Ultimate Productivity


หนทางสู่ความสำเร็จ ที่มีเคล็ดลับ 3 ประการคือ แรงจูงใจ การสื่อสาร และลงมือทำ

หนทางสู่ความสำเร็จ

(Ultimate Productivity)

พันเอก มารวย ส่งทานินทร์

[email protected]

24 ตุลาคม 2557

มีหนังสือที่เกี่ยวกับการพัฒนาตนเองเพื่อให้ประสบความสำเร็จมากมายหลายเล่ม ที่มีหลากหลายแนวความคิด หลายทฤษฏีที่แตกต่างกันออกไป ที่กล่าวถึงการตั้งเป้าหมาย กล่าวถึงความใฝ่ฝัน การเปลี่ยนแปลงปรับปรุงตนเอง และมีขั้นตอนต่าง ๆ เพื่อการบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้

หนังสือ Ultimate Productivity: A Customized Guide to Discovering Your Path to Success โดย Jim Stovall ได้ใช้หลักการง่าย ๆ 3 ประการ คือ แรงจูงใจ การสื่อสาร และ ลงมือทำ นำไปสู่ความสำเร็จในชีวิต โดยไม่ต้องเปรียบเทียบกับใคร เพราะคำว่าความสำเร็จอยู่ที่ตัวเรานิยามเอง โดยดูศักยภาพที่เรามีอยู่ ดูความใฝ่ฝัน และตั้งเป้าหมายที่สอดคล้อง แล้วทำไปอย่างมุ่งมั่น โดยใช้เครื่องมือ 3 ประการที่กล่าวมาเป็นหลักการ

Steve Forbes ประธานและผู้บริหารสูงสุดของ Forbes magazine กล่าวว่า “จิม สโตวัล เป็นบุคคลที่พิเศษที่สุดในยุคสมัยของเรา (Jim Stovall is one of the most extraordinary men of our era.)" Jim Stovall เป็นนักกีฬายกน้ำหนักโอลิมปิก ประธานบริษัท Narrative Television Network (ผลิตรายการทีวีสำหรับคนตาบอด) นักประพันธ์ และ นักปฐกถา ที่มีความเชี่ยวชาญการอบรมเรื่องการปรับกระบวนทัศน์ การทำฝันให้เป็นจริง ถ้าจะเป็นก็เป็นให้ดีที่สุด การลงมือทำทันที และหนทางที่ทำให้ไปให้ถึงจุดหมาย

เขาแต่งหนังสือขายดีเรื่อง The Ultimate Gift ซึ่งต่อมานำไปผลิตเป็นภาพยนตร์ โดย 20th Century Fox เขาผลิตรายการทีวีเพื่อคนตาบอด 13 ล้านคนในอเมริกา และได้รับเลือกเป็น International Humanitarian of the Year ร่วมกับ Jimmy Carter, Nancy Reagan, และ Mother Teresa ในปี 2000 รวมถึงได้รับเลือกเป็น Entrepreneur of the Year ในปี 1997 จาก The President's Committee on Equal Opportunity

Jim Stovall จบการศึกษาจาก Oral Roberts University และในปี 2008 ได้รับปริญญาเอกดุษฎีบัณฑิตด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยเดียวกัน จากการให้ความช่วยเหลือผู้ด้อยความสามารถ เขาตาบอดเมื่อมีอายุ 29 ปี จากโรคที่รักษาไม่หาย ต่อมาเขาลงมือช่วยเหลือคนตาบอดด้วยการทำรายการทีวีสำหรับคนตาบอด (Narrative Television Network) และได้รับรางวัล Emmy ในเวลาต่อมา

รายการทีวีสำหรับคนตาบอด เป็นรายการทีวีที่มีผู้ชมประมาณ 35 ล้านครัวเรือนในอเมริกา และไปทั่วโลกทางอินเตอร์เน็ต นอกจากเขาได้ประพันธ์หนังสือเรื่อง Ultimate Productivity ที่นำมาเล่าสู่กันในคราวนี้แล้ว เขายังแต่งหนังสือที่ขายดีหลายเล่ม เช่น The Lamp ,You Don't Have To Be Blind To See, Success Secrets of Super Achievers, The Ultimate Gift, Wisdom of the Ages, The Ultimate Life, Today's The Day, Keeper of the Flame ,The Way I See the World ฯลฯ

ผู้ที่สนใจเอกสารเรื่องเดียวกันนี้ในรูปแบบของ powerPoint (PDF file) สามารถคลิ๊กดูได้ที่ http://www.slideshare.net/maruay/ultimate-productivity-31573340

หนังสือเรื่อง Ultimate Productivity กล่าวถึงเรื่องหนทางสู่ความสำเร็จที่ประกอบด้วย แรงจูงใจ การสื่อสาร และลงมือทำ ที่สรุปได้คือ Motivation + Communication + Implementation = Ultimate Productivity = Success จากคำนิยามในหนังสือเล่มนี้กล่าวว่า แรงจูงใจ คือ ความรู้สึกอยากประสบความสำเร็จ การสื่อสาร คือ หนทางการสื่อและแบ่งปันภาพในฝันให้ผู้อื่นได้รับรู้ และลงมือทำ คือ การนำความคิด ความฝัน ภาพในฝัน เป้าหมายความสำเร็จของตน สู่การปฏิบัติ

จุดเริ่มต้นสู่ความสำเร็จ (Success) คือจะต้องรู้ว่า ณ ปัจจุบัน เราเป็นอย่างไร จำเป็นที่จะต้องรู้ว่าขณะนี้ตนเองอยู่ในสถานะที่เป็นจริงอย่างไร มีความซื่อสัตย์ต่อตนเอง เช่นเราต้องการลดน้ำหนัก สมควรต้องรู้ว่าปัจจุบันเราน้ำหนักเท่าไร ถ้าเราต้องการมีทรัพย์สินเงินทอง ต้องสำรวจว่าปัจจุบันมีอยู่เท่าไรก่อน เป็นต้น

ความรับผิดชอบสิ่งในอดีตที่เราเคยทำมาที่ส่งผลให้เราอยู่ในสถานะปัจจุบัน ทำให้เราสามารถที่จะกำหนดความสำเร็จในอนาคตได้ จากนั้นเราต้องกำหนดจุดมุ่งหมายเรื่องความสำเร็จ ความสำเร็จ ไม่ใช่ เงินทอง ชื่อเสียง ความงาม หรือ ความเป็นหนุ่มเป็นสาว แต่ความสำเร็จ คือ การมีชีวิตอยู่อย่างมีคุณค่า ไปสู่เป้าหมายที่เป็นประโยชน์ มีความสุข และมีความภาคภูมิใจ ผู้คนโดยมากล้มเหลวเพราะไม่ใช่เพราะไม่สามารถบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ แต่เป็นเพราะกำหนดความหมายของความสำเร็จและเป้าหมายที่ผิดพลาดมากกว่า

การกำหนดภาพฝันในอนาคต (Mission) เป็นสิ่งที่สำคัญเพราะเป็นตัวกำหนดหนทางสู่ความสำเร็จ วิสัยทัศน์ (ภาพฝันในอนาคต) ต้องชัดเจน ตรงเป้า และเข้าใจง่าย ยกตัวอย่างของประธานาธิบดี เคนเนดี้ ที่กล่าวว่า ในสิ้นทศวรรษที่ 60 อเมริกาจะต้องนำมนุษย์ไปเหยียบดวงจันทร์และกลับมาโดยปลอดภัย

การที่พนักงานมาทำงานเช้าชามเย็นชาม ทำแบบขอไปที ไม่ใช่เขาเป็นคนเลว เพียงแต่ เขาไม่มีความผูกพันหรือรู้สึกเป็นเจ้าของงาน ทำงานเพื่อผู้อื่นหรือเพื่อเงินเดือนเท่านั้น ผู้ที่เป็นเจ้านายควรสื่อสารวิสัยทัศน์ให้เขาเข้าใจเพราะเป็นสิ่งที่ต้องสร้างขึ้นมา ว่าเขามีส่วนช่วยให้บรรลุได้อย่างไร และเขาจะได้ประโยชน์อะไรบ้างแล้วเขาจะกลับมากระฉับกระเฉง มีพลังงาน มีความมุ่งมั่น และมีความใส่ใจมากขึ้น เพราะความสำเร็จคือจุดมุ่งหมาย โดยมีวิสัยทัศน์เป็นแนวทางที่จะทำให้บรรลุ

ผลงาน (Productivity) เป็นตัววัดความสำเร็จของตัวเรา เพราะ ผลงาน คือ การทำแล้วมีผลลัพธ์ให้เกิดขึ้น แต่กิจกรรม ไม่ใช่ผลงาน (ถ้าไม่มีผลลัพธ์) ดังนั้นเราควรทำงานอย่างฉลาด ไม่ใช่ทำงานหนักอย่างเดียว ทำงานได้รวดเร็ว ไม่ใช่ทำงานแบบเร่งรีบ และทำงานอย่างมีผลงานไม่ใช่ทำแต่กิจกรรมแล้วไม่ปรากฏผลงาน (Learn to work smarter, not harder; quicker, not more hurried; and productively, not just activity.)

ทั้งนี้ขึ้นกับศักยภาพที่เรามีด้วย ก่อนอื่นเราต้องพิจารณาขีดความสามารถหรือความถนัดของตนเองก่อน (ในสิ่งที่พอจะเป็นไปได้ ไม่ใช่สิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย ไม่มีรูปร่างสูงใหญ่แถมตุ้ยนุ๊ย แต่อยากเก่งเป็นนักบาสเก็ตบอลอาชีพแบบไมเคิล จอร์แดน) และข้อสำคัญคือต้องมั่นใจว่า สิ่งที่ทำไปนั้นไปสู่เป้าหมายอย่างถูกทิศทาง มีคำกล่าวว่าถ้าจะขอคำแนะนำจากใคร ให้ไปถามคนที่ทำสำเร็จมาแล้ว

ความหลงใหลใฝ่ฝัน (Passion) มีบทบาทสำคัญต่อการบรรลุความสำเร็จ เพราะผู้ที่ประสบความสำเร็จทุกคน มีส่วนประกอบหนึ่งที่เหมือนกัน คือ ความหลงใหลใฝ่ฝัน มีคำกล่าวว่าถ้าคุณรักงานที่ทำอยู่ คุณไม่ต้องทำงานสักวันในชีวิต ดังนั้นคนงานที่ดูเสมือนไม่มีใจในงานที่ทำ แต่ถ้าเขาได้ทำในสิ่งที่ใฝ่ฝัน จะกลับกลายเป็นคนละคน

Jim Stovall ได้ยกตัวอย่างประกอบเรื่องนี้คือ กรณีเรื่องเล่าของชาวอินเดียนแดงสองเผ่า เผ่าหนึ่งอยู่บนเขา อาชีพหลักคือล่าสัตว์ อีกเผ่าอยู่ริมน้ำด้านล่างและมีอาชีพเกษตร ทั้งสองเผ่าไม่เคยติดต่อกัน แม้ระยะทางห่างกันในการเดินทางประมาณ 1 วัน อยู่มาวันหนึ่ง อินเดียนวัยรุ่นชาวเขา ล่วงล้ำลงมาดูกิจกรรมชาวเผ่าที่ราบ พบเหล่าสตรีกำลังซักผ้า มีเด็กทารก อยู่ใกล้ ๆ กัน อินเดียนวัยรุ่นกลุ่มนี้อุ้มเด็กทารกหนีขึ้นเขาและนำไปซ่อนในถ้ำ พวกผู้หญิงตามไม่ทันจึงแจ้งหัวหน้าเผ่า ที่เป็นเรื่องใหญ่เพราะทารกคนนั้นคือบุตรชายของหัวหน้าเผ่า รุ่งขึ้นเช้าหัวหน้าเผ่าระดมเหล่านักรบที่เก่งกล้าที่สุดและออกคำสั่งให้ตามตัวเด็กทารกกลับมาให้ได้ นักรบขึ้นไปตามเขาตามถ้ำต่าง ๆ เพื่อหาทารกแต่ไม่พบ จนกระทั่งตอนเย็นพลบค่ำ จึงแจ้งกับหัวหน้าเผ่าว่าทำไม่สำเร็จ ขณะที่จวนเจียนหมดแสงสุริยา มีเงาตะคุ่มของคนคนหนึ่งอุ้มเด็กทารกน้อยกลับมาได้ ผู้นั้นคือภรรยาหัวหน้าเผ่าเอง คืนนั้นหัวหน้าเผ่าจัดงานเลี้ยงฉลองที่ได้ตัวเด็กทารกกลับมา จนงานใกล้เลิก หัวหน้าเผ่าจึงถามภรรยาว่า “ที่รัก เจ้ามีวิธีใดจึงสามารถนำลูกของเรากลับมาได้ ในขณะที่พวกนักรบที่เก่งที่สุดของเผ่าเราไม่สามารถทำได้"ภรรยาหัวหน้าเผ่าตอบกลับมาว่า “เพราะเด็กน้อยนี้ไม่ใช่ลูกพวกเขานะสิ" เป็นการเปรียบเทียบถึงความมุ่งมั่นทำในสิ่งที่ใจปรารถนาหลงใหลใฝ่ฝัน จึงไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคต่าง ๆ จนกว่าจะสำเร็จ ดังนั้นเป้าหมายความสำเร็จของตนควรจะสอดคล้องกับความปรารถนาที่เป็นเรื่องหลงใหลใฝ่ฝันส่วนตัวด้วย

เครื่องมือสำคัญที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ มีสามประการคือ แรงจูงใจ คือ เชื้อเพลิง การสื่อสาร คือ แลกเปลี่ยน และลงมือทำ คือ ทำเลยเพราะว่าวันที่ดีที่สุดในการลงมือทำคือวันนี้ เพราะมีคำพังเพยกล่าวว่า ระยะทางพันไมล์ประกอบด้วยก้าวที่ก้าวต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ แต่ถ้าคุณหยุดเดิน หรือเดินออกนอกลู่นอกทาง ก็อาจจะไปไม่ถึงจุดหมาย

ดังนั้นสิ่งสำคัญคือการเริ่มต้น โดยคอยดูที่เป้าหมาย อย่ายึดติดกับหนทางไปสู่เป้าหมาย อย่าเลียนแบบใคร ทางใครทางมัน เลือกให้ถูก และหนทางสู่ความสำเร็จ ต้องทำในสิ่งที่เราหลงใหลอย่างต่อเนื่อง และทำในสิ่งที่ตนถนัดเป็นพิเศษ เพราะความสำเร็จไม่ใช่แบบสำเร็จรูปที่ทุกคนใช้ได้ผลเหมือนกัน จะต้องเป็นลักษณะที่มีความแตกต่างกันไปขึ้นกับแต่ละบุคคล

ปัจจัยแรกที่จะกล่าวถึงคือ แรงจูงใจ (Motivation) เป็นสิ่งพิเศษที่จะกล่าวถึงเป็นสิ่งแรก เพราะแรงจูงใจเป็นเรื่องเฉพาะบุคคล ที่ส่งผลให้มีความต้องการต่อเนื่อง บางคนคิดว่าเงินเป็นแรงจูงใจ แท้จริงแล้วเงินไม่ใช่แรงจูงใจ แต่สิ่งที่เงินทำได้เป็น ยกตัวอย่างแรงจูงใจเช่น การส่งมอบคุณค่าให้ลูกค้าและเพื่อนร่วมงาน ดังนั้นคำถามที่เราควรถามตนเองคือ สิ่งที่เราทำในชีวิตของเรานี้ทำไปเพื่ออะไร ถ้าคำตอบไม่ตรงกับสิ่งที่เป็นแรงจูงใจของเราหรือคนรอบตัวแล้ว กรุณารีบมองหาสิ่งอื่นทำทดแทนโดยด่วน

แรงจูงใจ เป็นเรื่องเฉพาะของแต่ละคนที่ปรากฏในมนุษย์ แต่ละคนมีแรงจูงใจที่ต่างกัน ทำให้มีการตอบสนองต่างกัน ดังนั้นผู้เป็นนายควรมีทักษะคือต้องรู้จุดกระตุ้นของแต่ละบุคคลที่แตกต่างกัน (เช่น นักกีฬาบาสเก็ตบอลบางคน การแตะไหล่เบา ๆ ถือเป็นแรงจูงใจ บางคนต้องตบแรงๆ หน่อย บางคนต้องพูดแล้วพูดอีก บางคน ต้องใช้เทคนิคพิเศษอื่น ๆ) และในบางครั้งอยากจะรู้หรือทำให้ถูกคน ให้ถามคนคนนั้นเลยก็ได้ จะได้กระตุ้นให้เขาทำงานได้มีประสิทธิผลและมีประสิทธิภาพ แต่ถ้าเราอยากรู้ว่าเราเองมีลักษณะบุคคลเป็นอย่างไร

เรื่องที่สองคือ การสื่อสาร (Communication ) การสื่อสาร คือ กระบวนการถ่ายทอดความคิดของเราให้ผู้อื่นรู้ ควรหลีกเลี่ยงการสื่อสารผิด ไม่ครบถ้วน (ตัวอย่างคือ การเล่นโทรเลข ที่มีการนั่งเรียงต่อ ๆ กันแล้วกระซิบข้อความให้คนแรกบอกต่อ ๆ กันไปเรื่อยๆ ผลลัพธ์สุดท้าย ข้อความถูกปรับเปลี่ยนเป็นคนละเรื่องราว)

วิธีที่ดีในการสื่อสารคือถูกต้องและครบถ้วนโดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ภาพใหญ่" ที่ควรระบุ ใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไร อย่างไร และ เพราะเหตุใด ต้องสื่อสารให้เข้าใจว่าผลสำเร็จหน้าตาเป็นอย่างไร การที่เราพูดแล้วผู้อื่นฟังไม่ได้หมายถึงการสื่อสาร เพราะสิ่งสำคัญคือต้องสื่อความคิดของเราให้ผู้อื่นเข้าใจได้อย่างถูกต้องด้วย

การสื่อสารต้องมีลักษณะที่เป็นเฉพาะในแต่ละครั้ง แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่ผู้นำที่ยิ่งใหญ่ขาดการสื่อสารที่ดี ดังนั้นการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพต้องมีปฏิสัมพันธ์ เช่นมีการโต้ตอบหรือทวนสอบเพื่อทำความเข้าใจให้ถูกต้อง รวมถึงทักษะการสื่อสารที่ขึ้นกับความเหมาะสมของสารที่จะสื่อ และใช้ช่องทางให้ถูกกับสิ่งที่ผู้รับต้องการให้ใช้ จึงจะประสบความสำเร็จ ต้องระลึกอยู่เสมอว่า ถ้าสื่อสารให้ผู้ร่วมงานเห็นภาพใหญ่ชัดเจนแล้ว โอกาสจะประสบความสำเร็จจะมีสูง

ปัจจัยที่สามที่กล่าวถึงคือ การลงมือทำ (Implementation) การลงมือ ไม่ใช่แค่ทำ แต่รวมถึงการคิด การวางแผน การเตรียมตัวล่วงหน้า (เช่นเดียวกับการวิ่ง 100 เมตรโอลิมปิก ที่ใช้เวลาจริงไม่ถึง 10 วินาที แต่นักวิ่งแต่ละคนใช้เวลาเตรียมตั้งแต่มีความคิดจะเป็นนักวิ่ง เตรียมพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจ ซ้อมวิ่งด้วยความมุมานะเป็นระยะเวลายาวนาน เตรียมแผนการลงแข่งขันในระดับต่าง ๆ จนกระทั่งเตรียมพร้อมในการแข่งแต่ละครั้ง)

ที่สำคัญคือ ทำทันที ไม่ต้องรอความสมบูรณ์แบบของแผนการ นายพลแพตตันกล่าวว่า “แผนที่ดีในวันนี้และลงมือทำเลย ดีกว่าแผนที่สมบูรณ์แบบในวันพรุ่งนี้" และการลงมือทำต้องอาศัยหลักการพื้นฐานด้วย มิฉะนั้น พัง เช่นการออกรายการทีวีและละช่วงมีการกำหนดแผนเวลาต่าง ๆ ที่แน่นอนว่าช่วงใดเป็นอย่างไรต้องเคารพกฎเกณฑ์ที่เป็นหลักการพื้นฐานก่อน แล้วในช่วงที่เป็นของเรา เราจึงทำอะไรที่เป็นไปได้ตามที่เรานึกคิด

การลงมือทำเสมือนกับเราตั้งใจขายสินค้า คือถ้าจะขายของ ให้ขายผู้ที่จะซื้อได้ (คือถูกที่ถูกทางและถูกเวลาด้วย) จึงจะสำเร็จ การลงมือทำเปรียบเสมือนกับการบินที่มีการกำหนดเส้นทาง และเวลาต่าง ๆ ไว้ล่วงหน้า แต่การบินทุกครั้งอาจไม่เป็นไปตามที่กำหนดได้ทุกอย่าง สามารถปรับเปลี่ยนได้ ไม่ต้องบินกลับมาเริ่มที่สนามบินใหม่ถ้าไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้

เราพบว่าผู้คนล้มเหลวที่จะเริ่มมากกว่าที่จะทำไปแล้วไม่ประสบความสำเร็จ เปรียบเสมือนการเล่นกีฬาเบสบอล การที่เราไม่สามารถตีถูกลูกเบสบอล 3 ครั้งแล้วต้องออกไปนั้น ดีกว่าไม่ได้ก้าวลงมาเล่นเลย เพราะเรายังมีโอกาสตีลูกเบสบอลได้อีกในการเล่นในรอบต่อไป หลักการคือความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น และในแต่ละวันให้ทำสิ่งที่ยากก่อน จะทำให้งานที่เหลือง่ายขึ้น ดังนั้นการที่เราประสบผลสำเร็จไม่ใช่ว่าเราเหนือกว่าผู้อื่น แต่เป็นเพราะเรากำหนดนิยามความสำเร็จของเราไว้เองต่างหาก

สรุป Jim Stovall ระบุหนทางสู่ความสำเร็จ ที่มีเคล็ดลับ 3 ประการคือ แรงจูงใจ การสื่อสาร และลงมือทำ ซึ่งแต่ละบุคคลมีความแตกต่างกัน ดังนั้นแนวทางการวางแผนดำเนินการสู่ความสำเร็จจึงไม่เหมือนกัน เป็นแนวทางเฉพาะของแต่ละรายที่ต้องนำไปปรับใช้ หลักการคือทำทันที ก่อนอื่นเราจะต้องรู้จักปล่อยวางความล้มเหลวที่เกิดในอดีต คนเราล้มแล้วต้องลุกขึ้นมาสู้ใหม่ และถ้าเราต้องการความสงบและความสุข ต้องรู้จักการให้อภัย และอย่าลืมให้อภัยแก่บุคคลที่สำคัญที่สุดด้วย คือตัวเราเอง สุดท้ายนี้ ถ้าเรามีจุดมุ่งหมายความสำเร็จอยู่ในใจ และพยายามทำภาพฝันให้เป็นจริง ด้วยความมุ่งมั่นปรารถนาอย่างจริงจัง วันพรุ่งนี้จะต้องแตกต่างจากวันนี้แน่นอน

********************************

หมายเลขบันทึก: 579224เขียนเมื่อ 24 ตุลาคม 2014 20:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 ธันวาคม 2014 16:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท