Story Telling : ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้


Story Telling

   เรื่อง การออมเงิน

รายวิชาการศึกษาเพื่อพัฒนาสังคมแห่งการเรียนรู้ (102611) อาจารย์ผู้สอน รศ.ดร.อดิศร เนาวนนท์

**************************************************************************

1. ประเด็นเรื่องเล่า ความเชื่อมั่นในตัวครูของนักเรียน

2. สิ่งที่ผู้เล่าภูมิใจ สามารถปรับความคิดให้นักเรียนฝากเงินออมทรัพย์ในชั้นเรียนทุกคน จากเดิมที่ฝากเงินน้อยมาก

3. วิธีการสู่ความสำเร็จในครั้งนี้

เรื่องที่อยากจะแชร์ประสบการณ์ในครั้งนี้อาจจะเป็นเพียงเรื่องเล็กๆน้อยๆที่เกิดขึ้นในมุมหนึ่งของวงการการศึกษา เชื่อว่าทุกโรงเรียนน่าจะมีกิจกรรมการฝากเงินออมทรัพย์ในชั้นเรียนโดยวัตถุประสงค์ก็เพื่อให้นักเรียนได้รู้จักการประหยัดอดออม ฝึกวินัยในการใช้จ่ายเงิน ฝึกการวางแผนการใช้จ่ายของตนเองและให้นักเรียนมีเงินเก็บไว้ใช้ในยามจำเป็น โดยส่วนใหญ่เกือบจะร้อยเปอร์เซ็นต์ ที่นักเรียนจะฝากออมทรัพย์ ซึ่งต่างจากชั้นเรียนของดิฉัน

ปีการศึกษานี้ดิฉันได้รับมอบหมายให้เป็นครูประจำชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ดูแลการทำกิจกรรมต่างๆในชั้น งานธุรการชั้นเรียนและอื่นๆ รวมทั้งการฝากเงินออมทรัพย์ของนักเรียนด้วย หลังจากที่เปิดเทอมเพียงไม่กี่วันเราก็เริ่มกิจกรรมการฝากเงิน นักเรียนในชั้นฝากเงินกันน้อยมาก บ้างก็บอกว่าทานขนมหมดแล้ว บ้างก็ว่าจะเก็บเอาไปหยอดกระปุกออมสินที่บ้าน จนผ่านไปเกือบสัปดาห์ดิฉันจึงเปรยขึ้นมากว่า “ห้องเราฝากเงินกันน้อยจัง” ซึ่งสิ่งที่ได้รับกลับมาทำให้ดิฉันต้องแปลกใจกับคำถามที่ว่า “ครูครับ ถ้าพวกผมฝากเงิน แล้วผมจะได้เงินของพวกผมคืนหรือเปล่าครับ” ดิฉันคิดว่าคำถามนี้ไม่น่าจะเกิดขึ้นเพราะโดยปกติแล้วเมื่อสิ้นปีการศึกษานักเรียนก็จะได้รับเงินฝากคืนอยู่แล้ว ดิฉันจึงได้ซักถามถึงสิ่งที่นักเรียนตั้งคำถาม และแล้วก็พบว่าเมื่อปีที่แล้วนักเรียนต่างก็พากันฝากเงิน แต่พวกเขาไม่ได้รับเงินฝากคืน จนถึงวันที่เขาเรียนในชั้นที่สูงกว่าคือชั้นป.6 ก็ยังไม่ได้รับเงินคืน สิ่งนี้เลยทำให้เขาไม่กล้าฝากเงินออมทรัพย์กับครูในเทอมนี้ ดิฉันได้ถามถึงสาเหตุที่เกิดขึ้น พบว่า คุณครูประจำชั้นคนเก่าทำสมุดบัญชีเงินฝากที่บันทึกการฝากเงินของนักเรียนหายไป ทำให้ไม่ทราบจำนวนเงินฝากของนักเรียนแต่ละคน จึงไม่สามารถคืนเงินได้ถูกต้อง อีกทั้งนักเรียนไม่เคยทราบเลยว่าตัวเขาเองมีเงินฝากอยู่เท่าไร ครูจึงยังไม่คืนเงินฝากให้

เมื่อทราบสาเหตุของเรื่อง ดิฉันจึงได้ทำความเข้าใจกับนักเรียนใหม่ว่าสิ่งเคยเกิดขึ้นกับนักเรียนมาแล้วนั้นจะไม่เกิดขึ้นอีกในชั้นเรียนนี้ อธิบายถึงวัตถุประสงค์ของการฝากเงิน ชี้แจงสิ่งที่เขาจะได้รับจากการออมทรัพย์ของตนเอง ให้เขาบอกถึงประโยชน์และข้อดีของการออมทรัพย์ ซึ่งเขาก็เข้าใจและมีความเชื่อมั่นมากขึ้น ดิฉันนำบัญชีเงินฝากที่ได้ทำขึ้นมาให้นักเรียนดู ชี้แจงว่านักเรียนสามารถมาตรวจสอบยอดเงินฝากของตนเองได้ทุกเมื่อ และครูจะแจ้งยอดการฝากเงินของแต่ละคนในทุกๆเดือน เพื่อให้เขาทราบถึงจำนวนเงินที่เขาออมไว้ได้

หลังจากที่ทำความเข้าใจร่วมกันและสร้างความเชื่อมั่นและความไว้วางใจที่มีต่อครูให้กับตัวนักเรียนได้ เขาก็ฝากเงินเพิ่มขึ้น ทุกคนในชั้นมีส่วนร่วมกับกิจกรรมนี้ร้อยเปอร์เซ็นต์ และดิฉันก็ได้แจ้งยอดเงินฝากแก่นักเรียนในทุกๆเดือนตามที่ได้บอกไว้

เหตุการณ์นี้ดิฉันคิดว่าเราผู้ซึ่งเป็นครูไม่ควรจะมองข้ามไป แม้ว่าจะเป็นเพียงเรื่องเล็กๆน้อยๆแต่ถ้าครูไม่สนใจ ไม่เอาใจใส่ วินัยบางเรื่องของเด็กก็จะขาดหายไป ความเชื่อมั่นที่ว่าครูคือผู้ที่เขาสามารถไว้วางใจ เชื่อใจได้นั้นก็จะหายไปด้วย และเรื่องนี้ก็คือเรื่องที่ดิฉันอยากที่จะบอกเล่าเพื่อร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในครั้งนี้

4. เทคนิค/กลยุทธ์ที่ใช้

สาเหตุที่นักเรียนไม่ฝากเงินเนื่องจากเขาขาดความมั่น ไม่เชื่อถือครู ดิฉันจึงสร้างความเชื่อมั่นให้

เขาก่อน เมื่อมีความเชื่อมั่นในตัวเราเขาก็ไว้วางใจในการฝากเงิน

5. ความเชื่อ/แนวคิดของผู้เล่า

เรื่องบางเรื่องเรามองว่าเป็นสิ่งเล็กๆน้อยๆ แต่สำหรับเด็กแล้วมันเป็นสิ่งที่ปลูกฝังลักษณะนิสัย

ให้เขา ในชั้นเรียนมีครูกับนักเรียนดังนั้นสิ่งที่เขาจะเอาไปเป็นแบบอย่างก็คือเพื่อนในชั้นกับตัวครู

ห้องเรียนที่มีคุณภาพ ครูที่มีคุณธรรมจะช่วยให้เขาได้เติบโตอย่างสมบูรณ์

หมายเลขบันทึก: 576501เขียนเมื่อ 21 กันยายน 2014 07:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 กันยายน 2014 07:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

นี่คือความเป็นครู คอยมอบสิ่งดี ๆ ให้กับนักเรียน  เป็นเรื่องที่ดีมาก

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท