ชื่อเรื่อง นศ.โอที กับเด็กชายแก้มย้อย


        สวัสดีค่ะ ท่านผู้อ่านทุกท่าน ก่อนอื่นดิฉันขอแนะนำตัวก่อนนะคะ ดิฉันชื่อยอดขวัญ แซ่อึ๊ง หรือเรียกสั้น“สายป่าน”ค่ะ เป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขากิจกรรมบำบัด(Occupational Therapy) คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล สาขาของเราเรียกสั้นๆว่า OT  ค่ะ เนื่องในวันที่ 27 ตุลาคม ของทุกปี เป็นวันกิจกรรมบำบัดสากล ดิฉันขอมาเล่าประสบการณ์ความรู้ทางกิจกรรมบำบัด ผ่านบทความนี้ ซึ่งเป็นบทความที่ฉันได้เล่าถึงประสบการณ์การฝึกงานของดิฉัน กับการเจอผู้รับบริการ     ครั้งแรกในชีวิตของฉันเองก็ว่าได้ ถ้ามีข้อผิดพลาดประการใดก็ขอโทษ ณ ที่นี้ด้วยนะคะ

         เสียง นาฬิกา เดิน ดัง ติ๊ก ติ๊ก ติ๊ก รอบแล้วรอบเล่า บ่งบอกถึงกาลเวลา ที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งเวลาที่ว่านั้น มันได้แต่เดินไปข้างหน้าเรื่อยๆ ไม่เคยรอใคร และก็ไม่มีวันที่จะสามารถเอากลับคืนมาได้ ด้วยเวลาที่มันเดินอย่างรวดเร็ว เผลอๆแป๊ปเดียวเท่านั้น กับชีวิตที่เป็นนักศึกษามหาลัย ก็ก้าวมาเป็นนักศึกษาชั้นปีที่สามแล้ว (“อ่าว นี่ฉันอยู่ปีสามละหรอเนี่ย รู้สึกแก่ชะมัด ตอนนั้นฉันได้แต่บ่นกับตนเองซ้ำๆ”) เพราะการที่ฉันมาเป็นนักศึกษาชั้นปีที่สาม สิ่งที่ตามมานั้น ก็คือการฝึกปฏิบัติงานในโรงพยาบาลต่างๆนั่นเอง โรงพยาบาลแรกที่ดิฉันได้ไปฝึก ก็เป็นโรงพยาบาลที่ทุกท่านต้องรู้จักกันแน่นอน โรงพยาบาลนั้นก็ คือ โรงพยาบาลศิริราชนั่นเอง โดยตึกที่ดิฉันไปฝึกก็คือ ตึกศรีสังวาลย์(เล็ก) ชั้นสอง ซึ่งผู้รับบริการเด็กส่วนใหญ่ที่มานี่ก็เป็นผู้รับบริการเด็กที่มาฝึกการกระตุ้นการฝึกกลืน กระตุ้นพัฒนาการ ฯลฯ

          เมื่อเช้าวันฝึกงานวันแรกมาถึง ในวันที่ 20 มกราคม 2557 ฉันตื่นนอนแต่เช้า ประมาณ ตีห้าได้(รู้สึกง่วงสุดๆ อยากจะกลิ้งไปนอนต่ออีกซักนิดนึง) แต่ก็ต้องรีบอาบน้ำแต่งกายด้วยชุดฝึกงาน พอเสร็จก็ปั่นจักรยาน ไปรอรถโดยสารประจำทางของมหาวิทยาลัย (shuttle bus) ที่เดินทางไปโรงพยาบาลศิริราช ตอน ตีห้าสี่สิบห้า พอถึงที่โรงพยาบาลไปหาอะไรรับประทาน แล้วรีบเดินไปตึกที่ต้องฝึกงาน ณ ห้องกิจกรรมบำบัดเด็ก ตึกศรีสังวาลย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูชั้นสอง ความรู้สึกในตอนนั้นก่อนเริ่มเข้าฝึกงานครั้งแรก (บอกเลยว่าตื่นเต้นมากๆ แอร์ก็เย็น มือก็เย็น มือสั่นไปหมด ทำตัวก็ไม่ค่อยถูก ตอนนั้นในสมองมีแต่คำถาม ว่าจะต้องทำตัวยังไงดี เวลาเจอเด็กจะต้องทำยังไงก่อนเป็นอันดับแรก ถ้าเด็กร้องไห้หล่ะ จะประเมินเด็กถูกรึปล่าว) แทบทุกการกระทำในตอนวันแรกนั้น มีคำถามกับความสงสัยนับร้อย ผุดออกมาจากในความคิดตลอด และแล้วพี่ที่ดูแลการฝึกงานก็มาถึง ดิฉันก็สวัสดีทักทายพี่ๆในวอร์ด มีทั้งคุณหมอ พี่นักกิจกรรมบำบัด พี่นักกายภาพบำบัด พี่พยาบาลประจำตึก (“ สวัสดีค่ะ ชื่อยอดขวัญ แซ่อึ๊ง ค่ะ ชื่อเล่น ชื่อสายป่าน ขอฝากเนื้อฝากตัวด้วยนะคะพี่ๆ ”) 

           หลังจากนั้นพี่ก็พาไปแนะนำตามสถานที่ต่างๆ ภายในบริเวณตึก จนครบ(บรรยากาศการทำงานที่นี่ขอบอกอบอุ่นมาก ทุกคนรู้จักกันหมด ช่วยเหลือกันเอาใจใส่กัน เหมือนกับเป็นครอบครัวเดียวกันเลย ) พอเข้าไปในห้องกิจกรรมบำบัดเด็กในวันแรกพี่บอกว่า "นศ.ให้สังเกตการทำงานของพี่ไปก่อน และถ้ามีคำถามก็สามารถถามได้ " [ดิฉัน แอบทำหน้า ดีใจนิดๆ] และคิดว่า (ดีนะที่ในวันแรกพี่ที่ดูแลยังไม่ให้จับเด็ก ไม่งั้นเกร็งทำอะไรไม่ถูกแน่เลย) พอเวลาผ่านไปได้หนึ่งอาทิตย์ ก็เริ่มจะปรับตัวกับสถานที่ กับพี่ กับเด็กๆที่มาเข้ารับบริการได้ ผู้รับบริการเด็กส่วนใหญ่ที่เข้ามารักษา เช่น เด็กคลอดก่อนกำหนด(Preterm Infant) เด็กพิการทางสมอง(Cerebral Palsy) เด็กดาวซินโดรม (Down Syndrome) โรคอัมพาตใบหน้าครึ่งซีก (Bell Palsy,Facial Palsy) หลอดอาหารอุตตันตั้งแต่กำเนิด (Esophageal Atresia) โรคลมชัก (Epilepsy)เป็นต้น ซึ่งในแต่ละโรคก็มีการประเมิน การรักษาที่แตกต่างกันบ้าง เหมือนกันบ้าง ก็จะมีเทคนิค วิธีการรักษาทางกิจกรรมบำบัดที่ใช้กับเด็กแต่ละคน ที่หลากหลาย

              ในวันที่ 24 มกราคม 2557 พี่ที่ดูแลการฝึกปฏิบัติงานก็ได้แจกเคสผู้รับบริการ (ป่าน เดี๋ยววันนี้พี่จะแจกเคสให้นะ เป็นเด็กผู้ชายน่ารักตุ้ยนุ้ย ) ซึ่งเคสที่ดิฉันต้องรับผิดชอบ ต้องประเมิน และรักษา ซึ่งดิฉันต้องไปนำเสนอให้กับอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยอีกที (บอกได้เลยว่า ตื่นเต้นมาก กว่าทุกเคสที่เจอมาในหนึ่งสัปดาห์) เคสที่ได้รับเป็นผู้รับบริการเด็ก ชื่อเด็กชายแก้มย้อย (นามสมมติ)อายุ 1 ปี 2 เดือน เป็นโรคลมชัก(Epilepsy) 

             เมื่อดิฉันต้องมาเจอน้องแก้มย้อย และผู้ปกครองของน้อง (ในวันนี้ดิฉันตื่นเต้น เป็นพิเศษ เพราะเป็นเคสที่ตนเองต้องรับผิดชอบด้วย) พอได้มาเจอน้องและผู้ปกครอง ดิฉันจึงกล่าวสวัสดีและแนะนำตัวไป “สวัสดีค่ะ ฉันชื่อยอดขวัญ แซ่อึ๊ง เป็นนักศึกษากิจกรรมบำบัดชั้นปีที่ 3 นะคะ” ผู้ปกครองของน้องก็ยิ้ม แล้วพูดว่า(พึ่งขุดน้องมาจากที่นอนเลย อาจมีงอแงบ้างนะคะ) [ดิฉันเลยทำหน้ายิ้มๆ แล้วตอบว่า ค่ะคุณแม่ แล้วดิฉันก็อุ้มรับน้องมา]

            (น้องแก้มย้อยน่ารักน่าชังมาก น่าหยิกแก้มจังเลย อิอิ) น้องเป็นเด็กผู้ชาย มีรูปร่างอ้วนท้วม ผิวขาวเหลือง มีผ้าพันแผลผ่าตัดที่บริเวณศีรษะด้านซ้ายปิดอยู่ ที่จมูกมีสายยาง Nasogastric Tube (ซึ่งดิฉันก็แอบตกใจน้องนิดๆ เพราะมีทั้งผ้าพันแผล และสายติดอยู่ ที่จมูก กลัวว่าจะทำอะไรแล้ว จะเป็นอันตรายต่อน้อง รึปล่าวน้า)

              ในการเจอเด็กครั้งแรกสิ่งที่ฉันคิดไว้เสมอ คือต้องการสร้างปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับเด็ก ให้น้องแก้มย้อยได้คุ้นชินกับดิฉัน ให้น้องได้ไว้วางใจก่อน เวลาจะทำอะไรจะได้ง่ายขึ้น ฉันก็เลยเอาของเล่นที่มีเสียง พวกกระดิ่ง กล่องดนตรี มาล่อน้องบ้าง เล่นหน้าเล่นตาบ้าง (น้องแก้มย้อยเอามั๊ยครับ..... เอื้อมมือมาหยิบหน่อยเร็ว ^^)[แต่ดูเหมือนไม่สำเร็จ น้องก็ทำหน้าเหมือนจะร้องไห้ ตลอดเวลา และน้องยังไม่พูดสื่อสารด้วย](เอาไงดีหล่ะทีนี้ ติ๊ก ตอก ติ๊ก ตอก ดิฉันแอบบ่นกับตัวเอง^^)

             หลังจากที่ล่อน้องให้สนใจพักใหญ่ ดิฉันก็ต้องประเมินน้องแก้มย้อยซะแล้วสินะ มาเริ่มจากการดูพัฒนาการด้านกล้ามเนื้อมัดใหญ่กันก่อน ว่าสมกับวัยหรือไม่ โดยจากการประเมินน้องแก้มย้อยแล้ว พบว่าพัฒนาการน้องยังไม่สมวัย ยังไม่สามารถชันคอได้ ไม่สามารถนั่งทรงตัว ตั้งลำตัวขึ้นมาได้ด้วยตนเอง ยังไม่คืบ ไม่คลาน ต้องมีผู้ปกครองคอยช่วยอุ้มตลอดเวลา จึงกระตุ้นการชันคอของน้อง โดยการอุ้มน้องมาพาดกับลูกบอล หรือหมอนกลมในท่านอนคว่ำ แล้วโยกในหลากหลายทิศทาง แล้วก็นำของเล่นที่มีเสียง หรือมีสีสันสดใสมาล่อในทิศทางต่างๆ พร้อมกับการทำเทคนิค Inhibit tapping ตามแนวยาวของกล้ามเนื้อบริเวณคอมาถึงหลัง พยายามให้น้องชันคอขึ้นมาดูของเล่น น้องแก้มย้อยก็ชันคอไปร้องไห้ไป ต้องให้พ่อแม่อยู่ใกล้ๆ ช่วยคอยเชียร์ คอยกระตุ้นอีกแรงด้วย (น้องแก้มย้อยคนเก่งยกคอมาหาแม่หน่อยครับ ฮึบๆๆ) ในการฝึกการชันคอ ดิฉันก็ให้การบ้านฝากผู้ปกครองของน้องแก้มย้อยกลับไปทำเหมือนในห้องฝึกด้วย (“คุณแม่คะการบ้านที่ให้อย่าลืมกลับไปทำด้วยนะคะ ระยะเวลาที่ให้น้องชันคอ อาจเริ่มจากระยะเวลาสั้นๆ 20 วินาที ค่อยๆปรับเพิ่มเป็น 1นาที และเพิ่มองศาในการชันคอ จากน้อยไปมากนะคะ ไม่ต้องรีบร้อนนะคะ ค่อยๆ ฝึกเดี๋ยวน้องก็เก่งขึ้นค่ะ”)การนำกลับไปฝึกที่บ้านก็เป็นสิ่งสำคัญ เพราะผู้ปกครองอยู่ใกล้ชิดกับเด็ก ที่จะช่วยเติมเต็มให้เด็กมีพัฒนาการที่เพิ่มขึ้น

              ก่อนจะหมดชั่วโมงฝึก ได้มาตรวจในด้านของการทำงานของปาก ดิฉันก็เดินไปล้างมือใส่ถุงมือ พร้อมกับนำอุปกรณ์ฝึกมา อุปกรณ์ ก็เช่น ไม้สำลีก้านยาว แก้วน้ำใส่น้ำแข็ง น้ำหวาน โดยก่อนฝึกต้องอุ้มน้องมานั่งบน Adaptive seating for feeding เป็นการจัดท่าทางให้น้องมีท่านั่งในการฝึกการกระตุ้นการกลืนที่เหมาะสม โดยให้ลำตัวตั้งตรง คอตรง ขานั่งห้อยลง 90 องศา แต่ดูเหมือนน้องไม่ชอบซักเท่าไหร่ ร้องไห้โวยวายใหญ่เลย และขณะนั่งน้องยังไม่สามารถตั้งคอขึ้นเองได้ ดิฉันเลยต้องใช้นิ้วมือสามนิ้วจับประคองบริเวณคางของน้อง(Jaw control) แล้วถึงจะเริ่มสำรวจตรวจภายในปากของน้องแก้มย้อย โดยผลการประเมินของน้องแก้มย้อย ก็มีดังนี้ ในด้านของปฏิกิริยาตอบสนอง(Reflex) เป็นปกติของ ปฏิกิริยาการตอบสนองของการหันหานม  , ปฏิกิริยาการตอบสนองของการดูด ,และปฏิกิริยาการตอบสนองของการขย้อนหรืออาเจียน และ ริมฝีปากของน้องแก้มย้อย ปิดปากได้ไม่สนิท มักมีน้ำลายไหลย้อยที่มุมปากตลอดเวลา กล้ามเนื้อลิ้นของน้องอ่อนแรงซีกขวา สังเกตได้โดยลิ้นจะห้อยตกไปทางขวา ทิศทางการเคลื่อนไหวลิ้น เป็นแบบแลบเข้าออก ไม่สามารถเคลื่อนไปด้านซ้ายขวา หรือกระดกขึ้นลงได้ เวลากลืนน้ำเข้าไป จะมีอาการสำลักหลังการกลืน น้องแก้มย้อยจึงไม่สามารถรับประทานอาหารทางปากได้ จึงรับประทานอาหารผ่านทางจมูก หรือ Nasogastric Tube

           งั้นเรามาเริ่มการฝึกการกระตุ้นกลืน กันดีกว่านะคะคุณแม่ เริ่มจากการนวดกระตุ้นกล้ามเนื้อปากก่อนนะคะ เป็นการนวดเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อปาก โดยเริ่มจากกล้ามเนื้อบริเวณรอบปาก กระตุ้นโดยการใช้นิ้วหัวแม่โป้งและนิ้วชี้ วางทาบริมฝีปากบน (คุณแม่ดูด้วยนะคะเดี๋ยวต้องนำไปฝึกน้องต่อนะคะ) จากนั้นก็กดแล้วแยกนิ้วมือออกจากกัน , ใช้นิ้วชี้วางทาบที่บริเวณมุมปากบน แล้วลูบขึ้นเร็วๆ ส่วนริมฝีปากล่างลูบลงเร็วๆเช่นกัน( Quick stretching) โดยกระตุ้นให้น้องปิดปากสนิทมากขึ้น จากนั้นก็นวดกล้ามเนื้อรอบโดยการริมฝีปาก โดยใช้นิ้วโป้งนวดเป็นวงกลมโดยใช้แรงพอดี( Firm ) รอบๆกล้ามเนื้อริมฝีปาก

           หลังจากที่เรานวดกล้ามเนื้อรอบปากมาซักพัก มาเริ่มบริหารกล้ามเนื้อลิ้นบ้าง ก่อนอื่นดิฉันก็ได้เตรียม สำลีก้านยาว(Long cotton swab) แล้วให้แรงต้านที่ลิ้นของน้องด้านซ้ายและขวา ให้น้องพยายามออกแรงดันต้านกับสำลี เพื่อฝึกการเคลื่อนไหวของลิ้น และเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อลิ้นด้วย

            ถึงขั้นตอนการฝึกสุดท้ายในวันนี้แล้ว (ดีใจจัง จะเสร็จแล้ว ) เป็นการฝึกการกลืนนะคะคุณแม่ ให้น้องสามารถกลืนน้ำลายได้ด้วยตนเอง โดยไม่สำลัก และปลอดภัย เมื่อดูท่าทางว่าน้องนั่งเหมาะสมเหมือนที่ได้บอกไปแล้ว ก็เริ่มจัดควบคุมขากรรไกรของน้อง (Jaw control) ในท่ากระตุ้นกลืน โดยดิฉันจะเข้าทางด้านหน้าของน้อง โดยนิ้วหัวแม่มือจับที่ใต้ริมฝีปากล่าง นิ้วกลางประคองที่ใต้คาง และนิ้วชี้ทาบจับที่บริเวณขากรรไกร หลังจากนั้นก็กระตุ้นให้น้องหลั่งน้ำลาย โดยใช้ปลายนิ้วชี้และนิ้วกลางนวดใต้ขากรรไกรล่าง เป็นวงกลม 2-3 ครั้ง หรือไม่ก็ใช้สำลีชุบน้ำหวานให้น้องดูดเลย เมื่อมีน้ำอยู่ในปากแล้ว ก็กดยืดที่บริเวณกล่องเสียง หรือทำท่ายกกล่องเสียง  ทำ 3 ครั้งนะคะ แล้วให้น้องกลืนน้ำลาย หรือใช้นิ้วกดที่รอยเว้าที่คอ (Sternal Notch) แล้วให้น้องกลืนน้ำลาย แล้วจากน้้นก็ฝึกน้องแก้มย้อยจนเสร็จ

            “วันนี้ฝึกพอแค่นี้นะครับน้องแก้มย้อย เดี๋ยวได้กลับบ้านหาแม่แล้วเนาะ ” แล้วดิฉันก็อุ้มน้องแก้มย้อยมาเล่นซักพัก แล้วอุ้มส่งให้แม่ แล้วก็เดินไปส่งที่ประตู “ลาก่อนค่ะคุณแม่ บ๊าย บาย แก้มย้อยไว้เจอกันอีกนะครับ” การได้เจอกับน้องแก้มย้อย ดิฉันได้เจออาทิตย์ละ สองครั้งได้ ในแต่ละครั้งที่ได้เจอน้อง ก็ดีใจเพราะ เห็นพัฒนาการในด้านต่างๆในทางที่ดีขึ้น ผู้ปกครองก็คงยิ้มดีใจไม่แพ้กับดิฉันเลย

              พอตกเย็น หลังจากเลิกจากฝึกงาน ก็ต้องไปรอรถ รอกลับศาลายา (พอถึงในรถเท่านั้นแหละค่ะ นอนสลบยาวถึงที่มอเลย พอลงรถเสร็จ ก็ต้องปั่นจักรยานต่อกลับหอ เอ้า ฮึบๆ พึ่งรู้ชีวิตการทำงานเป็นอย่างนี้นี่เอง เหนื่อยสุดขีด ยังไงดิฉันก็สู้นะคะ ขอตัวกลับหอไปนอนพักก่อนนะคะท่านผู้อ่าน ฮี่ๆ)

              ในการเจอน้องแก้มย้อยครั้งนี้ ก็ถือว่าเป็นประสบการณ์ที่ดีที่ทำให้ดิฉันได้ฝึกทักษะ เก็บเกี่ยวประสบการณ์ในการประเมิน การรักษาทางกิจกรรมบำบัด (เวลาเราทำอะไรในสิ่งที่เรารัก และทำด้วยใจ ถึงแม้จะเหนื่อยหน่อย แต่ถ้าแลกกับการที่ผู้รับบริการแต่ละคนมีพัฒนาที่ดีขึ้น เพียงแค่นี้ก็ถือว่าประสบความสำเร็จและพอใจแล้ว กับสิ่งที่เราได้เหนื่อยเรียนกันมา ) สุดท้ายนี้ก็อยากเป็นกำลังใจให้พ่อแม่ทุกคนในการฝึกฝนลูกๆ ให้ดียิ่งขึ้น อย่าพึ่งท้อกันนะคะ สู้ตายค่ะ Fighting!!!!!!!

หมายเลขบันทึก: 579342เขียนเมื่อ 27 ตุลาคม 2014 17:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 ตุลาคม 2014 17:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สายป่านเล่าได้น่าอ่านมาก

ขอบคุณมากๆครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท