ชีวิตที่ดีคือมีทางเลือก


ชีวิตที่ดีคือมีทางเลือก

ในการคิดเชิงวิทยาศาสตร์ จะมีเรื่องของข้อมูลขาเข้า หรือสิ่งเร้า (input or stimuli) และเกิดปฏิกิริยา ผลลัพธ์ ออกมาอีกปลายด้านหนึ่ง ในแบบของสมการ ในสภาวะทางกายภาพส่วนใหญ่ อาจจะเห็นเป็นสมการเชิงเดี่ยว ไม่ซับซ้อน เช่น ลูกหินวิ่งมาชนอีกลูกนึงก็กระดอนออกไป ฝนตกถนนเปียก จุดไฟให้ร้อนอุ่นอาหารให้สุก ฯลฯ แต่เมื่อหันมามองวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวกับ "ชีวิต" จะพบว่าสมการที่ว่านี้ไม่เรียบง่ายอย่างเดิม ยิ่งกับผู้คนแล้ว เราจะพบว่าลึกๆแล้ว เราทุกคนไม่ได้ปราถนาชีวิตแบบสมการเชิงเดี่ยว แต่เราปราถนาที่จะ "มีทางเลือก"

ในตอนเรียนแพทย์ใหม่ๆ เราเรียนสภาพร่างกายแบบปกติ เสร็จแล้วก็เรียนรู้สภาพร่างกายแบบผิดปกติจากสาเหตุต่างๆ ทำความเข้าใจกลไกที่ผิดปกติเหล่านั้น เพื่อที่จะออกแบบการรักษา เยียวยา บำบัด สิ่งเหล่านี้ดูเหมือนจะเป็น "สมการเชิงเดี่ยว" ในตอนแรก ติดเชื้อบัคเตรีก็ต้องใช้ยาปฏิชีวนะตัวนั้น ตัวนี้ ติดเชื้อรา เชื้อไวรัส ก็ต้องหันไปใช้ยาตัวนั้นตัวนี้ แต่ยิ่งเราได้เรียนรู้วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ก้าวหน้ามากขึ้นไปเรื่อยๆ เข้าใจกลไก สรีระวิทยามากขึ้น เราจะเห็นว่ามนุษย์ไม่ได้เรียบง่ายเช่นนั้นเสมอไป ยิ่งโรคซับซ้อนมากขึ้นเท่าไหร่ ผลกระทบที่มีต่อ "ความสุข ความทุกข์" ของคนยิ่งซับซ้อนตามกันไปเป็นทวีคูณ การที่แพทย์ฝ่ายเดียวจะเป็นคนเสนอ "ทางออกที่ดีที่สุด" นั้น ดูจะเป็นทางเลือกที่จำกัดเกินไปทุกทีๆ และสิ่งที่เราได้สังเกตพบจากการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย จะพบว่าสภาพจิตใจของแต่ละคน มีผลต่อระบบภูมิคุ้มกัน และเลยมีผลต่อการดำเนินโรค (หรือการ "ไม่" ดำเนินโรค) ได้อย่างน่าสนใจมาก

ในการที่จะจัดตั้งระบบการดูแล palliative care หรือการดูแลประคับคองผู้ป่วยที่มีโรครักษาไม่หาย โรคที่ทรุดลงไปเรื่อยๆตามเวลา หรือจนในที่สุดเข้าสู่ระยะท้าย หรือสุดท้ายของชีวิตนั้น จึงไม่ใช่สมการเชิงเดี่ยว ไม่ใช่ระบบ protocol ที่ fixed ตายตัว ไม่ใช่ระบบ "มาตรฐาน" one-size fits all แต่เป็นเรื่องของการจัดการความรู้ทางการแพทย์ที่ดีที่สุด บูรณาการกับชีวิตของคนๆหนึ่งและครอบครัวของคนๆนี้ เพื่อที่จะ "ออกแบบการเดินทางในช่วงท้าย" นี้ให้ดีที่สุด ทุกข์ทรมานน้อยที่สุด สง่างามที่สุด และมีศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์มากที่สุด หากจะเป็นดนตรี ก็ต้องเป็น Life Jazz ที่มีการ improvised ดัดแปลงแบบ real-time เปลี่ยนแปลงไปตามจังหวะชีวิต ณ เวลานั้น เดี๋ยวนั้น กับคนๆนั้น ไม่มีใครทราบแน่ชัดมาก่อนว่าดีที่สุดคืออะไร ที่เราทำได้คือลองวางแผน แล้วก็ลองทำ เป็นอย่างไรมาว่ากันอีกที ไม่ได้ผลก็เปลี่ยนวิธีใหม่

ในห้องออกแบบชีวิตนี้เอง ที่ทุกๆคนที่เข้ามาเกี่ยวข้อง กำลัง "ใช้ชีวิต" อย่างเต็มที่ เพราะเป็นการใช้ชีวิตที่แสวงหาสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับชีวิตคนๆหนึ่ง ทุกๆคนกำลัง "เรียนรู้ชีวิต" อย่างเต็มที่ เพราะตำรับตำราที่ไหนก็จะไม่มีเขียนไว้ว่าจะต้องทำอะไรบ้าง ยิ่งทำมามากเท่าไหร่ จะยิ่งตระหนักว่าการเหมารวมว่าเรารู้แล้ว เข้าใจแล้ว ไปทั้งหมดนั้นเป็นความเขลาประการหนึ่ง เพราะจะมีชีวิตใหม่ เรื่องราวใหม่ มาเปิดโลกทัศน์ของทุกๆคนให้ขยายกว้างมากขึ้นตลอดเวลา จากปัจจัยทั้งบุคคล เวลา สถานที่ ชุมชน ความเชื่อ และวิถีการใช้ชีวิตก่อนหน้านี้ของคนในนิเวศน์นั้นๆ

การสนทนาหา Goal of care หรือการทำการวางแผนการรักษา (advance care plan) ใน palliative care ก็คือการมี Choices of Action เกิดขึ้น มีทางเลือก มีการชั่งน้ำหนักข้อดี/ไม่ดี เต็มไปด้วยสมการที่มีตัวแปรไม่ทราบค่า (unknown variables) แต่ว่าเราจะลองเลือกกันดูว่า ทั้งๆที่ไม่ทราบ ๑๐๐% หากแต่เราลองมาช่วยกันออกแบบกันว่าแบบไหนที่เราคิดว่าจะดีที่สุด แล้วก็ลองทำดู

ตัวเลือกแต่ละตัว อาจจะมีสัมฤทธิผลในการเยียวยาไม่เท่ากัน และไม่สามารถจะวัดเปรียบเทียบกันตรงไปตรงมาได้
@ แบบหนึ่งอาจจะทำให้อาการบรรเทาแต่ช่วงเวลาที่ตื่น รู้สติ จะลดลง อีกแบบหนึ่งอาจจะทำให้อาการบรรเทาน้อยกว่า แต่ก็ยังสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งรอบข้างได้มากกว่า
@ แบบหนึ่งอาจจะทำมีโอกาสเดินได้ ขยับได้มากขึ้นแต่ต้องนอนพักฟื้นติดเตียง ติดโรงพยาบาลอยู่ระยะหนึ่ง กับอีกแบบหนึ่งอาจจะทำให้เดินไม่ได้ ต้องนั่งเก้าอี้เข็น แต่ได้อยู่ที่บ้าน ท่ามกลางญาติสนิทมิตรสหาย

ท้ายสุดแล้ว สิ่งสำคัญที่สุด อาจจะไม่ใช่ว่าทำอะไรแล้วจะสบายที่สุด แต่สำหรับมนุษย์แล้ว อาจจะอยู่ที่ "เราสามารถ และได้เลือกวิธีที่เราคิดว่าเหมาะที่สุด"

ทุกวันนี้ผู้ป่วยได้มีทางเลือกอย่างที่ว่านี้หรือไม่? หรือว่ามีแค่เมนูการรักษาที่เรายื่นให้หนึ่งหรือสองแบบเป็นอันจบกันแค่นั้น?

สกล สิงหะ
หน่วยชีวันตาภิบาล โรงพยาบาลสงขลานครินทร์
วันจันทร์ที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๕๗ เวลา ๑๐ นาฬิกา ๒๗ นาที
วันขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีมะเมีย วันฮารีรายอ

หมายเลขบันทึก: 578266เขียนเมื่อ 6 ตุลาคม 2014 10:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 ตุลาคม 2014 10:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ทางเลือก..ในวิถีพุทธ..คือทางสายกลาง.. มีใบไม้ที่มีจุดด่างมาฝาก...กับธนูสอนศิลปแห่งชีวิต..มาฝาก..เจ้าค่ะ..

ทุกครั้งที่ผมได้อ่านบันทึกของอาจารย์ ผมรู้สึกอิ่มใจ และสัมผัสถึงความพิถีพิถันในการใช้ภาษาของอาจารย์ที่ให้ผู้อ่านเห็นภาพและสามารถสะท้อนความรู้สึกของผู้อ่านได้ นอกจากนี้ยังมีข้อคิดดีๆให้ผู้อ่านนำไปปรับใช้ได้ทุกครั้ง ขอบพระคุณครับ 

ขอบคุณค่ะ เป็น concept palliative care ที่ลึกซึ้ง เราต่างต้องการทางเลือก
เร็วๆ นี้ ก็มีเคสผู้ป่วยหนัก ไม่ใช่มะเร็ง แต่โรคประจำตัวเยอะ นอนติดเตียงมานานจนติดเชื้อดื้อยา ทางทีมพยาบาล กระตุ้นให้พูดคุยกับญาติไว้ก่อน (หนูคิดว่านี่เป็น success ในเชิงวัฒนธรรมองค์กรของสวนดอกค่ะ คือ พยาบาลจะกระตุ้นให้หมอประจำวอร์ด คุยตั้งแต่ตอนยังคุยได้)  แล้ว คนไข้ก็เหมือนมี  2 mode คือ สู้ตายค่ะ กับ ถอยดีกว่าไม่เอาดีกว่า

คือ  อยากเดินได้ 

แต่  ก็ไม่อยากทรมาน เพราะทรมานมามากแล้ว

แบบนี้เราจะให้ตัวเลือกแบบไหนดีค่ะ

(ปล. เคสนี้ หนูจะพา น้องๆ fammed ไปราวน์วันอาทิตย์นี้ค่ะ)

การเลือกการตายดีเสมือนการตกผลึกชีวิต ถ้าค่อยๆเตรียม ค่อยๆบ่ม ผลึกจะออกมาอย่างไรก็สวยงามที่สุดแล้วสำหรับผู้นั้น ในกรณีที่ไม่ได้เตรียม หรือต้องมาเร่งบ่ม เร่งอบแก๊สให้สุก ผลึกนั้นก็จะพลาดไม่ได้รวมอะไรบางอย่างเข้ามา

เราในฐานะผู้ดูแล ไม่มีหน้าที่ชี้ทางที่ดีที่สุด แต่เป็นมืออาชีพที่จะทำให้บริบทเอิ้อต่อชีวิตที่จะตกผลึกให้มากที่สุด ผู้ป่วยเลือกเอง ด้วยปัจจัยอีกมากมายในอดีตที่เราเองก็ไม่ทราบ. ผู้ป่วยเองก็อาจจะไม่รู้ด้วยซ้ำว่าทำไมเพราะลืมไปแล้ว แต่มัน "คุ้นๆ" ว่าน่าจะเอาแบบนี้ เราจะให้การสนับสนุนเต็มที่ในทุกๆรูปแบบเท่าที่จะเอื้อได้ ผู้ป่วยอาจจะต้องการ jigsaw สุดท้ายจากใครสักคน จากอะไรสักอย่าง ซึ่งถ้าประจวบเหมาะสรรสร้างให้ผุดปรากฏขึ้นมาพอดีก็ถือว่ามีบุญ บางคนก็ไม่ทัน บางคนก็ทัน

สิ่งที่เราบอกขอให้เป็นสิ่งที่เรารู้จริง จากใจจริง เท่านั้นก็พอ ว่าทำอะไร/ไม่ทำอะไรแล้วจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง สมการนี้ยังไงๆก็ไม่ครบ ต้องไปผนวกกับของผู้ป่วยเองอีกชั้นนึง

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท