lสมรรถนะ competencies ของผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา


คุรุสภาได้กำหนดมาตรฐานและสมรรถนะของผู้ประกอบวิชาชีพแล้ว

สมรรถนะของผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา 

ความเป็นมา         

แนวความคิดเกี่ยวกับสมรรถนะ (Competency) หรือความสามารถของบุคคลในองค์กร   ได้เริ่มขึ้นในปี ค.ศ. ๑๙๖๐ จากการเสนอบทความทางวิชาการของ David Mc Clelland นักจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด ซึ่งได้กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างคุณลักษณะที่ดี (Excellent Performance) ของบุคคลในองค์กรกับระดับทักษะความรู้ความสามารถ โดยระบุว่าการวัด IQ และการทดสอบบุคลิกภาพเป็นวิธีการที่ไม่เหมาะสมในการทำนายความสามารถ (Competency) แต่บริษัทควรว่าจ้างบุคคลที่มีความสามารถมากกว่าคะแนนทดสอบ (ดนัย  เทียนพุฒ ๒๕๔๖ : ๕๕)          สำหรับประเทศไทยได้มีการนำแนวความคิด Competency มาใช้ในองค์การที่เป็นเครือข่ายบริษัทข้ามชาติชั้นนำก่อนที่จะแพร่หลายเข้าไปสู่บริษัทชั้นนำของประเทศ เช่น เครือปูนซิเมนต์ไทย   ไทยธนาคาร เป็นต้น  เนื่องจากภาคเอกชนที่ได้นำแนวคิด Competency ไปใช้และเกิดผลสำเร็จอย่างเห็นได้ชัดเจน ดังเช่น กรณีของเครือปูนซิเมนต์ไทยมีผลให้เกิดการตื่นตัวในวงราชการ โดยได้มีการนำแนวคิดนี้ไปทดลองใช้ในหน่วยราชการ โดยสำนักงานข้าราชการพลเรือนได้จ้างบริษัท Hey Group เป็นที่ปรึกษาในการนำแนวความคิดนี้มาใช้ในการพัฒนาข้าราชการพลเรือน โดยระยะแรกได้ทดลองนำแนวความคิดการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์โดยยึดหลักสมรรถนะ (Competency Based Human Resource Development) มาใช้ในระบบการสรรหาผู้บริหารระดับสูงในระบบราชการไทยและกำหนดสมรรถนะของข้าราชการที่จะสรรหาในอนาคต 

ความสำคัญ         

ในโลกของการแข่งขันทางธุรกิจ (สุทัศน์ นำพูลสุขสันต์ ๒๕๔๖ : ๒) มีการวิจัยพบว่า การพัฒนาคน คู่แข่งจะสามารถตามทันต้องใช้เวลา ๗ ปี ในขณะที่เทคโนโลยีใช้เวลาเพียง ๑ ปีก็ตามทันเพราะหาซื้อได้  ดังนั้น สมรรถนะ Competency จึงมีความสำคัญต่อการปฏิบัติงานของพนักงานและองค์การ  ซึ่งจะช่วยให้การคัดสรรบุคคลที่มีลักษณะดีทั้งความรู้ ทักษะและความสามารถ ตลอดจนพฤติกรรมที่เหมาะสมกับงาน เพื่อปฏิบัติงานให้สำเร็จตามความต้องการขององค์กรอย่างแท้จริง  ช่วยให้ผู้ปฏิบัติงานทราบถึงระดับความสามารถของตนเองว่าอยู่ในระดับใดและจะต้องพัฒนาในเรื่องใดช่วยให้เกิดการเรียนรู้ด้วยตนเองมากขึ้น  ช่วยสนับสนุนให้ตัวชี้วัดหลักของผลงาน (KPIs) บรรลุเป้าหมาย เพราะ Competency จะเป็นตัวบ่งบอกได้ว่า ถ้าต้องการให้บรรลุเป้าหมายตาม(KPIs)แล้วจะต้องใช้ Competency ตัวไหนบ้าง   ช่วยให้เกิดการหล่อหลอมไปสู่สมรรถนะขององค์กรที่ดีขึ้น          ข้อบังคับคุรุสภาว่าด้วยมาตรฐานวิชาชีพและจรรยาบรรณของวิชาชีพ พ.ศ. ๒๕๔๘ ได้กำหนดมาตรฐานวิชาชีพทางการศึกษา ประกอบด้วย ๑) มาตรฐานความรู้และประสบการณ์ ๒ มาตรฐานการปฏิบัติงาน และ ๓) มาตรฐานการปฏิบัติตน เพื่อให้เกิดคุณภาพในการปฏิบัติงาน สมารถสร้างความเชื่อมั่นศรัทธาให้แก่ผู้รับบริการจากวิชาชีพได้ว่าเป็นบริการที่มีคุณภาพสามารถตอบสังคมได้ว่าการที่กฎหมายให้ความสำคัญกับวิชาชีพทางการศึกษาและกำหนดให้มีวิชาชีพควบคุมนั้นเนื่องจากเป็นวิชาชีพที่มีลักษณะเฉพาะ ผู้ประกอบวิชาชีพต้องมีสมรรถนะด้านความรู้ ทักษะและความเชี่ยวชาญในการประกอบวิชาชีพ (สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา ๒๕๔๘ : ๔) 

ความหมาย            

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ สมรรถนะ หมายถึง ความสามารถ (ใช้แก่เครื่องยนต์) เช่น รถยนต์แบบนี้มีสมรรถนะดีเยี่ยมเหมาะสำหรับเดินทางไกล (พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒,  ๒๕๔๖ : ๑๑๒๘)         

David Mc Clelland (๑๙๙๓  อ้างในสุกัญญา รัศมีธรรมโชติ) สมรรถนะ หมายถึง บุคลิกลักษณะที่ซ่อนอยู่ภายในปัจเจกบุคคลซึ่งสามารถผลักดันให้ปัจเจกบุคคลนั้นสร้างผลการปฏิบัติงานที่ดีหรือตามเกณฑ์ที่กำหนดในงานที่ตนรับผิดชอบ

สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (๒๕๔๖ : ๕) สมรรถนะ หมายถึง คุณลักษณะเชิงพฤติกรรมที่เป็นผลมาจากความรู้ ทักษะ ความสามารถ และคุณลักษณะอื่นๆที่ทำให้บุคคลสามารถสร้างผลงานได้โดดเด่นกว่าเพื่อนร่วมงานอื่นๆในองค์กร          

กล่าวโดยสรุป สมรรถนะ หมายถึง คุณลักษณะความสามารถของบุคคลที่แสดงออกมา   ซึ่งสามารถวัดและสังเกตเห็นได้ว่าเป็นผู้มีความรู้ ความสามารถ ทักษะ และลักษณะอื่นๆที่โดดเด่นกว่าบุคคลอื่นๆในองค์กร 

พื้นฐานแนวคิดของคำ          

แนวคิดเรื่องสมรรถนะนี้มีพื้นฐานมาจากการมุ่งเสริมสร้างความสามารถให้ทรัพยากรบุคคล โดยมีความเชื่อว่าเมื่อพัฒนาคนให้มีความสามารถแล้ว คนจะใช้ความสามารถที่มีไปผลักดันให้องค์กรบรรลุเป้าหมาย ดังนั้นการนำเรื่องสมรรถนะมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดจึงควรมุ่งพัฒนาทรัพยากรบุคคลขององค์กรเป็นสำคัญ ต้องมีการพิจารณาว่าบุคคลในองค์กรมีความสามารถอย่างไร จึงจะทำให้องค์กรมีคู่แข่งและบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้         

องค์ประกอบ/ประเภทของคำ           

คำว่าสมรรถนะ หรือความสามารถ เป็นคำนาม         

ณรงค์วิทย์  แสงทอง (๒๕๔๖: ๒๕๙) ได้แบ่งประเภทของสมรรถนะ Competencies ตามแหล่งที่มาออกเป็น ๓ ประเภท คือ

๑.     Personal Competencies  เป็นความสามารถที่มีเฉพาะตัวของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลเท่านั้น เช่น ความสามารถในด้านการวาดภาพของศิลปิน การแสดงกายกรรมของนักกีฬาบางคน นักประดิษฐ์คิดค้นสิ่งต่างๆ เหล่านี้ถือเป็นความสามารถเฉพาะตัวที่ยากต่อการเรียนรู้หรือลอกเลียนแบบได้

๒.     Job Competencies  เป็นความสามารถเฉพาะบุคคลที่ตำแหน่งหรือบทบาทนั้นๆต้องการเพื่อทำให้งานบรรลุผลสำเร็จตามที่กำหนดไว้ เช่น ความสามารถในการเป็นผู้นำทีมงานของผู้บริหารตำแหน่งหัวหน้ากลุ่มงาน ความสามารถในการวิเคราะห์วิจัยในตำแหน่งงานทางด้านวิชาการเป็นความสามารถที่สามารถฝึกฝนและพัฒนาได้

๓.     Organization Competencies  เป็นความสามารถที่เป็นลักษณะเฉพาะขององค์การที่มีส่วนทำให้องค์การนั้นไปสู่ความสำเร็จและเป็นผู้นำในด้านนั้นๆได้ เช่น โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ เป็นสถานศึกษามีความเชี่ยวชาญด้านการสอนวิทยาศาสตร์ เป็นต้น 

สำหรับศาลปกครองได้แบ่งสมรรถนะออกเป็น ๓ ประเภท คือ

๑.      สมรรถนะของสำนักงาน (Organization Competencies)  เป็นความสามารถที่สำนักงานศาลปกครองจะต้องเป็นต้องมีและต้องทำ กล่าวคือ เป็นองค์กรมืออาชีพในการสนับสนุนการพิจารณาคดีปกครองอย่างมีประสิทธิภาพ มีความเชี่ยวชาญในหลักกฎหมายปกครอง   มีระบบการบริหารงานที่มีประสิทธิภาพ สร้างเครือข่ายความร่วมมือ เข้าถึงประชาชนและหน่วยงานต่างๆและเป็นองค์กรนำในการส่งเสริมการบริหารจัดการภาครัฐที่ดีในสังคมไทย

๒.      สมรรถนะหลักของข้าราชการ (Core Competencies)  เป็นสมรรถนะของข้าราชการทุกคนที่จำเป็นต้องมีต้องเป็นและต้องทำเพื่อให้สมรรถนะของสำนักงานบรรลุผลไปสู่ความสำเร็จตามวิสัยทัศน์ที่ตั้งไว้ เช่น เจ้าหน้าที่ต้องมีความรู้ความเข้าใจหลักกฎหมายปกครอง ต้องใฝ่รู้พัฒนาตนเอง เพื่อทำให้เกิดความเชี่ยวชาญในหลักกฎหมายปกครอง ซึ่งเป็นสมรรถนะขององค์การ เป็นต้น

๓.      สมรรถนะในงาน (Functional Competencies)  เป็นสมรรถนะของข้าราชการที่ต้องมี   ต้องเป็นและต้องทำในแต่ละกลุ่มงานหรือตำแหน่งงาน โดยในบางกลุ่มงาน หรือบางตำแหน่งอาจแบ่งละเอียดออกเป็นสมรรถนะร่วมของกลุ่มงานและสมรรถนะเฉพาะของกลุ่มงานงานในแต่ละด้านลงไปอีกตามความจำเป็นของแต่ละลักษณะงาน เช่น พนักงานคดีที่ทำงานประจำองค์คณะกับพนักงานคดีที่ทำงานวิจัยต้องมีสมรรถนะร่วมที่เหมือนกัน คือ ต้องมีความสามารถเกี่ยวกับคดีปกครองเหมือนกันและมีความสามารถเฉพาะที่แตกต่างกันตามลักษณะงานที่แตกต่างกัน พนักงานคดีประจำองค์คณะต้องเน้นทักษะการจัดทำสำนวนเป็นพิเศษ ส่วนพนักงานคดีที่ทำงานวิจัยก็จะเน้นทักษะเทคนิคการวิจัยและระเบียบวิธีวิจัย เป็นต้น 

การประยุกต์ใช้         

คณะกรรมการคุรุสภา ในคราวประชุมครั้งที่ ๕/๒๕๔๘ วันที่ ๒๑ มีนาคม ๒๕๔๘ และการประชุมครั้งที่ ๖/๒๕๔๘ วันที่ ๑๘ เมษายน ๒๕๔๘ ได้อนุมัติให้ออกข้อบังคับคุรุสภาว่าด้วยมาตรฐานวิชาชีพและจรรยาบรรณของวิชาชีพ ประกอบด้วยสาระความรู้และสมรรถนะของผู้ประกอบวิชาชีพครู ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารการศึกษา และบุคลากรทางการศึกษาอื่น (ศึกษานิเทศก์) ตามมาตรฐานความรู้และประสบการณ์วิชาชีพ และได้ลงประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๒ ตอนพิเศษ ๗๖ ง       ลงวันที่ ๕ กันยายน ๒๔๔๘  (สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา ๒๕๔๘ : ๕๘)          เนื่องจากผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา ประกอบด้วย ครู ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารการศึกษา และบุคลากรทางการศึกษาอื่น (ศึกษานิเทศก์)  มีมาตรฐานความรู้แตกต่างกัน   ฉะนั้นจึงมีสมรรถนะที่แตกต่างกัน ดังนี้ (สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา ๒๕๔๘ : ๖-๔๑)

๑.     มาตรฐานวิชาชีพครู  

มีวุฒิไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีทางการศึกษา หรือเทียบเท่า หรือคุณวุฒิอื่นที่คุรุสภารับรอง โดยมีความรู้ดังต่อไปนี้ ๑) ภาษาและเทคโนโลยีสำหรับครู  ๒) การพัฒนาหลักสูตร  ๓) การจัดการเรียนรู้  ๔) จิตวิทยาสำหรับครู  ๕) การวัดและประเมินผลการศึกษา  ๖) การบริหารจัดการในห้องเรียน  ๗) การวิจัยทางการศึกษา  ๘) นวัตกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศทางการศึกษา  ๙) ความเป็นครู

๒.     มาตรฐานวิชาชีพผู้บริหารสถานศึกษา 

มีคุณวุฒิไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีทางการบริหารการศึกษาหรือเทียบเท่าหรือคุณวุฒิอื่นที่คุรุสภารับรอง โดยมีความรู้ดังต่อไปนี้ ๑) หลักและกระบวนการบริหารการศึกษา  ๒) นโยบายและการวางแผนการศึกษา  ๓) การบริหารด้านวิชาการ  ๔) การบริหารด้านธุรการ การเงิน พัสดุและอาคารสถานที่  ๕) การบริหารงานบุคคล  ๖) การบริหารกิจการนักเรียน  ๗) การประกันคุณภาพการศึกษา๘) การบริหารจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศ  ๙) การบริหารการประชาสัมพันธ์และความสัมพันธ์ชุมชน  ๑๐) คุณธรรมและจริยธรรมสำหรับผู้บริหารสถานศึกษา

๓.     มาตรฐานวิชาชีพผู้บริหารการศึกษา 

มีคุณวุฒิไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีทางการบริหารการศึกษาหรือเทียบเท่าหรือคุณวุฒิอื่นที่คุรุสภารับรอง โดยมีความรู้ดังต่อไปนี้ ๑) หลักและกระบวนการบริหารการศึกษา  ๒) นโยบายและการวางแผนการศึกษา  ๓) การบริหารจัดการ  ๔) การบริหารทรัพยากร  ๕) การประกันคุณภาพการศึกษา  ๖) การนิเทศการศึกษา  ๗) การพัฒนาหลักสูตร ๘) การบริหารจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศ  ๙) การวิจัยทางการศึกษา  ๑๐) คุณธรรมและจริยธรรมสำหรับผู้บริหารการศึกษา

๔.    มาตรฐานวิชาชีพบุคลากรทางการศึกษาอื่น (ศึกษานิเทศก์)

มีคุณวุฒิไม่ต่ำกว่าปริญญาโททางการบริหารการศึกษาหรือเทียบเท่าหรือคุณวุฒิอื่นที่คุรุสภารับรอง โดยมีความรู้ดังต่อไปนี้ ๑) การนิเทศการศึกษา  ๒) นโยบายและการวางแผนการศึกษา  ๓) การพัฒนาหลักสูตรและการสอน  ๔) การประกันคุณภาพการศึกษา  ๕) การบริหารจัดการการศึกษา ๖) การวิจัยทางการศึกษา  ๗) กลวิธีถ่ายทอดความรู้ แนวคิด ทฤษฎีและผลงานทางวิชาการ ๘) การบริหารจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศ  ๙) การบริหารการประชาสัมพันธ์และความสัมพันธ์ชุมชน  ๑๐) คุณธรรมและจริยธรรมสำหรับศึกษานิเทศก์  

ในที่นี้ขอยกตัวอย่างสมรรถนะของผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาที่สอดคล้องกันได้แก่ 

สมรรถนะด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศทางการศึกษา  ตัวอย่างเช่น 

สมรรถนะของครู

๑)     สามารถเลือกใช้ ออกแบบ สร้างและปรับปรุงนวัตกรรมเพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ที่ดี

๒)    สามารถพัฒนาเทคโนโลยีและสารสนเทศเพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ที่ดี

๓)    สามารถแสวงหาแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลาย เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้เรียน           

สมรรถนะของผู้บริหารสถานศึกษา

๑)     สามารถใช้และบริหารเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษาและการปฏิบัติงานได้อย่างเหมาะสม

๒)    สามารถประเมินการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อปรับปรุงการบริหารจัดการ

๓)    สามารถส่งเสริมสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา         

สมรรถนะของผู้บริหารการศึกษา

๑) สามารถใช้และบริหารเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษาและการปฏิบัติงานได้อย่างเหมาะสม

๒) สามารถประเมินการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อปรับปรุงการบริหารจัดการ

๓) สามารถส่งเสริมสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา   

สมรรถนะของ ศึกษานิเทศก์

๑) สามารถใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการพัฒนาตนและการพัฒนางานได้อย่างเหมาะสม

๒) สามารถให้คำปรึกษา แนะนำ การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อพัฒนาการจัดการศึกษาแก่สถานศึกษา 

บรรณานุกรม/ เอกสารอ้างอิง

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒. กรุงเทพฯ : นานมีบุ๊คส์พับลิเคชั่นส์, ๒๕๔๖

สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา.มาตรฐานวิชาชีพทางการศึกษา. กรุงเทพฯ : สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา, ๒๕๔๘.

htt://www.frda.or.th/competency 2.html  

หมายเลขบันทึก: 57683เขียนเมื่อ 7 พฤศจิกายน 2006 15:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 01:43 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

เรียน อ.ปฐมวงษ์

ขอเรียนถามว่าตามที่คุรุสภากำหนดว่าผู้บริหารสถานศึกษาจะต้องมีความรู้ทั้ง 10ข้อ คุรุสภากำหนดไว้ไหมคะว่าสถานศึกษาไหนคุรุสภารับรองบ้าง ถ้าไม่มีจะอบรมได้ที่ไหนคะ

ขอบพระคุณมากคะ

ขอความคิดเห็นจากอาจารย์เกี่ยวกับสมรรถนะทางวิชาการสำหรับครูที่สอนในระดับประถมอาจารย์คิดว่าที่จำเป็นสำหรับครูหรือที่ครูควรจะมี มีอะไรบ้างคะ

ขอบพระคุณในความกรุษาค่ะ

เรียน ท่านอาจารย์ ที่นับถือ

เรื่องสมรรถนะของครูและผู้บริหารสถานศึกษาสามารถดูเพิ่มเติมจากเว็บไซต์คุรุสภา www.ksp.or.th ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท