สิทธิมนุษยชนในมิติของงานสวัสดิการสังคมและสังคมสงเคราะห์


สิทธิมนุษยชน... เป็นแนวคิดที่มีอิทธิพลต่อระบบสวัสดิการสังคมไทย

         อาจกล่าวได้ว่า “สิทธิมนุษยชน” เป็นความพยายามของสังคมมนุษย์ที่จะสร้างระบบคุณค่าทางสังคมขึ้นมาเพื่อจัดระเบียบทางสังคม ในสภาพที่สังคมกำลังเผชิญกับสภาวการณ์การถูกลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง และค่อนข้างรุนแรงในสังคมโลกมนุษย์ โดยเฉพาะในด้านความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ต่อมนุษย์ด้วยกัน และความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนและรัฐ โดยคำนึงถึงการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสันติสุข องค์การสหประชาชาติในฐานะองค์กรระหว่างประเทศ จึงได้กำหนดข้อตกลงระหว่างประเทศว่าด้วย สิทธิมนุษยชน ขึ้นเพื่อเป็นมาตรฐานเบื้องต้น ให้ประชาคมโลกนำไปปฏิบัติและพัฒนาสิทธิมนุษยชนให้ดียิ่งขึ้น ดังปณิธานอันสูงสุดของประชาคมโลกที่ปรารถนาจะให้บังเกิดขึ้นในสังคมมนุษย์ทั้งในระดับประเทศและระดับระหว่างประเทศนั้นคือ หลักประกันที่ประชาชนทุกคนจะได้รับการปกป้องคุ้มครองโดยถ้วนหน้ากัน

    1. สิทธิมนุษยชนคืออะไร การจะเข้าใจถึงความหมายของสิทธิมนุษยชน จำเป็นต้องเข้าใจหลักการสำคัญที่ถือเป็นองค์รวมของสิทธิมนุษยชนก่อน

    1. สิทธิ (Rights) เป็นสิ่งที่ติดตัวมนุษย์ทุกคนตามธรรมชาติที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ซึ่งไม่มีใครล่วงละเมิดได้ ความมีอยู่ของสิทธิตามธรรมชาตินี้ แม้จะไม่มีกฎหมายออกมารองรับ สิทธิก็ยังคงมีอยู่ คนทุกคนเกิดมามีสิทธิที่จะมีชีวิตอยู่รอด และต้องมีชีวิตอยู่อย่างสมเกียรติและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์

    2. เสรีภาพ (Freedom) หมายถึง การที่มนุษย์สามารถทำอะไรก็ได้ภายใต้ขอบเขตของศีลธรรมอันดีงามโดยไม่เบียดเบียนสังคม หรือไม่ล่วงล้ำสิทธิของบุคคลอื่น หรือสิทธิของส่วนรวม

       ดังนั้นในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ (Universal Declaration of Human Rights) จึงใช้คำ 2 คำ พร้อมกัน คือคำว่า สิทธิ และเสรีภาพ

     3. ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ (Human Dignity) คือ การให้คุณค่าแก่ความเป็นมนุษย์ คนทุกคนมีคุณค่าเท่าเทียมกัน การปฏิบัติต่อคนๆนั้น ต้องเสมอกันในฐานะของความเป็นมนุษย์ ห้ามทำร้ายร่างกาย ทรมานอย่างโหดร้ายหรือกระทำการใดๆที่ถือเป็นการเหยียดหยามความเป็นมนุษย์

     4. ความเสมอภาคและการเลือกปฏิบัติ (Equality and Discrimination) ความเสมอภาค คือ การปฏิบัติต่อคนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน หากมีการปฏิบัติต่อมนุษย์โดยไม่เท่าเทียมกัน เรียกว่า การเลือกปฏิบัติ

     ความเสมอภาค หรือความเท่าเทียมกัน มิใช่แปลว่าคนทุกคนต้องได้รับเท่ากัน แต่หมายความว่า ในสถานการณ์ที่เหมือนกันจะต้องปฏิบัติต่อคนด้วยหลักการเดียวกัน นอกจากนี้ในสถานการณ์เดียวกัน อาจมีการได้รับการปฏิบัติที่แตกต่างกันได้ในกรณีที่เป็นข้อจำกัดหรือความจำเป็นของบุคคลนั้น ซึ่งไม่ถือว่าเป็นการไม่เสมอภาคหรือเป็นการเลือกปฏิบัติ เช่น กรณีคนพิการที่รัฐต้องมีบริการเป็นพิเศษเพื่อให้คนพิการสามารถได้รับบริการง่ายขึ้นนั้น ไม่ถือว่ารัฐเลือกปฏิบัติต่อคนปกติ เพราะสาระสำคัญของกรณีนี้คือ คนพิการไม่สามารถเข้าถึงบริการของรัฐได้เช่นคนปกติ จึงต้องมีวิธีการพิเศษที่ทำให้คนพิการสามารถเข้าถึงบริการได้โดยง่ายและเป็นธรรมแก่คนพิการ

       สิทธิมนุษยชน (Human Rights) หมายถึง สิทธิความเป็นมนุษย์หรือสิทธิในความเป็นคน อันเป็นสิทธิตามธรรมชาติของมนุษย์ทุกคนที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด สิทธิมนุษยชนเป็นสิทธิที่ไม่สามารถโอนให้แก่กันได้ และไม่มีบุคคล องค์กรหรือแม้แต่รัฐ จะล่วงละเมิดสิทธิความเป็นมนุษย์นี้ได้ สิทธิในความเป็นมนุษย์นี้เป็นของคนทุกคน ไม่เลือกว่าจะมีเชื้อชาติ ศาสนา แหล่งกำเนิด เพศ อายุ สีผิว ที่แตกต่างกันหรือมีความแตกต่างกันในด้านสุขภาพ ความคิดเห็นทางการเมืองหรือความเชื่อทางศาสนาหรือฐานะทางเศรษฐกิจสังคม สิทธิมนุษยชนนั้นไม่มีพรมแดน

      สิทธิมนุษยชน มี 2 ระดับ คือ ระดับแรก เป็นสิทธิที่ติดตัวคนทุกคนมาแต่เกิด ไม่สามารถถ่ายโอนให้แก่กันได้ อยู่เหนือกฎหมายและอำนาจใดๆของรัฐทุกรัฐ สิทธิเหล่านี้ได้แก่ สิทธิในชีวิต สิทธิในความเชื่อ มโนธรรมหรือลัทธิทางศาสนา ทางการเมือง มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและแสดงออกหรือการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น สิทธิมนุษยชนเหล่านี้ไม่ต้องมีกฎหมายมารองรับ สิทธิเหล่านี้ก็มีดำรงอยู่แล้ว      ระดับที่สอง เป็นสิทธิที่ต้องได้รับการรับรองในรูปของกฎหมายหรือรัฐธรรมนูญหรือแนวนโยบายพื้นฐานของรัฐของแต่ละประเทศ เพื่อเป็นหลักประกันว่า คนทุกคนที่อยู่ในรัฐนั้นจะได้รับความคุ้มครองชีวิตความเป็นอยู่ให้มีความเหมาะสมแก่ความเป็นมนุษย์ ได้แก่ การได้รับความคุ้มครองแรงงาน ความเสมอภาคของหญิงชาย การมีงานทำ การได้รับสัญชาติ สิทธิของเด็ก เยาวชน ผู้สูงอายุ คนพิการ การได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐาน การได้รับบริการด้านสาธารณสุข การสามารถแสดงออกทางด้านวัฒนธรรมอย่างอิสระ สามารถได้รับความเพลิดเพลินจากศิลปวัฒนธรรมในกลุ่มของตน เป็นต้น

      ขอบเขตของสิทธิมนุษยชน ครอบคลุมสิทธิ 5 ประเภท ที่ไม่สามารถแยกกันได้ว่าสิทธิใดมาก่อนหรือสำคัญกว่าสิทธิอีกประเภทหนึ่ง ได้แก่

      สิทธิพลเมือง ได้แก่ สิทธิในการได้รับสัญชาติ สิทธิในชีวิต ไม่ถูกทำร้ายหรือทรมานหรือฆ่า สิทธิในกระบวนการยุติธรรม สิทธิในการเคลื่อนย้ายหรือเลือกถิ่นที่อยู่ในประเทศ

     สิทธิทางการเมือง ได้แก่ สิทธิในการเลือกวิถีชีวิตของตนเองทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมกับรัฐ เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ เสรีภาพในการรวมกลุ่ม

    สิทธิทางเศรษฐกิจ ได้แก่ สิทธิในการมีงานทำ ได้เลือกงานอย่างอิสระและได้รับค่าจ้างอย่างเป็นธรรม สิทธิในการเป็นเจ้าของทรัพย์สิน การได้รับมาตรฐานการครองชีพอย่างพอเพียง

     สิทธิทางสังคม ได้แก่ สิทธิในการได้รับการศึกษา สิทธิในการได้รับหลักประกันด้านสุขภาพ แม่และเด็กต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ ได้รับการพัฒนาบุคลิกภาพอย่างเต็มที่ ได้รับความมั่นคงทางสังคม มีเสรีภาพในการเลือกคู่ครองและสร้างครอบครัว

      สิทธิทางวัฒนธรรม ได้แก่ การมีเสรีภาพในการใช้ภาษาหรือสื่อความหมายในภาษาท้องถิ่นตน มีเสรีภาพในการแต่งกายตามวัฒนธรรม การปฏิบัติกิจตามวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่นของตน การปฏิบัติตามความเชื่อทางศาสนา การพักผ่อนหย่อนใจด้านการแสดงศิลปะ วัฒนธรรม ได้โดยไม่มีใครมาบังคับ

    2. สิทธิมนุษยชนในมิติของงานสวัสดิการสังคมและสังคมสงเคราะห์ ตามที่ได้กล่าวถึงสิทธิมนุษยชนในระดับสากล รวมทั้งนิยามความหมายของคำสำคัญที่เกี่ยวข้องมาแล้วข้างต้น ดังนั้นเพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงมาสู่แนวคิดและการปฏิบัติในบริบทของงานสวัสดิการสังคมและสังคมสงเคราะห์ ในส่วนนี้จึงนำแนวคิดและกฎหมายที่เกี่ยวข้องมา เชื่อมโยงเรื่องสิทธิมนุษยชนในมิติของงานด้านสวัสดิการสังคมและสังคมสงเคราะห์ในสังคมไทย

       ที่มาของแนวคิดสิทธิมนุษยชน คือ แนวคิดมนุษยนิยม (humanism) ที่เชื่อในคุณค่าและศักดิ์ศรีของมนุษย์ ซึ่งสอดคล้องกับค่านิยมและหลักการทางวิชาชีพของนักสังคมสงเคราะห์ที่มีความเชื่อพื้นฐานว่า “คนทุกคนที่เกิดมามีคุณค่า มีศักดิ์ศรีและเกียรติภูมิในตัวเอง” โดยมีปรัชญาพื้นฐานของงานสังคมสงเคราะห์ที่ว่า “ช่วยเขาเพื่อให้เขาช่วยตนเองได้” (Help them to help themselves) จากปรัชญาดังกล่าวสะท้อนให้เห็นความเชื่อที่ว่า มนุษย์ทุกคนมีศักยภาพที่จะพึ่งตนเองได้ แต่ในบางช่วงของชีวิตที่ต้องประสบปัญหาบางประการจนไม่อาจแก้ไขได้ด้วยตนเอง นักสังคมสงเคราะห์จึงต้องใช้กระบวนการทางสังคมสงเคราะห์ในการช่วยให้เขาพ้นจากปัญหา ไม่สูญเสียความเป็นมนุษย์ไป การเผชิญปัญหาอาจทำให้บุคคลเกิดความรู้สึกท้อแท้ นักสังคมสงเคราะห์จะเป็นผู้กระตุ้นและสนับสนุนให้เขาเกิดความมั่นใจ มีกำลังใจที่จะแก้ไขปัญหาและเกิดความภาคภูมิใจในตนเอง นั่นคือ ทำให้เขาสามารถพึ่งตนเองได้กลับมาอีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้ทั้งนั้นตั้งอยู่บนความเชื่อพื้นฐานที่การเชื่อมั่นในศักดิ์ศรีและศักยภาพของความเป็นมนุษย์

2.1 ความสัมพันธ์ระหว่างสวัสดิการสังคมกับสังคมสงเคราะห์

 

         

        1. การประกันสังคม (social  insurance) 

 สวัสดิการสังคม 

(social  welfare)                  2. การสังคมสงเคราะห์ (social  assistance)

                                  3.บริการสังคม (social  service) 

    สวัสดิการสังคม เป็นเป้าหมายสูงสุดของสังคม ที่จะนำไปสู่ความเป็นอยู่ที่ดีของคนในสังคม

    สังคมสงเคราะห์ เป็นบริการส่วนหนึ่งของงานสวัสดิการสังคม ที่มุ่งจัดให้กับกลุ่มผู้ด้อยโอกาสทางสังคม

    2.2 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540:ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับงานด้านสวัสดิการสังคมและสังคมสงเคราะห์

    อาจกล่าวได้ว่าแนวคิดเรื่องสิทธิมนุษยชน เป็นแนวคิดที่มีอิทธิพลต่อระบบสวัสดิการสังคมไทยเป็นอย่างมาก ดังเห็นได้จากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 ระบุว่า รัฐมีหน้าที่ในการดูแลและจัดสวัสดิการสังคมให้กับประชาชนในรัฐ โดยกำหนดสิทธิครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายของงานสวัสดิการสังคมอันได้แก่ เด็ก สตรี คนพิการ ผู้ยากไร้ ผู้ป่วย ผู้สูงอายุและผู้ด้อยโอกาสให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและพึ่งตนเองได้ ดังนี้

    การรับรองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

     มาตรา 4 ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิและเสรีภาพของบุคคลย่อมได้รับความคุ้มครอง

     มาตรา 5 คนไทยไม่ว่าเหล่ากำเนิด เพศหรือศาสนาใด ย่อมอยู่ในความคุ้มครองเสมอกัน

     มาตรา 26 การใช้อำนาจโดยองค์กรของรัฐ ต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิและเสรีภาพ

     มาตรา 29 การจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลจะกระทำมิได้

    หลักความเสมอภาคและห้ามการเลือกปฏิบัติ

     มาตรา 30 ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล เพราะเหตุความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ สภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม หรือความคิดเห็นทางการเมืองอันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ จะกระทำมิได้

    สิทธิในการมีงานทำและการเข้าร่วมสหภาพ แรงงาน

     มาตรา 45 บุคคลมีเสรีภาพในการรวมกันเป็นสมาคม สหภาพ สหพันธ์ สหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร องค์การเอกชน หรือหมู่คณะอื่น

     มาตรา 50 บุคคลมีเสรีภาพในการประกอบอาชีพ

     มาตรา 85 รัฐต้องส่งเสริม สนับสนุนและคุ้มครองระบบสหกรณ์ 

     มาตรา 86 รัฐต้องส่งเสริมให้ประชากรวัยทำงานมีงานทำ คุ้มครองแรงงานโดยเฉพาะแรงงานเด็กและหญิง จัดระบบแรงงานสัมพันธ์ การประกันสังคม และค่าตอบแทนแรงงานให้เป็นธรรม

     สิทธิในการได้รับสวัสดิการสังคม

     มาตรา 52 บุคคลมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขที่ได้มาตรฐาน และผู้ยากไร้มีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลจากสถานบริการสาธารณสุขของรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

     มาตรา 82 รัฐต้องจัดและส่งเสริมการสาธารณสุขที่ได้มาตรฐานและมีประสิทธิภาพอย่างทั่วถึง

  มาตรา 43 สิทธิในการได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่า 12 ปี    

   มาตรา 80 การคุ้มครองและพัฒนาเด็กและเยาวชน ส่งเสริมความเสมอภาคของหญิงและชาย เสริมสร้างความเป็นปึกแผ่นของครอบครัว และความเข้มแข็งของชุมชน รัฐต้องสงเคราะห์คนชรา ผู้ยากไร้ ผู้พิการหรือทุพพลภาพและผู้ด้อยโอกาส ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและพึ่งตนเองได้

    มาตรา 53 เด็ก เยาวชน และบุคคลในครอบครัวมีสิทธิได้รับความคุ้มครองจากการใช้ความรุนแรงและการปฏิบัติอันไม่เป็นธรรม เด็กและเยาวชน ที่ไม่มีผู้ดูแล มีสิทธิได้รับการเลี้ยงดูและการศึกษาอบรมจากรัฐ

     มาตรา 54 ผู้ที่มีอายุเกิน 60 ปีบริบูรณ์และไม่มีรายได้เพียงพอแก่การยังชีพ มีสิทธิได้รับความช่วยเหลือจากรัฐ

    มาตรา 55 ผู้พิการหรือทุพพลภาพมีสิทธิได้รับสิ่งอำนวยความสะดวกอันเป็นสาธารณะและความช่วยเหลืออื่นจากรัฐ

     สิทธิชุมชน

    มาตรา 46 ชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมมีสิทธิอนุรักษ์หรือฟื้นฟูจารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปะหรือวัฒนธรรมของท้องถิ่นและของชาติ มีส่วนร่วมในการจัดการ และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

   มาตรา 78 การกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นพึ่งตนเองและตัดสินใจในกิจการท้องถิ่นได้เอง

     สิทธิในกระบวน การยุติธรรม

    มาตรา 31 บุคคลมีสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย การทรมาน ทารุณกรรมหรือการลงโทษด้วยวิธีโหดร้ายหรือไร้มนุษยธรรมจะกระทำมิได้ แต่การลงโทษประหารชีวิตตามที่กฎหมายบัญญัติ ไม่ถือว่าเป็นการลงโทษด้วยวิธีการโหดร้ายหรือไร้มนุษยธรรม การจับ คุมขัง ตรวจค้นตัวบุคคล หรือการกระทำใดอันกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามกฎหมาย

    มาตรา 32 บุคคลจะไม่ต้องรับโทษอาญา เว้นแต่ได้กระทำการอันกฎหมายที่ใช้อยู่ในเวลาที่กระทำนั้นบัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ และโทษที่จะลงแก่บุคคลนั้นห้ามหนักกว่าที่กำหนดไว้ในกฎหมาย

   มาตรา 33 ในคดีอาญา ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด

   มาตรา 75 รัฐต้องดูแลให้มีการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ จัดระบบงานกระบวนการยุติธรรมให้มีประสิทธิภาพและอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชนอย่างรวดเร็วและเท่าเทียมกัน รวมทั้งจัดระบบงานราชการให้มีประสิทธิภาพเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชน

   มาตรา 237 การจับและคุมขัง ต้องมีคำสั่งหรือหมายศาล และต้องส่งตัวไปศาลภายใน 24 ชั่วโมง โดยผู้ถูกจับต้องได้รับการแจ้งข้อกล่าวหาให้ทราบทันที และแจ้งให้ญาติหรือบุคคลที่ผู้ถูกจับไว้ใจได้ทราบว่ามีการจับกุม

    มาตรา 238 การค้นในที่รโหฐานต้องมีคำสั่งหรือหมายศาล ที่รโหฐาน หมายถึง สถานที่ที่เป็นส่วนตัว เช่น บ้าน ห้องพัก เรือแพ ที่ใช้อยู่อาศัย

    มาตรา 239 สิทธิของผู้ต้องหาหรือจำเลยในการได้รับการประกันตัว ผู้ที่ถูกควบคุมตัว คุมขัง หรือจำคุก มีสิทธิพบและปรึกษาทนายความเป็นการเฉพาะตัว และมีสิทธิได้รับการเยี่ยมตามสมควร

    มาตรา 240 สิทธิร้องศาลให้ปล่อยตัวหากถูกคุมขังโดยมิชอบ

    มาตรา 241 ในชั้นสอบสวน ผู้ต้องหามีสิทธิให้ทนายความหรือผู้ที่ตนไว้ใจเข้าฟังการสอบปากคำตนได้

    มาตรา 242 ผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญามีสิทธิขอให้รัฐจัดทนายความให้ ผู้ถูกควบคุมหรือคุมขังไม่อาจหาทนายความได้รัฐต้องจัดหาทนายความให้

    มาตรา 244 พยานในคดีอาญามีสิทธิได้รับความคุ้มครองจากรัฐ

    มาตรา 245 ผู้เสียหายในคดีอาญามีสิทธิได้รับความคุ้มครอง การปฏิบัติที่เหมาะสมและค่าตอบแทนที่จำเป็นและสมควรจากรัฐ

    มาตรา 246 จำเลยในคดีอาญาที่ถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาคดี หากคำพิพากษาถึงที่สุดว่าจำเลยไม่ได้เป็นผู้กระทำผิด มีสิทธิได้รับค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายตามสมควร รวมถึงสิทธิต่างๆที่เสียไปกลับคืน

    มาตรา 247 ผู้ที่ได้รับโทษทางอาญา มีสิทธิขอรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่

    2.3 อนุสัญญาระหว่างประเทศ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับงานสวัสดิการสังคมและสังคมสงเคราะห์ในประเทศไทย

    1) อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ ค.ศ.1979 (Convention on the elimination of all forms of discrimination against women : CEDAW)        ประเทศไทยเป็นประเทศแรกในเอเชีย และเป็นประเทศที่ 5 ในโลกที่ให้สัตยาบัน เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2543 โดยมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2543 สาระสำคัญ อนุสัญญาฉบับนี้ ให้หลักประกันว่าสตรีจะต้องได้รับสิทธิประโยชน์และโอกาสต่างๆจากรัฐ บนพื้นฐานของความเสมอภาคกับบุรุษ

    2) อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ค.ศ.1989 (Convention on the rights of the child)

    3) ปฏิญญาด้วยสิทธิคนพิการไทย

    4) สิทธิของผู้ป่วย

    5) ปฏิญญาผู้สูงอายุไทย

    6) พระราชบัญญัติส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม พ.ศ.2546

    7) พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546

    8) พระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ.2546

    9) พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541

    10) พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 20) พ.ศ.2542

    11) พระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545

    12) พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2537 และ(ฉบับที่ 3) พ.ศ.2542

 ………………………………

บรรณานุกรม

คณะกรรมการส่งเสริมและประสานงานสตรีแห่งชาติ (กสส.) สำนักนายกรัฐมนตรี. 2537. อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ. กรุงเทพฯ:โรงพิมพ์คุรุสภา ลาดพร้าว.

คณะทำงานไทยเพื่อจัดตั้งกลไกสิทธิมนุษยชนอาเซียน. 2547. เครื่องมือคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ตามรัฐธรรมนูญ. กรุงเทพฯ: บริษัทพี.เพรสจำกัด.

มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท (FES) และคณะกรรมการประสานงานองค์กรสิทธิมนุษยชน (กปส.). 2547. สิทธิมนุษยชน:รวบรวมสนธิสัญญาสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่สำคัญ. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ:

ศราวุฒิ ประทุมราช. 2546. สิทธิของเรา. พิมพ์ครั้งที่ 3. นนทบุรี: เอส.บี.พับลิสซิ่ง.

สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ. 2546.เส้นทางสู่สิทธิมนุษยชนศึกษา.พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: บริษัทสร้างสื่อจำกัด.

สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ. 2547. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540:ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชน. กรุงเทพฯ:

หมายเลขบันทึก: 57706เขียนเมื่อ 7 พฤศจิกายน 2006 16:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 19:55 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

เรียนอ.ศิริพร เกื้อกูลนุรักษ์และผู้อ่านทุกท่าน

"อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ ค.ศ.1979 (Convention on the elimination of all forms of discrimination against women : CEDAW)        ประเทศไทยเป็นประเทศแรกในเอเชีย และเป็นประเทศที่ 5 ในโลกที่ให้สัตยาบัน เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2543 "โดยมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2543 สาระสำคัญ อนุสัญญาฉบับนี้ ให้หลักประกันว่าสตรีจะต้องได้รับสิทธิประโยชน์และโอกาสต่างๆจากรัฐ บนพื้นฐานของความเสมอภาคกับบุรุษ

ข้อความใน"" น่าจะไม่ถูกต้องครับ ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีอนุสัญญา cedaw เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2528 แต่การเข้าเป็นภาคีพิธีสารเลือกรับสำหรับ cedaw เป็นไปตามข้อความในเครื่องหมาย"" ครับ ขอให้อ่านในหนังสือของ กปส.และฟรีคริคเนามันหน้า 98

ขอบคุณครับ

สวัสดีค่ะ

* การเข้าใจเรื่องสิทธิและหน้าที่ของมนุษย์ชน...ทำให้สังคมอยู่กันอย่างปกติสุข

นายภูชิต บุศเบ้า 482555

สวัสดีครับอาจารย์

จำได้หรือเปล่า ลูกศิษย์อาจารย์ไงครับ

ได้อ่านบทความของอาจารย์แล้วนะครับ ช่วยให้รู้อะไรเพิ่มเยอะมากในเรื่องสิทธิมนุษย์ชน

สิทธิมนุษย์ชนเป็นพื้นฐานที่สำคัญทำคนเรารับรู้และเข้าใจการช่วยเหลือเกื้อกูลกันภายใต้โลกาภิวัตน์

สวัสดีคับ อาจารย์ศิริพร ผมได้อ่านบทความของท่านอาจารย์ บทความของอาจารย์เขียนได้ดีมากเลยคับ สิ่งที่ผมอยากจะถามอาจารย์ คือ ความสัมพันธ์ของงานสวัสดิการสังคมกับงานสังคมสงเคราะห์ ต่างกันหรือเหมือนกันอย่างไรหรอคับ ช่วยตอบให้ผมหน่อยคับ ขอคุณล่วงหน้าคับ

นู๋อยากทราบว่า ปรัชญาพื้นฐานของสังคมสงเคราะห์ที่ว่าด้วยเรื่องสิทธิมนูษยชน

มีอารัยบ้างคร๊า

ขอบคุนคร๊า

http://gotoknow.org/blog/sto/291054/edit

ลองไปชมนะคะถ้าเห็นด้วยยกมือค่ะ

สวัสดีค่ะ อาจารย์ศิริพร

นรีรัตน์ ค่ะ อาทิตย์ที่ผ่านมาได้ไปสอบนักสังคมสงเคราะห์มาค่ะ

สิ่งที่ถามมาว่าปัจจัยสำคัญที่เกื้อหนุนงานด้านสวัสดิการสังคมและสังคมสงเคราะห์ คิดว่าปัจจัยไหนสำคัญที่สุด

ขอบคุณมากน่ะค่ะ หนูเรียน SW รุ่น 14 ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท