บันทึกอนุทินครั้งที่ 4 เรื่อง Knowledge Management (KM) บันทึกโดย นางสาวผกาวรรณ สุวรรณภูมานนท์


                                                      บันทึกอนุทินครั้งที่ 4


วิชา                     การศึกษาเพื่อพัฒนาสังคมแห่งการเรียนรู้

รหัสวิชา              102611

อาจารย์ผู้สอน     ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อดิศร  เนาวนนท์

เรื่อง                    Knowledge Management (KM)

บันทึก                 วันที่ 17 สิงหาคม 2557

ผู้บันทึก              นางสาวผกาวรรณ   สุวรรณภูมานนท์   รหัสนักศึกษา  57D0103110

                        นักศึกษาปริญญาโท สาขาวิชาหลักสูตรและการสอน (ภาคพิเศษ หมู่ 1 รุ่นที่ 13)


การเตรียมตัวล่วงหน้าในการเรียนแต่ละครั้ง

             ข้าพเจ้าได้ศึกษาเนื้อหาเกี่ยวกับ  Knowledge  Management  (KM) ซึ่งอาจารย์ผู้สอนได้มอบหมายให้ไปค้นคว้าเกี่ยวกับขั้นตอนในการทำ KM แล้วจะนำมาประยุกต์ใช้ในโรงเรียนอย่างไร

             การจัดการเรียนรู้ Knowledge Management (KM) คือการรวบรวมความรู้ที่มีอยู่ในองค์กรมาจัดระบบ เพื่อให้บุคลากรนำความรู้ไปพัฒนาการปฏิบัติราชการให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ตามขั้นตอน ดังนี้ 

          ขั้นที่ 1   การบ่งชี้ความรู้ หน่วยงานต้องสำรวจความรู้ที่บุคลากรจำเป็นต้องใช้เพื่อให้การทำงานบรรลุเป้าหมาย

          ขั้นที่ 2   การสร้างและแสวงหาความรู้ต้องแสวงหามาเพิ่มเติมให้ได้ครบถ้วนสมบูรณ์มากที่สุด

          ขั้นที่ 3  การจัดความรู้ให้เป็นระบบ คือการวิเคราะห์และคัดแยกความรู้เป็นกลุ่มประเด็นให้ง่ายต่อการเข้าถึงอย่างเป็นขั้นตอน

          ขั้นที่ 4  การประมวลและกลั่นกรองความรู้ คือการปรับปรุงให้ความรู้มีรูปแบบมาตรฐานไม่ซ้ำซ้อน มีความสมบูรณ์ถูกต้อง  น่าเชื่อถือ

           ขั้นที่ 5  การเข้าถึงความรู้ คือการสร้างแหล่งเผยแพร่ที่สามารถเข้าถึงได้ทุกที่ทุกเวลา

           ขั้นที่ 6  การแบ่งปันแลกเปลี่ยนความรู้   ต้องให้ง่ายต่อการเข้าถึงและสืบค้น

           ขั้นที่ 7  การเรียนรู้  คือ  การใช้ความรู้มาพัฒนาให้เกิดประสบการณ์ใหม่อยู่เสมอ

           สำหรับการนำ KM ไปประยุกต์ใช้ในโรงเรียนได้ดังนี้

          1)   ผู้บริหารโรงเรียนต้องกำหนดเป้าหมายให้ชัดเจนพิจารณาจากยุทธศาสตร์ของโรงเรียนหรือจากปัญหา ความต้องการ

          2)   กำหนดความรู้  วางแผน ทุกคนในโรงเรียนช่วยกันหาความรู้ใหม่  รักษาความรู้เดิม

          3)   โรงเรียนจัดอบรมให้กับคณะครูในโรงเรียน

          4)   ต้องมีการวัดผลดำเนินงานตามแผน  และเผยแพร่ข้อมูล

         การทำ KM ผู้บริหารต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การทำให้คนในองค์กรอยากเป็นทั้งผู้ให้และผู้รับความรู้ ต้องสื่อสารให้เข้าใจว่า ทำอะไร ทำเพื่ออะไร ทำเมื่อไร และทำอย่างไร โดยมีการแลกเปลี่ยน เรียนรู้จนกลายเป็นวัฒนธรรม นอกจากนี้ต้องสร้างแรงจูงใจโดยการยกย่องชมเชย  เพื่อให้คนในองค์กรสนใจที่จะแลกเปลี่ยนความรู้และร่วมมือทำ KM ให้สำเร็จ


                                                         


ความรู้ความเข้าใจที่ได้รับ

          ก่อนเข้าสู่เนื้อหา Knowledge Management (KM) ข้าพเจ้าได้ความรู้เกี่ยวกับการทำ Webblog การบันทึกความรู้  เป็นเครื่องมือในการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้   เนื่องจากเป็นการบันทึกการเรียนรู้แลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน

          กล่าวถึงเนื้อหาในบทเรียนเรื่อง การจัดการความรู้ Knowledge Management หรือ KM ได้ความรู้ดังนี้

          ความรู้  เป็นความหมายเปรียบในการแข่งขันที่ยั่งยืนที่สุด KU JIRO NONAKA  การที่องค์กรจะดำรงอยู่ได้ในยุค KNOWLAGE BASED ECONOMY จำเป็นอย่างยิ่งที่องค์กรจะต้องปรับยุทธศาสตร์ทั้งหมด การแข่งขันที่ต้องใช้ความเร็ว ความถูกต้อง การมีประสิทธิภาพ ความได้เปรียบในการผลิต สิ่งเหล่านี้มีปัญหากับระบบราชการ

        ทรัพยากรที่จับต้องไม่ได้  คือ ความรู้ ทักษะ การจัดการ ประสบการณ์ ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์              

       ทรัพยากรที่จับต้องได้ คือ  เครื่องจักร  อาคาร  อุปกรณ์  สำนักงาน ทุน เน้นการผลิต

       ลักษณะเด่นของความรู้ มีลักษณะยิ่งใช้ยิ่งมีมากไม่มีขีดจำกัด เมื่อนำความรู้ใหม่มาผสมกับความรู้เดิมที่มีอยู่ในตัวคนก็จะเกิดความรู้ใหม่ ๆ มากขึ้น เป็นการสร้างความรู้ใหม่จากงานที่ทำ หมุนเวียนกลายเป็นวงจรความรู้ไม่จบสิ้น

          นอกจากนี้ได้เรียนรู้เกี่ยวกับความหมายของ KM หมายถึง การจัดการเพื่อเอื้อให้เกิดความรู้ใหม่ โดยใช้ความรู้ที่มีอยู่ และประสบการณ์ของคนในองค์กรอย่างมีระบบเพื่อพัฒนาวัฒนธรรมที่จะทำให้มีความได้เปรียบเหนือคู่แข่งทางธุรกิจ นั่นหมายถึง การจัดความรู้มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยมีกระบวนการต่าง ๆ เช่น การสร้าง รวบรวม จัดเก็บ แลกเปลี่ยน ใช้

         วงจรการจัดความรู้ มีองค์ประกอบ 6 หลัก คือ

        1)  การจัดให้มีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม และมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั่วทังองค์การ

       2)   การสื่อสาร  ให้เข้าใจว่า “องค์การกำลังทำอะไร”  “ทำเพื่ออะไร

       3)  กระบวนการและเครื่องมือ ช่วยให้กระบวนการความรู้เกิดขึ้นได้สะดวกและรวดเร็ว เลือกใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์

      4)  การฝึกอบรมและการเรียนรู้ คือ อบรมแนวทางและหลักการของ KM แก่บุคคลเพื่อสร้างความเข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญของ KM และแลกเปลี่ยนความรู้ในองค์กร ชี้ให้เห็นประโยชน์ของ KM นำเทคโนโลยีใหม่มาใช้

       * เนื่องจากการเรียนการสอนในวันนี้หมดชั่วโมงแล้ว ดังนั้นวงจรการจัดการความรู้ที่เหลืออยู่ 2 หลัก จะนำมาบันทึกในอนุทินครั้งที่ 5


ความคิดเห็นประเด็นที่เรียน

       การจัดทำ Knowledge Management (KM) ในแต่ละครั้งจะต้องได้รับความร่วมมือจากบุคลากรในองค์กร  ซึ่งผู้บริหารจะต้องหาเทคนิคให้บุคลากรเห็นความสำคัญของการทำ KM


การนำความรู้ไปใช้ในการพัฒนาตนและการปฏิบัติงาน

       จากความรู้ที่ได้เรียนในชั่วโมงนี้   ข้าพเจ้าจะนำความรู้ในส่วนนี้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์กับโรงเรียน เพราะข้าพเจ้าก็เป็นบุคลากรภายในโรงเรียน   นำไปใช้ในด้านการพัฒนาระบบของโรงเรียนให้ดีขึ้น โดยเริ่มจากการกำหนดเป้าหมายของการพัฒนาโดยมองที่ยุทธศาสตร์  ความต้องการของชุมชน   หรือปัญหาต่าง ๆ จากนั้นแสวงหาความรู้ มีการดัดแปลง ปรับปรุงข้อมูลบางส่วนแล้วนำข้อมูลที่ได้มาพัฒนาระบบของโรงเรียน เมื่อประสบผลสำเร็จก็เผยแพร่ข้อมูลต่อไป โดยอาศัยความร่วมมือจากบุคลากรทุกฝ่าย


ความคาดหวังในสิ่งที่เรียน

       ข้าพเจ้ามีความคาดหวังว่า ต้องการลงมือปฏิบัติงานในลักษณะของ KM คือการเรียนแบบปฏิบัติจริง เพื่อความเข้าใจในบทเรียนดียิ่งขึ้น


บรรยากาศในชั้นเรียน

        ภายในห้องเรียนมีอากาศถ่ายเทสะดวก แสงสว่างเพียงพอ โต๊ะ เก้าอี้ มีความเหมาะสมในการเรียนการสอน ระบบเสียงชัดเจน สื่อการสอนทันสมัย

        บรรยากาศของการเรียนการสอนในชั่วโมงนี้ นักศึกษามีความกระตือรือร้น สังเกตได้จากการโต้ตอบคำถามจากอาจารย์ผู้สอน มีการจดบันทึกความรู้ที่ได้ บรรยากาศอบอุ่น มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน


ความรู้สึกต่ออาจารย์ผู้สอน

         อาจารย์จะเน้นวิธีการสอนที่ให้นักศึกษาได้คิดวิเคราะห์เนื้อหา  ถามคำถามแบบปลายเปิด เรียนแบบอภิปรายร่วมกัน  ซึ่งข้าพเจ้าต้องขอขอบพระคุณมา ณ โอกาสนี้ ซึ่งทำให้นักศึกษาได้ฝึกคิด และกระตือรือร้นในสิ่งที่เรียน เข้าใจเนื้อหา อาจารย์เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ สร้างบรรยากาศแบบกันเอง มีความเป็นกัลยามิตรกับผู้เรียน

คำสำคัญ (Tags): #knowledge management (km)
หมายเลขบันทึก: 579086เขียนเมื่อ 21 ตุลาคม 2014 15:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 ตุลาคม 2014 21:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท