บ้านของเรา ข้าวของเรา ดินของเรา ทำเอง ใช้เอง


ฝนตกต้อนรับวันจันทร์ ตกหนักก่อนเลิกเรียน เมื่อฝนซาจึงแบบกจอบออกไปขุดทางน้ำให้ไหลเข้าแปลงนา และอีกส่วนไหลลงบ่อของโรงเรียนเพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้

ต้นข้าวในแปลงนาตั้งแต่งอกออกจากเมล็ด โยนลงแปลงนา และล่วงเลยมาถึงวันนี้นับได้มีอายุ 30 กว่าวันแล้ว สังเกตเห็นข้าวเริ่มแตกกอครั้งที่ 1 ตามหลักการของชาวนา การแตกกอของข้าวจะแตกกอ 3 ครั้ง แบบทวีคูณของ 3 สรุปข้าว 1 ต้น เมื่อแตกกอครบ 3 ครั้ง จะได้ต้นข้าว 27 ต้น (พ่อผมบอก) หากบริหารจัดการดีๆชาวนาสามารถประหยัดต้นทุนได้มากโข เช่นค่าเมล็ดพันธุ์ ค่าปุ๋ย ค่ายากำจัดศัตรูข้าว และปลูกในช่วงเวลาที่เหมาะสม พร้อมวิธีการปลุกที่เหมาะสมด้วย แต่ปัจจุบันนี้ชาวนาส่วนใหญ่ทำนากันเพียง 3 วัน ..เพราะอาศัยใช้เงินทุนมากกว่าใช้แรงงานของตนเอง

แปลงนาสาธิตของโรงเรียนเรา เพาะกล้าลงถาดหลุมจำนวน 10 ถาด ๆละ 100 หลุม ได้ต้นกล้า 1,000 หลุม ลองคิดเล่นๆหากข้าวแตกกอครบ  3 ครั้ง จะมีจำนวนต้นข้าวมากน้อยเพียงใด

วันนี้ทดลองถอนต้นข้าวที่แตกกอแล้วขึ้นมาดู พบว่ารากมีขนาดใหญ่ จำนวนเยอะมาก สีขาวสวย ต้นข้าวอวบใหญ่ แต่ละต้นแยกได้ 3 ต้น จึงปักดำลงไปแต่แยกเอาไว้ เพื่อรอดูการแตกกอว่า จาก 1 เป็น 3 แล้วจาก 3 จะเป็น 9 จาก 9 จะเป็น 27 ต้นหรือไม่

วันนี้ต้นข้าวมีน้ำขัง แลดูเขียวสวยสดใส ข้าวในแปลงนาสาธิตเป็นข้าวอินทรีย์ ไม่ใช้ปุ๋ยเคมีเลย แต่มีการทำปุ๋ยพืชสด การใช้ดินจากการหมักใบไม้ โครงงานที่ได้รับรางวัลชมเชยระดับประเทศ เรามีพื้นที่ มีแรงงาน มีน้ำ มีดิน มีความรู้ เราจึงทำเอง ผลิตเอง ใช้เอง แบบนี้สินะที่เรียกว่าการพอเพียง เพียงพอและยั่งยืน....

หมายเลขบันทึก: 575984เขียนเมื่อ 9 กันยายน 2014 18:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 กันยายน 2014 18:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท