ประวัติลูกเสืออากาศ


                สวัสดีครับทุกๆท่าน ผมได้มีโอกาสได้พบกับท่านอาจารย์ศิริณี บุญปถัมภ์ ผู้ที่ได้ทำผลงานทางวิชาการเกี่ยวกับลูกเสืออากาศ (อาจารย์3 ระดับ9) ท่านแรกของเมืองไทย อีกทั้งท่านยังมีคุณูปการกับกิจการลูกเสืออากาศเป็นอย่างมากครับ ผมจึงใช้โอกาสนี้สืบสาวเรื่องราวประวัติของลูกเสืออากาศจากท่าน โดยทั้งสัมภาษณ์และถอดบทความของท่าน ซึ่งจะได้เรียบเรียงในบันทึกนี้เพื่อให้ทุกๆท่านได้ทราบถึงความเป็นมาของลูกเสืออากาศ  นอกจากนั้น ท่านที่เป็นผู้กำกับลูกเสือเหล่าอากาศ ยังสามารถนำบทความในบันทึกนี้ไปใช้ในการจัดกิจกรรมตามหลักสูตรของลูกเสืออากาศ (วิชาความรู้เรื่องลูกเสืออากาศ) ได้อีกด้วยครับ

ลูกเสืออากาศ  ได้ก่อตั้งในประเทศอังกฤษในช่วงเดือนมกราคม พ.ศ2484 ปีเดียวกับที่ท่านลอร์ด บาเดน โพเอล เสียชีวิต (ผู้ก่อตั้งเป็นใครไม่ปรากฏหลักฐาน) สำหรับในประเทศไทย ลูกเสืออากาศได้ก่อตั้งขึ้น เมื่อวันที่ 21กรกฎาคม พ.ศ. 2508 โดยความร่วมมือและการสนับสนุนของอาจารย์เพทาย  อมาตยกุล กรรมการบริหารคณะลูกเสือแห่งชาติกรรมการสภาลูกเสือแห่งชาติ และเป็นนายกสโมสรลูกเสือกรุงเทพฯ 

          
อาจารย์เพทาย อมาตยกุล          
พลอากาศเอกเฉลิมเกียรติ วัฒนางกูร

ซึ่งท่านมีความคิดว่าในประเทศไทยของเรามีกองทัพอากาศ มีเครื่องบิน  มีข้าราชการ ของกองทัพอากาศ ซึ่งมีบุตรหลานและเป็นลูกเสืออยู่แล้ว น่าจะได้ตั้งกองลูกเสืออากาศขึ้นในประเทศไทยบ้างเช่นเดียวกับ ลูกเสืออากาศในอังกฤษที่มีกิจกรรมที่เด็กสนใจเกี่ยวกับเรื่องราวของการบิน เช่น วิชาช่างเครื่องฝึกหัด วิชานักเครื่องบินจำลองวิชาผู้ตรวจการณ์อากาศ ฯลฯ กอรปกับอาจารย์เพทายอมาตยกุล ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้นำคณะลูกเสือไปร่วมงานชุมนุมลูกเสือโลกเมื่อ พ.ศ. 2502 ณ กรุงมะนิลาประเทศฟิลิปปินส์ ท่านได้รับการสนับสนุนจากผู้บัญชาการทหารอากาศจัดเครื่องบินลำเลียงนำคณะลูกเสือเดินทางไปร่วมงานชุมนุม  หลังจากนั้น ท่านอาจารย์เพทาย ได้ปรึกษาหารือขอความเห็นในการที่จะก่อตั้งลูกเสืออากาศกับ พลอากาศเอกเฉลิมเกียรติ  วัฒนางกูร  ผู้บัญชาการทหารอากาศในขณะนั้น ท่านเห็นชอบด้วยแต่ยังไม่ทันได้ดำเนินการใดๆ ผู้บัญชาการทหารอากาศก็เสียชีวิตไปเสียก่อน

                     ต่อมาเมื่อปีพุทธศักราช 2503 พลอากาศเอกบุญชู  จันทรุเบกษา  ผู้บัญชาการทหารอากาศได้มอบหมายให้กรมยุทธศึกษาทหารอากาศ ที่มีโรงเรียน "ฤทธิยะวรรณาลัย" (ขณะนั้นโรงเรียนอยู่ในความรับผิดชอบของกรมยุทธศึกษาทหารอากาศ) จัดตั้งกองลูกเสืออากาศขึ้น  ดังนั้นกองลูกเสือของโรงเรียนฤทธิยะวรรณาลัย จึงเป็นกองลูกเสือกองแรกของประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย และเป็นลูกเสืออากาศกองแรกของเอเชีย โดยเปลี่ยนจากลูกเสือเสนามาเป็นลูกเสืออากาศ เปลี่ยนเครื่องแบบจากสีกากีมาเป็นสีเทาและจดทะเบียนจัดตั้ง เมื่อวันที่ 21กรกฎาคม พ.ศ.2508 (วันลูกเสืออากาศ) 

                                           
พล.อ.อ.บุญชู จันทรุเบกษา

                      สำหรับกองลูกเสืออากาศศูนย์พัฒนาเครื่องบินเล็ก(กรมช่างอากาศ) จดทะเบียนจัดตั้ง เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2509 ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ บันทึกไว้ในประวัติของการลูกเสือไทยว่าเป็นกองลูกเสืออากาศ กองนอกโรงเรียนกองแรกเช่นเดียวกัน ซึ่งปัจจุบันได้สลายตัวแล้ว

สรุปเหตุการณ์ที่สำคัญในกิจการลูกเสืออากาศ

  • พ.ศ.2502 พล.อ.อ.เฉลิมเกียรติ วัฒนางกูร ผู้บัญชาการทหารอากาศ ได้จัดเครื่องบินลำเลียง เพื่อเป็นพาหนะนำลูกเสือไทยไปร่วมงานชุมนุมลูกเสือโลกณ กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ โดยมีอาจารย์เพทาย  อมาตยกุล เป็นผู้นำ
  • พ.ศ.2507 มีการปรับปรุงแก้ไข พระราชบัญญัติลูกเสือ แบ่งลูกเสือเป็น 3 เหล่า คือ
            -เหล่าเสนา
            -เหล่าสมุทร
            -เหล่าอากาศ
  • พ.ศ.2508 ตั้งกองลูกเสือสามัญเหล่าอากาศแห่งแรกที่โรงเรียนฤทธิยะวรรณาลัย กรุงเทพมหานคร (เปลี่ยนจากชุดสีกากีเป็นสีเทา)
  • พ.ศ.2509 ตั้งกองลูกเสืออากาศศูนย์พัฒนาเครื่องบินเล็ก(กรมช่างอากาศ)จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ.2509
  • พ.ศ.2518 พล.อ.อ.ประเสริฐ  ห่วงสุวรรณ  ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารอากาศเป็นผู้มอบเครื่องบินธุรการแบบ1  ( U–10B ) ให้แก่ค่ายลูกเสือวชิราวุธ จ. ชลบุรี  เมื่อวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2518
  • พ.ศ.2520 จดทะเบียนจัดตั้งสมาคมสโมสรลูกเสืออากาศเมื่อวันที่ 14กันยายน พ.ศ.2520 ทะเบียนเลขลำดับ จ.1610เลขอนุญาตที่ ต.114/2520 โดยมี พลตรี พระเจ้าวรวงค์เธอพระองค์เจ้าอนุสรณ์มงคลการ  ทรงให้ดำเนินการ ซึ่งมีพลอากาศเอกประเสริฐ ห่วงสุวรรณ และ นาวาอากาศโทสุวิทย์  ลิ้มอิ่ม (ยศขณะนั้น)  เป็นผู้ริเริ่มก่อตั้ง  สำนักงานอยู่ที่ห้องสมุดโรงเรียนฤทธิยะวรรณาลัย
  • พ.ศ.2520 จัดให้มีการเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารครั้งแรกเมื่อ 21 พฤศจิกายน พ.ศ.2520  ที่ สมาคมสตรีไทยถนนเพชรบุรี กรุงเทพฯ  โดยมีพลตรี พระเจ้า วรวงค์เธอพระองค์เจ้าอนุสรณ์มงคลการ (ยศขณะนั้น) เป็นนายกสมาคมคนแรก เป็นสมัยที่ 1 
  • พ.ศ.2521 ลูกเสืออากาศเริ่มขยายตัวเป็นจำนวนมาก
  • พ.ศ.2524 ประกาศใช้แผนการฝึกอบรมลูกเสือเหล่าสมุทรและเหล่าอากาศ
  • พ.ศ.2527 กระทรวงศึกษาธิการกำหนดให้ใช้วิชาลูกเสือเป็นวิชาบังคับในระดับประถมศึกษา
  • พ.ศ.2528 กระทรวงศึกษาธิการกำหนดให้ใช้วิชาลูกเสือเป็นวิชาบังคับในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 
  • พ.ศ. 2531 จัดงานชุมนุมลูกเสืออากาศ ครั้งที่ 1 (23 ปี ลูกเสืออากาศ 2508-2531) ระหว่างวันที่ 23-28 พฤศจิกายน 2531 ณ สนามกีฬาจันทรุเบกษา กองทัพอากาศดอนเมืองกรุงเทพฯ โดยมี พลอากาศเอกประเสริฐห่วงสุวรรณนายกสมาคมสโมสรลูกเสืออากาศเป็นประธานได้รับการสนับสนุนจากกองทัพอากาศ
  • พ.ศ. 2534 จัดงานชุมนุมลูกเสือเหล่าอากาศ ครั้งที่ 2 (26 ปี ลูกเสืออากาศ 2508-2534) ณ สนามกีฬากองทัพอากาศ จันทรุเบกษา ดอนเมือง กรุงเทพฯ วันที่ 23- 27 พฤศจิกายน 2534 โดยมี พลอากาศเอกประเสริฐห่วงสุวรรณ นายกสมาคมสโมสรลูกเสืออากาศ เป็นประธาน ซึ่งมีผู้เข้าร่วมชุมนุม 1850 คน  และได้รับการสนับสนุนจากกองทัพอากาศ
  • พ.ศ.2535 สมาคมสโมสรลูกเสืออากาศ นำคณะผู้บริหารสมาคมฯ เข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เพื่อถวายเทปเพลงและเงินที่จำหน่ายเทปเพลงลูกเสืออากาศได้ในงานชุมนุมลูกเสืออากาศ
  • พ.ศ.2537 ขอปรับปรุงเนื้อหาในหลักสูตรวิชาเหล่าอากาศ  ตามหนังสือสมาคมสโมสรลูกเสืออากาศ ที่ สสอ. 17/2537ลงวันที่ 3 มิถุนายน 2537 และ ขออนุญาตใช้เครื่องหมายหมู่ ชื่อหมู่ ธงหมู่ และธงประจำเหล่าอากาศ  ตามหนังสือสมาคมสโมสรลูกเสืออากาศถึง ที่สสอ.16/2537 ลงวันที่ 3 มิถุนายน 2537
  • พ.ศ. 2538 จัดงานชุมนุมลูกเสือเหล่าอากาศ ครั้งที่ 3 ( 30 ปี ลูกเสืออากาศ 2508-2538 ) ณ สนามกีฬากองทัพอากาศ สนามกีฬาจันทรุเบกษา ดอนเมือง กรุงเทพฯ) วันที่ 23- 28 พฤศจิกายน 2538 โดยมี พลอากาศเอกประเสริฐ ห่วงสุวรรณนายกสมาคมสโมสรลูกเสืออากาศ เป็นประธาน  มีกองลูกเสือที่ร่วมชุมนุม 116 โรงเรียน และกองทัพอากาศให้การสนับสนุน
    และในปีเดียวกัน  พลอากาศตรีประสิทธ์ เกษมทิตย์ เป็นนายกสมาคมสโมสรลูกเสืออากาศ คนที่ 3 สมัยที่ 8-9-10 (พ.ศ.2538-13กันยายน 2546)
  • พ.ศ. 2546 จัดงานชุมนุมลูกเสือเหล่าอากาศครั้งที่ 5 ณ ค่ายลูกเสือชั่วคราวโรงเรียนการบิน กองบัญชาการยุทธทางอากาศ ต.กระตีบ อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม  วันที่ 10- 14 ธันวาคม 2546 โดยมี พลอากาศตรีประสิทธิ์  เกษมทิตย์  นายกสมาคมสโมสรลูกเสืออากาศ เป็นประธาน ซึ่งมีผู้เข้าร่วมชุมนุม 2300 คน และได้รับการสนับสนุนจากกองทัพอากาศ 
  • พ.ศ. 2546 ในวันที่ 13 กันยายน 2546 พลอากาศเอกณพฤษภ์  มัณฑะจิตร เป็นนายกสมาคมคนที่ 4  ในสมัยที่ 11-12 จนถึงปัจจุบัน 
  • พ.ศ. 2550 จัดงานชุมนุมลูกเสืออากาศครั้งที่ 6 วันที่ 27 พฤศจิกายน 2550 - 1 ธันวาคม 2550 ณ กองบิน 5 กองพลบินที่ 4 กองบัญชาการยุทธทางอากาศ จ.ประจวบคีรีขันธ์  โดยมีพลอากาศเอก ณพฤษภ์มัณฑะจิตร นายกสมาคมสโมสรฯ เป็นประธานที่ ปรึกษา  พลอากาศตรีประสิทธิ์ เกษมทิตย์ เป็นประธานกองอำนวยการค่ายชุมนุม และผู้บังคับการค่ายได้รับการสนับสนุนจากกองทัพอากาศ
เครื่องบินธุรการแบบ1 (บ.ธ.1) หรือ  U-10B Super Courier 

หมายเหตุ  หากมีข้อมูล หรือภาพที่เกี่ยวข้อง จะอัพเดทข้อมูลในโอกาสต่อไปครับ

หมายเลขบันทึก: 579217เขียนเมื่อ 24 ตุลาคม 2014 17:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 ตุลาคม 2014 19:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท