ข้อสังเกตแนวทางการสรรหาสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)


ข้อสังเกตแนวทางการสรรหาสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)

13 กันยายน 2557

สรณะ เทพเนาว์ นายกสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย

ช่วงนี้เป็นห้วงระยะเวลาในการสรรหาสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ สปช. ของคณะกรรมการสรรหา และ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จึงเป็นจุดสนใจของสาธารณชนและประชาชนโดยทั่วไป ว่าแนวทางในการสรรหา สปช. ควรจะเป็นไปอย่างไร ในแนวทางใด และผลจะออกมาเช่นไร

จากจำนวนผู้เข้ารับการเสนอชื่อเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ระหว่างวันที่ ๑๔ สิงหาคม ๒๕๕๗ ถึงวันที่ ๒ กันยายน ๒๕๕๗ สรุปยอดอย่างเป็นทางการ มีผู้เสนอชื่อทั้งสิ้น ๗,๓๗๐ คน ขาดคุณสมบัติ ๓๐ คน แบ่งเป็นนิติบุคคลเสนอจำนวน ๔,๕๘๕ คน จังหวัด ๒,๗๘๕ คน สำหรับด้านที่มีการเสนอชื่อมากที่สุด คือ ด้านการศึกษา ๗๗๘ คน รองลงมาด้านอื่นๆ ๖๘๓ คน สังคม ๖๗๙ คน ส่วนด้านที่เสนอน้อยสุด คือ สื่อมวลชน ๑๙๔ คน ขณะที่จังหวัดกรุงเทพมหานคร เสนอชื่อมากสุด ๑๑๓ คน รองลงมา กาฬสินธุ์ ๗๙ คน อุบลราชธานี ๗๑ คน น้อยที่สุด คือ พิจิตร ๑๕ คน รองลงมาคือ ตาก ๑๗ คน [1]

สำหรับขั้นตอนวิธีการสรรหา สปช. [2] ตามแผนกำหนดการพิจารณาสรรหาคร่าว ๆ คือ กกต. ทำข้อมูลเสนอกรรมการสรรหาแต่ละด้านแล้วเสร็จภายใน ๑๐ วัน (ขั้นตอนที่ ๔ ภายใน ๑๒ กันยายน ๒๕๕๗) คณะกรรมการสรรหาฯ ดำเนินการแล้วเสร็จภายใน ๑๐ วัน (ขั้นตอนที่ ๕) คณะรักษาความสงแห่งชาติพิจารณาแล้วเสร็จภายใน ๑๐ วัน (ขั้นตอนที่ ๖ ภายในวันที่ ๒ ตุลาคม ๒๕๕๗)

การสรรหาและเลือกสรรบุคคลอย่างเป็นระบบถือว่าเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญอย่างหนึ่งขององค์กร เพื่อให้ได้ผู้ปฏิบัติงานที่ดี มีความรู้ความสามารถ เพื่อสร้างความเจริญก้าวหน้าให้แก่องค์กรได้ โดยเฉพาะ “สมาชิกสภาปฏิรูป"ถือเป็นบุคลากรของ “สภาปฏิรูปแห่งชาติ" แม่น้ำสายหนึ่งในบรรดาแม่น้ำสายหลักทั้งห้าสาย เพื่อนำประเทศไทยไปสู่การปฏิรูปตามโรดแมปที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติได้กำหนดไว้

คณะกรรมการสรรหาบุคคลเพื่อคัดเลือกบุคคลที่สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ แยกเป็น ๒ ชุด คือ

(๑) คณะกรรมการสรรหาบุคคลด้านต่าง ๆ รวม ๑๑ ด้าน ด้านละหนึ่งคณะ คณะละ ๗ คน จากผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งมีความรู้และประสบการณ์เป็นที่ยอมรับในด้านที่ได้รับการแต่งตั้ง ทำหน้าที่สรรหาบุคคลเสนอต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติเพื่อคัดเลือกเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ และ

(๒) คณะกรรมการสรรหาประจำจังหวัด (รวม กทม.) รวม ๗๗ คณะ คณะละ ๕ คน ประกอบด้วยบุคคลตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการสรรหาสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๗ เพื่อสรรหาจากบุคคลซึ่งมีภูมิลำเนาในจังหวัดนั้น ๆ

คณะกรรมการสรรหาสภาปฏิรูปแห่งชาติได้รับการแต่งตั้งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ชั่วคราว) พ.ศ. ๒๕๕๗ มาตรา ๓๐ ประกอบพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการสรรหาสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๗ มาตรา ๔ มาตรา ๕ มาตรา ๖ และคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ ๑๒๑/๒๕๕๗ ลงวันที่ ๑๓ สิงหาคม ๒๕๕๗ เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาสมาชิกสภาปฏิรูป

กรอบการสรรหาสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการสรรหาสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๗ มาตรา ๙ วรรคสาม และพิจารณาจากแบบคำขอนิติบุคคลเพื่อเสนอชื่อบุคคลเข้ารับการคัดเลือกเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ กำหนดว่า "การสรรหาตามมาตรานี้ ให้คำนึงถึงบุคคลซึ่งมีความรู้ความสามารถ (อันเป็นที่ประจักษ์) ด้านต่าง ๆ จากภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคสังคม ภาควิชาชีพ ภาควิชาการ และภาคอื่น ความเท่าเทียมกันทางเพศ และการให้โอกาสแก่ผู้ด้อยโอกาส"

คุณสมบัติของสมาชิกสภาปฏิรูปที่ควรจะเป็น เพื่อใช้เป็นแนวทางในการสรรหาและเลือกสรรของคณะกรรมการสรรหา สปช. ทั้งสองคณะ (คณะส่วนกลาง และ คณะจังหวัด)

พิจารณาจากกฎหมายหลัก ๔ ฉบับ คือ

(๑) รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ชั่วคราว) พ.ศ. ๒๕๕๗

(๒) พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการสรรหาสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๗

(๓) ประกาศสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง แบบพิมพ์ที่ใช้ในการสรรหาสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ลงวันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๕๗

(๔) คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ ๑๒๑/๒๕๕๗ ลงวันที่ ๑๓ สิงหาคม ๒๕๕๗ เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาสมาชิกสภาปฏิรูป

คุณสมบัติของบุคคลที่สมควรจะได้รับการแต่งตั้งเป็น สปช. ดังนี้

(๑) คุณสมบัติทั่วไปของสปช.

พิจารณาคุณสมบัติทั่วไป และลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ เป็นหน้าที่ของ กกต. ซึ่งเป็นเลขานุการ คณะกรรมการสรรหา สปช. เป็นผู้ตรวจสอบ

(๒) คุณสมบัติเฉพาะของสปช.

พิจารณาจากกฎหมายหลัก ๔ ฉบับ ซึ่งสรุปรวมคุณสมบัติว่า “เป็นบุคคลผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งมีความรู้และประสบการณ์เป็นที่ยอมรับของบุคคลในด้านนั้น ๆ (มีความรู้ความสามารถอันเป็นที่ประจักษ์) ในด้านต่าง ๆ ๑๑ ด้านจาก ๖ ภาค โดยคำนึงถึงความเท่าเทียมกันทางเพศ และการให้โอกาสแก่ผู้ด้อยโอกาส"

ควรมีคุณสมบัติเพิ่มเติมอีก ดังนี้

(๑) ตามที่สังคมคาดหวัง ตามความมุ่งหวังของการปฏิรูปตามแนวทางของ คสช. ...

(๒) ตามบริบทของสังคมโลก ในเรื่องประชาธิปไตย เรื่องการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น เรื่องระบบเศรษฐกิจเสรี ...

(๓) ตามบริบทของสังคมไทย ตามระบบอุปถัมภ์ ความเทิดทูนในสถาบันกษัตริย์ ...

(๔) อื่น ๆ

เครื่องมือในการเลือกสรรบุคคล

พิจารณาจากใบสมัครหรือใบเสนอชื่อ (Application Form), ประวัติส่วนตัว (Resume), หนังสือรับรอง (Reference check), การตรวจสอบประวัติ (Background Assessment) ฯลฯ เป็นต้น

คุณสมบัติเฉพาะอื่นที่จำเป็นต้องมี

(๑) ไม่กระทำการอันเป็นขัดกันแห่งผลประโยชน์

(๒) ไม่มีส่วนได้เสีย เช่น ไม่มีส่วนได้เสียในสัญญาที่กระทำต่อรัฐ...

(๓) คำนึงถึงพฤติกรรม คุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต เช่น มีประวัติความน่าเชื่อถือศรัทธา ซื่อสัตย์ สุจริต และเป็นบุคคลสาธารณะ (Public figure [3], Public People)

(๔) มีความรู้ความสามารถ การตรวจคุณสมบัติเบื้องต้น ก็ต้องดูจากประวัติการทำงาน ความโดดเด่น ความหลากหลายในการทำงาน เคยมีประสบการณ์ในการทำงานด้านการเมืองมาก่อน ฯลฯ เป็นต้น

คำกล่าวของนายสุรชัยเลี้ยงบุญเลิศชัย [4] รองปธ.สนช. ๑. ขึ้นอยู่กับการทำงานของตัวกรรมการเราเองว่า ตัวเราเองโปร่งใสแค่ไหน ๒. สามารถอธิบายได้ไหม ถ้าเปรียบเทียบกับบุคคลอื่น

กรอบแนวคิดในการสรรหา

ในการสรรหาบุคคล เพื่อให้ได้บุคคลที่มีความรู้ความสามารถ มีแนวทางว่า พิจารณาจาก

คุณสมบัติเฉพาะ (Qualifying) แล้วมาดูบทบาท (Roles) อำนาจหน้าที่ (Authority)

คุณสมบัติเฉพาะดูจาก

(๑) คุณสมบัติทั่วไปรวมลักษณะต้องห้าม และคุณสมบัติเฉพาะตามที่กำหนดตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ มาตรา ๒๗ มาตรา ๒๘ วรรคแรก มาตรา ๒๙ มาตรา ๓๐ ในการปฏิรูปรวม ๑๑ ด้าน ๖ ภาค ในกรณีของส่วนกลางคือ กลุ่มองค์กรนิติบุคคลผู้เสนอชื่อ/กลุ่มบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อ แต่ในระดับจังหวัดคือ กลุ่มบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อ

(๒) คุณสมบัติตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการสรรหาสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๗ มาตรา ๙ วรรคสาม [5] มาตรา ๑๐ วรรคแรก [6] (นิติบุคคลที่เสนอชื่อ)

(๓) คุณสมบัติตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง แบบพิมพ์ที่ใช้ในการสรรหาสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ลงวันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๕๗ ดู แบบ สปช.๑ ข้อ ๔.๓ คือ เป็น “บุคคลซึ่งมีความรู้ความสามารถ (อันเป็นที่ประจักษ์) ด้านต่าง ๆ" เฉพาะที่นิติบุคคลเสนอชื่อ ในระดับจังหวัด ไม่ระบุ

(๔) คุณสมบัติตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๒๑/๒๕๕๗ เรื่อง การแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ลงวันที่ ๑๓ สิงหาคม๒๕๕๗ (ราชกิจจานุเบกษา, หน้า ๑, เล่ม ๑๓๑ ตอนพิเศษ ๑๖๒ ง วันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๕๗)

(๕) ประกาศสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง การสรรหาบุคคลเพื่อเข้ารับการคัดเลือกเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ลงวันที่ ๑๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๗ (ราชกิจจานุเบกษา, หน้า ๑ - ๕, เล่ม ๑๓๑ ตอนที่ ๖๓ ก วันที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๕๕๗) [7]

(๖) ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๑๙/๒๕๕๗ เรื่อง ระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์การเสนอชื่อบุคคลเพื่อเข้ารับการสรรหาเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ลงวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๕๗

(๗) เทียบเคียงคุณสมบัติจาก ประกาศ คสช. ฉบับที่ ๘๕/๒๕๕๗ เรื่อง การได้มาซึ่งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นเป็นการชั่วคราว ลงวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๕๗ (ราชกิจจานุเบกษา, หน้า ๑๒ - ๑๔, เล่ม ๑๓๑ ตอนพิเศษ ๑๓๔ ง วันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๕๗) และ ฉบับที่ ๘๖/๒๕๕๗ เรื่อง การได้มาซึ่งสมาชิกสภากรุงเทพมหานครและสมาชิกสภาเขตเป็นการชั่วคราว ลงวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๕๗

ข้อ ๒ “...ทั้งนี้ให้คำนึงถึงพฤติกรรม คุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต และความเป็นกลางทางการเมืองเป็นที่ประจักษ์ ของผู้ที่จะได้รับการคัดเลือกด้วย"

โดยเฉพาะคุณสมบัติต้องห้าม การกระทำการอันเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ มีส่วนได้เสียในสัญญาฯ

บทบาทอำนาจหน้าที่ดูจาก

(๑) รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๕๐ หมวดว่าด้วย การปกครองส่วนท้องถิ่น

หมวด ๑๔ การปกครองส่วนท้องถิ่น มาตรา ๒๘๑ – ๒๙๐ (ดูประกอบอ้างอิงของเดิม) ซึ่งควรจะมีพื้นฐานความรู้ในเรื่องการกระจายอำนาจ ความมีอิสระของท้องถิ่น คุณสมบัติของ สมาชิกสภาท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่น การเงินการคลังท้องถิ่น การบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น ฯลฯ เป็นต้น

(๒) อำนาจหน้าที่ของ สปช. ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ มาตรา ๓๑ คือ อำนาจหน้าที่สภาปฏิรูปแห่งชาติ

(๒.๑) ศึกษา วิเคราะห์ และจัดทำแนวทางและข้อเสนอแนะเพื่อการปฏิรูปด้านต่างๆ เสนอต่อ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ คณะรัฐมนตรี คณะรักษาความสงบแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

(๒.๒) เสนอความเห็นหรือข้อเสนอแนะต่อคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์ ในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ภายใน ๖๐ วันนับแต่วันที่มีการประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติครั้งแรก

(๒.๓) พิจารณาและให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญจัดทำขึ้น

ข้อสังเกต อุปสรรค

(๑) ความเกรงใจตามระบบอุปถัมภ์ของสังคมไทย (Patronage System or Patron and Client System) เกรงว่าคณะกรรมการสรรหา จะมีส่วนได้เสียกับผู้ถูกสรรหา เช่น รู้จักกัน เพื่อนกัน เพื่อนร่วมงานกัน เคยเป็น ผบ. เป็นผู้มีชื่อเสียงเด่นดังถูกเสนอชื่อโดยองค์ที่มีชื่อเสียง

(๒) การสรรหา สปช. เพื่อให้ได้ สปช.ที่เป็นคนดี เหมาะสม มีความรู้ความสามารถ เป็นความคาดหวังของ ประชาชนในการปฏิรูปประเทศไทย

(๓) ควรมีสัดส่วนภาคต่าง ๆ ให้ได้สัดส่วนกัน คำนึงถึงเพศภาพ และบุคคลผู้ด้อยโอกาสในสังคมด้วย (ผู้พิการ...)

(๔) การพิจารณาด้านต่าง ๆ จากภาค(สายหรือกลุ่ม) ต่าง ๆ ตามเจตนารมณ์ของระเบียบกฎหมายที่กำหนด เห็นว่า “กำหนดพิจารณาดูที่ตัวบุคคลเป็นหลัก มิใช่พิจารณาดูจากองค์กรนิติบุคคลซึ่งไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไรมาแบ่งปันกันที่อยู่ในภาคต่าง ๆ ที่เสนอชื่อ" ปรากฏว่านิติบุคคลเสนอไม่สอดคล้องกับบทบาทของนิติบุคคลนั้น ๆ เช่น สมาคมประมง เสนอนักวิชาการ ควรมีสายพหุภาคี หรือบุคคลที่มีความรู้คาบเกี่ยวในหลาย ๆ ด้าน ซึ่งนักวิชาการมักจะเป็นผู้มีคุณสมบัติประเภทนี้

(๕) ความโปร่งใส เสนอให้กรรมการสรรหาในคณะทุกคนลงคะแนนโดยเปิดเผย เห็นชอบเสียงข้างมาก (อย่างน้อย ๔ คน) เป็นวิธีการเลือกที่ทำกันหลาย ๆ รอบจนกว่าจะได้รายชื่อ [8]

นิด้าโพล [9] ถามถึงความเชื่อมั่นของประชาชนต่อความโปร่งใสในกระบวนการคัดเลือกผู้เข้ารับการสรรหาเป็นสมาชิก สปช.ในระดับจังหวัด พบว่า ประชาชนไม่ค่อยมีความเชื่อมั่นในความโปร่งใสและไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ คิดถึงร้อยละ ๔๘.๓๙

(๖) คุณสมบัติเรื่องความรู้ความสามารถ การตรวจคุณสมบัติเบื้องต้น ก็ควรดูจากประวัติการทำงาน ความโดดเด่น ความหลากหลายในการทำงาน เช่น เคยมีประสบการณ์ในการทำงานด้านการเมืองมาก่อน หากเป็นองค์กรนิติบุคคลที่เสนอต้องมีประสบการณ์ เช่น ๕ ปี เป็นต้น

(๗) ผลงานการปฏิบัติงานที่ผ่านมา ผู้ถูกเสนอชื่อได้ทุ่มเทความรู้ ความสามารถ และมีความตั้งใจในการปฏิรูป เปลี่ยนแปลง สภาพของปัญหาโดยถูกนำมาปรากฏอยู่ในเอกสารของการปฏิบัติในเรื่องนั้น ๆ นำไปสู่การเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ในเรื่องดังกล่าว

(๘) การปฏิรูปมิใช่ปฏิรูปอยู่ในสภาเท่านั้น หากจำเป็นจะต้องนำองค์ความรู้พร้อมการขับเคลื่อนประเด็นของการปฏิรูปไปสู่ชุมชน ตำบล หมู่บ้าน พร้อมรับฟังปัญหาต่าง ๆ ของชาวบ้าน นักปฏิรูปต้องทุ่มเทเวลา จิตใจที่เสียสละในลักษณะ “วิญญาณอาสาสมัคร"

ดู สยามรัฐรายวันและสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ โดยนายสรณะเทพเนาว์ ปลัดเทศบาลตำบลแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน นายกสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย [10]


[1] ไทยรัฐออนไลน์, ๘ กันยายน ๒๕๕๗, http://www.thairath.co.th/content/448814

http://hilight.kapook.com/view/107751

[2] สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง http://www2.ect.go.th/about.php?Province=nrc2014&SiteMenuID=12615

[3]ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ, "บุคคลสาธารณะ",๘ เมษายน ๒๕๕๒.http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1239172187

[4] ไทยโพสต์, "ล็อก "สปช.?", ๑๗ สิงหาคม ๒๕๕๗.

http://www.thaipost.net/tabloid/170814/94754

[5] มาตรา ๙ วรรคสาม “การสรรหาตามมาตรานี้ ให้คำนึงถึงบุคคลซึ่งมีความรู้ความสามารถด้านต่าง ๆ จากภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคสังคม ภาควิชาชีพ ภาควิชาการ และภาคอื่น ความเท่าเทียมกันทางเพศ และการให้โอกาสแก่ผู้ด้อยโอกาส"

[6] มาตรา ๑๐ วรรคแรก “ในการสรรหาตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง ให้คณะกรรมการสรรหาพิจารณาบุคคลจากชื่อที่เสนอโดยนิติบุคคลซึ่งไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไรมาแบ่งปันกันที่อยู่ในภาคต่าง ๆ ตามมาตรา ๙ วรรคสาม โดยแต่ละนิติบุคคลเสนอได้ไม่เกินสองชื่อ"

มาตรา ๑๒ "ให้นิติบุคคลตามมาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง เสนอชื่อตามแบบที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด และต้องแนบเอกสารและหลักฐานดังต่อไปนี้ด้วย
...(๒) เอกสารที่บุคคลซึ่งได้รับการเสนอชื่อแสดงความประสงค์ว่าจะเข้ารับการสรรหาในด้านใดด้านหนึ่งตามมาตรา ๔
(๓) หนังสือยินยอมให้เสนอชื่อ ทั้งนี้ บุคคลซึ่งได้รับการเสนอชื่อจะทำหนังสือยินยอมให้มีการเสนอชื่อเกินหนึ่งฉบับมิได้... "

[7] http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2557/A/063/1.PDF

[8] ดู พรเพชรวิชิตชลชัย ในไทยโพสต์ “พรเพชรชงแก้บล็อกโหวต 'กก.สรรหา'ยกมือเปิดเผย", ๒๕ สิงหาคม ๒๕๕๗. http://www.thaipost.net/news/250814/95201

[9] ไทยโพสต์ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๕๗, อ้างแล้ว.

[10] บทความพิเศษ ทีมข่าวภูมิภาค , ข่าวหนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวัน ฉบับวันพุธที่ ๔ กันยายน ๒๕๕๗ <ข้อสังเกตแนวทางการสรรหาสมาชิกสภาปฏิรูป (สปช.) และ

สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ปีที่ ๖๑ ฉบับที่ ๕๒ วันศุกร์ที่ ๑๒ – วันพฤหัสบดีที่ ๑๘ กันยายน ๒๕๕๗ หน้า ๗๙

หมายเลขบันทึก: 576175เขียนเมื่อ 13 กันยายน 2014 20:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มีนาคม 2015 02:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

บรรยงค์ โพสต์เฟซบุ๊กแฉปมส่งชื่อ สปช. เกินโควต้า
โพสต์เมื่อ : 16 กันยายน 2557 เวลา 13:53:35

http://hilight.kapook.com/view/108099

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท