Kapitalแตกต่างอย่างไรกับ Capitalจาก Marx สู่ Piketty


บทความจากหนังสือพิมพ์แนวหน้า ฉบับวันเสาร์ที่ 12 กรกฏาคม 2557 ติดตามอ่านได้ที่ลิงก์ข้างล่างนี้ครับ

http://www.naewna.com/columnist/1104

Kapitalแตกต่างอย่างไรกับ Capitalจาก Marx สู่ Piketty

ใครๆรู้จัก Karl Marx นักปราชญ์และนักคิดชาวเยอรมันซึ่งเขียนหนังสือระดับอิทธิพลชื่อ Kapitalซึ่งแปลว่า ทุนภาษาเยอรมัน ในปีค.ศ. 1867

Marx เน้นว่า รายได้ที่เกิดขึ้นจากทุนนั้นมีมากกว่ารายได้ที่เกิดจากแรงงาน ซึ่งเป็นการเอาเปรียบผู้ใช้แรงงาน ดังนั้นแรงงานเสียเปรียบ จึงเป็นที่มาของระบบคอมมิวนิสต์ ทำให้รัฐเข้ามาเป็นเจ้าของทุนและกระจายรายได้อย่างเสมอภาคให้คนในสังคมอย่างเท่าเทียมกัน

แนวคิดดังกล่าวมีอิทธิพลต่อระบบการเมืองในหลายประเทศ เช่น รัสเซีย จีน และคิวบา ผ่านไประยะหนึ่ง แรงงานก็พัฒนาขึ้นไม่ว่าจะเป็นฝีมือ ทักษะ หรือความรู้ต่างๆ รายได้แรงงานสูงขึ้น ระบบคอมมิวนิสต์ก็ล้มสลายในที่สุด เพราะไม่ได้สร้างแรงจูงใจให้มีการลงทุนเพื่อสร้างความเจริญ เพราะขาดแรงจูงใจทำเท่าไหร่ก็กระจายเท่ากัน

ถ้าทุนมนุษย์มีการศึกษามากขึ้น มีปัญญา คิดเป็นวิเคราะห์เป็น จะทำให้รายได้ของแรงงานสูงขึ้น ทำให้ระบบทุนนิยมอยู่ได้ เพราะการกระจายเป็นธรรมมากขึ้น ทำให้เกิดคนชั้นกลางขึ้น ตัวอย่างในยุโรป อเมริกา หรือในประเทศเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี และไต้หวันเป็นต้น

Thomas Pikettyนักเศรษฐศาสตร์ ชาวฝรั่งเศส อายุน้อยไม่ถึง 45 ปี คล้ายMarx กลับชาติมาเกิด เขียนหนังสือเล่มใหม่ชื่อเดียวกันแต่สะกด Capital เป็นภาษาอังกฤษ

เขาพยายามจะศึกษาบทบาทของทุนในช่วง 200 ปีที่ผ่านมา และได้ใช้ข้อมูลระยะยาว วิเคราะห์ผลตอบแทนของทุนและแรงงานในยุโรป อเมริกาอย่างละเอียด

ถึงแม้จะยอมรับว่าแรงงานปรับตัวจากการใช้ฝีมือมาเป็นแรงงานมีความรู้ (Knowledge worker) ทำให้เกิดคนชั้นกลางเพิ่มขึ้น แต่ผลกระทบต่อรายได้ของทุนในช่วง 200 ปีก็ยังสูงกว่าแรงงาน เขาวิเคราะห์ว่ารายได้จากทุนสูงกว่าอัตราการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจมหภาค

Pikettyได้วิเคราะห์ว่าอนาคตความเหลื่อมล้ำระหว่างเจ้าของทุนกับเจ้าของแรงงานจะสูงขึ้น และช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนในสังคมโลกก็จะสูงขึ้นอาจจะไปสู่การขัดแย้งทางการเมืองรอบใหม่ระหว่างเจ้าของทุนกับเจ้าของแรงงาน คนรวยก็รวยมากๆ คนจนก็มากขึ้นและคนชั้นกลางหายไป โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา ในยุคใหม่เป็นทุนข้ามชาติทุนที่ใช้การทำงานของตลาดหุ้น เมื่อธุรกิจขยายไปในต่างประเทศมากขึ้น มีการเก็งกำไรค่าเงินมากกว่าภาคการผลิตที่แท้จริง

Piketty จึงแนะนำว่า

- ระบบภาษีจะต้องมีความเป็นธรรมมากขึ้น

- ควรจะเก็บภาษีคนรวยมากขึ้นเพราะจะได้กระจายรายได้ให้แก่ชนชั้นกลางและชนชั้นล่าง

- พัฒนาคนชั้นกลางโดยเฉพาะสร้างจิตวิญญาณผู้ประกอบการมากขึ้น

- และอาจจะหมายถึงไม่ให้มีการถ่ายเททรัพย์สิน จากรุ่นพ่อสู่รุ่นลูก โดยรุ่นลูกไม่มีศักยภาพในการพัฒนาตัวเอง แต่โชคดีที่เกิดมาในครอบครัวที่ร่ำรวย ตัวเขาก็เลยร่ำรวยโดยไม่ได้ลงทุนอะไร ซึ่งไม่ยุติธรรมต่อคนที่เกิดในครอบครัวที่พ่อแม่ไม่ได้สะสมทุนไว้ ทำให้คนส่วนใหญ่ขาดขวัญกำลังใจ ไม่เกิดคนชั้นกลางรุ่นใหม่ๆขึ้น เช่นสหรัฐอเมริกา เป็นต้น

ซึ่งสิ่งนี้น่าจะสำคัญต่อผมระยะยาวว่า

ผมจะพัฒนาทุนมนุษย์ไปเพื่ออะไร ถ้าเจ้าของทุนถ่ายเทให้รุ่นลูกต่อไปโดยขาดเรื่องศักยภาพของทุนมนุษย์ เช่น สังคมการเรียนรู้ หรือการพัฒนาศักยภาพจากปัญญาของทุนมนุษย์ หรือการพัฒนาจากการศึกษาไปสู่มูลค่าเพิ่ม เช่นทฤษฎี3V ของผม

แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ ความร่ำรวยของทุนในระยะหลัง ไม่ได้สะสมจากเงินเท่านั้น แต่เป็นการใช้ความคิดสร้างสรรค์สู่นวัตกรรม ในที่สุดก็ไปสู่การสะสมทุนการเงินอย่างช่วงหลัง

ถ้าเจ้าของทุนเหล่านั้นมีจิตวิญญาณที่จะแบ่งปันให้แก่สังคม เช่น Bill Gates หรือ Warren Buffett ก็จะช่วยได้มาก เพราะทั้งสองไม่เก็บเงินไว้ให้ลูกหลานมหาศาล เขาบริจาคให้องค์กรการกุศลช่วยสังคมได้มาก แต่มีเจ้าของทุนมากมายโดยเฉพาะในประเทศไทยที่ยังเก็บสะสมไว้เป็นมรดกให้แก่ลูกหลาน จะทำให้ลูกหลานมีทรัพย์สินโดยไม่ต้องหาเงินด้วยตัวเอง ซึ่งจะเป็นที่มาของความเหลื่อมล้ำที่ไม่เป็นธรรมอย่างยิ่ง

ดังนั้นการใช้ระบบภาษีจึงจำเป็นที่จะต้องให้เกิดการกระจายรายได้อย่างเป็นธรรม เงินที่ได้มาจากการเก็งกำไร อัตราแลกเปลี่ยนในระดับโลกจึงมีภาษีเกิดขึ้น

ดังนั้นแนวคิดจาก Marx ยังมีความสำคัญ โดยการวิจัยของคุณ Pikettyซึ่งถูกเรียกว่า Marx ในยุคศตวรรษที่ 21

คสช.น่าจะนำหนังสือเล่มนี้มาวิเคราะห์ดูเพื่อกำหนดนโยบายการลดช่องว่างการกระจายรายได้ให้เหมาะสมในประเทศไทย เพราะคนในประเทศไทยมีความโลภและวิ่งไปสู่การเมืองแบบทุนนิยมสามานย์ซึ่งสร้างปัญหาให้แก่ประเทศปัจจุบัน

ขอขอบคุณท่านคณบดี รศ.นพ.สุธรรม ปิ่นเจริญ และคณะที่ให้เกียรติเชิญผมจัดโครงการพัฒนาบุคลากรเพื่ออนาคตของคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในช่วง 3 วันที่ผ่านมานั้นผมและทคณะทำงานภูมิใจที่ได้สร้างความสนใจในการ Learn Share และ Care ที่คณะแพทย์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

Karl Marx นักปราชญ์และนักคิดชาวเยอรมันผู้เขียนหนังสือ "Das Kapital" ในปีค.ศ. 1867

Thomas Pikettyชาวฝรั่งเศสผู้เขียนหนังสือเรื่อง “Capital in the Twenty-First Century”

ศ.ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์ ได้รับเกียรติจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ขอบคุณท่านคณบดี รศ.นพ.สุธรรม ปิ่นเจริญ และคณะ ในการให้จัดโครงการพัฒนาบุคลากรเพื่ออนาคตของคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

หมายเลขบันทึก: 576194เขียนเมื่อ 14 กันยายน 2014 11:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 กันยายน 2014 11:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท