อาวุธทางปัญญาเพื่อทำงานชุมชน : เครื่องมือเจ็ดชิ้น


บันทึกเมื่อวันที่ 25 กันายน 2557 เพื่อกิจกรรมการเรียนรู้ Core Module 2 : เรียนรู้นิเวศ-วัฒนธรรมชุมชน เข้าใจตัวตนและเพื่อนมนุษย์ วันที่ 16 – 18 สิงหาคม 2557 ณ โรงแรมตะมาลี, วันที่ 19 สิงหาคม 57 ณ บ้านคีรีวง จ.นครศรีธรรมราช วันที่ 20 - 24 สิงหาคม 2557 ณ บ้านปากคลอง หมู่ 3 ต.เกาะกลาง อ.เกาะลันตา จ.กระบี่

จากประสบการณ์ตรงในการทำงานของผู้เขียน โดยมากจะเป็นเนื้องานในชุมชนกับชาวบ้านทั้งที่เป็นคนไทยพื้นราบและพี่น้องชาวไทยภูเขา เครื่องมือสำหรับปฏิบัติงานในชุมชนอาศัยตำราแบบครูพักลักจำเสียเป็นส่วนใหญ่ เมื่อมีโอกาสเป็นนักเรียน คศน. และทราบว่าวิชาหนึ่งที่จะได้เรียนคือ เครื่องมือเจ็ดชิ้น เพื่อการศึกษาและความเข้าใจชุมชน แถมยังเป็นการเรียนจากเจ้าของตำราตัวเป็น ๆ คือ นายแพทย์โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ยิ่งทำให้ตั้งอกตั้งใจกับการเรียนคราวนี้มาก

เครื่องมือเจ็ดชิ้น เป็นหนึ่งในอาวุธที่ติดตั้งเพื่อให้คนทำงานรู้จักชุมชนอย่างครอบคลุม หลากหลายมิติความสัมพันธ์ แม้มิได้มีความวิเศษวิโส อภินิหารลึกล้ำเหมือนดาบเจ็ดสีมณีเจ็ดแสงดังที่หัวหน้าห้องโต้งพูดไว้ แต่เครื่องมือเจ็ดชิ้นนับว่ามีประโยชน์ยิ่งยวดหากรู้จักใช้งานให้ถูกต้องเหมาะสม

เครื่องมือชิ้นแรก “แผนที่เดินดิน” ซึ่งต่างจากแผนที่นั่งโต๊ะที่เห็นเพียงสภาพกายภาพ ภูมิศาสตร์ ที่ตั้งของชุมชน เพราะแผนที่เดินดินต้องเดินดูบ้านทุกหลังด้วยตาของตนเอง ทำให้มีโอกาสทักทายสร้างความคุ้นเคยกับชาวบ้าน เช้าใจการจัดกลุ่มทางสังคม รู้เป้าหมายเฉพาะ เช่น บ้านคนพิการ คนยากจนด้อยโอกาส

“ผังเครือญาติ” เครื่องมือสะท้อนความสัมพันธ์ของคนทั้งชุมชน ในบางพื้นที่ผังเครือญาติเชื่อมโยงถึงการเมืองภายในชุมชน เห็นถึงความขัดแย้ง ในระบบสุขภาพผังเครือญาติช่วยฉายภาพโรคที่สืบต่อกันทางพันธุกรรม

“โครงสร้างองค์กรชุมชน” ซึ่งเน้นองค์กรที่มีการปฏิบัติการจริง ทำให้เห็นผู้นำทั้งที่เป็นทางการและผู้นำตามธรรมชาติ ผู้ที่มีบทบาทสูงในแต่ละชุมชน

“ระบบสุขภาพชุมชน” ต้องหาให้พบสามส่วนคือ การแพทย์ภาควิชาชีพ (โรงพยาบาล สาธารณสุข) การแพทย์พื้นบ้านรวมถึงประเพณี ความเชื่อท้องถิ่น และการดูแลสุขภาพตนเองของภาคประชาชน

“ปฏิทินชุมชน” ทำให้เข้าใจวิถีชีวิตซึ่งเป็นรากฐานการทำงานเชิงรุก ปฏิทินของชุมชนมีทั้งปฏิทินวงรอบการผลิต ปฏิทินวัฒนธรรม ปฏิทินกิจกรรมทางสังคม ปฏิทินอาชีพ เป็นต้น

“ประวัติศาสตร์ชุมชน” ทำให้เห็นประสบการณ์ ความทรงทรงจำทางสังคมของชุมชน ตั้งแต่การก่อตั้ง ประวัติการเมือง เศรษฐกิจ สังคม สาธารณสุข ซึ่งแต่ละช่วงประวัติศาสตร์มีทั้งเกิดขึ้นครั้งเดียวแล้วสิ้นสุด เกิดขึ้นระยะหนึ่งแล้วจบลง หรือเกิดขึ้นจนถึงปัจจุบันก็ยังดำเนินอยู่

“ประวัติชีวิต” เพื่อเรียนรู้ความมนุษย์จากชีวิตที่เลือกมาเป็นกรณีศึกษา อาจเป็นคนยากไร้ ด้อยโอกาส หมอพื้นบ้าน ผู้พิการ คนเฒ่าคนแก่ ผู้นำทางการ ผู้นำธรรมชาติ มองผ่านชีวิตพวกเขาเพื่อเข้าใจบริบทของชุมชน

หลังภาคทฤษฎี ครูใหญ่โกมาตรแบ่งกลุ่มตามโต๊ะที่นักเรียนนั่งเฉลี่ยกลุ่มละ 7 คน กลุ่มของผู้เขียนเป็นกลุ่มรวมเด็กหลังห้อง จนถึงน้องกอล์ฟ สสส. เรียกขานว่า กลุ่มไก่กา อาราเล่ โดยเริ่มจากเครื่องมือชิ้นที่หนึ่ง แผนที่เดินดิน ภายใต้เงื่อนไข ทุกคนในกลุ่มเดินร่วมกัน ทักทาย แนะนำตัว สร้างความคุ้นเคยกับชาวบ้าน และมองหากรณีศึกษาเฉพาะ เช่น บ้านผู้พิการ กลุ่มคนยากไร้ ด้อยโอกาส จากนั้นให้แบ่งกันเป็นคู่ ทดลองเครื่องมือชิ้นอื่น ๆ รับผิดชอบจำนวนบ้านคู่ละ 2-3 หลัง

เริ่มต้นกลุ่มไก่กา อาราเล่ เดินรวมกลุ่มไปตามเส้นทางที่กำหนดร่วมกันทุกคน จนประมาณครึ่งทางจึงถึงบ้านที่บังโอบชี้เป้าว่าเป็นบ้านของครูอุดม สงฆ์รักษ์ ครูใหญ่คนแรกของโรงเรียนบ้านปากคลอง กลุ่มจึงเห็นพ้องกันว่า ต้องให้พี่หนุ่ม อาจารย์จิตแพทย์กับพี่โต้ง หัวหน้าห้อง เป็นคู่ที่สัมภาษณ์ครูอุดมโดยเน้นเครื่องมือประวัติชีวิต พร้อมพ่วงบ้านใกล้เคียงอีกสามหลัง

สมาชิกที่เหลือเดินต่อไปพร้อมพูดคุยการแบ่งบ้านที่ต้องรับผิดชอบ จนถึงกลุ่มบ้านของบังทองซึ่งอยู่ติดโรงเรียนบ้านปากคลอง ผู้ช่วยบุญทวี จงรักษ์(ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน) บอกว่าจากบริเวณนี้ไม่มีบ้านคนอยู่อาศัยแล้ว มีเพียงสุดถนนที่เป็นแพชุมชนซึ่งตนเองเช่าทำร้านส้มตำ กลุ่มเลยตกลงกัน ให้หมอกล้วย ทันตแพทย์ ประจำการที่บ้านบังทองและกลุ่มบ้านรอบๆ อีกสามหลัง คู่ของจ๊อคกี้ เอ็นจีโอจากแอคเซส กับหมออ้น หมอ rehab เดินย้อนกลับไปที่กลุ่มเพาะเห็ดฟาง ไม่ไกลจากบ้านครูอุดม

ผู้เขียนกับสหายก๋วย มะขามป้อม ขอให้ผู้ช่วยบุญทวี พาขึ้นมอเตอร์ไซด์พ่วงข้างไปจนสุดถนน พร้อมอาสาย้อนกลับไปสัมภาษณ์บ้านผู้ช่วยประวิทย์ บุตรสมัน ในช่วงบ่าย

ที่บ้านของผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน นายประวิทย์ บุตรสมัน เราได้พบกับม๊ะของประวิทย์ กำลังเล่นหมากหลุมกับหลานชายอย่างคล่องแคล่ว ม๊ะเรียกผู้เขียนว่า ลูกสาว แล้วชวนให้นั่งคุยกัน เราเริ่มต้นด้วยเรื่องราวของผังเครือญาติของป๊ะก้อเฉม กับม๊ะหร้อหม้ะ ทราบว่าทั้งคู่มีบัตรหญิงชายรวมสี่คน บุตรชายคนที่สามประสบอุบัติเหตุมอเตอร์ไซด์ชนกระบะเสียชีวิตไปเมื่อตอนอายุ 27 ปี ปัจจุบันลูกสาวสองคนแรกย้ายไปอยู่ที่อำเภอเหนือคลอง มีเพียง ประวิทย์ ลูกชายคนสุดท้ายที่แต่งงานแล้วพาภรรยาซึ่งเป็นชาวจังหวัดนครศรีธรรมราชมาอยู่ที่บ้านปากคลอง

ม๊ะเล่าให้ฟังว่า เดิมทีบ้านปากคลองไม่ค่อยมีโรคภัยไข้เจ็บ อาจเพราะบริโภคอาหารในชุมชน ทำมาหากินแบบปลูกกินเอง หาอาหารทะเลพอกิน ปัจจุบันคนเยอะขึ้น มีการนำเข้าอาหารทะเลจากฝั่งระนอง ทำให้เจ็บป่วยมากขึ้น หอยท้ายเพลา ซึ่งเป็นหอยที่มีรสชาติหอมหวาน ขนาด 25 ตัวต่อกิโลกรัม ราคากิโลกรัมละ 230 บาท หาได้ง่ายตามป่าโกงกาง เคยสร้างรายได้ให้คนหาหอย 2-3 พันบาทต่อวัน ปัจจุบันลดจำนวนลงมาก คนข้างนอกเข้ามาดำน้ำเพื่อหาหอย ม๊ะดำไม่ไหว จึงไม่สามารถหารายได้จากหอยท้ายเพลาเหมือนเดิม

ผู้ช่วย ประวิทย์และภรรยา เป็นคนรุ่นใหม่ที่เรียนจบระดับปริญญาตรี แล้วกลับมาทำสวนอยู่บ้านต่างจากคนรุ่นเดียวกันที่เรียนจบแล้วไปทำงานในเมือง ทำงานที่ภูเก็ต ประวิทย์วางแผนจะทำโฮมสเตย์เล็ก ๆ เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวประเภทที่ต้องการความสงบ เรียบง่าย ประวิทย์ให้ความเห็นว่า คนปากคลองสมัยนี้ พูดจากันน้อยลง อาจจะเป็นเพราะสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น มอเตอร์ไซด์ทดแทนการเดินที่ต้องทักทายเพื่อนบ้านไปตลอดทาง หรือ โทรทัศน์ที่ดูได้ทุกบ้าน ไม่มีการรวมตัวกันพูดคุยเหมือนสมัยก่อน

เราอำลาครอบครัวของประวิทย์เพื่อรวมกลุ่มไก่กาเตรียมนำเสนอ ทุกกลุ่มขะมักเขม้นตระเตรียมการนำเสนอสิ่งที่ได้พบเจอจากการทดลองใช้เครื่องมือเจ็ดชิ้นลงพื้นที่ ความมหัศจรรย์ใจของผู้เขียนคือ เมื่อนำข้อมูลของทุกกลุ่มลงกระดาษ เราเห็นภาพชุมชนปากคลองอย่างครอบคลุม แม้บางประเด็นจะไม่สมบูรณ์แบบจากข้อจำกัดเรื่องเวลา และไม่ได้เจาะลึกไปในประเด็นดังกล่าว

เมื่อกลับมาปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ทำงานอำเภออุ้มผาง จึงคิดว่าการได้รับติดตั้งความรู้ในเรื่องราวของเครื่องมือเจ็ดชิ้น คือ อาวุธทางปัญญาที่สำคัญซึ่งสามารถฉายภาพของชุมชนอย่างครอบคลุม หากคนทำงานสาธารณสุขได้รับการติดตั้งความรู้อย่างทั่วถึง การทำงานด้วยความเข้าใจในบริบทของพื้นที่คงทำให้พวกเขามีความสุขและมุ่งมั่นทำงานมากขึ้นไม่ใช่น้อย

หมายเลขบันทึก: 578139เขียนเมื่อ 4 ตุลาคม 2014 14:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 ตุลาคม 2014 14:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ชอบใจโครงการ คศน ที่คุณหมอ ธงชัย วชิรโรจน์ไพศาล

เป็นหัวหน้าโครงการ

มีโอกาสจะไปศึกษาบ้าง

ได้เรียนรู้ตลอดเวลาเลยนะครับ

ขอบคุณมากๆครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท