นโยบายเมืองไทยแข็งแรง (Healthy Thailand )


คนไทยอยู่เย็นเป็นสุขทั้งกาย ใจ สังคม และปัญญา / จิตวิญญาณ มีสัมมาอาชีพ มีรายได้ทำงานด้วยความสุข สามารถดำรงชีพบนพื้นฐานของความพอดีพอประมาณอย่างมีเหตุมีผลภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ มีครอบครัวอบอุ่น มั่นคง อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดีต่อสุขภาพ ชีวิตและทรัพย์สิน เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้และช่วยเหลือเกื้อกูลกัน มีสุขภาพแข็งแรง และอายุยืนยาว

     นโยบายเมืองไทยแข็งแรง (Healthy Thailand ) จาก รศ.ดร.นิตยา  เพ็ญศิรินภา มสธ.

1. แนวคิดและความเป็นมา
     การมีสุขภาพแข็งแรง (Health) ในความหมายขององค์การอนามัยโลก ครอบคลุมถึงความแข็งแรงของสุขภาพในมิติต่าง ๆ ทั้งทางด้านร่างกาย (Physical Health) จิตใจ (Mental Health) สังคม (Social Health) และปัญญา / จิตวิญญาณ (Spiritual Health) ซึ่งถ้าหากคนไทยมีความแข็งแรงทางสุขภาพครอบคลุมความหมายทั้ง 4 มิตินี้ ย่อมจะสามารถเสริมสร้างให้ประเทศไทยมีความแข็งแรง
     ในช่วงที่ผ่านมาประเทศไทยได้ผลักดันนโยบายและการดำเนินงานต่าง ๆ ตามกฎบัตรออกตาวา (Ottawa Charter) จนประสบความสำเร็จและมีความคืบหน้าไปมาก กล่าวคือ
     1.1 ด้านนโยบายสาธารณสุขเพื่อสุขภาพ (Healthy Public Policy) ได้มีการผนึกกำลังระหว่างภาครัฐ ภาควิชาการ วิชาชีพ และภาคประชาชน ผลักดันนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพต่าง ๆ เช่น การรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ การออกกฎหมายเพื่อควบคุมการบริโภคยาสูบ การรณรงค์ลดการบริโภคสุรา การตั้งคณะกรรมการควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ การออกกฎหมายเก็บภาษีเหล้าและบุหรี่เพิ่ม เพื่อตั้งเป็นกองทุนสนับสนุนการเสริมสร้างสุขภาพ ( สสส .) การรณรงค์ลดการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินจากอุบัติเหตุบนท้องถนน การขับเคลื่อนกระบวนการสมัชชาสุขภาพและจัดทำร่าง พรบ . สุขภาพแห่งชาติ เป็นต้น
     1.2 ด้านการสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพ (Healthy Environment) ได้มีการดำเนินงาน “ เมืองน่าอยู่ ” ( Healthy City ) ที่ยึดหลักการเสริมสร้างศักยภาพและความเข้มแข็งของประชาชนและทุกภาคส่วนในชุมชน เพื่อนำไปสู่สำนึกความเป็นเจ้าของ (Sense of belonging) สำนึกต่อส่วนร่วม (Social conscience) และความร่วมมือ (Participation) อันจะนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและสร้างสภาพแวดล้อมที่น่าอยู่
     1.3 ด้านการสร้างความเข้มแข็งของชุมชน (Community Strengthening) ได้มีการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์การสาธารณสุขมูลฐานมากว่า 2 ทศวรรษ และได้มีการขยายตัวของพัฒนาการที่เป็นการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริงตามปรัชญาของ “ เศรษฐกิจพอเพียง ” ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่มีหลักการสำคัญ 5 ประการ คือ ความพอประมาณ ความมีเหตุผล ความมีระบบภูมิคุ้มกันตนเอง การใช้ความรู้และการมีคุณธรรมจริยธรรม
     1.4 ด้านการส่งเสริมพัฒนาทักษะส่วนบุคคล (Personal Skill Development) มีการ
ปฏิรูปการศึกษาของชาติ และขยายโอกาสทางการศึกษาเพื่อยกระดับการศึกษาของคนในชาติ ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 รวมทั้งมีการฟื้นฟูภูมิปัญญา
     การแพทย์แผนไทย จนเป็นที่รู้จักทั่วโลกในเรื่องการนวดแผนไทย และตั้งกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกขึ้นในกระทรวงสาธารณสุข เพื่อยกระดับความสำคัญในการพัฒนาภูมิปัญญาไทยไปสู่ระดับสากลต่อไป
     1.5 ด้านการปรับเปลี่ยนระบบบริการสาธารณสุข (Health Service System Reorientation) มีการกำหนดและประกาศนโยบายการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพื่อให้คนไทยทุกคนมีโอกาสเข้าถึงบริการสุขภาพที่ได้มาตรฐานอย่างถ้วนหน้า และมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ . ศ . 2545 รองรับการดำเนินงานให้ยั่งยืน ที่ยึดหลักการ “ การสร้างสุขภาพ ” นำ “ การซ่อมสุขภาพ ” โดยรัฐบาลได้ประกาศนโยบายให้ปี พ . ศ . 2545 เป็นปีเริ่มต้นแห่งการรวมพลังสร้างสุขภาพตามกรอบการรณรงค์ 5 อ . ได้แก่ ออกกำลังกาย อาหาร อารมณ์ อนามัยสิ่งแวดล้อม และอโรคยา หรือการลดโรคสำคัญต่าง ๆ ซึ่งมีกิจกรรมระดับชาติในการรณรงค์ให้ประชาชนหันมาใส่ใจการสร้างสุขภาพอย่างเป็นรูปธรรม เช่น กิจกรรมรวมพลังสร้างสุขภาพ ซึ่งจัดต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ . ศ . 2545 จนกระทั่งถึงปี พ . ศ . 2547 มีประชาชนได้ออกกำลังกายพร้อมกันมากกว่า 43 ล้านคน กิจกรรมการรณรงค์อาหารปลอดภัย (Food Safety) ที่มีการดำเนินงานอย่างจริงจังในปี พ . ศ . 2547 ซึ่งรัฐบาลประกาศให้เป็นปีแห่งอาหารปลอดภัย
     นอกจากนี้ ในปี พ . ศ . 2548 ประเทศไทยได้รับเกียรติจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ให้เป็นเจ้าภาพประชุมนานาชาติการส่งเสริมสุขภาพโลก ครั้งที่ 6 (6 th Global Conference on Health Promotion 2005) ระหว่างวันที่ 7 – 11 สิงหาคม 2548 กระทรวงสาธารณสุขจึงได้เตรียมดำเนินนโยบายเมืองไทยแข็งแรง (Health Thailand) ซึ่งขยายการรณรงค์สร้างสุขภาพตามกรอบ 5 อ . ที่ดำเนินการมาแล้วให้เด่นชัดยิ่งขึ้น ซึ่งลำพังกระทรวงสาธารณสุขเพียงหน่วยงานเดียว คงไม่สามารถผลักดันนโยบายการสร้าง สุขภาพคนไทยให้ครอบคลุมมิติต่าง ๆ ดังนั้น คนไทยทุกคน ทุกภาคส่วนจึงมีส่วนสำคัญที่จะส่งผลให้เกิด “ เมืองไทยแข็งแรง ”

2. วิสัยทัศน์ “ เมืองไทยแข็งแรง ” (Healthy Thailand )
     คนไทยอยู่เย็นเป็นสุขทั้งกาย ใจ สังคม และปัญญา / จิตวิญญาณ มีสัมมาอาชีพ มีรายได้ทำงานด้วยความสุข สามารถดำรงชีพบนพื้นฐานของความพอดีพอประมาณอย่างมีเหตุมีผลภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ มีครอบครัวอบอุ่น มั่นคง อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดีต่อสุขภาพ ชีวิตและทรัพย์สิน เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้และช่วยเหลือเกื้อกูลกัน มีสุขภาพแข็งแรง และอายุยืนยาว

3. วัตถุประสงค์ของนโยบาย “ เมืองไทยแข็งแรง ” (Healthy Thailand )
     เพื่อระดมศักยภาพของทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ร่วมกันดำเนินการอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง โดยมีกลไกรับผิดชอบติดตามและผลักดันการดำเนินการต่าง ๆ เพื่อให้ประเทศไทยบรรลุวิสัยทัศน์ “ เมืองไทยแข็งแรง ” (Healthy Thailand)

4. คำประกาศนโยบายและเป้าหมาย “ เมืองไทยแข็งแรง ” (Healthy Thailand )
     4.1 ความแข็งแรงของสุขภาพในมิติทางกาย (Physical Health)
          1) คนไทยที่มีอายุ 6 ปีขึ้นไป ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อสุขภาพในทุกหมู่บ้าน ทุกตำบล ทุกชุมชน ทุกหน่วยงานและสถานประกอบการ
          2) คนไทยได้บริโภคอาหารที่ปลอดภัย มีคุณค่าทางโภชนาการ และเพียงพอต่อความต้องการของร่างราย จากแหล่งผลิตอาหารที่ปลอดสารพิษปนเปื้อน ตลาดสด ร้านอาหารและแผงลอยจำหน่ายอาหารทุกแห่งได้มาตรฐานสุขอนามัย สถานที่ผลิตอาหารทุกแห่งผ่านเกณฑ์ (Good Manufacturing Practice) GMP
          3) คนไทยมีอายุขัยเฉลี่ยยืนยาวพร้อมสุขภาพที่แข็งแรง อัตราการป่วยและตายด้วยโรคที่เป็นสาเหตุการตายอันดันต้น ๆ ของคนไทยลดน้อยลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคเอดส์ โรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคไข้เลือดออก และโรคเบาหวาน
          4) คนไทยลดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาสูบ
          5) คนไทยมีอัตราการบาดเจ็บและตายด้วยอุบัติเหตุลดน้อยลง
          6) คนไทยทุกคนมีหลักประกันการเข้าถึงบริการสุขภาพที่ได้มาตรฐาน
     4.2 ความแข็งแรงของสุขภาพในมิติทางจิตใจ (Mental health)
          1) คนไทยมีครอบครัวที่อบอุ่น เด็กและผู้สูงอายุได้รับการดูแลเอาใจใส่จากครอบครัว
          2) คนไทยมีอัตราการฆ่าตัวตาย ตลอดจนการป่วยด้วยโรคทางจิตประสาทลดน้อยลง
          3) คนไทยมีความฉลาดทางสติปัญญา ( I.Q.) และความฉลาดทางอารมณ์ ( E.Q.) เพิ่มมากขึ้นในระดับที่ต้องไม่ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานสากล
     4.3 ความแข็งแรงของสุขภาพในมิติทางสังคม (Social health) และเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy)
          1) คนไทยมีความปลอดภัยจากอาชญากรรมและความรุนแรง ที่ก่อให้เกิดการประทุษร้ายต่อชีวิต ร่างกายและจิตใจ การประทุษร้ายทางเพศและการประทุษร้ายต่อทรัพย์สิน
          2) คนไทยทุกคนได้รับการศึกษาในระบบโรงเรียนไม่น้อยกว่า 12 ปี และมีโอกาสเรียนรู้ต่อเนื่องตลอดชีวิตเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจและเกิดทักษะทางสุขภาพ (Health Skill) และทักษะการดำเนินชีวิตอย่างเหมาะสม (Life Skill)
          3) คนไทยมีสัมมาอาชีพและรายได้ที่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตอย่างปกติสุข
          4) คนไทยมีที่อยู่อาศัยที่ถูกสุขลักษณะ มีน้ำสะอาดเพื่ออุปโภคบริโภคเพียงพอ และดำรงชีวิตในสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาพดี
     4.4 ความแข็งแรงของสุขภาพในมิติทางปัญญา / จิตวิญญาณ (Spiritual Health)
          1) คนไทยลด ละ เลิกอบายมุขและสิ่งเสพติด
          2) คนไทยมีความรู้ รัก สามัคคี มีความอาทรเกื้อกูลกัน
          3) คนไทยมีสติและปัญญาแก้ไขปัญหาความขัดแย้งรุนแรงต่าง ๆ ด้วยเหตุผลและด้วยสันติวิธี
          4) คนไทยยึดมั่นในหลักศาสนธรรมและวัฒนธรรมที่ดีงาม

5. ระยะเวลาการดำเนินงาน
     เพื่อให้ดำเนินงานบรรลุผล ได้กำหนดระยะเวลาการดำเนินงาน คือ
          ระยะที่ 1 ( สิงหาคม 2547 – สิงหาคม 2548) เพื่อให้สอดคล้องกับการประชุมนานาชาติการส่งเสริมสุขภาพโลก ครั้งที่ 6 ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม
          ระยะที่ 2 ( พ . ศ . 2548 – พ . ศ . 2552) เพื่อให้สอดคล้องกับกรอบระยะเวลานโยบายต่อสู้เอาชนะความยากจนของรัฐบาล
          ระยะที่ 3 ( พ . ศ . 2552 – พ . ศ . 2558) เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (Millennium Development Goals:MDGs) ขององค์การสหประชาชาติ

6. ยุทธศาสตร์ “ รวมพลังสร้างสุขภาพ เพื่อคนไทยแข็งแรง เมืองไทยแข็งแรง ”
     6.1 ใช้พื้นที่เป็นฐาน บูรณาการทุกภาคส่วน สร้างกระบวนการเรียนรู้ สู่วิถีชุมชน โดยดึงเอาพลังทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ และภาคประชาชนในพื้นที่ทุกระดับจากชุมชนสู่หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ และจังหวัด ให้เข้ามามีส่วนร่วมดำเนินการภายใต้กระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน และทำงานอย่างเป็นเอกภาพ
     6.2 เน้นการทำงานที่สถานที่ตั้ง (Setting) และกลุ่มวัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดึงพลังศักยภาพของเยาวชน พลังสตรี ผู้สูงอายุ ผู้นำศาสนา ผู้ด้อยโอกาส ผู้พิการ ชุมชนต่างวัฒนธรรม ผู้บริหารองค์กรปกครองท้องถิ่น ผู้นำชุมชน และเจ้าของสถานประกอบการร่วมกันสร้าง “ เมืองไทยแข็งแรง ” (Healthy Thailand)
     6.3 ใช้กลยุทธ์ 7 ประการในการดำเนินงาน คือ
          6.3.1 กลยุทธ์การสร้างการมีส่วนร่วม (Participation Strategy)
          6.3.2 กลยุทธ์การสื่อสารสาธารณะ (Communication Strategy)
          6.3.3 กลยุทธ์การเสริมความเข้มแข็งทางจิตใจและการมีสำนึกสาธารณะ (Strengthening and Creating Public Mind Strategy)
          6.3.4 กลยุทธ์การจัดบริการ (Service Strategy)
          6.3.5 กลยุทธ์การใช้มาตรการทางสังคม (Social Measure Strategy)
          6.3.6 กลยุทธ์การพัฒนาวิชาการและการเรียนรู้ (Knowledge and Learning Strategy)
          6.3.7 กลยุทธ์การบริหารจัดการมุ่งผลสำเร็จ (Result Based Management Strategy)

     สืบเนื่องจากเมื่อวานซืน (21 ต.ค. 2548) ผมได้ไปเป็นวิทยากรนำฯ ในการเตรียมทีมเพื่อยกร่างและทบทวนแผนยุทธศาสตร์พัฒนาสุขภาพ ระดับอำเภอเขาชัยสน ซึ่งได้เขียนไว้แล้วที่ ผู้ก่อการดี "ยุทธศาสตร์พัฒนาสุขภาพอำเภอเขาชัยสน" และมีประเด็นที่ผมค้างทีมนำฯ ไว้คือการส่งเอกสารที่ review เรื่องแผนยุทธศาสตร์ระดับต่าง ๆ ไว้ ซึ่งจะได้นำเสนอไว้และให้ทีมนำฯ ได้เข้ามาใช้ประโยชน์ และจะเป็นช่องทางหนึ่งที่กึ่งทำให้เขาคุ้นเคยกับ Blog ด้วย

หมายเหตุ : เรื่องทั้งหมดที่บันทึกไว้เป็นตอน ๆ คือ

[แผนพัฒนาสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 9]      [แผนยุทธศาสตร์ของกระทรวงสาธารณสุข]
[วาระแห่งชาติ "เมืองไทยแข็งแรง]      [แผนยุทธศาสตร์ “การสนับสนุนและพัฒนาการกระจายอำนาจด้านสุขภาพ”]
[แผนยุทธศาสตร์จังหวัดพัทลุง]    
 [แผนยุทธศาสตร์จังหวัดพัทลุง ด้านสาธารณสุข]      [ปัญหาสาธารณสุข จังหวัดพัทลุง ปี 2547-2549]      [แผนยุทธศาสตร์กลุ่มงานประกันสุขภาพ สสจ.พัทลุง ปี 2548 - 2550]

หมายเลขบันทึก: 5760เขียนเมื่อ 23 ตุลาคม 2005 01:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มีนาคม 2015 08:31 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท