"สิ่งที่ไม่เห็น แต่เด่นตา"



กระแสโลก ของคนยุคใหม่ (นวนร) มีแนวโน้มไปสู่วิทยาศาสตร์เป็นหลัก เนื่องจากได้เรียนรู้แบบตะวันตก ที่มีแนวคิดเพื่อเอาชนะธรรมชาติ (สสาร) ทำให้มนต์เสน่ห์ของบูรพาวิถีถูกมองข้าม แต่วิถีชีวิต การแสดงออกในแต่ละวันกลับมีเยื่อใยในรากเหง้าแห่งชาติบ้านเมืองอยู่ (เรื่องชาวบ้าน) กระนั้น จะหาใครใส่ใจใคร่รู้ รากฐานบ้านเกิดเมืองนอน และครอบครัววิถีของตนอย่างซาบซึ้งบ้าง

กระแสโลกดูเหมือนจะสอนให้มนุษย์ในปัจจุบัน สนใจเทคโนโลยี และวิทยาการแบบแตะต้องมองเห็นได้ (tangible) และท้าทายเรื่องเก่าๆ ที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ เรื่องโบราณวิถีจึงถูกท้าทายและถูกมองว่าคร่ำครึ ล้าสมัย ไม่ทันยุค เมื่อเผชิญกับสิ่งที่มองไม่เห็นหรือเรื่องนอกเหนือผัสสะ มักจะมองไปสู่เรื่องไม่น่าเชื่อถือหรือไสยศาสตร์ไป

มองในแง่มุมดี วิทยาศาตร์ ได้เผยความจริงให้มนุษย์ตื่นตัวว่า ทั้งหมดล้วนเป็นไปตามระบบธรรมชาติที่มีกฎ มีระบบของมันเอง แต่นั้นเป็นเพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้น วิทยาศาสตร์ มิใช่คำตอบทั้งหมดที่จะพิสูจน์ในโลกนี้ คนที่ได้หลักฝรั่งมามาก ก็มักจะอวดความรู้ของฝรั่งว่า หลักการของฝรั่งพิสูจน์ได้ ไม่งมงาย เขาเหล่านั้น อาจยืนยันมั่นหมายอย่างสากลมากไปว่า วิทยาศาตร์คือ ศาลที่จะตัดสินสรรพสิ่งได้

มีหลายสิ่งที่เราพิสูจน์ไม่ได้ และท้าทายวิทยาศาสตร์อยู่ "ความเชื่อมั่น ความจริง หลักการสากล และมาตรฐาน" วิทยาศาสตร์มิใช่ที่ยุติ มิใช่ศาลที่จะตัดสินเรื่องต่างๆ ได้แบบเบ็ดเสร็จ เราจึงไม่อาจให้ศรัทธาในวิทยาศาสตร์แสดงบทบาทเต็มที่ แม้นักวิทยาศาสตร์จะการันตีว่า "วิทยาศาสตร์คือข้อยุติ" ก็ตาม 

คำถามคือ เมื่อวิทยาศาสตร์พิสูจน์ได้แล้ว จะหักล้างเรื่องอื่นๆ ได้จบสิ้นหรือไม่ เพราะเรื่องต่างๆ รอการพิสูจน์อยู่เป็นตับ และที่น่าถามต่อคือ จะให้มนุษย์ยุคใหม่ศรัทธาในวิทยาศาสตร์เพื่ออะไร? -เพื่อไม่โง่งมงาย? ไม่ให้ถูกลวง? ให้รู้ทะลุถึงความจริง? หรือบลาๆๆๆ?? นั่นเรากำลังถูกล้างสมองจากทฤษฎีฝรั่งมิใช่หรือ เรากำลังเบนเป้าหมายของ "บูรพาวิถี" ออกไปใช่ไหม?

คำว่า "วิทยาศาสตร์" มาจากคำว่า "วิทยา" แปลว่า ความรู้ ซึ่งรากเหง้ามาจากคำว่า "วิชา" (ความรู้) และคำว่า "ศาสตร์" แปลว่า อาวุธ ในนัยคือ ความรู้คืออาวุธ ดังนั้น ใครมีความรู้ คนนั้นก็มีอาวุธ เพื่อต่อสู้กันทางหลักการด้านสหความรู้ ในเรื่องนั้นๆ ทั้งเชิงลึกและเชิงลับ ใครที่มีความรู้มาก (สสารความรู้) และมีประสบการณ์ (ปริมาณข้อมูล) ก็กลายเป็น "ศาสตราจารย์" (ผู้มีอาวุธด้านความรู้) ได้ (โดยไม่ต้องผ่านสภามหาลัยนั้นๆอนุมัติ)

เมื่อเราได้ความรู้มาเหมือนได้อาวุธที่จะห้ำหั่นอวิชชา ความไม่รู้ให้จางไป คนไม่แจ้งจาง ก็คือคนมืดบอด เหมือนคนอยู่ในที่มืด ใครที่สนใจเรียนรู้เรื่องศาสตร์ใด ที่ไม่ก่อให้เกิดความรู้เรียกว่า "ไสยศาสตร์" แปลว่า อาวุธทื่อ หมายถึง ไม่มีความรู้ประหารอวิชชา จึงเหมือนเดินในที่มืดไปสู่ที่มืดมิด ส่วนคนที่มีวิชา เหมือนเหมือนเดินจากที่มืดไปสู่ที่สว่าง คนแรกเปรียบเหมือนตะวันที่กำลังตก จากโพล้เพล้ไปหาความมืดมิดสนิท คนหลังเหมือนตะวันกำลังอุษา ที่ทอแสงสว่างขอบฟ้า ไล่ความมืดให้โลกสว่างทวีคูณ

หากวิทยาศาสตร์เคลมตนเองว่าเป็นคนหลัง อีกไม่นานก็คงมืดค่ำอีก ส่วนคนที่เชื่อไสยศาสตร์หรือศาสตร์อื่น ที่ไม่อิงวิทยาศาสตร์นั้น อีกไม่นานก็คงสางสว่างเช่นกัน ทั้งสองเป็นขั้วของกันและกัน หากไม่มีขั้วลบก็ไม่มีขั้วบวก กระแสไฟก็ไม่เกิด จึงจำเป็นต้องอาศัยขั้วทั้งสองเวต (weight) กันว่า ด้านไหนมีเหตุ มีผลหรือพลอสซิเบิ้ล (plausible) กว่ากัน

ในโลกมีอะไรที่เหนือกว่าทั้งสอง มิใช่แค่นี้ จึงไม่ควรจะไปให้เครดิตวิทย์มากจนเสียการทรงตัว ถ้าถอดรื้อมวลสสารความรู้ออกจากสมองพวกนักวิทย์ หมดไปมันจะเหลืออะไรบ้าง หรือเราหลง ไอสไตน์ นิวตั้น กาลิเลโอ ฯ มากไป พวกนี้ก็ไม่ต่างจากยุคนี้ หากจะถอดหลักการของนักวิทย์ (ที่มีแต่สูตรที่ชาวบ้านอ่านไม่ออก) ที่ใช้ในโลกวิถีชีวิตไม่ได้ทั้งหมด ก็คงเหลือแค่อุปกรณ์ทดลองเท่านั้น 

หากมองเข้าไปอีกมุมหนึ่ง วิทยาศาสตร์มุ่งเน้นที่ "ความเป็นจริง" (reality) ตามกฎธรรมชาติเท่านั้น กฎที่ไม่อาจมองเห็นด้วยตาเปล่า นักวิทย์ จึงสาธิตด้วยเครื่องสื่อสารออกมาเป็นสสาร เราไม่เคยรู้ ไม่เคยเห็นจึงแตกตื่นเหมือนกระต่ายตื่นตาลหล่น แต่แบบฉบับของนักวิทย์ มีเอกลักษณ์ มีเครื่องสื่อถึง จึงดูเหมือนน่าเชื่อถือ แต่เป้าหมายปลายทางคือ ความจริงที่พิสูจน์ให้เราประจักษ์ เท่านั้นเอง มิได้มีอะไรนอกจากนี้เลย

เมื่อเราประจักษ์ที่ไม่เคยแจ้ง ความมืดมันจึงจาง เราจึงจับใจในโจทย์ว่า "ทำได้" จึงทำให้เรารู้ในหลักนั้น ในกฎนั้น ในสิ่งนั้น เราจึงเพิ่มการรู้ขึ้นมา กลายเป็นความความรู้จริงในสิ่งนั้นนั่นเอง แต่เมื่อรู้แล้วมันกระตุ้นให้เราอย่างไร มันผลักดันให้เรากระจ้างไปสู่สิ่งอื่นอย่างไรบ้าง น้อยคนจะสานต่อไปสู่ความจริงอื่นๆ นอกจากนักวิทย์ ที่ใช้ความรู้นั้นไปสร้างอุปกรณ์ เพื่อใช้ในชีวิต จนร่ำรวย นี่คือ เป้าหมายที่รองจาก "ความรู้จริง" ของนักวิทย์

ผู้เขียนยอมรับว่าวิทย์ มีจุดเชื่อมโยงประชากรโลกคือ พัฒนาสิ่งต่างๆ เพื่ออำนวยให้เกิดความสะดวกมากขึ้น และเผยความลับที่ตาเราเข้าไม่ถึง ให้เห็นกฎของธรรมชาติที่แท้จริง จุดนี้คือ จุดที่มีสารัตถะของตัวเอง อันที่จริง เราตื่นเต้นไปเองกับคำว่า "วิทยาศาสตร์" เพราะมันไม่ได้เหนือประสบการณ์หรือผัสสะข้างในเราเลย วิทยาศาสตร์ยังตามก้นสมองเราด้วยซ้ำ เพราะแท้จริงแล้ว ร่างกาย สมอง จิต วิญญาณ คือ "ปฐมภูมิ" (Origin) ของวิทยาศาสตร์ทั้งสิ้น

อะไรคือ เครื่องหมายของวิทย์ ทุกวันนี้เราอยู่โลกของวิทย์ครับ เพราะมองไปไหนก็ถูกวิทย์จับจอง ครองไปหมด เริ่มแต่ของใกล้มือคือ คอมพ์ โน๊ตบุ๊ก มือถือ รถ นาฬิกา ของในบ้าน ของรอบบ้าน รอบถนนหนทาง ห้างร้าน สรรพสิ่งฯ ล้วนถูกวิทย์ดีซายน์ไปหมด รวมไปถึงสิ่งที่มองไม่เห็นด้วย เช่น ความถี่ สสารของโมเลกุล ดีเอ็นเอ พลังงาน คลื่น วิญญาณ จิต ความรู้สึก ความรัก โลภ โกรธ ฯ 

สิ่งที่สะท้อนวิทย์ได้ดีคือ "ภาษา" และ "นวัตกรรม" ซึ่งทั้งสองเป็นเครื่องสื่อสารได้น่าตื่นเต้นมาก เมื่อเราพูดถึงวิทย์ เราก็มักจะพบคำศัพท์อังกฤษหรือภาษาต่างชาติที่แปลกใหม่ในเชิงวิชาการออกมาเตะตาผู้คน จากนั้นก็นำไปถ่ายทอดกัน และอีกอย่างคือ ใครมีนวัตกรรมใหม่ๆ ขึ้นมาก็จะถูกยกย่อง ส่องหาว่าทันสมัยใสฟรุ้งฟริ้ง และก็ตื่นตาตื่นใจกันไปตามก้นฝรั่ง

สิ่งที่ผู้เขียนอยากเสนอคือ แม้ว่าเราจะเจริญทันสมัยก้าวล้ำนำหน้าไปแค่ไหนก็ตาม เราไม่มีวันจะตามการสร้างสรรค์ "โลกของร่างกาย" นี้ได้ทันในเวลาร้อยปีแน่นอน เนื่องจากว่า ร่างกายได้ผ่านการวิวัฒนาาการมาหลายล้านปี ก้าวหน้ากว่าเราหลายล้านปีแสงแล้ว รวมทั้งสัตว์ต่างๆ พืชต่างๆ ในโลกนี้ด้วย เราค้นพบความมหัศจรรย์ ความลี้ลับ ของพวกมันแล้วกลับตื่นเต้น แสดงว่า เรายังอยู่ห่างอีกไกลหลายล้านปีแสง

ในขณะเดียวกัน เราเชื่อหรือไม่ว่า แม้โลกนี้จะก้าวล้ำนำหน้าไปไกลแค่ไหน เราก็ยังติดในกรอบโลกแห่งความมืดมนหรือหลุมดำอยู่เสมอ นั่นคือ โลกวิทย์เพิ่งก้าวย่างเหมือนอนุบาล เมื่อยุคกลางเท่านั้น (ห้าร้อยกว่าปี) แต่ความลี้ลับ ความไม่รู้ โลกแห่งมายา จินตนาการ ผี วิญญาณ ความกลัว และความจริงที่ยังเข้าไม่ถึง ยังสามารถเดินขนานไปกับวิทย์ได้ตลอดเช่นกัน แม้วิทย์จะยืนหยัดในท่าว่าจะเผยออกมาก็ตาม

ลองนึกดูก็ได้ว่า โลกนี้มีสิ่งลี้ลับที่ไหนบ้างที่วิทย์ยังไม่สามารถปลดปัญหานี้ได้ เช่น เมืองมายา เมืองอียิปต์ สโตนเฮ้นจ์ ครอบ เซอเคิล สามเหลี่ยมเบอร์มิวด้า ฯ ประเทศต่างๆ ก็ล้วนเต็มไปด้วยตำนาน เรื่องเล่า ที่ลี้ลับมากมาย อำนาจดำ มนต์ดำ คำสาป คาถา อาคม ผี วิญญาณ ป่า เขา ถ้ำ บรรพบุรุษอย่างเช่น ชาวอินคา ญี่ปุ่น จีน ฯ ก็ล้วนมีความเชื่อที่ลึกลับจนฝังดีเอ็นเอไปแล้ว

สำหรับประเทศไทยก็ยังมีรากเหง้าเหล่านี้อยู่เช่น วิญญาณเทพที่รักษาประเทศชาติคือ พระสยามเทวาธิราช พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ในวัดต่างๆ ศาลหลักเมืองทั้งหลาย ศาลเพียงตา ศาลพระภูมิ วิญญาณบ้าน สถานที่ ป่าเขา หมู่บ้าน ผีประจำเผ่า ผีประจำชีวิต เทพคุ้มครองบ้านเมือง ชีวิต ที่นา ป่า สวน พืชพรรณ สัตว์เลี้ยง ฯลฯ เช่นในกรุงเทพ ฯ ถือว่าเป็นเมืองที่เจริญด้วยวัตถุด้านวิทย์ แต่ก็มีสิ่งเหล่านี้เจอปนอยู่ทุกที่เช่นกัน เราจะเคลมได้อย่างไรว่า สิ่งเหล่านี้ ใครครอง ใครเชื่อถือว่า งมงาย ไร้เหตุผล คนไม่ทันสมัย 

ดังนั้น นี่คือสิ่งที่เห็นเด่นสะดุดตา แต่เราไม่อาจประจักษ์มันด้วยสายตาแบบวิทย์มอง อย่างน้อยมันก็สะท้อนความเชื่อ ความเจริญแบบเดิมของมนุษย์ไว้ หรืออย่างดีก็ช่วยให้มนุษย์รู้จักเคารพสิ่งที่เหนือประสาทสัมผัสเช่น กฎ วิญญาณ ความจริง อนึ่่ง สิ่งเหล่านี้ก็เป็นสรณะชั่วคราวให้กับพวกอ่อนแอ พวกที่กำลังหมดที่พึ่ง ไร้ข้อมูลแบบวิทย์ได้พึ่งพาอาศัย เป็นเครื่องมือโอบอุ้มให้ใจหนักบ้าง

ผู้เขียนเชื่อว่า แม้โลกนี้จะเจริญแค่ไหน มนุษย์ก็ยังเคารพ ไหว้ศาลพระภูมิ ศาลเจ้า พระพุทธรูป ต้นไม้ ภูเขา ถ้ำ ก้อนหิน สัตว์ ที่แปลก ที่เชื่อกันว่า เป็นของพึ่งพาได้เหมือนกับพวกเล่นเครื่องลางของขลัง พระเครื่อง วัตถุมงคล ยันต์ ของบูชาทั้งหลาย เพราะจิตใจของมนุษย์อ่อนแอเป็นพื้นฐาน มีเยื่อใยแห่งความเชื่อ ศรัทธา ความเคารพวิญญาณบรรพบุรุษอยู่ ซึ่งคงคู่ขนานไปกับวิทย์เป็นแน่ อีกอย่างในอนาคตวิทย์จะสร้างปัญหาต่อโลกมนุษย์จนตีบตัน เวลานั้นผู้คนก็จะแสวงหาที่พึ่งเก่าคือ ผี ศาล ศาสนา อีก

ทำอย่างไรทั้งสองจะเกื้อกูลกันแบบพึ่งพาอาศัยกันและจับมือกันเพื่อเป้าหมายให้ประชาชนเข้าใจโลก ชีวิต สรรพสิ่งแบบมีเหตุ มีผล มีกลไกของมัน โดยไม่หักหาญฝ่ายใด เหมือนไอสไตน์บอกว่า "ถ้าวิทยาศาสตร์ขาดศาสนาก็ตาบอด ถ้าศาสนาขาดวิทย์ ก็(ขา)พิการ" อย่าลืมว่า วิทย์ศึกษาเรื่องลี้ลับตามธรรมชาติ เพื่อเผยความจริง ในขณะสิ่งลี้ลับกุมความจริงไว้หลอกผู้คน ฉะนั้น เนื้อหาของสิ่งลี้ลับคือ เป้าหมายของวิทย์นั่นเอง

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนขออ้างดั่งหัวข้อเรื่องนี้ดังนี้  --"สิ่งที่ไม่เห็น แต่เด่นตา" มีดังนี้

๑) "พระพุทธรูป" เป็นสิ่งที่ถูกสรา้งขึ้นมาเพื่อเป็นองค์แทนพระพุทธเจ้า ที่ในปัจจุบันไม่มีใครยืนยันได้ว่า เป็นเช่นไร แต่อ้างตามคัมภีร์ว่า เป็นบุคคลในประวัติศาสตร์ว่า คือมนุษย์คนหนึ่งที่ใช้ตัวเองเดิมพันเพื่อจุดหมายคือ ตรัสรู้โลกความจริง เราจึงไม่เห็นองค์แท้ รูปแท้ของพระองค์ มีเพียงภาษาในคัมภีร์บอกไว้เท่านั้น และก็สร้างขึ้นมาตามนั้น

สิ่งนี้แม้ไม่มีตัวตนแล้ว ไม่มีใครเห็นได้แล้ว แต่คุณลักษณะ ความดี สัพพัญญูของพระองค์ยังคงมีเสน่ห์ มีค่า มีประโยชน์แก่ชาวโลกให้ศึกษา เจริญตามได้อย่างสนิทใจ เพราะเชื่อในหลักคำสอนที่อ้างถึงกฎความจริงที่เป็นอมตะคือ "ทุกข์และความสิ้นทุกข์" ด้วยหลักอริยมรรคแปด มีสติ สมาธิ ปัญญา เป็นต้น เราจึงพบเห็นพระพุทธรูปอยู่ทุกภาค ทุกวัดและได้กราบไหว้บูชาด้วย

๒) "ศาลพระภูมิ หลักเมือง" เป็นสิ่งเคารพบูชา ขอพร ขอบนบาน ต่อสิ่งนี้ ด้วยเชื่อว่า เป็นเทพ เป็นวิญญาณ ที่คอยดูแลคุ้มครอง มองประชาชนที่ไหว้วาน ขานขออยู่ แม้ว่าเราจะมองไม่เห็นว่ามีเทพเจ้า วิญญาณ ผีบรรพบุรุษอยู่ก็ตาม แต่เราก็เชื่อด้วยความศรัทธา เชื่อน้อมไปว่า มีจริงๆ จึงไหว้วาน ขอพร 

อนึ่ง แม้ว่าคนยุคใหม่จะมีแนวคิดไปอิงวัตถุนิยม โดยไม่ใสใจสิ่งเหล่านี้ก็ตาม อย่าลืมว่า คนที่อ่อนแอ คนหมดที่พึ่ง ที่หวังหรือคนไม่รู้ ยังต้องการที่พึ่ง กำลังใจอยู่ เมื่อวิทย์ ไม่อาจตอบสนองเขาให้เบาใจ สบายใจได้ จึงหาที่พึ่งจากสิ่งที่ไม่เห็น แต่มันโดดเด่นสายตาอยู่เสมอ ไปที่ไหนดูเหมือนมีทุกที่ นั่นเหมือนกำลังบอกว่า มันมี (สิ่งหนึ่ง) จริงๆ จึงฝากใจได้

๓) "แม่ย่านาง" เป็นไปได้ที่บอกว่า รถที่ตนขับมีเจ้าของสองเจ้าคือ ผู้ขับและผู้คุ้มครองเรียกว่า "ย่านาง" คนขับรถทั้งหลายย่อมรู้สึกดีว่า รถตนเองมี จึงคอยหาดอกไม้บูชา หรือคอยไหว้รถเวลาขับหรือเวลาพิธีการก็อยากให้รถเข้าร่วม หรือคนที่ซื้อรถใหม่ ให้พระเจิมให้ เพื่อให้เป็นมงคลแก่ตนเอง 

นอกจากรถแล้วเรือก็ถูกเชื่อว่ามีเช่นกัน เจ้าของก็จะเอาเรือมาเข้าพิธีในวันทำบุญใหญ่ครั้งหนึ่งหรือมีการไหว้เรือในคราวหนึ่ง หรือไหว้สังเวยก่อนเอาเรือมาแข่งเป็นต้น แม่ย่านางคือ ผีที่เชื่อว่าสิงสถิตที่ป่าไม้ ภูเขา วิญญาณที่เร่ร่อนมักอาศัยไม้ใหญ่เป็นที่พึ่ง ที่อาศัย เวลาคนตัดเอาไม้ไปทำเรือน ทำเรือ จึงมีการขอขมา ลาไหว้ เซ่นไหว้ เพื่อขออนุญาตนำไม้เรือนนี้ไปทำประโยชน์ ผีนี้ก็จะตามไปรักษาคุ้มครองด้วย สิ่งเหล่านี้ไม่เห็น แต่เราสามารถพบได้เด่นตาทั่วไปตามวัด ตามศาลเจ้า ตามเรือ ตามรถ ว่า มีแม่ย่านางสถิตอยู่

๔) "วิญญาณทั่วไป" แน่นอนว่า มนุษย์เชื่อเรื่องนี้มาตลอดชั่วอายุ พวกเขาเชื่อว่า วิญญาณ มีทุกที่ วิญญาณที่ไร้ที่อยู่เรียกว่า วิญญาณเร่ร่อนเป็นสัมภเวสี ส่วนวิญญาณที่มีเรือนอยู่เรียกว่า ผีบรรพบุรุษ ส่วนวิญญาณที่ถูกยกเป็นเทพเรียกว่า "เจ้า" เช่น เทพเจ้า ศาลเจ้า จนสูงขึ้นไปเรียกว่า "พระเจ้า" ในศาสนาพราหมณ์เชื่อว่า มีวิญญาณอยู่ทุกอณูของโลก

แม้ว่าเราจะสามารถมองเห็นผีหรือเจ้าเหล่านี้ได้ด้วยตาเปล่า แต่ความรู้สึก บรรยากาศ สถานที่ ขอบเขต นั้นมีจำเพาะไว้ให้ผีหรือเจ้าเหล่านี้ชัดเจน เช่น ศาลหลักเมือง ศาลเจ้า ปู่ตา ตี่จู่เอี่ย ศาลพระภูมิ หรือป่าช้า ดอนตาปู่ เกาะวิญญาณ สวนผี เช่น เกาะคำชโนด สวนป่าช้า เมรุป่าช้า เป็นต้น เราไม่เห็นรูปทรง รูปร่างทางตา แต่เรากลับเคารพสิ่งเหล่านี้ชัดเจน จนกลายเป็นประเพณีเช่น ตรุษจีน ตรุษไทย เป็นต้น

๕) "จิต" เป็นสิ่งที่มองไม่เห็นเช่นกัน ไม่มีรูปร่าง แต่เราก็ยืนยันมั่นหมายว่า มีจริงที่ไร้ร่องรอยตัวตน กระนั้น เราก็เชื่อสนิทว่า เรามีจิตข้างใน ที่แสดงออกมาอย่างเป็นรูปธรรมเช่น โกรธ เศร้า ดีใจ ทุกข์ เป็นวิญญาณที่ยังมีลมหายใจอยู่เรียกว่า "รู้ตัว" (consciousness) คำนี้เรียกว่า เป็นผีก็ได้ถ้าตายแล้ว แต่จิตที่ถือว่า พัฒนาหรือขัดเกลาแล้วเรียกว่า "สติ ปัญญา" ซึ่งก็คือ รู้ตัวหรือตัวรู้ นั่นเอง เราไม่อาจบอกได้ว่าจิตอยู่ส่วนไหนของกาย

สิ่งนี้ แม้นักวิทย์เองก็ยังก้าวตามไม่ทัน ยังบอกไม่ได้ว่า จิตอยู่ส่วนไหน นอกจากอาศัยระบบประสาทนำพา เราทุกคนมีจิตแน่นอน แต่เราจะยืนยันส่วนไหนของเราว่า เป็นจิตได้ ด้วยเหตุนี้ เราเชื่อว่า เรามีจิต เราจึงมั่นใจ มั่นจิต ฝึกจิต ให้อยู่ในกรอบที่ดี การจะฝึกตนเองให้เป็นดั่งที่ปรารถนา ต้องเข้าใจตัวเองที่คำว่า "จิต" นี้ให้ได้ ว่าเป็นอย่างไร อยู่ที่ไหน มีลักษณะอย่างไร เรียกว่า "มองเห็นจิต" (มองเห็นในสิ่งที่ไม่มีให้มี ให้เห็น) นั่นเอง

๖) "เทวดา นางฟ้า" นี้ก็เช่นกัน เราไม่เห็นด้วยตาเนื้อจริงๆ เรารู้ เราเห็นมาจากตำรา ภาพวาด คำบอกเล่า กระนั้น เราก็เชื่อว่า มีเทวดา มีนางฟ้า จึงทำให้คนไม่น้อยหลงใหลสิ่งนี้ จนอยากเป็นางฟ้า อยากเป็นเทวดา จนต้องแต่งตัว เลียนแบบตามจินตนาของภาษาที่บอกไว้ในคัมภีร์ เราจะพิสูจน์ได้อย่างไร หรือนักวิทย์จะพิสูจน์อย่างไรว่ามีหรือไม่ และทำไมผู้คนจึงเชื่อ

สิ่งเหล่านี้ยังมีอิทธิพลต่อกระแสความคิด ความฝันของมนุษย์อยู่ตลอด ก็เนื่องจากว่า เราถูกสอนให้เชื่อตามศาสนา โดยไม่มีเหตุผลสอบทาน อีกอย่างบุคคลเหล่านี้เป็นบุคคลในอุดมคติที่ถือว่า เป็นรางวัลหรือเป็นเป้าหมายของการทำดีในโลกความจริง แม้ผู้ที่ตายไป ไม่เคยมาบอกว่า เป็นเทวดา นางฟ้าที่ไหนก็ตาม เรายังเชื่อมั่นว่า นางฟ้า เทวดามีจริง แต่นักวิทย์คงไม่หลงกลคำสอนเป็นแน่

๗) "เครื่องราง ของขลัง" เป็นสิ่งที่นอกเหนือประสาทที่เราจะรับรู้ได้หมดถึงความศักดิ์สิทธิ์หรือความขลังของวัตถุที่ถูกนำมาสร้างเเป็นเครื่องวัตถุมงคล เราอุปโลกน์เอาเองด้วยศรัทธาคำสอนของพระพุทธคุณ ที่แผ่ขยายลงมาเชื่อมโยงกับเครื่องลางของขลัง จนเราเชื่อแน่ว่า มีพุทธคุณจริง แต่มองไม่เห็น ซึ่งนักวิทย์ก็ไม่เชื่อแน่นอน ความเชื่อ ความศรัทธาคือ บ่อเกิดความเป็นไปได้ เห็นสิ่งที่ไม่มี ให้มี ให้เป็นได้

เรื่องนี้เป็นเรื่อง ที่หมิ่นเหม่ในทางไสยศาสตร์ เนื่องจากว่า เป็นเรื่องอำนาจความเชื่อที่ใช้คาถา เวทย์มนต์เป็นเครื่องเดิน เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดคุณค่าที่เรียกว่า "ขลัง" ซึ่งไม่ตรงกับหลักคำสอนทางศาสนาที่บอกว่า คำสอนจะดี จะมีผลอยู่ที่ผู้ปฏิบัติตามคำสอนของศาสนา พลานุภาพ มิได้เกิดมาจากคำสอนโดยตรง แต่เกิดมาจากพลังจิตานุภาพของคนฝึกฝน ซึ่งตรงนี้สายวิทย์พอรับได้ว่า จิต คือ พลังงานอย่างหนึ่ง ที่สามารถนำไปสร้างประโยชน์ได้เรียกว่า "ภาวนีโย"

๘) "คลื่น พลังงาน" แน่นอนเราไม่อาจจมองเห็นได้เช่นกัน แต่นักวิทย์เชื่อแน่นอนว่า นี่คือ กฎแห่งธรรมชาติ ที่มีอยู่ในโลก เช่น แรงโน้มถ่วง คลื่นไฟฟ้า แรงต้าน แรงดูด คลื่นแสง คลื่นออร่าจากขั้วโลก เป็นต้น ยังมีพลังที่ลึกลับในโลกอีกมากมายที่เราประชาชน ชาวบ้านไม่ทราบ แต่นักวิทย์รู้ จะกล่าวได้ว่า นักวิทย์เห็น (ด้วยเครื่องมือ) แต่ชาวบ้านไม่เห็นด้วยตา จึงอาจมองว่า ไม่มีจริง นอกจากว่าจะเห็นเป็นรูปธรรม

ความเต็มของคลื่น พลังงานต่างๆนี้ มีอยู่รอบตัวเรา แต่เรามองไม่เห็น กระนั้น เราเองก็สามารถสัมผัสได้ หรือรู้สึกได้เช่น แรงดึงดูด เวลาเราขึ้นเขาสูง เราจะถูกแรงฉุดรั้ง จนเราต้องขืน จนเหนื่อย ที่เหนื่อยเพราะเราใช้พลังงานในกายหมดไป เนื่องจากอากาศในเม็ดเลือดน้อย เหล่านี้คือ สิ่งที่สามารถอธิบายได้ตามนัยวิทย์ แต่เรากลับไม่เห็นด้วยตา สิ่งที่ไม่เห็นนี้แหละ มันเด่นด้วยความรู้ทางตา"ใน"ว่า มันมีอยู่

๙) "ลม แดด" เราสัมผัสได้ รู้สึกได้ว่า ลมต้องกาย พัดกาย แต่เราไม่สามารถมองเห็นมันได้ นอกจากเห็นสื่อแทนคือ ใบไม้สบัด ฝุ่นปลิว ใบไม้ลอยร่วง เรามีตาเพื่อมองเห็นรูปที่เป็นสสารเท่านั้น สิ่งที่เหนือสสารเราต้องใช้ประสาทส่วนอื่นวัดเอา หรืออาศัยเครื่องมือช่วย เราไม่ปฏิเสธแสง ลม แต่เราไม่มีเครื่องมือวัดเป็นว่าแดด ลมอยู่ตรงไหน มีรูปร่างอย่างไร 

นักวิทย์ก็เชื่อว่า ลม แดดมีทั้งรูปธรรมและนามธรรม และสามารถนำไปใช้ได้ การมองเห็นสิ่งที่ไม่เห็นย่อมเป็นประโยชน์ ดั่งนักวิทย์อดีตได้สร้างสรรค์ให้แก่โลกมาแล้ว นี่คือ สิ่งที่ระดับสายตาธรรมดาหรือชาวบ้านควรยึดเอาแบบนักวิทย์ว่า นำเอาสิ่งที่มองไม่เห็น ออกมาเป็นสิ่งที่มองเห็นและใช้สอยได้ เช่น พลังงานลม พลังงานโซล่าเซลล์ เป็นต้น 

๑๐ "โลกมายา" นี่คือ สิ่งที่ก้ำกึ่งระหว่างสายตาชาววิทย์กับสาวโลกีย์ ที่มองเห็นต่างมุม เหมือนคำกล่าวว่า สองคนยลตามช่อง มองต่างกัน ชาวโลกเห็นโลกเป็นสิ่งสวยงาม น่าหลงใหล ซึ่งความหลงใหลไม่มีรูปร่างเป็นสสารใดๆ ที่จะยึดเอามาเป็นของตนหรือนอนกอดได้ แต่ชาวโลกกลับทำได้ สามารถนอนกอด สร้างสรรค์ให้ตนเองอยู่ในโลกมายาเสมือนจริงได้ เช่น แสดงละคร นางรำ นักแสดง ฯ เหล่านี้คือ สร้างมายาที่ไม่มีตัวตนใหเป็นโลกเสมือนจริง จนคนชมอินไปด้วยในบทบาทนั้น

ส่วนนักวิทย์มองเห็นสิ่งที่เป็นมายาเป็นเหมือนมายา มิใช่มองเห็นเป็นสสาร สายตานักวิทย์จึงถือว่า มองความจริงตามความจริง เหมือนนักศาสนาปฏิบัติชอบใช้ วิธีนี้ถือว่า เป็นการมองโลกแบบที่โลกเป็น มิใช่มองแบบชาาวโลกเป็น 

ดังนั้น สายตานักวิทย์มีพื้นฐานบนความจริง แต่อาจอวดตนสักหน่อยว่า รู้จริงเชิงประจักษ์มากกว่าคนอื่น เพราะมีเรื่องอะไรก็มักจะบอกว่า พิสูจน์ได้ตามเหตุ ตามผล ซึ่งกลายเป็นอุดมคติของเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่เชื่อว่า สายวิทย์ถือว่าสมเหตุ สมผล แต่กระนั้นสายวิทย์ก็ใช่ว่าเป็นศาลยุติปัญหาของโลกได้อย่างหมดจดสะอาด เพราะยังมีเรื่องมากมายเช่นกันที่สายวิทย์ยังตอบไม่ได้ เช่นเดียวกันกับศาสนาที่มักอ้างว่า สามารถแก้ปัญหาชีวิตได้หมด 

แต่ก็มีเรื่องอีกมากมายที่ศาสนายังจมอยู่ความเชื่อแบบเดิมของตน ในขณะสหวิทย์อื่นๆ กำลังรอการเชื่อมโยงกับสาขาต่างๆ ทั้งหมดอยู่ เพื่อให้ต่อจิ๊กซอว์โลกได้ว่า อะไรคือ ความจริง ความเป็นจริงของสรรพสิ่ง อย่างแท้จริง มิใช่แต่อาศัยการบอกของคนหนึ่งที่จับขา จับหู จับงวงช้าง แล้วอวดอ้างว่า ฉันรู้แล้วว่าช้างเป็นอย่างไร โดยไม่สนใจคนอื่นว่ารู้อย่างไร

                                                               -----------------(๒๕/๑๐/๕๗)-------------------

หมายเลขบันทึก: 579229เขียนเมื่อ 25 ตุลาคม 2014 00:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 ตุลาคม 2014 07:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

Thank you for your 'very informative views' of 'reality'.

I thought I am a man of science 30 years ago (having been trained as a scientist). But working and learning and interacting with the 'real world' brought me closer to (what you described) "...อันที่จริง เราตื่นเต้นไปเองกับคำว่า "วิทยาศาสตร์" เพราะมันไม่ได้เหนือประสบการณ์หรือผัสสะข้างในเราเลย วิทยาศาสตร์ยังตามก้นสมองเราด้วยซ้ำ เพราะแท้จริงแล้ว ร่างกาย สมอง จิต วิญญาณ คือ "ปฐมภูมิ" (Origin) ของวิทยาศาสตร์ทั้งสิ้น..." (in my words 'science' [based on reasoning/thinking and testing] was born to replace 'superstitions' [ased on thinking/imagining and empowering] and other cultural beliefs. Science is in a way another  step toward reality of 'senses' (our human 6 senses and other senses -- such as bat's echolocation sense, pidgeon's magnetic sense, and todays' 'artificial sensors' and so on). One day we will arrive at the Buddha's way to see reality through senses and pa~n~na (not thinking/imagining but knowing+understanding), we also see that languages are only a means not the end to our learning of reality. Languages are more-or-less suitable/best-fit 'semiles' (models/representations) of reality 'objects'. [Sometimes 'better semiles' are in other languages.]

I can see a lot of your effort and thoughts is the article. I thank you very much again.

วิถีพุทธเป็นวิถีวิทยาศาตร์ที่เดินสายกลางพิศูจน์ได้ด้วยตน..เอง...มีธรรมคือธรรมชาติเป็นตำรา..เรียนรู้ได้ด้วยตน..เห็นชอบศรัทราด้วยตน..

เดี๋ยวจะแอบเข้ามาอ่านครับอาจารย์ ตอนนี้ได้เวลาปิดร้านแล้ว

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท