คณะกรรมการสรรหาสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)


คณะกรรมการสรรหาสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)

๑๓ กันยายน ๒๕๕๗

ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

ตามรัฐธรรมนูญ(ชั่วคราว) พ.ศ. ๒๕๕๗ คณะรักษาความสงบแห่งชาติจะต้องดำเนินการคัดเลือกบุคคลที่สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ จำนวนไม่เกินสองร้อยห้าสิบคน สรุปจากบทบัญญัติของกฎหมายเกี่ยวกับคุณสมบัติของสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ สปช. ได้ว่าต้องมีคุณสมบัติ “เป็นบุคคลผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งมีความรู้และประสบการณ์เป็นที่ยอมรับของบุคคลในด้านนั้น ๆ (มีความรู้ความสามารถอันเป็นที่ประจักษ์) ในด้านต่าง ๆ ๑๑ ด้านจาก ๖ ภาค [1] โดยคำนึงถึงความเท่าเทียมกันทางเพศ และการให้โอกาสแก่ผู้ด้อยโอกาส


คณะกรรมการสรรหา สปช. ได้รับการแต่งตั้งตามกฎหมายใด

คณะกรรมการสรรหาบุคคลเพื่อคัดเลือกบุคคลที่สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ แยกเป็น ๒ ชุด คือ

(๑) คณะกรรมการสรรหาบุคคลด้านต่าง ๆ รวม ๑๑ ด้าน ด้านละหนึ่งคณะ คณะละ ๗ คน จากผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งมีความรู้และประสบการณ์เป็นที่ยอมรับในด้านที่ได้รับการแต่งตั้ง ทำหน้าที่สรรหาบุคคลเสนอต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติเพื่อคัดเลือกเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ และ

(๒) คณะกรรมการสรรหาประจำจังหวัด (รวม กทม.) รวม ๗๗ คณะ คณะละ ๕ คน ประกอบด้วยบุคคลตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการสรรหาสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๗ เพื่อสรรหาจากบุคคลซึ่งมีภูมิลำเนาในจังหวัดนั้น ๆ

เห็นว่า คณะกรรมการสรรหา สปช. ได้รับการแต่งตั้งตามรัฐธรรมนูญ(ชั่วคราว) พ.ศ. ๒๕๕๗ [2]

มาตรา ๒๘ วรรคสาม บัญญัติว่า “ให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ และประธานสภาและรองประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ”

มาตรา ๒๙ “สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๘ (๒) (๓) (๔) (๕) (๖) (๗) (๘) และ (๙) และให้นำความในมาตรา ๙ มาใช้บังคับแก่การสิ้นสุดสมาชิกภาพของสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติโดยอนุโลม แต่การวินิจฉัยตามมาตรา ๙ วรรคสอง ให้เป็นอำนาจของสภาปฏิรูปแห่งชาติ”

มาตรา ๓๐ “ให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติดำเนินการคัดเลือกบุคคลที่สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้

(๑) จัดให้มีคณะกรรมการสรรหาบุคคลด้านต่าง ๆ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๗ ด้านละหนึ่งคณะ และให้มีคณะกรรมการสรรหาประจำจังหวัดแต่ละจังหวัดเพื่อสรรหาจากบุคคลซึ่งมีภูมิลำเนาในจังหวัดนั้น ๆ

(๒) ให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาแต่ละด้านจากผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งมีความรู้และประสบการณ์เป็นที่ยอมรับของบุคคลในด้านนั้น ๆ

...

(๕) ให้คณะกรรมการสรรหาประจำจังหวัดประกอบด้วยบุคคลตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา

(๖) ให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติคัดเลือกบุคคลที่เห็นสมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติจากบัญชีรายชื่อที่คณะกรรมการสรรหาตาม (๑) เสนอ ไม่เกินสองร้อยห้าสิบคน โดยในจำนวนนี้ให้คัดเลือกจากบุคคลที่คณะกรรมการสรรหาประจำจังหวัดเสนอ จังหวัดละหนึ่งคน

...”


คณะกรรมการสรรหา สปช. ใช้อำนาจตามกฎหมายใด

พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการสรรหาสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๗ [3]

มาตรา ๙ "ให้คณะกรรมการสรรหาตามมาตรา ๔ (๑) ถึง (๑๑) สรรหาบุคคลซึ่งสมควรได้รับการเสนอชื่อเพื่อเข้ารับการคัดเลือกเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติคณะละไม่เกินห้าสิบคน แต่ต้องไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของรายชื่อที่ได้รับมาตามมาตรา ๑๐ ในด้านนั้น ๆ

ให้คณะกรรมการสรรหาประจำจังหวัดตามมาตรา ๔ (๑๒) สรรหาบุคคลที่สมควรได้รับการเสนอชื่อเพื่อเข้ารับการคัดเลือกเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติจากบุคคลซึ่งมีภูมิลำเนาในจังหวัดนั้นจังหวัดละห้าคน

การสรรหาตามมาตรานี้ ให้คำนึงถึงบุคคลซึ่งมีความรู้ความสามารถด้านต่าง ๆ จากภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคสังคม ภาควิชาชีพ ภาควิชาการ และภาคอื่น ความเท่าเทียมกันทางเพศ และการให้โอกาสแก่ผู้ด้อยโอกาส"

มาตรา ๑๐ "ในการสรรหาตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง ให้คณะกรรมการสรรหาพิจารณาบุคคลจากชื่อที่เสนอโดยนิติบุคคลซึ่งไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไรมาแบ่งปันกันที่อยู่ในภาคต่าง ๆ ตามมาตรา ๙ วรรคสาม โดยแต่ละนิติบุคคลเสนอได้ไม่เกินสองชื่อ ..."

มาตรา ๑๗ "ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับการเสนอชื่อหรือการสรรหา หรือมีปัญหาอื่นใดเกี่ยวกับการดำเนินการตามพระราชกฤษฎีกานี้ ให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติวินิจฉัย และเมื่อได้ดำเนินการตามคำวินิจฉัยของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติแล้ว ให้ถือว่าเป็นการชอบด้วยพระราชกฤษฎีกานี้และกฎหมาย

ในกรณีที่มีความจำเป็นเพื่อให้การสรรหาสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติมีอำนาจประกาศเปลี่ยนแปลงระยะเวลา กำหนดให้ดำเนินการหรืองดเว้นการดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดเกี่ยวกับการสรรหาสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติตามที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกานี้ได้"

จึงเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายที่เทียบเท่าพระราชบัญญัติ แต่เป็นการใช้อำนาจตาม “รัฐธรรมนูญ”


กรอบแนวทางในการสรรหาของคณะกรรมการสรรหา สปช. กำหนดไว้อย่างไร

ตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการสรรหาสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๗ มาตรา ๙ วรรคสาม บัญญัติว่า “การสรรหาตามมาตรานี้ ให้คำนึงถึงบุคคลซึ่งมีความรู้ความสามารถด้านต่าง ๆ จากภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคสังคม ภาควิชาชีพ ภาควิชาการ และภาคอื่น ความเท่าเทียมกันทางเพศ และการให้โอกาสแก่ผู้ด้อยโอกาส”

เห็นว่า เป็นการใช้อำนาจ “ดุลพินิจ” (Discretion) ในการสรรหาสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ


อ้างอิง

(๑) ประกาศสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง แบบพิมพ์ที่ใช้ในการสรรหาสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ลงวันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๕๗ (แบบพิมพ์ สปช.) ประกาศราชกิจจานุเบกษา, หน้า ๑, เล่ม ๑๓๑ ตอนที่ ๖๒ ก วันที่ ๑๓ สิงหาคม ๒๕๕๗

http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2557/A/062/1.PDF

(๒) ประกาศสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง การสรรหาบุคคลเพื่อเข้ารับการคัดเลือกเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ลงวันที่ ๑๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๗ (ราชกิจจานุเบกษา, หน้า ๑ - ๕, เล่ม ๑๓๑ ตอนที่ ๖๓ ก วันที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๕๕๗)

http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2557/A/063/1.PDF

(๓) ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๒๑/๒๕๕๗ เรื่อง การแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ลงวันที่ ๑๓ สิงหาคม๒๕๕๗ ประกาศราชกิจจานุเบกษา, หน้า ๑, เล่ม ๑๓๑ ตอนพิเศษ ๑๖๒ ง วันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๕๗

http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2557/E/162/1.PDF

(๔) ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๑๙/๒๕๕๗ เรื่อง ระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์การเสนอชื่อบุคคลเพื่อเข้ารับการสรรหาเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ลงวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๕๗

http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2557/E/151/5.PDF

(๕) ประกาศ คสช. ฉบับที่ ๘๕/๒๕๕๗ เรื่อง การได้มาซึ่งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นเป็นการชั่วคราว ลงวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๕๗ (ราชกิจจานุเบกษา, หน้า ๑๒ - ๑๔, เล่ม ๑๓๑ ตอนพิเศษ ๑๓๔ ง วันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๕๗) และ ฉบับที่ ๘๖/๒๕๕๗ เรื่อง การได้มาซึ่งสมาชิกสภากรุงเทพมหานครและสมาชิกสภาเขตเป็นการชั่วคราว ลงวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๕๗

ข้อ ๒ “...ทั้งนี้ให้คำนึงถึงพฤติกรรม คุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต และความเป็นกลางทางการเมืองเป็นที่ประจักษ์ ของผู้ที่จะได้รับการคัดเลือกด้วย”

http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2557/E/134/12.PDF

(๖) "ปิยบุตร-บัณฑิต" เสนอแนะ-วิจารณ์รธน.ชั่วคราว หลังนศ.จัดงานเสวนาต่อ แม้ทหารขอให้ยกเลิก, มติชนออนไลน์, ๘ สิงหาคม ๒๕๕๗, http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1407501592


[1] การปฏิรูปในด้านต่าง ๆ (๑) การเมือง (๒) การบริหารราชการแผ่นดิน (๓) กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม (๔) การปกครองท้องถิ่น (๕) การศึกษา (๖) เศรษฐกิจ (๗) พลังงาน (๘) สาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม (๙) สื่อสารมวลชน (๑๐) สังคม (๑๑) อื่น ๆ (รัฐธรรมนูญ ฯ มาตรา ๒๗)

ความหลากหลายของบุคคลจากกลุ่มต่าง ๆ ใน (๑) ภาครัฐ (๒) ภาคเอกชน (๓) ภาคสังคม (๔) ภาควิชาการ (๕) ภาควิชาชีพ และ (๖) ภาคอื่น (รัฐธรรมนูญ ฯ มาตรา ๓๐)

[2] รัฐธรรมนูญ(ชั่วคราว) พ.ศ. ๒๕๕๗, http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2557/A/055/1.PDF

[3] พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการสรรหาสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๗, http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2557/A/059/2.PDFhttp://www.ect.go.th/nrc2014/nrc_law1.pdf

</em><p></p>

หมายเลขบันทึก: 576177เขียนเมื่อ 13 กันยายน 2014 22:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 พฤศจิกายน 2014 18:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท