ถือเที่ยงไม่มีเที่ยงแท้ เที่ยงแท้แต่จากสิ่งถือ


ในคำตรัสที่ว่า สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา นั้น ครอบคลุมทุกสรรพสิ่ง ทุกภาวะ ทั้งที่มองเห็นได้และที่มองไม่เห็น จึงเป็นประโยคสั้นๆที่มีความหมายครอบคลุมอย่างกว้างขวาง

เพราะเพียงคำว่าสังขารคำเดียว ก็ครอบคลุมหรืออธิบายความเป็นไปในโลกได้แทบทั้งหมด เนื่องจากมีความหมายถึง ๓ ลักษณะ นั่นคือ สภาพพร้อมปรุงแต่ง (เช่น เจตสิกต่างๆ) , กระบวนการปรุงแต่ง (เช่น กระบวนการการเกิดฝน, กระบวนการที่ก่อให้เกิดความชอบ ชัง) และ สิ่งหรือผลที่กระบวนการปรุงแต่ง แต่งจนเกิดเป็นสิ่งใหม่ขึ้นมา (เช่น ฝน, ความชอบ, ความชัง, ความยึดถือ)

เมื่อเอ่ยถึงสังขารทั้งปวงไม่เที่ยง เรามักนึกถึงสิ่งที่คุ้นเคย สิ่งที่เรายึดถืออยู่ เช่น การเกิดดับของนามรูป การเจริญขึ้นหรือเสื่อมลงของรูปกายตามกาล เป็นต้น อันที่จริงแม้แต่การยึดถือในอะไรบางอย่างของเรา ก็ไม่เที่ยงเช่นกัน

มีความจริงเกี่ยวกับการยึดถืออยู่ ๒ ลักษณะ นั่นคือ การยึดถือที่เที่ยงแท้ถาวรนั้น จริงๆแล้วไม่มี แต่การพลัดพรากจากทุกสิ่ง กลับเป็นสิ่งที่มีอยู่จริง

๑ การยึดถือที่เที่ยงแท้ไม่มีอยู่จริง

เหตุที่ทำให้เกิดการยึดสิ่งใดสิ่งหนึ่งหรือภาวะใดภาวะหนึ่งนั้นมาจาก ตัณหา (ความต้องการ) และ ทิฏฐิ (ความเห็น) เมื่อเหตุปัจจัยเปลี่ยน การยึดจึงเปลี่ยนแปลงไปตาม เราสามารถการเปลี่ยนแปลงการยึดสิ่งในต่างๆทั้งที่มองเห็นด้วยตาและไม่สามารถมองเห็นได้ โดยภาวะทั้งในทางโลกและทางธรรม

เรื่องหนึ่งเห็นง่ายมากค่ะ คือแฟชั่นเกี่ยวกับเรื่องต่างๆ เช่น การแต่งกาย งานอดิเรก อันเป็นทิฏฐิที่คนในสังคมยึดอยู่ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง เพราะความที่เห็นตามๆกันและความต้องการเป็นที่ยอมรับ คนในสังคมส่วนใหญ่จึงมีแนวการแต่งกาย แนวการแต่งผม แนวการใช้ชีวิตใกล้เคียงกัน แต่ความเห็นพ้องต้องกันของคนในสังคมในเรื่องของแฟชั่นนี้ เราก็ทราบกันดีว่าเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ

ทัศนคติ (ทิฏฐิ) เกี่ยวกับการทำงานที่บุคคลยึดเป็นแนวทางในการประกอบอาชีพในช่วงเวลาหนึ่งๆอาจเปลี่ยนแปลงไปก็เป็นได้ค่ะ เช่น เดิมเห็นว่าตนเรียนหนัก จึงมีทิฏฐิว่าจะใช้ความรู้ที่เรียนมาประกอบอาชีพให้เกิดประโยชน์เต็มที่เพื่อให้คุ้มกับความพากเพียรที่เรียนมา แต่ต่อมา เพราะเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าจนสร้างผลิตภัณฑ์ได้เย้ายวนใจ ความเห็นเกี่ยวกับการทำงานจึงเปลี่ยนไปเป็นไปเน้นที่ค่าตอบแทนมากขึ้น เพื่อจะได้มีรายได้เพียงพอที่จะซื้อหาวัตถุไฮเทค

แต่เพราะความก้าวหน้า ทฤษฏีเดิมที่เคยยึดถือก็เปลี่ยนแปลงไปตามความก้าวหน้าได้เช่นกัน บางเรื่อง ผู้ที่ “ตามรักษาสัจจะ” คือในขณะที่ยังไม่ทราบความจริงเพิ่มเติม ก็เชื่อตามความเชื่อที่ตนหรือคนในสังคมยึดถือ แต่ก็เปิดใจยอมรับความจริงใหม่ๆและเชื่อแทนความเชื่อที่ยึดไว้เดิมได้ เช่น มนุษย์เคยเชื่อว่าโลกแบนที่ต่อมาก็เชื่อตามการค้นพบใหม่ว่าโลกกลม หรือแม้แต่เรื่องของใจ เช่น หันมายึดถือความเชื่อเรื่องผลของกรรม แทนการเชื่อเรื่องการดลบันดาล เป็นต้น

บางที การเปลี่ยนแปลงการยึดของบุคคลอื่น (ขันธ์ภายนอก) ก็ทำให้การยึดของเราเปลี่ยนแปลงไปตามได้เช่นกันค่ะ เช่น บุคคลหนึ่งชอบพูดปด เราเห็นอย่างนั้นก็ยึดถือว่าเขาช่างโกหก ครั้นต่อมา เขาปรับปรุงตนไปในทางที่ดีขึ้น ความเห็นเกี่ยวกับตัวเขาที่เรายึดไว้ก็เปลี่ยนไป

หรือการที่เราตริเรื่องใดขึ้นมา (วิตก) แล้วคิดตรอง (วิจาร) ตามที่ใจอยากให้เป็น ก็คือเรายึดเรื่องนั้นๆด้วยความเห็นว่าเป็นตน ยังมีความชอบ ชัง ยังวางใจเป็นกลางกับเรื่องนั้นไม่ได้ เรื่องของบุคคล สิ่งของ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นๆจึงจรเข้ามาให้คิดถึง ครุ่นคิด เราจึงยึดเรื่องนั้นๆไว้ในใจเพื่อเสพความพอใจจากการคิดถึงสิ่งที่เรายึดอันทำให้ยิ่งเพิ่มพูนการยึด หรือ ยึดเรื่องนั้นๆไว้เพื่อพิจารณาทั้งคุณ ทั้งโทษ และ ทางออก เพื่อให้ปัญญารู้เห็นด้วยความเป็นกลางจนสามารถปล่อยใจจากการยึด ในขณะที่พินิจ ไม่ว่าจะคิดไปอย่างไร เมื่อจบการคิดก็ทรงจำไว้อย่างนั้น ระดับการยึด แง่มุมในการยึด รวมไปถึงเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่ยึดก็เปลี่ยนแปลงไป ไม่เป็นลักษณะเดียวกับในขณะก่อนที่เรื่องนั้นจะจรมาสู่ใจเรา

๒ การพลัดพรากเป็นสิ่งที่มีอยู่จริง

การพลัดพรากจากสิ่งที่ยึดเป็นสิ่งที่มีอยู่จริงๆค่ะเพราะอย่างน้อยเราก็ตายจากสิ่งที่เคยยึด เช่น ตายจากกายที่ยึดไว้ว่าเป็นของเรา อีกทั้งเนื่องจากเป้าหมายสูงสุดในพุทธศาสนาคือการปราศจากการยึด ภาวะปราศจากสิ่งยึดก็ทำให้ผู้บรรลุธรรมสูงสุดพลัดพรากจากสิ่งที่ “เคย” ยึดไว้ทั้งหมด เพียงแต่ท่านไม่เศร้าโศกเพราะท่าน “ขาด” การยึดแล้วเท่านั้น

เมื่อเราจะพิจารณาเรื่องใด ก็คือเรายึดเรื่องนั้นไว้เพื่อคิดฟุ้งไปหรือไตร่ตรอง เมื่อคิดเสร็จ ก็คือเราได้พลัดพรากจากสิ่งที่เรายึดไว้เพื่อคิดที่เราเพิ่งคิดจบไปแล้วนั้น เพียงแต่ว่า เมื่อคิดจบ เราจะทุกข์เพราะคิดฟุ้ง หรือคลายทุกข์เพราะคิดปรุงอันเป็นองค์มรรค

เพราะการยึด ชนทั้งหลายจึงเศร้าโศกเมื่อต้องพลัดพรากจากสิ่งที่ตนยึด แต่การพลัดพรากจากสิ่งที่เห็นได้ด้วยตาด้วยความตาย การเสื่อมสลาย การแตกหักถูกทำลาย ของคนที่รักหรือของสิ่งที่เราผูกใจ ยังไม่ทำให้เราเศร้าเสียใจได้มากเท่าการพลัดพรากจากกันในขันธ์ทั้ง ๕ ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และ อนาคต เพราะเป็นการพลัดพรากจากขันธ์ทั้ง ๕ ที่เห็นว่าเคยนำความสุขมาให้ทั้งหมด ความโศกจึงปรากฏตราบเท่าที่เรายังยึดถือขันธ์เหล่านั้นอยู่เพราะความที่ปัจจุบันเราไม่สามารถพบสุขเวทนาอย่างที่พบในอดีตได้ และจะ ไม่สามารถพบได้อีกในอนาคตนั่นเอง

แต่เราก็มักทำร้ายตัวเองด้วยการนำความทรงจำดีๆในอดีตมาคิดทบทวน เสพสุขเวทนาจากการคิด จากการเห็นภาพในจินตนาการ คิดครั้งหนึ่งก็ทรงจำไว้อย่างนั้นครั้งหนึ่ง คิดครั้งต่อไปก็นำที่จำไว้มาคิดต่อ กาลทั้งสามคืออดีต ปัจจุบัน อนาคต จึงพันกันยุ่งเพราะเป็นการนำความคิดในอดีตที่เกี่ยวกับอนาคตที่ไม่มีอยู่จริงมาคิดอยู่ในปัจจุบัน ความทรงจำจึงเป็นเรื่องของอดีตที่เกิดจากการคิดเรื่องอนาคตในปัจจุบันนั่นเอง กาลทั้งสามจึงพันกันจนไม่สามารถแยกออกจากกันได้ แต่เพราะเรื่องที่คิดนั้นไม่อยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริงในปัจจุบัน โลกในความคิดกับโลกของความเป็นจริงจึงค่อยๆห่างกันออกไปทุกที กระทั่ง เมื่อโลกทั้งสองห่างจากกันมากๆเข้า ก็จะรับโลกของความเป็นจริงที่ตนไม่ต้องการอันต่างจากในจินตนาการที่ตนเสพสุขไม่ได้ เมื่อถึงเวลานั้น ทุกข์โศกครั้งใหญ่จึงเกิดขึ้น และเกิดได้ซ้ำครั้งแล้วครั้งเล่า ตราบเท่าที่เรายังไม่คลายการยึด

ดังนั้น การพลัดพรากจากรูปขันธ์ จึงไม่เพียงทำให้เราเศร้าโศกเพราะการพรากเพียงครั้งเดียวนั้น แต่กลับทำให้เศร้าโศกซ้ำได้นับครั้งไม่ถ้วน

การ “พันกันยุ่ง” ของกาลทั้งสามนี้ ยังเป็นเหตุให้เราปฏิบัติต่อความเป็นอยู่ในปัจจุบันผิดไป ทั้งในเรื่องทัศนคติ ความสัมพันธ์กับบุคคลรอบข้าง การดำเนินชีวิต อันเป็นเหตุนำไปสู่ทุกข์ใหม่อีกหลายๆเรื่อง เมื่อทนทุกข์เพราะความคิดต่อไปไม่ได้ ต้องหันมาอยู่กับความเป็นจริง ใคร่หาทางออก จึงจำต้องพรากจากความคิดในแนวเดิม ความทรงจำเดิม ความรู้สึกสุขในยามที่ได้คิดอย่างเดิม

จึงกลายเป็นว่า เมื่อคิดไปตามความต้องการก็โศกไปอย่างหนึ่ง เมื่อจะหยุดการคิด ฝึกฝืนการคิดตามความต้องการ ก็โศกไปอีกอย่างหนึ่ง

ต่อเมื่อเราเห็นตรงตามภาวะ เห็นตามความเป็นจริงว่าการคิดนั้นเป็นเหตุแห่งทุกข์จนต้องการหยุดการคิดในลักษณะเดิม จึงคิดน้อมไปในทางดับทุกข์ น้อมลงสู่ความว่าง ซึ่งการพยายามเพื่อความดับนั้นมีผลสองอย่างคือ

ทุกข์ ที่ตัณหาถูกขัด และ

สุข จากการที่สามารถดับอาสวะ (กิเลสที่ดองอยู่ในสันดาน ไหลซ่านมาย้อมจิตเมื่อประสบอารมณ์ใดๆ) ในครั้งนั้นได้

แต่ในช่วงแรกๆของการฝึกดับ เราส่วนใหญ่ยังไม่สามารถรับรู้ถึงความสุขที่เกิดขึ้น คงรับรู้ได้แต่ทุกข์ เราจึงต้องทนทุกข์จากการขวนขวายดับความต้องการ จนกว่าสุขจากการดับของกิเลสที่ค่อยๆมีมากขึ้นสวนทางกับทุกข์จากการขวนขวายดับที่ลดลงจะมีมากกว่าความสุขจึงจะปรากฏชัด เมื่อพบสุขได้ในที่สุด เราจึงหยุดความคิดเดิมได้โดยไม่ต้องทุกข์อีกต่อไป

การใฝ่หาความรู้ และ จิตที่ตั้งมั่น เป็นสมาธิจึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้ที่ต้องการ “ใคร่หาทางออก” ไม่ใช่ “หลงใหลในทุกข์” ค่ะ เพราะการจมอยู่ในความคิดและจิตไม่ตั้งมั่นพอ จะทำให้กลับไปกลับมากับการทำตามตัณหาบ้าง ปฏิบัติเพื่อดับตัณหาบ้าง สลับกันไปสลับกันมา จึงเดินหน้าถอยหลังอยู่อย่างนั้น ดังนั้นการฝึกสติ สมาธิ จึงเป็นเรื่องที่มารับช่วงต่อสำหรับผู้ที่ต้องการดับความคิดที่เป็นเหตุแห่งทุกข์อย่างถาวร

บางที เราก็เศร้าโศกไปกับสิ่งที่ไม่มีอยู่ “จริงๆ” ตามที่เรายึดถือไว้ค่ะ เช่น การกำหนดความเป็นไปในอนาคต ครั้นเมื่อถึงเวลา สิ่งต่างๆไม่เป็นไปตามที่เรากำหนด เราก็เศร้าเสียใจเพราะการพรากจากสิ่งที่ยึดถือ ซึ่งอันที่จริง สิ่งนั้นก็ไม่มีอยู่จริงตั้งแต่แรกแล้ว อีกทั้งทุกอย่างเกิดจากเหตุปัจจัย เมื่อเวลานั้นๆมาถึง เหตุปัจจัยที่เปลี่ยนไปก็อาจทำให้เราเปลี่ยนความคิดไปจากเดิมแล้วก็ได้

การตามรักษาสัจจะ ก็ทำให้เกิดการพลัดพรากได้เช่นกัน เพียงแต่ผู้ตามรักษาสัจจะไม่ต้องทุกข์ ไม่เศร้าโศกเพราะการพลัดพรากจากความเห็นที่ยึดไว้เดิมเพื่อมายอมรับและยึดถือความจริงตามที่ได้ค้นพบใหม่

เหล่านี้เป็นเพียง บางเหตุผล ที่พอจะชวนให้เห็นตามได้ว่า การยึดถือไม่ว่าในอะไรๆที่เที่ยงแท้ถาวรนั้นไม่มีอยู่จริง แต่ความเที่ยงคือการพลัดพรากจากสิ่งที่ยึดไว้นั้น พลัดพรากขึ้นเมื่อใด ก็ทุกข์ใจขึ้นได้ขึ้นเมื่อนั้น

ซึ่งหากเห็นธรรมเหล่านี้จนทั่วแล้ว ตรัสว่า ไม่พึงครองเรือน

โสจนฺติ ชนา มมายิเต

น หิ สนฺติ นิจฺจํ ปริคฺคหา

วินาภาวสนฺตเมวิทํ

อิติ ทิสฺวา นาคารมาวเส

ชนทั้งหลาย ย่อมเศร้าโศกเพราะวัตถุที่ยึดถือว่าเป็นของเรา

เพราะความยึดถือที่เที่ยงแท้ไม่มีอยู่

ความพลัดพรากจากกันนี้นั่นเองเป็นสิ่งที่มีอยู่จริง

บุคคลเห็นดังนี้แล้ว ก็ไม่พึงครองเรือน

การตามเห็นความไม่เที่ยงของสิ่งต่างๆแม้แต่ความไม่เที่ยงของการยึดถือเองจึงเป็นเรื่องที่ฆราวาสควรใคร่ครวญ ควรตามเห็น เพราะอย่างน้อยก็เพื่อจะไม่ต้องเศร้าโศกจากการพลัดพราก เมื่อเห็นธรรมต่างๆอย่างถ้วนทั่วและมั่นคงแล้ว วิถีชีวิตจะดำเนินไปในทางที่เหมาะสม ไม่ทุกข์เพราะการพลัดพรากได้เอง

แต่อย่างไรก็ดี การเห็นความไม่เที่ยงของสังขารนี้ ด้วยใจ ไม่ใช่การเห็นตามตัวอักษร อันมาจากการกำหนดรู้ มาตามกระบวนการคิดแบบสืบสวนต้นเค้าอย่าง ครบถ้วนทุกแง่มุม ใน ทุกๆเรื่อง จนเกิดเป็นความเห็นชอบที่เห็นด้วยจิตและ ไม่กำเริบ น่าจะเป็นเรื่องยากอยู่นะคะ

เราคงได้แต่เพียรติดตามเห็นการเกิดดับของภาวะต่างๆ ขันธ์ต่างๆ ให้เห็นว่าใดๆล้วนไม่เที่ยง ค่อยๆปรุงแต่งการคิดและจดจำเรื่องต่างๆในแม่มุมใหม่คือทดแทนสัญญาว่าเที่ยงด้วยสัญญาว่าไม่เที่ยง จนค่อยๆ “รู้” ความจริงอันเป็นสภาพเกิดดับ กระทั่งทำให้ใจคลายการยึดสิ่งต่างๆ ภาวะต่างไปเอง

แต่เพราะ

ผนฺทนํ จปลํ จิตฺตํ ทุรกฺขํ ทุนฺนิวารยํ

จิตนี้ดิ้นรน กวัดแกว่าง ห้ามยาก รักษายาก

จิตมีธรรมชาติที่ดิ้นรนจะอยู่ในที่อยู่คือกามภพ ดังนั้น แม้จะพยายามตามเห็นสภาวะด้วยการฝึกสมถะวิปัสสนาสักเท่าใด จิตก็กวัดแกว่ง ดิ้นรน หาแง่มุมใหม่ๆจะให้กลับมายึดอีกให้ได้

การรู้ธรรมชาติของจิตนี้จึงเป็นการรู้เพื่อความไม่ประมาท เพียรขัดเกลา ไม่ใช่รู้เพื่อเป็นข้อแก้ตัวว่าก็ในเมื่อธรรมชาติจิตเป็นอย่างนี้ การที่เราจะกลับกำเริบมายึดใหม่จึงเป็นเรื่องปกติ

เพราะแม้จะคลายการยึดไปได้ในบางช่วงแล้ว ก็อาจกลับมายึดได้อีกเพราะความที่ยังมีกิเลสอยู่, อวิชชา (ความไม่รู้, ความรู้ไม่ทั่ว, ความรู้ผิด, ความที่ปัญญามาไม่ทันสถานการณ์) ก็ยังมีอยู่ รวมไปถึงธรรมชาติดิ้นรนของจิต ฯลฯ ก็อาจทำให้กลับมายึดได้อีก

เราจึงต้องคอยตรวจสอบจิตทั้งในขณะที่จิตเป็นสมาธิ และในขณะที่ประสบเรื่องนั้นเหรือเรื่องที่เชื่อมโยงถึงเรื่องนั้นฉพาะหน้า ว่าเรามีความคิดและแสดงออกต่อเรื่องนั้นๆอย่างไร หากทั้งเรื่องนั้นและเรื่องที่เชื่อมโยงถึงกันนั้นก็ไม่ทำให้เราหวั่นไหวได้อีกต่อไปแม้จะประสบเข้าโดยบังเอิญ ก็แสดงว่าเราได้คลายจากการยึดภาวะนั้น สิ่งนั้น ลงไปแล้วหนึ่งอย่าง

ตรัสว่าเมื่อเราเจริญ อนิจจสัญญา หรือสัญญาว่าสรรพสิ่งไม่เที่ยง สัญญานี้จะนำไปสู่ อนัตตสัญญา หรือ สัญญาว่าธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา และอนัตตสัญญานี้เองจะนำไปสู่ สันทิฏฐิกนิพพาน อันสามารถ ไถ่ถอนอัสมิมานะ หรือ ความเห็นว่าเป็นตนในปัจจุบันได้ ซึ่งสันทิฏฐิกนิพพานอันเป็นนิพพานที่เห็นได้ในปัจจุบัน คือ ดับความต้้องการได้เป็นครั้งๆนี้ เราต้องเพียรดับบ่อยๆค่ะ จึงจะพบความดับในเรื่องนั้นๆอย่างถาวรได้ในที่สุด

ผลที่ต้องการในพุทธศาสนาต้องการการกระทำค่ะ และต้องทำอย่างไม่หวังผล ไม่ใช่อยู่ดีๆก็คิดว่าเราจะไม่ยึดสิ่งนั้นสิ่งนี้

จนเป็นเหตุให้การฝึกตนยากที่จะประสบผลสำเร็จ เนื่องจากเป็นการปรุงแต่งการยึดมั่นในความไม่ยึดมั่น การปรุงแต่งความยึดมั่นใหม่ ซ้อนการยึดมั่นเดิมที่ยังไม่ได้คลายขึ้นมา....อีกต่อหนึ่ง

หมายเลขบันทึก: 578489เขียนเมื่อ 9 ตุลาคม 2014 08:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 ตุลาคม 2014 09:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

ขอบคุณครับ ที่ทำให้วันนี้สดใสและมีความสุข

ได้ความรู้ และข้อคิดมากมายจากบันทึกนี้ สาธุค่ะ

ชอบประโยคนี้เจ้าค่ะ"ไม่ใช่รู้เพื่อเป็นข้อแก้ตัว"....สาธุ..เจ้าค่ะ...

ปุถุชน ยึดติด ตัณหา ๓

ขออนุโมทนาบุญในธรรมทานเช่นนี้ค่ะ


อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท