Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

คำนำ​รวมบัญญัติแห่งกฎหมายไทยและเอกสารสำคัญเกี่ยวกับคนต่างด้าวในประเทศไทยใน พ.ศ.๒๕๕๕


รวมบัญญัติแห่งกฎหมายไทยและเอกสารสำคัญเกี่ยวกับคนต่างด้าวในประเทศไทย

โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

เพื่อการพิมพ์ในครั้งที่ ๗

เมื่อวันที่ ๑๘ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๕

-------

คำนำ

-------

เมื่อโรงพิมพ์เดือนตุลาแจ้งตลอดมาว่า “รวมบทบัญญัติแห่งกฎหมายไทยและเอกสารสำคัญเกี่ยวกับคนต่างด้าวในประเทศไทย” หมดไปหลายปีแล้ว และอยากที่จะพิมพ์ต่อ เพราะยังมีผู้ที่ถามหาอยู่ตลอดเวลา ผู้รวบรวมจึงกลับมาทำงานรวบรวมกฎหมายอีกครั้ง ซึ่งเป้าหมายของการทำงานครั้งนี้ น่าจะมีอยู่ ๒ อย่าง กล่าวคือ (๑) เป็นการรวบรวมเพื่อใช้ประกอบการสอนวิชากฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล ดังนั้น จึงต้องมีกฎหมายและเอกสารสำคัญเกี่ยวกับทุกเรื่องที่ระบุในหลักสูตรของคณะนิติศาสตร์โดยทั่วไป และ (๒) เป็นการรวบรวมเพื่อให้คนที่สนใจศึกษาประเด็นเกี่ยวกับคนต่างด้าวในประเทศไทยได้ใช้เป็นจุดเริ่มต้นในการศึกษา ดังนั้น จึงต้องมีกฎหมายและเอกสารสำคัญซึ่งเกี่ยวข้องกับคนต่างด้าวอย่างแท้จริง

การนำเสนอกฎหมายและเอกสารสำคัญเกี่ยวกับคนต่างด้าวในประเทศไทยครั้งนี้ โดยสาระสำคัญไม่น่าจะแตกต่างจากหลายเล่มที่ผ่านมา[1] แต่มีรายละเอียดมากขึ้นตามความต้องการของงานกฎหมายเกี่ยวกับคนต่างด้าวที่มีจำนวนมากขึ้นในยุคที่มีการเปิดเสรีทางการค้าอันเป็นผลมาจากการปรากฏตัวขององค์การการค้าโลก (WTO) และการมาถึงของประชาคมอาเซียน

เพื่อที่จะกำหนดสิทธิและหน้าที่ของคนต่างด้าวในประเทศไทย ผู้รวบรวมตระหนักว่า มีกฎหมายและเอกสารสำคัญอย่างน้อย ๗ กลุ่ม กล่าวคือ

ในประการแรก ก็คือ กฎหมายและเอกสารสำคัญที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐไทยและมนุษย์ สำหรับประเทศไทยในยุคนี้ ความเป็นมนุษย์ได้กลายเป็น “ฐานแห่งสิทธิ” ที่สำคัญ รัฐไทยถูกเรียกร้องให้ปฏิบัติตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ค.ศ.๑๙๔๘/พ.ศ.๒๔๙๑ อย่างมากมาย นอกจากเนื้อหาทั้งหมดของปฏิญญานี้ได้ถูกขยายผลต่อไปในสนธิสัญญาหลายฉบับ ซึ่งประเทศไทยก็ได้ยอมผูกพันตามอนุสัญญาดังกล่าวอีกด้วย โดยเฉพาะ ประเทศไทยได้ให้ภาคยานุวัติต่อกติการระหว่างประเทศที่สำคัญ ๒ ฉบับที่ต่อยอดปฏิญญาสากลนี้ กล่าวคือ (๑) กติการระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางแพ่ง/พลเมืองและทางการเมือง ค.ศ.๑๙๖๖/พ.ศ.๒๕๐๙ และ (๒) กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ค.ศ.๑๙๖๖/พ.ศ.๒๕๐๙ เราพบต่อไปว่า บทบัญญัติแห่งกฎหมายดังปรากฏในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับหลังๆ และโดยเฉพาะฉบับ พ.ศ.๒๕๕๐ ก็ปรากฏมีแนวคิดแบบมนุษย์นิยมแฝงอยู่มากมายและชัดเจน ดังนั้น เมื่อคนต่างด้าวก็คือมนุษย์ พวกเขาจึงได้รับความคุ้มครองทั้งจากปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ค.ศ.๑๙๔๘/พ.ศ.๒๔๙๑ และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๕๐ การศึกษาสัมพันธภาพระหว่างมนุษย์และรัฐภายใต้บทบัญญัติทั้งสองจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ในประการที่สอง ก็คือ บทบัญญัติแห่งกฎหมายและเอกสารสำคัญว่าด้วยสิทธิในสัญชาติไทยของบุคคลธรรมดา เมื่อเราศึกษา “คนต่างด้าว” ซึ่งก็คือ “คนที่ไม่มีสัญชาติไทย”เราก็ควรจะต้องรู้ว่า ใครคือคนสัญชาติไทย กฎหมายสัญชาติไทยเป็นกฎหมายที่มีมาตั้งแต่ต้นประวัติศาสตร์ไทย ซึ่งในยุคแรก ก็น่าจะเป็นกฎหมายที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร น่าจะมีลักษณะเป็นกฎหมายจารีตประเพณี และเมื่อมีการบัญญัติกฎหมายสัญชาติเป็นลายลักษณ์อักษร ก็มีพระราชบัญญัติหลายฉบับเพื่อการนี้ ในการศึกษากฎหมายสัญชาติไทย จึงควรจะเริ่มต้นศึกษาจาก “ตารางสรุปกฎหมายสัญชาติไทยของบุคคลธรรมดาตั้งแต่ต้นวิวัฒนาการของรัฐไทยจนถึงปัจจุบัน” แล้วจึงค่อยศึกษาพระราชบัญญัติสัญชาติฉบับที่มีผลในปัจจุบัน กล่าวคือ “พระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งถูกแก้ไขและเพิ่มเติมโดย พระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ ๒ และ ๓) พ.ศ.๒๕๓๕ ตลอดจนโดย พระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑ และโดย พระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ ๕) พ.ศ.๒๕๕๕”

ในส่วนของกฎกระทรวงที่มีหลายฉบับ ผู้รวบรวมเห็นว่า เราควรเลือกศึกษาเฉพาะ ๒ ฉบับที่เกี่ยวกับการยื่นคำร้องขอสัญชาติไทยหรือสละสัญชาติไทยหรือขอกลับคืนสัญชาติไทย อันได้ (๑) กฎกระทรวง (พ.ศ. ๒๕๑๐) ออกตามความในพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. ๒๕๐๘ ซึ่งใช้แก่คนในสถานการณ์ทั่วไป และ (๒) กฎกระทรวงกำหนดแบบ วิธีการ และค่าธรรมเนียมในการยื่นคำขอเกี่ยวกับการได้สัญชาติไทยการแปลงสัญชาติเป็นไทย และการกลับคืนสัญชาติไทยสำหรับคนต่างด้าวซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อย พ.ศ. ๒๕๔๕ ซึ่งใช้แก่คนที่มีปัญหาการรับรองสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมาย กล่าวคือ คนไร้สัญชาติหรือคนเสมือนไร้สัญชาติในประเทศไทยนั่นเอง

ในประการที่สาม ก็คือ กฎหมายและเอกสารสำคัญว่าด้วยสิทธิเข้ามาและอาศัยในประเทศไทยกฎหมายชุดนี้ย่อมจะใช้มากขึ้นเมื่อมีการข้ามชาติของคนต่างด้าวเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้นและคนสัญชาติไทยที่ก้าวข้ามออกไปในรัฐต่างประเทศ ความเป็นคนต่างด้าวเทียมเริ่มปรากฏให้ได้เห็นกัน เราพบว่า มีบุตรของคนสัญชาติไทยที่เกิดในต่างประเทศและไม่ได้แสดงตนเป็นคนสัญชาติไทยต่อนายทะเบียนราษฎรไทย เขาจึงถูกถือเป็นคนต่างด้าว หรือหลายคนที่คนสัญชาติไทยที่มีเชื้อสายต่างด้าวถูกถือว่า เป็นคนต่างด้าว ประเด็นสิทธิเข้ามาในประเทศไทยจึงถูกหยิบยกบ่อยครั้ง ดังนั้น การศึกษาถึง “สิทธิเข้าออกประเทศไทยของคนที่มีสิทธิในสัญชาติไทยตามมาตรา ๓๔ แห่ง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๕๐” จึงเป็นประเด็นที่ต้องทำให้ชัดเจน

นอกจากนั้น เมื่อสิทธิเข้ามาและสิทธิอาศัยในประเทศไทยของคนต่างด้าวเป็นไปตามกฎหมายไทยว่าด้วยคนเข้าเมือง ดังนั้น การศึกษากฎหมายดังกล่าวที่มีผลในปัจจุบันจึงสำคัญ เราจึงต้องศึกษาถึง “พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒ ซึ่งถูกแก้ไขและเพิ่มเติมโดย พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๒๓ และ พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง (ฉบับที่ ๓) พ.ศ.๒๕๔๒” ซึ่งเป็นกฎหมายแม่บทของการศึกษาสิทธิในการเคลื่อนไหวทั้งภายในและเข้าออกประเทศไทยของคนต่างด้าวโดยทั่วไป และเราจะต้องศึกษา “พระราชบัญญัติการเนรเทศ พ.ศ. ๒๔๙๙ ซึ่งแก้ไขและเพิ่มเติมโดย พระราชบัญญัติการเนรเทศ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๐๗ และ พระราชบัญญัติการเนรเทศ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ.๒๕๒๑” ซึ่งเป็นกฎหมายที่กำหนดการสิ้นสุดของสิทธิเข้าเมืองไทยและสิทธิอาศัยของคนต่างด้าวหากพวกเขานั้นแสดงตนเป็นภัยต่อรัฐ

นอกจากนั้น ในยุคที่มีคนต่างด้าวไร้สัญชาติหรือเสมือนไร้สัญชาติซึ่งยังถูกถือเป็น “คนต่างด้าวที่เข้าเมืองผิดกฎหมาย” จำนวนไม่น้อยอาศัยอยู่ในประเทศไทย และต้องการที่จะศึกษาในสถาบันการศึกษาไทย ก็มีความจำเป็นที่จะต้องมีระเบียบที่ชัดเจนที่จะรับรองสิทธิที่จะเดินทางเพื่อการศึกษา และประเทศไทยก็ได้ระเบียบเพื่อการนี้ กล่าวคือ “ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการอนุญาตให้บุคคลซึ่งไม่มีสัญชาติไทยออกนอกเขตควบคุมเป็นการชั่วคราวเพื่อเข้าเรียนในสถานศึกษา พ.ศ. ๒๕๕๓” ดังนั้น เราจึงมีภารกิจที่จะต้องศึกษาระเบียบนี้เช่นกัน

ในประการที่สี่ ก็คือ กฎหมายและเอกสารสำคัญที่กำหนดวิธีการบันทึกและเอกสารแสดงตนที่แสดงถึงการรับรองความเป็นบุคคลตามกฎหมายของมนุษย์โดยรัฐไทย สำหรับมนุษย์ที่ปรากฏตัวบนแผ่นดินไทย ไม่ว่าจะมีสิทธิในสัญชาติไทยหรือไม่มีสิทธิในสัญชาติไทย พวกเขาก็จะต้องได้รับการรับรองตัวบุคคลโดยรัฐไทย กฎหมายลักษณะแรกที่รัฐไทยใช้บันทึกมนุษย์ที่มีสิทธิอาศัยในประเทศไทย หรือมนุษย์ที่ไร้รัฐ แต่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ก็คือ กฎหมายไทยว่าด้วยการทะเบียนราษฎร ซึ่งฉบับที่มีผลในปัจจุบันที่เราจะต้องศึกษา ก็คือ “พระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๕๓๔ ซึ่งแก้ไขและเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๕๑”

ในลำดับต่อมา เราคงต้องศึกษากฎหมายที่รัฐไทยใช้ในการออก “เอกสารพิสูจน์ทราบตัวบุคคล (Identification Paper) แก่ “เหล่าราษฎรไทย” ซึ่งหากเป็นคนสัญชาติไทย ก็จะมี “บัตรประชาชน” ภายใต้ “พระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. ๒๕๒๖ ซึ่งถูกแก้ไขและเพิ่มเติมโดย พระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๒ และโดยพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๔” และหากเป็นคนต่างด้าว ก็จะต้องมี “บัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย” ภายใต้ระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการจัดทำบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย พ.ศ.๒๕๕๑ และหากเป็นคนที่ประสบปัญหาความไร้รัฐในประเทศไทยและเมื่อรัฐไทยได้เข้าขจัดปัญหาความไร้รัฐนี้โดยการบันทึกในทะเบียนประวัติตามกฎหมายการทะเบียนราษฎรแล้ว บุคคลดังกล่าวก็จะได้รับ “บัตรบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน” ภายใต้ระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการสำรวจและจัดทำทะเบียนสำหรับบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน พ.ศ.๒๕๔๘

นอกจากนั้น หากเป็นคนต่างด้าวที่เป็นคนเข้าเมืองถูกกฎหมายหรือคนต่างด้าวเพราะเสียสัญชาติไทย พวกเขาก็จะได้รับการออก “ใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว” ภายใต้พระราชบัญญัติการทะเบียนคนต่างด้าว พ.ศ. ๒๔๙๓ ซึ่งถูกแก้ไขและเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการทะเบียนคนต่างด้าว (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๔๙๕ และพระราชบัญญัติการทะเบียนคนต่างด้าว (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๔๙๗ อีกด้วย

ในท้ายที่สุด คนสัญชาติไทยหรือคนต่างด้าวที่ไม่มีรัฐเจ้าของตัวบุคคล (Personal State) กล่าวคือ เป็นคนไร้สัญชาติหรือคนเสมือนไร้สัญชาติ ก็จะได้รับการออก “เอกสารเพื่อการเดินทางข้ามชาติ” ภายใต้ระเบียบกระทรวงการต่างประเทศว่าด้วยการออกหนังสือเดินทาง พ.ศ.๒๕๔๘ ซึ่งถ้าเป็นการคนสัญชาติไทย ก็จะได้รับหนังสือเดินทาง (Passport) แต่ถ้าเป็นคนไม่มีสัญชาติไทย ก็จะได้รับเอกสารเดินทาง (Travel Document)

ในประการที่ห้า ก็คือ กฎหมายและเอกสารสำคัญที่กำหนดเงื่อนไขในการประกอบอาชีพของคนต่างด้าวในประเทศไทย เราจะเห็นว่า แม้จะมีสถานะเป็นคนต่างด้าวในประเทศไทย ก็อาจประกอบอาชีพในประเทศไทยได้ เราพบว่า การประกอบอาชีพของคนต่างด้าวนั้น หากเป็นเรื่องของการทำงานย่อมเป็นไปภายใต้ “พระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. ๒๕๕๑” แต่หากเป็นเรื่องของการประกอบธุรกิจหรือลงทุน ย่อมเป็นไปภายใต้ “พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.๒๕๔๒

นอกจากนั้น เราควรจะศึกษาถึงสาขาอาชีพที่คนต่างด้าวทำได้ ดังนั้น เราจึงจะต้องศึกษาถึง “พระราชกฤษฎีกากำหนดงานในอาชีพและวิชาที่ห้ามคนต่างด้าวทำ พ.ศ.๒๕๒๒ ซึ่งถูกแก้ไขและเพิ่มเติมโดย พระราชกฤษฎีกากำหนดงานในอาชีพและวิชาที่ห้ามคนต่างด้าวทำ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๖ และพระราชกฤษฎีกากำหนดงานในอาชีพและวิชาชีพที่ห้ามคนต่างด้าวทำ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๔๓ ตลอดจนพระราชกฤษฎีกากำหนดงานในอาชีพและวิชาชีพที่ห้ามคนต่างด้าวทำ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๔๘” และ “ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่อง กำหนดประเภทงานให้คนต่างด้าวตามมาตรา ๑๓ แห่งพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. ๒๕๕๑ ทำได้ ณ วันที่ ๒๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕ (กรณีคนต่างด้าวที่เป็นผู้เสียหายจากการกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์)” แม้จะเป็นเรื่องในรายละเอียด แต่ก็เป็นเรื่องที่ใช้มาก

ในประการที่หก ก็คือ กฎหมายและเอกสารสำคัญที่รัฐไทยใช้ในการรับรองสิทธิและหน้าที่ของคนต่างด้าวเหนือทรัพย์ในประเทศไทยในยุคที่คนต่างด้าวปรากฏตัวมากขึ้นในประเทศไทย และคนต่างด้าวก็มีความต้องการที่จะถือครองอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทย เราจึงควรจะศึกษาสิทธิของคนต่างด้าวในที่ดินอันตกอยู่กฎหมายที่ดิน ๒ ฉบับที่สำคัญ กล่าวคือ (๑) พระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดินพ.ศ. ๒๔๙๗ และ (๒) ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.๒๔๙๗

ในยุคนี้ ยังมีการยอมรับสิทธิในที่ดินของคนต่างด้าวที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนภายใต้ พระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ.๒๕๒๑ และสิทธิในที่ดินของคนต่างด้าวในนิคมอุตสาหกรรมภายใต้พระราชบัญญัติการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ.๒๕๒๒

นอกจากนั้น ในยุคที่มีการทำอาคารชุดกันมาก ก็มีการรับรองสิทธิให้คนต่างด้าวถือครองอาคารชุด ซึ่งเป็นไปภายใต้พระราชบัญญัติ อาคารชุด พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขและเพิ่มเติมโดย พระราชบัญญัติอาคารชุด (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๔ พระราชบัญญัติอาคารชุด (ฉบับที่ ๓) พ.ศ.๒๕๔๒ และ พระราชบัญญัติอาคารชุด (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑

แต่ในท้ายที่สุดที่จะต้องตระหนัก ก็คือ ประเทศไทยก็ยังมีกฎหมายเพื่อยึดทรัพย์ของคนต่างด้าวโดยไม่ผ่านกระบวนการศาลในยามไม่สงบ ทั้งนี้ เป็นไปภายใต้ พระราชบัญญัติควบคุมและจัดการกิจการหรือทรัพย์สินของคนต่างด้าวบางจำพวกในภาวะคับขัน พ.ศ.๒๔๘๑

ในประการที่เจ็ด ก็คือ กฎหมายและเอกสารสำคัญที่รัฐไทยใช้ในการกำหนดนิติสัมพันธ์ตามกฎหมายเอกชนที่มีลักษณะระหว่างประเทศ เมื่อนิติสัมพันธ์ที่เอกชนทำขึ้นมีลักษณะระหว่างประเทศมากขึ้น การศึกษากฎหมายขัดกันก็เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงมิได้ หากเราต้องการให้นิติสัมพันธ์ที่ทำลงมีผลในทางระหว่างประเทศ กฎหมายขัดกันทั่วไปของประเทศไทย ก็คือ พระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ.๒๔๘๑ ในขณะที่กฎหมายขัดกันพิเศษของประเทศไทยนั้น ที่สำคัญปรากฏในกฎหมายเพื่อการขนส่ง ๒ ฉบับ กล่าวคือ (๑) พระราชบัญญัติการรับของของทางทะเล พ.ศ.๒๕๓๔ และ (๒) พระราชบัญญัติการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ พ.ศ.๒๕๔๘

ผู้รวบรวมก็ยังยืนยันเหมือนเดิมว่า หนังสือเล่มนี้มุ่งเพียงให้ภาพรวมของกฎหมายและนโยบายไทยสำคัญๆ ที่รองรับกฎหมายระหว่างประเทศเกี่ยวกับคนต่างด้าว ผู้รวบรวมเชื่อว่า ระบบกฎหมายไทยน่าจะสร้างสุขภาวะให้คนต่างด้าวได้ในระดับหนึ่ง ปัญหาอาจจะมีในเรื่องการบังคับใช้กฎหมายอยู่บ้าง แต่ด้วยความรอบรู้ในหลักกฎหมาย มนุษย์ที่ตกเป็นคนต่างด้าวในประเทศไทยก็น่าจะแสวงหาความยุติธรรมได้บ้าง

ขอกราบขอบพระคุณพี่สถาพรที่คอยกระตุ้นให้เกิด “ความอยาก” ทำหนังสือกฎหมายเสมอมา แม้ในช่วงเวลาหลังๆ จะทำงานล่าช้าไปบ้าง เพราะต้องไปทำงานอื่นเสียมาก แต่อย่างไรก็ตาม ผู้รวบรวมก็ยังมีความเชื่อเหมือนเดิมว่า ความรู้กฎหมายน่าจะสร้างความเข้มแข็งให้แก่มนุษย์ได้ และขอขอบคุณคุณนิมนที่เป็นผู้ช่วยในการทำหนังสือกฎหมายตลอดมาอีกเช่นกัน และคงต้องขอบคุณคุณเล็กที่คงจะต้องออกแบบปกให้เหมือนเคย

พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

๔ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๕บ้านที่พุทธมณฑล


[1] โปรดดูแนวคิดในการรวบรวมกฎหมายและเอกสารสำคัญเกี่ยวกับคนต่างด้าวในประเทศไทยในรูปแบบเดิมได้จากบันทึกของผู้รวบรวมเมื่อวันที่ ๘ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๑ และใช้เป็น “คำนำ” ในหนังสือที่พิมพ์ใน พ.ศ.๒๕๕๒ (รวมบทบัญญัติแห่งกฎหมายไทยและเอกสารสำคัญเกี่ยวกับคนต่างด้าวในประเทศไทย, กทม., สำนักพิมพ์วิญญูชน, พิมพ์ครั้งที่ ๖, ๒๕๕๒, ๒๗๒ หน้า) http://www.archanwell.org/autopage/show_page.php?t=1&s_id=431&d_id=430

http://www.gotoknow.org/blogs/posts/497113

หมายเลขบันทึก: 576008เขียนเมื่อ 10 กันยายน 2014 08:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 ตุลาคม 2014 21:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

โอโหพิมพ์ครั้งที่ 7 แล้วนะครับ

น่าสนใจมากๆครับอาจารย์

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท