Managing Change, Creativity, and Innovation


การบริหารการเปลี่ยนแปลง ความคิดสร้างสรรค์ และ นวัตกรรม

(Managing Change, Creativity, and Innovation)

พันเอก มารวย ส่งทานินทร์

[email protected]

24 ตุลาคม 2557

การเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตลอดเวลาในวงการธุรกิจ ดังนั้นความสามารถในการบริหารการเปลี่ยนแปลงจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมขึ้นมาได้ ไม่เพียงแต่เฉพาะองค์กรที่มีความก้าวหน้าบางองค์กรเท่านั้น แต่เป็นความจำเป็นของทุกองค์กรในสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่มีการแข่งขันกันสูงในปัจจุบัน การมีวิธีการใหม่ ๆ ในการทำงาน โดยมีการคัดเลือกแนวคิด และการแปลงแนวคิดไปสู่การสร้างนวัตกรรม เป็นการพัฒนาองค์กรให้ก้าวไปข้างหน้าเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนไป ของโลกธุรกิจที่มีความสลับซับซ้อน

ในหนังสือที่จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ SAGE Publications Ltd. ในปี ค.ศ. 2009 เรื่อง Managing Change, Creativity, and Innovation ที่ประพันธ์โดย Constantine Andriopoulos และ Patrick Dawson ได้รวบรวมทุกมุมมองในเรื่องการบริหารการเปลี่ยนแปลงและนวัตกรรม ทั้งทางทฤษฎีและการปฏิบัติเข้าด้วยกัน เพื่อเป็นตำราสำหรับนักศึกษาในสาขาวิชาการบริหารผู้ประพันธ์คือ Constantine Andriopoulos เป็นผู้บรรยายเรื่องการตลาดที่ Brunel Business School ส่วน Patrick Dawson เป็นศาสตราจารย์ที่ University of Aberdeen Business School และ School of Management and Marketing at University of Wollongong

ท่านที่ประสงค์เอกสารที่เป็น powerpoint ที่มีคำอธิบายเพิ่มเป็นภาษาอังกฤษ สามารถ download ได้ที่ http://www.slideshare.net/maruay/managing-change-31593101 โดยการคลิ๊กที่ link ได้เลย

การเปลี่ยนแปลง คือการจัดการและทำงานในรูปแบบใหม่ มีปัจจัยภายนอกหลายอย่างที่ทำให้องค์กรเกิดการเปลี่ยนแปลง เช่น กฏระเบียบหรือกฏหมายที่ออกมาใหม่ การตลาดระหว่างประเทศ ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี การขยายตัวของบริษัท และวงจรธุรกิจที่เปลี่ยนไป เป็นต้น และมีตัวกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากภายในองค์กร เช่น เทคโนโลยี เป้าหมายที่สำคัญของธุรกิจ บุคลากร และ โครงสร้างการบริหารงาน

ความคิดสร้างสรรค์ คือคุณสมบัติพิเศษที่มีของมนุษย์ที่ทำให้ต่างจากสัตว์ชนิดอื่นในการแก้ปัญหาด้วยวิธีใหม่ ๆและเกิดประโยชน์ แบ่งได้ 4 ขั้นตอนง่าย ๆ คือ ขั้นเตรียมการ (Preparation) คือการตั้งเป้าหมายในการแก้ปัญหาที่เผชิญอยู่ ขั้นบ่มตัว (Incubation) คือการครุ่นคิดหาแนวทางต่าง ๆ ขั้นคิดออก (Illumination) คือคิดหาทางออกได้ที่ไม่ซ้ำแบบเดิม ที่ทำให้อาคีเมดิสเปล่งเสียงว่ายูเรก้า (Eureka!) และขั้นสุดท้ายคือ ขั้นยืนยัน (Verification) คือการแปลงความคิดสู่การปฎิบัติจริง

นวัตกรรม คือกระบวนการแปลงแนวคิดไปสู่การเกิดและใช้ประโยชน์ของผลิตภัณฑ์ใหม่หรือการบริการใหม่ การใช้ประโยชน์แบ่งได้เป็น นวัตกรรมด้านผลิตภัณฑ์ (Product innovation) นวัตกรรมด้านการบริการ (Service innovation)นวัตกรรมด้านกระบวนการ (Process Innovation) นวัตกรรมด้านการบริหารจัดการ (Management innovation) นวัตกรรมด้านตำแหน่งหรือการตลาด (Market or Position innovation) และนวัตกรรมด้านกระบวนทัศน์ (Paradigm innovation) ระดับของนวัตกรรมแบ่งออกได้เป็น 3 ระดับคือ นวัตกรรมแบบค่อยเป็นค่อยไป (Incremental innovations) คือเปลี่ยนแปลงทีละน้อย ค่อย ๆ พัฒนาเช่น ระบบเสียงจากโมโนเป็นสเตอริโอ นวัตกรรมแบบมีนัยสำคัญ (Modular innovations) คือปรับเปลี่ยนปานกลาง เช่น จากทีวีขาวดำเป็นทีวีสี และนวัตกรรมแบบพลิกโฉม (Radical innovation) คือการเกิดเป็นความรู้ใหม่ เช่น เครื่องเล่น ดีวีดี

ก.ทฤษฎีด้านการบริหารจัดการ พอลำดับตามเวลาโดยสังเขปได้ดังนี้ คือ Taylor ในปี ค.ศ. 1911 ได้ประพันธ์เรื่อง Principles of Scientific Management ในการบริหารงานให้ออกมาดีที่สุด โดยศึกษาจากพนักงานที่มีวิธีการทำงานได้ดีที่สุดจำนวนหนึ่ง มาเขียนเป็นขั้นตอนการทำงานที่เป็นมาตรฐาน Henry Ford ในปี ค.ศ. 1913 ได้ใช้การทำงานแบบต่อเนื่องโดยใช้สายพานลำเลียงในการทำงานจำนวนมากเพื่อเกิดประสิทธิภาพให้มากที่สุดในการผลิตรถยนต์ฟอร์ดรุ่น T model จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1982 หนังสือขายดีที่สุดเล่มหนึ่งชื่อ In Search of Excellence : Lessons from America's Best-Run Companies แต่งโดย Peters และ Waterman

และนักคิดอีกมากมายที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น management gurus เช่น Handy, Kanter, Kotter, Peters, Crosby, Deming และ Juran (Quality Management), Shonberger (Just-In-Time), McKinsey (Seven S – strategy, structure, systems, staff, style, shared values, and skills)

ซึ่งพอสรุปแนวคิดสำคัญของนักคิดดังกล่าวข้างต้นได้ 8 ประการ ว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่มีส่วนผลักดันในการทำให้องค์กรประสบความสำเร็จ และเป็นสิ่งที่องค์กรชั้นนำในโลกตะวันตกได้นำแนวคิดเหล่านี้มาปฏิบัติเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน คือ

1.การมีคติในการแก้ปัญหาโดยใช้นวัตกรรมและเป็นเชิงรุก (Organizations should have a bias for action through encouraging innovation and through active response to problem situations.)

2.การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้า (Organization should develop closer relationships with their customers.)

3.การสร้างความรู้สึกการเป็นเจ้าของและการมอบอำนาจให้บุคลากร (Organizations should foster and support the entrepreneurial spirit among their staff and aim to increase the level of responsible autonomy among their employees.)

4.การเคารพสิทธิและศักดิ์ศรีบุคลากร (Employees should be treated with respect and dignity in order to ensure productivity through people.)

5.การผลักดันบุคลากรโดยใช้ค่านิยมองค์กร (All employees should be driven by the values of the organization.)

6.องค์กรควรทำในสิ่งที่ทำได้ดีที่สุด (Companies should do what they know best and should restrict diversification.)

7.การมีโครงสร้างในแนวราบเพื่อความคล่องตัวและการสื่อสารที่ดี (Flat organization structures and slimmed-down bureaucracies enable greater flexibility and provide for more rapid communication.)

8.ความอ่อนตัวที่ขึ้นกับการควบคุมระดับสูงของตนเองและวัฒนธรรมขององค์กร (Simultaneous loose-tight properties should be established through high levels of self-supervision and the development of a common cohesive organizational culture.)

ข. เทคนิคในการบริหารใหม่ ๆ ในทศวรรษที่ 90 เกิดขึ้น เช่น World Class Manufacturing, TQM, Best Practice Management มีการพูดถึงบทบาทผู้นำต่อการเปลี่ยนแปลงว่า องค์กรที่ปรับตัวไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงอาจประสบความยากลำบากในการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะองค์กรที่มีระดับในการบริหารหลายชั้นหลายระดับ มีการกล่าวถึงโครงสร้างองค์กรในแนวราบ เพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วได้อย่างทันท่วงที เป็นการปรับตัวเพื่อไม่ตกเป็นเหยื่อของการเปลี่ยนแปลง

ซึ่ง John Kotter ในปี ค.ศ. 1995 ได้เสนอแนวทาง 8 ประการ เป็นหน้าที่ของผู้นำองค์กรในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลง ที่เป็นการมองไปข้างหน้า มากกว่าดูความสำเร็จในอดีต คือ

1.สร้างความตระหนัก (Establishing a sense of Urgency) เป็นการประเมินสถานะขององค์กร โดยดูตำแหน่งในตลาด สภาพการแข่งขัน ปัญหาในปัจจุบัน โอกาสและภัยคุกคาม มีการสื่อสารให้บุคลากรในองค์กรเกิดความตื่นตัว ออกจากเขตของความสุขสบาย ร่วมมือกันวิเคราะห์ และสร้างแนวทางการเปลี่ยนแปลง

2.สร้างทีมงานที่แข็งแรง (Forming a powerful coalition) เป็นการรวมทีมงานของผู้ที่มีอำนาจเพียงพอในการก่อเกิดความเปลี่ยนแปลงและสร้างความยั่งยืนหลังการปรับเปลี่ยน ในทีมประกอบด้วยผู้บริหารระดับอาวุโส โดยมีจำนวนสมาชิกขึ้นกับขนาดขององค์กรตามความเหมาะสม มีพันธกิจร่วมกันคือสร้างการปรับเปลี่ยนให้เกิดขึ้นในองค์กร

3.สร้างวิสัยทัศน์ (Creating a vision) มีการกำหนดวิสัยทัศน์และสร้างยุทธศาสตร์ในการบรรลุวิสัยทัศน์ วิสัยทัศน์ที่กำหนดไว้ดังกล่าวเป็นตัวกำหนดการเปลี่ยนแปลง ส่งสัญญาน บอกแนวทาง และภาพในอนาคต เพื่อใช้ในการสื่อสารให้บุคลากรในองค์กรและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้รับทราบ

4.สื่อสารวิสัยทัศน์ (Communicating the vision) การสื่อสารเป็นปัจจัยสำคัญในองค์กรที่มีการปฏิบัติเป็นเลิศ เป็นปัจจัยที่สำคัญที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงที่ไม่ควรมองข้าม

5.เสริมพลังให้ผู้ปฏิบัติ (Empowering others to act on the vision) การให้บุคลากรรับทราบวิสัยทัศน์ขององค์กรยังไม่เป็นการพอเพียง ควรส่งเสริมให้บุคลากรเกิดความมั่นใจในการคิดหาแนวทางใหม่ ๆ ในการปฏิบัติงาน โดยการช่วยขจัดอุปสรรคที่ขัดขวางการเปลี่ยนแปลง และอาจต้องออกแบบระบบหรือโครงสร้างใหม่ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง

6.วางแผนเพื่อความสำเร็จในระยะสั้น (Planning for and creating short-term wins) การเปลี่ยนแปลงอาจใช้เวลานานกว่าจะสำเร็จ ดังนั้นควรแบ่งแผนระยะยาวออกเป็นแผนการระยะสั้น เพื่อให้เห็นผลงานการปรับปรุงพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรม และมีการให้รางวัลเป็นระยะ ๆ เป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้กับบุคลากร

7.ประกันความสำเร็จและพร้อมปรับเปลี่ยน (Consolidating improvements and producing still more change) เมื่อมีการพัฒนางานที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงแล้ว โครงสร้างและระบบอาจมีการปรับเปลี่ยน บุคลากรที่ผลักดันการปรับเปลี่ยนอาจได้รับการเลื่อนตำแหน่งขึ้น องค์กรจึงควรมีการสรรหาบุคลากรรุ่นใหม่มาทดแทนเพื่อให้แรงส่งในการเปลี่ยนแปลงยังคงดำเนินการต่อไปได้

8.หาแนวทางใหม่ ๆ (Institutionalizing new approaches) การหาแนวทางใหม่ ๆ ในการทำงานควรปลูกฝังให้เป็นวัฒนธรรมขององค์ร ควรมีแนวทางการสืบทอดตำแหน่ง ที่ผู้ที่มาบริหารใหม่ ไม่ทำการล้มล้างหรือขัดขวางการเปลี่ยนแปลงที่ใช้ระยะเวลายาวนาน และใช้ความพยายามมากมายในการผลักดันให้เกิดขึ้น

ค. ความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม มีส่วนช่วยในความสามารถด้านการแข่งขันของประเทศ เนื่องจากปัจจัยต่าง ๆ คือ เทคโนโลยี ความต้องการที่คาดเดาไม่ได้ของลูกค้า การแข่งขันในเวทีโลก ความรู้ การเปลี่ยนแปลง ความคาดหวังของบุคลากรที่เพิ่มขึ้น และการออกแบบผลิตภัณฑ์ ที่ทุกอย่างมีจังหวะหรือมีวงจรที่เร็วขึ้น

ความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมส่งผลกระทบต่อมูลค่าทางธุรกิจระดับประเทศมาก ดังเช่น ธุรกิจโฆษณา ด้านสถาปนิก ศิลปะและวัตถุโบราณ การฝีมือ การออกแบบ วงการแฟชั่น อุตสาหกรรมภาพยนต์ อุตสาหกรรมดนตรี ศิลปะการแสดง สื่อพิมพ์ต่าง ๆ การวิจัยและพัฒนา อุตสาหกรรมซอฟท์แวร์ ของเด็กเล่นและเกมส์ ทีวีและวิทยุ รวมถึงวิดีโอเกมส์ ที่ยังมีศักยภาพในการขยายตัวได้อีกมากในอนาคต

การบริหารการเปลี่ยนแปลงไม่มีสูตรสำเร็จที่แน่นอนตายตัว ผู้ประพันธ์หนังสือเล่มนี้สรุปบทเรียนจากการทำวิจัยในเรื่องการบริหารการเปลี่ยนแปลง ความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรม โดยตั้งข้อสังเกตไว้ 10 ข้อ คือ

1.ไม่มีวิธีการที่ดีที่สุดหรือวิธีที่เรียบง่ายในการบริหารการเปลี่ยนแปลง ความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรม ให้ประสบความสำเร็จได้ เพราะจากการศึกษาพบว่าร้อยละ 70 ของโครงการหรือแผนงานบริหารการเปลี่ยนแปลงมักจะล้มเหลว องค์กรจึงควรตระหนักและศึกษาแนวคิดที่จะนำมาใช้อย่างระมัดระวัง เพราะสิ่งที่องค์กรหนึ่งทำแล้วสำเร็จ ไม่จำเป็นว่าองค์กรอื่นทำตามแล้วจะสำเร็จเหมือนกัน

2.ยุทธศาสตร์ในการเปลี่ยนแปลงต้องคำนึงถึงปัจจัยรอบด้าน เช่น ด้านสิ่งแวดล้อมของสังคมและวัฒนธรรม บริบทขององค์กร ความคาดหวังและการตอบสนองของบุคลากรที่เปลี่ยนไป และผู้ที่บทบาททางการเมืองที่สำคัญในองค์กร ที่มีบทบาทในการกำหนดทิศทางขององค์กร

3.การเปลี่ยนแปลงต้องใช้เวลา ไม่สามารถกำหนดให้รวดเร็วตามใจปรารถนาได้ การเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรมของบุคลากร เพื่อการยอมรับและการสนับสนุนการเปลี่ยนแปลง ทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม เป็นเป้าหมายระยะยาว ที่ต้องการการวางแผนอย่างรอบคอบ และมีความพร้อมปรับเปลี่ยนแผนงานที่ไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้

4.ประสบการณ์ของแต่ละบุคคลและของกลุ่มมีความแตกต่างกันออกไป ขึ้นกับบริบทและระยะเวลาที่ผ่านไป ไม่มีสูตรสำเร็จในการลดแรงเสียดทานในการต่อต้านการเปลี่ยนแปลง จึงเป็นความท้าทายขององค์กรที่ต้องมีการจัดการในการสะท้อนกลับของผลที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดพื่อใช้ในการแก้ปัญหาให้กับบุคลากร

5.สิ่งสำคัญคือการเรียนรู้จากบทเรียน ความล้มเหลวทำให้เกิดการเรียนรู้มากกว่าการทำแล้วสำเร็จ การทบทวนบทเรียนเป็นสิ่งจำเป็นต่อการเรียนรู้และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของบุคคลต่างระดับและมุมมองที่ต่างกันออกไปภายในองค์กร ทำให้เกิดความรู้และความเข้าใจมากขึ้นในกระบวนการเรื่องการเปลี่ยนแปลง ความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรม

6.บุคลากรควรได้รับการอบรมในเทคนิคและกระบวนการใหม่ ๆ เมื่อมีความจำเป็นและเป็นสิ่งที่ต้องรู้ และแผนงานการอบรมเพื่อเพิ่มพูนทักษะการทำงานควรสอดคล้องกับความต้องการขององค์กร

7.การสื่อสารคือหัวใจในการบริหารการเปลี่ยนแปลง และต้องให้ถูกกับบริบทด้วย การสื่อสารกับบุคลากรควรมีความต่อเนื่องและสม่ำเสมอ

8.แผนงานที่ดูง่าย ๆ ตรงไปตรงมาสู่ความสำเร็จไม่มีจริง ถ้าคิดว่ามีแผนงานที่เป็นสูตรสำเร็จรูป สามารถปฏิบัติได้จริงทำแล้วได้ผลนั้น เป็นการเข้าใจผิด

9.การบริหารการเปลี่ยนแปลง ความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรม เป็นเรื่องของกระบวนการการเมืองภายในองค์กร ในการดึงทรัพยากร อำนาจ และผลลัพธ์ เพื่อมุ่งไปสู่วัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้

10.การบริหารการเปลี่ยนแปลง ความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรม ต้องใช้ทักษะและความสามารถ ในการปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่สลับซับซ้อน เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตลอดเวลาไม่หยุดนิ่ง การเปลี่ยนแปลงในอดีตส่งผลกับปัจจุบัน และการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบันจะส่งผลต่ออนาคต

สรุป การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในองค์กร ทำให้เกิดการทำงานในรูปแบบใหม่แทนการทำงานในกรอบของโครงสร้างองค์กรในรูปแบบเดิม ๆ การมีสิ่งแวดล้อมขององค์กรที่ส่งเสริมให้พนักงานเกิดแนวความคิดสร้างสรรค์ ที่ส่งผลให้เกิดนวัตกรรม เป็นการสร้างสมรรถนะให้กับองค์กร ในการสร้างสินค้าใหม่หรือการให้บริการรูปแบบใหม่ เป็นปัจจัยสำคัญของกระบวนการทำงานขององค์กรในยุคศตวรรษที่ 21 ที่ขึ้นกับกระบวนการและการปฏิบัติภายในขององค์กร ในการส่งเสริมให้บุคลากรเกิดความคิดสร้างสรรค์ และเป็นการสร้างวัฒนธรรมองค์กรในเรื่องการเปลี่ยนแปลงและนวัตกรรม เพื่อความสำเร็จในระยะยาวและความยั่งยืนขององค์กร

************************************************

หมายเลขบันทึก: 579222เขียนเมื่อ 24 ตุลาคม 2014 19:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 ธันวาคม 2014 17:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท