ที่ดีมากๆๆ นะคะ  ได้เห็นภาพ  เห็นความตั้งใจ  ของผู้มาร่วมกิจกรรม  มีความมุ่งมั่น  ตั้งใจ  ใส่ใจ   แล้ว  ===> สุดท้าย   .... ผลลัพธ์ของการประเมินผลโคลงการ   "สำเร็จตามวัตถุประสงค์"   แน่ๆๆค่ะ  นั้นคือ เกิดประสิทธิผล และเกิดประสิทธิภาพ   นะคะ

ขอบคุณค่ะ

-สวัสดีครับอาจารย์

-ตามมาให้กำลังใจและอ่านข้อมูลจากบันทึกนี้ครับ

-การบริหารจัดการที่ดี..ส่งผลให้เกิดผลดี..ตามมาครับ

-ขอบคุณครับ


ชอบใจฐานข้อมูลที่เข้าถึงง่าย

คนทั่วไปก็เข้าถึงได้

ในแต่ละปีมีโครงการเพิ่ม

ปี 57 บวกศิลปและวัฒนธรรมเข้าไปด้วยนะครับ

ขอบคุณมากครับ

รอฐานข้อมูล GIS เสร็จครับ

รอดูผลงานด้วยคนครับอาจารย์แผ่นดิน :)

ขอบพระคุณครับ พี่ อ.Dr. Ple

เวทีนี้ ต้องการให้อาจารย์แต่ละหลักสูตรมีส่วนร่วมกับการลงข้อมูลด้วยตนเองครับ  และจะได้พัฒนาข้อมูลของแต่ละหลักสูตรอย่างเป็นปัจจุบัน  เพราะลำพังคงลำบากเหมือนกันที่จะส่งมายังทีมส่วนกลาง   แต่กระนั้นหากส่งมา เราก็ยินดีนำข้อมูลลงให้นะครับ...  

ปีนี้หมายใจปักหมุด GIS ....
ซึ่งน่าจะก่อเกิดประโยชน์กว้างขวางขึ้นครับ

ใช่แล้วครับ  เพชรน้ำหนึ่ง
เห็นด้วยกับวาทกรรมนี้ครับ การบริหารจัดการที่ดี..ส่งผลให้เกิดผลดี

ถือเป็นปัจจัยความสำเร็จขนานแท้
ฐานข้อมูลที่ทำขึ้น อีกสถานะก็คือจดหมายเหตุดีๆ นั่นเอง ครับ

ขอบคุณครับ อ.ขจิต ฝอยทอง

ตอนที่คิดระบบข้อมูล-ระบบสารสนเทศนี้  ผมเองก็เน้นแนวคิดการเข้าสืบค้นเบื้องต้นอย่างง่ายๆ....
วันนี้อาจยังลงระบบข้อมูลได้ไม่ทั้งหมด  แต่ก็จะพยายามครับ พยายามทำไปเรื่อยๆ ทำไปเรียนรู้ไป
และคัดกรองความสมบูรณ์ของแต่ละเรื่อง เพื่อนำไฟล์ฉบับเต็มลงสู่การบันทึกและเผยแพร่ต่อไป

ขอบคุณครับ คุณแว้บ

ขอบคุณที่แวะมาให้กำลังใจนะครับ
ดอกผลแห่งความตั้งใจ  ไม่นานนี้ ก็คงผลิบานในเร็ววัน กระมังครับ 55

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท