ลุงเหมย
ข้าราชการครูบำนาญ นายชุมพล บุญเหมย

การมีชีวิตที่เป็นสุข เมื่อมีอายุเกิน ๖๐ ปี


วันนี้ได้พบกับเอกสารที่เพื่อนข้าราชการบำนาญมอบให้ลุงเหมยเมื่อตอนที่เกษียณอายุราชการ ซึ่งเขียนโดย ท่านอาจารย์ มงคล  กริชติทายาวุธ ซึ่งเป็นเอกสารที่อ่านแล้วเกิดข้อคิดสำหรับเราที่มีอายุ ๖๐ ปี หรือชีวิตในวัยเกษียณ ขอน้อมกราบท่านได้อ่าน พิจารณา ใตร่ตรอง เพื่อค้นหาความจริงได้ ณ บัดนี้ครับ......


การมีชีวิตที่เป็นสุข เมื่อมีอายุเกิน 60 ปี

          เมื่อไรก็ตามที่เรามีอายุเกิน 60 ปี เมื่อนั้นเราควรทราบว่า เรามีกำไรชีวิตแล้ว เพราะมีคนจำนวนมาก มีอายุไม่ถึง 60 ปี ก็ด่วนลาจากโลกนี้ไปแล้ว แต่การมีอายุยืนนั้น หากอยู่อย่างเป็นทุกข์ ก็ไม่ควรอยู่ เราควรอยู่อย่างเป็นสุขผู้เรียบเรียงในฐานะที่ทำงานเกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุมานาน เคยทำหน้าที่เป็นเลขาธิการชมรมกรุงไทยอาวุโสมาประมาณ 14 ปี และ หลังสุดก็ทำหน้าที่เป็นประธานชมรมกรุงไทยอาวุโส ซึ่งเป็นชมรมของผู้สูงอายุที่มีอายุ 55 ปีขึ้นไป และ ผู้ที่เกษียณอายุไปแล้ว แม้ปัจจุบันจะเป็นเพียงอดีตประธานแล้วก็ตาม แต่ ก็อยากจะให้คำแนะนำแก่ท่านผู้ที่เกษียณอายุไปแล้ว หรือ มีอายุเกิน 60 ปีไปแล้ว ในการมีชีวิตที่มีความสุข แต่เมื่อไรที่มีความทุกข์ เราต้องรู้จักการอยู่กับทุกข์ เพื่อให้รู้ทุกข์ ศึกษาทุกข์ พิจารณาทุกข์ และ ทำความเข้าใจในทุกข์ที่มีอยู่ และ หาทางขจัดทุกข์ไปให้เร็วที่สุด ท้ายที่สุด หากนำไปสู่การละทุกข์ได้ ก็ย่อมเป็นสิ่งที่น่าปรารถนาที่สุด  ในฐานะที่เป็นชาวพุทธที่ดีผู้สูงอายุแล้วยังมีความสุขดีอยู่ ก็ถือว่า เป็นผู้มีบุญมาก แต่ผู้สูงอายุบางคน มีความทุกข์อย่างน่าสลดสังเวช แม้สังขารมีความเสื่อมลง แต่จิตใจก็ควรจะเจริญขึ้น เพราะล่วงกาลผ่านวัยต่างๆมามาก สมองของคนก็คล้ายคอมพิวเตอร์ สุดแต่โปรแกรมอย่างไรไว้ ก็เป็นไปตามนั้น สภาพอย่างเดียวกัน คนที่มองในแง่ดี ก็เห็นความดีงาม และมีความสุขชื่นชมยินดี คนที่มองเรื่องต่างๆในแง่ร้าย ก็เห็นทุกอย่างเลวทรามไปหมด และเต็มไปด้วยความทุกข์เหมือนตกนรกทั้งเป็นต้องทราบว่า คนแก่อารมณ์ร้ายไม่มีใครอยากเข้าใกล้ ถ้าเป็นคนแก่ที่ขี้บ่น เอาแต่บ่นว่าๆ คนอื่นๆ คนนั้น คนนี้ ก็ทำไม่ถูกใจไปเสียทั้งนั้น ใครทำอะไรให้ ก็ไม่ถูกใจ แถมสงสัยว่า เขาคิดไม่สุจริตต่อตน คนแก่แบบนี้ลูกหลานคนรอบข้าง ย่อมต้องพลอยเดือดร้อนไปหมด เราต้องทราบว่า เมื่อมีวัยสูงอายุ ศูนย์ในสมองที่เคยควบคุมพฤติกรรมต่างๆ ก็ย่อมเสื่อมไป ทำให้มีพฤติกรรมทางลบ ที่นอนเนื่องฝังลึกอยู่ ย่อมหลุดออกมาทำร้ายตัวเอง ทำร้ายคนอื่น อย่างไม่มีใครจะช่วยได้ และช่วยตัวเองก็ไม่ได้ เสมือนตกอยู่ในบ่วงกรรมที่ไม่มีทางหลุดได้ฉะนั้น จึงควรที่จะฝึกตัวเองเสียแต่เนิ่นๆ ให้มองทุกอย่างในแง่ดี ชื่นชมกับธรรมชาติรอบตัว มีความเมตตาต่อผู้คนและสรรพสิ่งจนเป็นนิสัย เหมือนสร้างโปรแกรมแห่งความสุขไว้ในสมอง เมื่อแก่เฒ่าลงไป ควบคุมตัวเองไม่ได้ จิตใจที่ดี ที่ฝึกไว้จนเป็นนิสัย ก็จะทำงานไปเองโดยอัตโนมัติ เป็นคนแก่อย่างมีความสุข และ คนรอบข้างก็จะมีความสุขด้วย เรียกว่าแก่อย่างมีบุญ ไม่ใช่แก่อย่างมีบาป......

               โปรแกรมในสมอง เป็นเรื่องเปลี่ยนยาก นอกจากฝึกเจริญสติไว้เสมอๆ สติจะตัดบ่วงกรรมทั้งปวง และทำให้ลาจากทุกข์โดยสิ้นเชิงได้ คนที่มีสุขภาพจิตดี คือ คนที่สามารถปรับตัวเข้ากับเหตุการณ์ หรือ สิ่งแวดล้อมใหม่ๆ ได้ ไม่ว่าเหตุการณ์นั้นๆ จะเป็นไปในทางดีหรือร้าย แนวทางที่จะทำให้มีสุขภาพจิตดี มีหลายแนวทาง เช่น

          ๑. ครอบครัวร่มเย็นเป็นสุขเด็กที่มีปัญหาทางพฤติกรรมต่างๆ มักจะมาจากครอบครัวแตกแยกเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้น บุคคลในครอบครัว จะต้องช่วยกันทำให้ครอบครัวร่มเย็นเป็นสุข มีความรักต่อกันอย่างแน่นแฟ้น ครอบครัวเปรียบเสมือนโช้คอัพ (shock absorber) หรือ อุปกรณ์กันสะเทือนของรถยนต์ เมื่อสมาชิกมีปัญหาร้าย ครอบครัวก็ช่วยกันแก้ไข เยียวยา ปลอบประโลม หาทางแก้ไข จนเรื่องร้ายกลายเป็นดี เมื่อสมาชิกมีโชคดี ครอบครัวก็ช่วยแสดงความยินดีด้วย เป็นต้น ยิ่งเป็นผู้สูงอายุ ยิ่งต้องเป็นหลักชัยของครอบครัว ช่วยชี้แนะลูกหลานในทางดี เป็นผู้นำใน กิจกรรมเกี่ยวกับประเพณีวัฒนธรรมของครอบครัว จะทำให้คนในครอบครัวทุกคนมีสุขภาพจิตดี การที่ผู้สูงอายุจะเป็นหลักชัยของครอบครัวได้ดี จำเป็นที่ผู้สูงอายุ ต้องเรียนรู้ให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ของโลก และ เข้าใจกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมปัจจุบัน อย่าจมปลักอยู่กับอดีต พูดแต่เรื่องอดีต จนทำให้เด็กสมัยใหม่ล้อเลียนว่า "ไดโนเสาร์-เต่าล้านปี" การที่ผู้สูงอายุคิดไปอยู่บ้านคนชรา หรือ หนีครอบ-ครัวไปอยู่คนเดียว เป็นความคิดที่ผิดทำนองเดียวกัน หรือ การที่ลูกหลานคิดนำพ่อแม่ ปู่ย่า ตายายไปอยู่บ้านพักคนชรา ไม่ทดแทนบุญคุณ...ย่อมเป็นบาป จงช่วยกันทำครอบครัวให้ร่มเย็นเป็นสุข แล้วทุกคนจะมีสุขภาพจิตดี

          ๒. มีเพื่อนสนิทมิตรสหาย และไม่อยู่เดียวดาย มนุษย์เป็นสัตว์สังคม ต้องอยู่เป็นหมู่คณะ แต่ละคนก็ต้องมีเพื่อนเป็นธรรมดา เพื่อนคือของหวานแห่งชีวิต เมื่ออายุยังน้อย ก็มีเพื่อนร่วมเรียน อายุมากขึ้น ก็มีเพื่อนร่วมงาน สูงวัยหรือสูงอายุ เพื่อนเก่าๆ เริ่มล้มหายตายจากไปเป็นธรรมดา จำเป็นที่จะต้องหาเพื่อนใหม่ไว้เพิ่มเติมเสมอ เพื่อไว้คุย ไว้ปรึกษาหารือกัน ไม่จำเป็นต้องมีเพื่อนอายุรุ่นราวคราวเดียวกันก็ได้ แต่ถ้าอายุใกล้เคียงกันก็ย่อมดี ปัจจุบันมีการตั้งชมรมผู้สูงอายุตามชุมชนต่างๆมากมาย ผู้สูงอายุสามารถเลือกเป็นสมาชิกชมรมใกล้บ้านได้ จะได้มีเพื่อนใหม่ และมีกิจกรรมร่วมกัน ช่วยคลายความเหงาได้มาก ทำให้มีสุขภาพจิตดีขึ้น

          ๓. รู้จักแก้ปัญหาที่ถูกต้อง ทุกคนในโลกนี้ ไม่มีใครไม่มีปัญหา ปัญหาทำให้เกิดทุกข์ เราต้องรู้จักแก้ทุกข์ หรือแก้ปัญหานั้นๆให้ได้ อย่าหนีปัญหา เพราะหนีอย่างไรก็ไม่พ้น จงแก้ปัญหาด้วยสติ ปัญญาและเหตุผล ถ้าปัญหาไม่มีทางแก้ให้หายขาดได้ จงปรับตัวอยู่กับปัญหาให้ได้มากที่สุด

          ๔. รู้จักพอ ปัจจุบันคนส่วนใหญ่ที่มีปัญหาสุขภาพจิต มักเกิดจากความโลภ ไม่รู้จักพอ แล้วมีผลทำให้เครียด ผลจากความเครียด ก็จะทำให้สุขภาพทั้งกายและจิตเสียไปด้วย การรู้จักพอเท่านั้น ที่จะแก้ปัญหาที่มีผลทำให้เครียดน้อยลงได้

          ๕. มีงานทำตลอดเวลา ทุกคนต้องทำงาน งานอะไรก็ได้ ไม่ว่างานนั้น จะมีรายได้ หรือไม่มีรายได้ ขอให้เป็นงานที่ไม่เบียดเบียนตนเอง ผู้อื่น และสิ่งแวดล้อม ตนนั้นแลเป็นที่พึ่งแห่งตน คนที่ไม่ทำงานจะซึมเศร้าและคิดมาก พลอยให้สุขภาพจิตเสีย ซึ่งการทำงานนั้น ย่อมช่วยแก้ทุกข์ได้ งานดังกล่าวอาจเป็นงานอดิเรกที่เราอยากทำ แต่ช่วงที่ผ่านมา ยังไม่มีจังหวะและโอกาสที่จะทำ เราก็มาเริ่มทำตอนนี้ก็ได้ แต่ ถ้าผู้สูงอายุท่านใด มีงานทำและก่อให้เกิดรายได้ด้วย ก็ยิ่งดีกันไปใหญ่ แต่อย่าทำจนถึงขนาดมีความเครียดในงานที่ทำนั้น ให้ทำตามกำลังที่ทำให้เรามีความสุขในงานที่ทำเป็นพอ

          ๖. ใช้ธรรมะจรรโลงใจ ธรรมะในทุกศาสนา จะชี้แนะให้ทุกคนมีสุขภาพจิตดีทั้งนั้น ขอให้ปฏิบัติให้ตรงตามคำสอน ทั้งนี้ ต้องศึกษาธรรมะของแต่ละศาสนาให้ถูกต้อง จะต้องไม่นำไปสู่การเบียดเบียนตนเอง และ ผู้อื่น แต่จะต้องเป็นไปในทิศทางที่มีเมตตา กรุณาต่อกันเป็นหลัก โดยเฉพาะเรื่องฝึกความมีสติ จะเป็นการสวดภาวนา สวดอ้อนวอน การทำละหมาด การทำสมาธิ การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ล้วนแต่เป็นเครื่องมือช่วยทำให้ มีสุขภาพจิตดีได้มาก

การสร้างความสุข มีแนวทางปฏิบัติอีก ประการเพื่อให้ชีวิตอยู่อย่างเป็นสุข ได้แก่

1. หมั่นดูแลสุขภาพตนเอง ด้วยหลัก 4 อ. โดยยึดคำขวัญว่า
- อ.อาหาร : กินน้อยตายยาก กินมากตายง่าย
- อ.ออกกำลังกาย : ขี้เกียจอายุสั้น ขยันอายุยืน
- อ.อารมณ์ : อารมณ์ดีอยู่ยาว อารมณ์เน่าอยู่สั้น
- อ.อันตราย (สิ่งที่เป็นพิษให้โทษต่อสุขภาพ เช่น เหล้า บุหรี่ อบายมุข อุบัติเหตุ สารพิษ มลพิษ) : เสพพิษชีวิตหด งดพิษชีวิตยืด

          ทั้งนี้ มีหลักปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมที่จะทำให้มีสุขภาพดี คือ - กินเนื้อน้อย กินผักมาก - กินเค็มน้อย กินเปรี้ยวมาก - กินน้ำตาลน้อย กินผลไม้มาก - นั่งรถน้อย เดินมาก - เอาน้อย
ให้มาก (จิตอาสา) - กังวลน้อย นอน (พักผ่อน) มาก - โกรธน้อย ยิ้มมาก

2. หมั่นตรวจเช็คสุขภาพเป็นระยะๆ เพื่อค้นหาปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพ และโรคภัยเงียบ (silent killers) ซึ่งเป็นโรคที่แฝงอยู่ในร่างกาย โดยไม่ปรากฏอาการ เช่น เบาหวาน ความดันสูง ไขมันในเลือดสูง มะเร็งระยะแรก เป็นต้นเมื่อพบว่ามีโรคประจำตัว ก็ต้องดูแลรักษาอย่างจริงจัง และต้องกินยาอย่างต่อเนื่อง เพื่อควบคุมโรค ป้องกันโรคแทรกซ้อน และ ทำให้มีอายุยืนอย่างมีความสุขพึงหลีกเลี่ยงการใช้ยาชุด หรือยาลูกกลอน และวิธีการรักษาอย่างผิดๆ เช่น การกินยาชุด ยาลูกกลอนที่มีสารสตีรอยด์ ซึ่งมีอันตรายมาก การบำบัดที่ยังไม่ได้ผ่านการพิสูจน์ว่าได้ผลจริง ซึ่งบางครั้งทำให้สิ้นเปลือง หรือกลับมีพิษภัย เมื่อป่วยด้วยโรคร้าย (เช่น มะเร็ง อัมพาต) พึงทำใจยอมรับ และ อยู่กับมันอย่างมีความสุข พยายามมงสิ่งต่างๆในด้านบวกพยายามพลิกความคิดให้เป็น "เปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาส"

3. รู้จักวางแผนการเงิน ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (พอประมาณ มีเหตุผล มีภูมิคุ้มกัน มีความรู้ และ มีคุณธรรม) ห้ามฝากเงินกับสถาบันการเงินใดมากเกินกว่า 1ล้านบาท เพราะนับแต่วันที่ 11สิงหาคม 2555เป็นต้นไป หากสถาบันการเงินที่เราฝากเงินไว้ล้ม ผู้ฝากเงินจะได้รับการชดใช้เงืนฝากคืนสถาบันการเงินละไม่เกิน 1ล้านบาทเท่านั้น หากท่านมีเงินออมมากกว่า 1ล้านบาท จะต้องกระจายเงินฝากไปที่สถาบันต่างๆกัน (ธนาคารต่างๆ แต่ละธนาคารที่ล้ม จะคืนเงินฝากได้ไม่เกิน 1ล้านบาทต่อธนาคาร)

4. อย่าเกษียณจากชีวิตและงาน พึงต้องทำในสิ่งที่ชอบ (ฉันทะ) เช่น งานอดิเรกต่างๆ งานจิตอาสา (บำเพ็ญประโยชน์ต่อผู้อื่น) งานที่มีรายได้จ่างตอบแทน งานออกสมาคมกับผู้คน งานเข้าร่วมกิจกรรมของกลุ่ม/ชมรม/สมาคม/มูลนิธิ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุ ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ฝึกสมอง (ถ้าไม่ฝึก สมองย่อมจะฝ่อ) และ สามารถสร้างคุณค่าและความภูมิใจให้แก่ตนเองได้อย่างดี พึงยึดมั่นในการเป็นผู้เรียนรู้ตลอดชีวิต

5. ให้เกียรติและเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น รวมทั้งลดช่องว่าง กับคนรุ่นหลัง โดยการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ กับผู้คนต่างๆ ฝึกฟังอย่างลึก (deep listening)เพื่อเข้าใจผู้อื่น ยอมรับความแตกต่างหลากหลาย และการเปลี่ยนแปลงของโลกในปัจจุบันทำหน้าที่ "แจกของ-ส่องตะเกียง" ให้แง่คิดแนวทางการปฏิบัติแก่ผู้อื่น

6. อย่ายึดมั่นถือมั่น / ยึดติดในอัตตาตัวตน (self-centered)ทั้งในเรื่องความรู้-ประสบการณ์แห่งตน ความคิด-ค่านิยม-วิธีปฏิบัติแห่งตน รวมทั้งผลประโยชน์แห่งตน ให้รู้จักการปล่อยวางในตัวตนมากขึ้น

7. หมั่นเจริญทางปัญญา ให้เห็นสภาพความเป็นจริงของสรรพสิ่ง ตามที่เป็นธรรมชาติที่เชื่อมโยงอิงอาศัยกันและกัน (อิทัปปัจจยตา) และมีความเป็นในกฎสามัญที่มีอยู่จริง ไตรลักษณ์ (อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา)

8.  (นั่ง นอน ยืน เดิน) การทำกิจวัตรประจำวันต่างๆ (เช่น ล้างจาน กวาดบ้าน กินข้าว อาบน้ำ) การเล่นกีฬา ออกกำลังกาย รวมทั้งฝึกตามดูรู้ ให้ทันกับความรู้สึกของตัวเราเอง และความคิดของตนเองอยู่เสมอ ซึ่งจะช่วยให้หยุด หรือควบคุมอารมณ์และความคิดที่ก่อทุกข์ให้ตนเองได้พึงเจริญมรณานุสติอยู่เนืองๆ เพื่อ "ยิ้มรับ" ความตาย และใช้ชีวิตอย่างไม่ประมาท และมีชีวิตอย่างมีคุณค่า เพราะความเป็นจริงนั้น เราหนีความตายไปไม่ได้ เมื่อเราทำแต่สิ่งที่ดีๆ สุคติภูมิในสัมปรายภพย่อมเป็นของเรา ย่อมดีกว่า สมบูรณ์มากกว่าสิ่งที่เราได้ในชาติปัจจุบันแน่ และ ขอฝากให้ท่านโปรแกรมจิตของท่าน เพื่อความสุขทั้งร่างกายและจิตใจ และอายุยืน โดยพูดกับตนเองเป็นประจำว่า "เราเป็นคนโชคดีมาก ที่เราเป็นคนมีสุขภาพกายและสุขภาพจิตดี มีอายุยืนยาว มีความคล่องแคล่ว มีสติและปัญญาดี มีความจำดีเยี่ยม มีจิตตื่น-รู้-เบิกบานตลอดเวลา"ขอให้ท่านมีความปลอดภัย มีความสุข สงบ สำเร็จ สมหวัง และ มีสันติในจิตใจของทุกท่าน

• ด้วยความปรารถนาดี จาก อ. มงคล กริชติทายาวุธ






หมายเลขบันทึก: 576185เขียนเมื่อ 14 กันยายน 2014 09:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 กันยายน 2014 09:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท