ขับเคลื่อน PLC ที่ สพป.3 มหาสารคาม_17 : PLC MK3 แก้ปัญหาอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ (๑)


ปีที่แล้ว (๒๕๕๖) CADL ทำข้อตกลงกับ สพป.เขต ๓ มหาสารคาม และจัดกิจกรรมส่งเสริมการสร้าง PLC ระหว่างโรงเรียนกลุ่มเป้าหมาย ๑๔ แห่ง จนทำให้เรารับรู้ปัญหาเร่งด่วน สถานการณ์และวิธีแก้ปัญหาและรวมถึงกระบวนการต่างๆ ในโรงเรียน ดังที่ได้ "บันทึกการทำงาน" ไว้ในรายงานฉบับสมบูรณ์ (อ่านได้ที่นี่) อย่างไรก็ดี การสร้างชุมชนเรียนรู้ครูเพื่อศิษย์ หรือ PLC  ต้องใช้เวลานาน ต่อเนื่อง เราจึงได้วางแผนขับเคลื่อนต่อเนื่องโดยใช้แผนการปฏิบัติราชการประจำปี ๒๕๕๗ (และต่อเนื่องในปี ๒๕๕๘) ของสำนักศึกษาทั่วไป ตามนโยบายการสร้างเครือข่ายวิชาการกับหน่วยงานการศึกษาในพื้นที่

วันที่ ๓-๔ สิงหาคม ๒๕๕๗ เราเปิดวง "PLC MK 3" โดยตั้งเป้า "หัวปลา" ไปที่ "วิธีแก้ปัญหานักเรียนอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้" โดยเชิญ "ครู BP จาก PLC มหาสารคาม" ที่ประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาเรื่องนี้จนได้รับการยอมรับจากทั้งเพื่อนครูและศึกษานิเทศน์ คือ ครูตุ๋ม ศิริลักษณ์ ชมภูคำ (อ่านงานของท่านได้ที่นี่) และจัดให้มีการแลกเปลี่ยนระดมสมองกันก่อนในเรื่องดังกล่าว ๑ วัน ณ ห้องประชุมสำนักงานเขตพื้นที่ฯ  และตามไปศึกษาดูงาน ดูการสาธิตกระบวนการของครูตุ่มจริงๆ ที่โรงเรียนบ้านหินลาด อีก ๑ วัน

ผู้เข้าร่วมอบรมได้รับแจกเอกสารเผยแพร่เรื่อง  "ครู BP จาก PLC มหาสารคาม เล่ม ๑ : ครูศิริลักษณ์ ชมภูคำ" ท่านที่อ่านจบ น่าจะเข้าใจทันทีว่า ทำไมครูตุ๋มจึงได้รับเลือกจากเราให้เป็น ครู BP ที่นำมาเผยแพร่ขยายต่อในพื้นที่ต่อไป

กิจกรรมดำเนินไปแบบไม่เป็นทางการ ไม่มีพิธีเปิด ไม่มี "รูปแบบ" ใดให้เสียเวลา เริ่มที่การ "ตั้งสติ-ก่อนสตาร์ท" ด้วยกิจกรรม "นำสติ" เพื่อทบทวนเรื่องราวตั้งแต่เริ่มรู้จักกัน จนถึงสาเหตุและความเป็นมา ที่ทำให้เราทุกคนได้มานั่งรวมกันในวันนี้ ที่นี้ โดยมีเป้าหมายร่วมกันว่า เราจะมาว่ากันเรื่องปัญหาอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้" ต่อมาเป็นการเล่าเรื่อง "การแก้ปัญหาด้วยกระบวนการ ๖ ขั้น" ของครูตุ๋ม โดยผมรับหน้าที่จับประเด็น เน้นจุดเด่นให้ทุกคนได้เห็นและเรียนรู้จากครูตุ๋มไปพร้อมๆ กัน หลังเบรคเช้าเราแบ่งกลุ่มย่อยเป็นระดับชั้น เพื่อแบ่งปันแลกเปลี่ยนวิธีการแก้ปัญหาอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ของครูแต่ละคน แล้วพักรับประทานอาหารกลางวัน ก่อนจะกลับมานำเสนอกันทีละกลุ่ม

(ดูรูปทั้งหมดได้ที่นี่)

ผลการระดมสมองเพื่อแก้ไขปัญหาของครู แสดงดังภาพต่อไปนี้

 

ข้อสังเกตจากผลการระดมสมองของครู

  • ครูแต่ละโรงเรียน กำลังแก้ไขปัญหาอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ด้วยตนเองอยู่แล้ว แต่ละคนก็จะมีวิธีการแก้ปัญหาของตนเอง สามารถจัดเป็น ๒ วิธีการหลักๆ ได้แก่ ๑) การสอนเสริมนอกเวลาเรียนปกติของนักเรียนกลุ่มเป้าหมาย และ ๒) การจัดการเรียนการสอนแยกต่างหากจากกลุ่มที่ไม่มีปัญหา
  • ผู้บริหารและครูเห็นร่วมกันว่า ครูประจำชั้นควรเป็นผู้รับผิดชอบดูแล เอาใจใส่ใกล้ชิด 
  • ครูแต่ละคนมีเทคนิคในการสอนแตกต่างกันไป เช่น 
    • นักเรียนที่ไม่ผ่านเกณฑ์จากทุกระดับชั้น มารวมกันเพื่อปรับพื้นฐาน
    • เขียนคำใต้ภาพ คำใกล้ตัว อ่านและเขียนตามบัตรคำ
    • ใช้บัตรคำ บัตรภาพ
    • ครูห้ามบอกนักเรียนล่วงหน้า
    • เขียนตามคำบอก (คำพื้นฐาน)
    • แยกเด็กเป็นกลุ่มๆ โดยการใช้คำศัพท์ในบทเรียนมาทดสอบ
    • ฝึกเขียนประโยคจากภาษาพูด (เขียนได้แสดงว่าอ่านได้)
    • แต่งประโยค แก้คำผิดโดยการเขียนคำใหม่หลายๆ ครั้ง
  • มีโรงเรียนที่ผู้อำนวยการโรงเรียนร่วมแก้ปัญหาด้วยตนเอง โดยใช้วิธีคัดกรองแยกกลุ่มเด็กที่มีปัญหา ออกเป็นชั้นเรียนพิเศษ สอนโดย ผอ. จนมีพัฒนาการที่พอใจ จึงให้กลับไปเรียนร่วมกับเพื่อน
  • มีครูใช้กระบวนการ "พี่สอนน้อง" หรือ "ใช้นักเรียนจิตอาสา" และจัดการคัดกรอง Pre-test -> Process -> Post-test อย่างเป็นระบบ...  น่าติดตามว่าได้ผลอย่างไร หรือไม่ ต่อไป 
  • ครูทั้งหมดหันกลับมาใช้วิธีการสอน สะกด แจกรูปคำ และใช้วิธีการ "ทำซ้ำ ย้ำ บ่อย ทวน" 

ข้อสังเกตสำคัญประการหนึ่งคือ ยังไม่มีระบบร่วมมือระหว่างโรงเรียนในการแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง กระบวนการที่ดำเนินอยู่มีต้นแหล่งมาจากครูหรือผู้อำนวยการฯ หรือ ตามนโยบายโรงเรียน ผ่านการติดตาม ประเมินผล และช่วยเหลือ จากสำนักงานเขตฯ โดยศึกษานิเทศน์



หมายเลขบันทึก: 576176เขียนเมื่อ 13 กันยายน 2014 21:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 กันยายน 2014 11:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท