​เรียนรู้พันธกิจมหาวิทยาลัยเพื่อสังคมที่ออสเตรเลีย : ๑๑. การจัดองค์กรสนับสนุนการรับใช้สังคม


          วันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๕๗ คณะดูงานไปดูงานที่หน่วยงานชื่อ Shopfront (www.shopfront.uts.edu.au) ของมหาวิทยาลัย เทคโนโลยีซิดนีย์ (UTS – University of Technology Sydney)

          ผมสรุปกับตนเองว่า นี่คือรูปแบบหนึ่งของการจัดองค์กรเพื่อสนับสนุนการรับใช้สังคม ของมหาวิทยาลัย ที่ทำหน้าที่เชื่อมโยงระหว่างนักวิชาการกับชุมชน ตามแนวคิดที่ผมเคยเสนอไว้เมื่อ ๔ ปีที่แล้ว ที่นี่ และ ที่นี่

          Shopfront เป็นหน่วยงานแบบนี้หน่วยงานแรกและหน่วยงานเดียวในประเทศออสเตรเลีย และตั้ง มาแล้ว ๑๘ ปี โดยมีผู้นำร่วมกัน ๒ คน คือ Prof. Paul Ashton, ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์ Faculty of Arts and Social Science, ทำหน้าที่ Director ของ Shopfront และ Pauline O’Loughlin ทำหน้าที่เป็น Program Director มาตั้งแต่ต้นจนปัจจุบัน ในออสเตรเลีย คุณเปาลีน มีฐานะเป็น Professional Staff เท่ากับว่า Shopfront มีผู้นำ ๒ คน เป็น Academic Staff หนึ่งคน เป็น Professional Staff หนึ่งคน ทำงานร่วมกันตั้งแต่ต้น มาจนถึงปัจจุบัน

          ประเด็นสำคัญคือ ได้รับการสนับสนุนจากอธิการบดี อย่างดียิ่ง

          Shopfront คิดชัดกว่าผมมาก เพราะต้องลงมือปฏิบัติ โดยมีเป้าหมายสำคัญที่สุดที่ตัวนักศึกษา เพื่อให้นักศึกษาได้มีประสบการณ์การทำงานอาสาเพื่อประโยชน์ต่อสังคม เชื่อมโยงกับวิชาหรือวิชาชีพที่ตนเรียน โดยมีอาจารย์เป็นที่ปรึกษาหรือเป็นโค้ช สังคมหรือชุมชนที่เป็นเป้าหมายคือชุมชนด้อยโอกาส ดังนั้นเป้าหมาย ลึกๆ คือ เพื่อให้นักศึกษาได้รู้จักและเข้าใจคนในกลุ่มผู้ด้อยโอกาส โดยที่กิจกรรมที่จะทำเป็นงานจริงๆ ที่ต้องมี การเสนอผลงาน และชุมชนได้รับผลตามที่กำหนดไว้

          เท่ากับนักศึกษาได้มีโอกาสทำงาน หรือฝึกงานในสถานการณ์จริง ในประเด็นที่เชื่อมโยงกับสาขาวิชา ที่ตนเรียน พร้อมกับได้ฝึกฝนปลูกฝังจิตอาสาขึ้นภายในตนด้วย และอาจารย์เจ้าของรายวิชา ก็ได้ใช้กิจกรรมของ Shopfront ในการช่วยให้นักศึกษาของตนได้เรียนประยุกต์ใช้ความรู้ในสถานการณ์จริง

          นักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการนี้เป็นนักศึกษาปีสุดท้าย หรือนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา เพราะต้องเป็น นักศึกษาที่มีพื้นความรู้ดีแล้วไปทำงาน เพื่อให้เกิดผลดีจริงๆ เกิดการยอมรับของชุมชน และมีการบอกต่อหรือ เล่าลือ ทำให้มีฝ่ายชุมชนหรือประชาสังคมเอาปัญหาหรือโครงการมาปรึกษา Shopfront ว่าจะช่วยได้หรือไม่

          ความท้าทายของ Shopfront คือต้องเลือกกิจกรรมที่เหมาะต่อนักศึกษา และหากกิจกรรมใหญ่เกินไป ก็ต้องแบ่งเป็นหลายส่วน ให้นักศึกษาดำเนินการหลายทีม (โดยเฉลี่ยทีมละ ๓ คน แต่ที่นักศึกษาทำคนเดียวก็มี) คุณ เปาลีน บอกว่า เขาต้องระมัดระวังให้เป็นงานอาสา ที่ไม่มีเงินหรือสิ่งตอบแทน จริงๆ ต้องระวังไม่ให้มีคน เอางานมาให้นักศึกษาทำผ่านโครงการนี้แบบจ้างงาน

          เป้าหมายของโครงการ Shopfront มี ๕ ประการ คือ (๑) ส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้สองทาง ระหว่างชุมชนกับมหาวิทยาลัย (๒) เพื่อส่งเสริมให้เกิดบทบาทการสอนแบบบูรณาการ เพื่อให้เกิดพันธกิจ มหาวิทยาลัยเพื่อสังคม และต่อการเรียนรู้จากประสบการณ์ตรงของนักศึกษา (๓) เพื่อส่งเสริมให้เกิด teaching resource แก่อาจารย์ทั้งมหาวิทยาลัย ที่จัดการเรียนรู้แบบ Work-integrated Learning และ multidisciplinary learning (๔) ส่งเสริมการวิจัยที่มีประโยชน์ต่อสังคม (๕) ส่งเสริมกิจกรรมที่ดำเนินการร่วมกันหลายคณะวิชา ทั้งที่เป็นการสอน การวิจัย และกิจกรรมในชุมชน

          เขาบอกว่า โครงการ Shopfront จำนวนหนึ่ง นอกจากชุมชนได้รับประโยชน์แล้ว อาจารย์ก็ได้ ผลงานวิจัยด้วย นำไปสู่การริเริ่มของสำนักงาน Shopfront จัดทำวารสาร ออนไลน์ ที่เป็น open access ชื่อ Gateways : International Journal of Community Research & Engagement (http://epress.lib.uts.edu.au/journals/index.php/ijcre) เป็นวารสารที่มี peer review อย่างพิถีพิถัน ออกปีละ ๑ ฉบับ และอยู่ในฐานข้อมูลวารสารวิชาการ ปี 2014 เป็นฉบับที่ ๗

          อีกโครงการที่น่าสนใจ ที่เปิดกว้างกว่า คือโครงการ Soul Awardที่ให้ Award แก่นักศึกษาที่ทำ กิจกรรมอาสาสมัคร (ที่ประสานงานโดยทีมจัดการโครงการ Soul) ครบ ๑๐๐ หน่วย โดยคิด ๑ ชั่วโมงเท่ากับ หนึ่งหน่วย ผู้ได้รับ Award จะได้รับการบันทึก Award นี้ในใบ transcript

          นักศึกษาที่ต้องการเข้าโครงการนี้ต้องเข้ารับการอบรมเพื่อทำความรู้จักโครงการ เรียนรู้เรื่องภาวะผู้นำ เรื่องประเด็นหรือปัญหาทางสังคม และวิธีจัดการโครงการ คือเขาไม่ได้ปล่อยให้นักศึกษาไปทำกิจกรรมกันเอง ทางโครงการ Soul มีการติดต่อกับชุมชน มีงานที่เหมาะสม และมีการโค้ช ให้แก่นักศึกษา

          เป้าหมายของโครงการนี้เพื่อ (๑) พัฒนาภาวะผู้นำ (๒) สร้างจิตอาสา (๓) ฝึกการทำงานเป็นทีม และ (๔) รู้จักชุมชนหรือสังคมด้อยโอกาส

          ในภาพรวม Shopfront ทั้งหมดใช้เงินปีละ ๖ แสนเหรียญ (ออสเตรเลีย) ซึ่งตกประมาณ ๑๙ ล้านบาท เป็นส่วนกิจกรรม Shopfront ประมาณ ๑๔ ล้านบาท อีก ๕ ล้านบาทเป็นส่วนของ Soul Award เขาบอกว่า เขามีฐานะเป็นองค์กรไม่แสวงกำไร ผู้บริจาคเงิน เอาไปลดหย่อนภาษีได้ ในรายงานประจำปี 2013 หน้าหลังสุด ระบุ Financial Statement ไว้ โดยบอกว่า UTS สนับสนุนเงินส่วนที่เป็นเงินเดือน เงินค่าดำเนินการ รวมทั้ง สถานที่ การสนับสนุนด้านเทคโนโลยี อี-เมล์ อินเทอร์เน็ต และอื่นๆ ระบุรายได้จากงานวิจัยและงานที่ปรึกษา 47,659 เหรียญ ได้รับจากมหาวิทยาลัย 393,000 เหรียญ

           จากการซักถาม และสังเกตจากค่าใช้จ่ายของ Shopfront ตามที่ระบุในรายงานการเงินค่าใช้จ่ายในส่วน ของกิจกรรมในชุมชนส่วนใหญ่น่าจะได้จากชุมชนเอง หรือได้จากการบริจาค โดยที่ Shopfront และนักศึกษา ทำงานให้แก่ชุมชนโดยไม่คิดค่าตอบแทน

          สถาบันคลังสมองฯ จะจัดการประชุมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ การทำงานโครงการ Shopfront และ Soul Award ในเดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๗ ที่ มศว. โดยท่านอธิการบดี มศว. เชิญผู้นำทั้งสองของ Shopfront มาเป็นวิทยากร เราคงจะได้เรียนรู้รายละเอียดวิธีทำงาน มากกว่าที่เล่าในบันทึกนี้ ซึ่งได้จากการพูดคุยซักถาม ไม่ถึงสองชั่วโมง

            อาคารของ UTS ที่เราไปเยี่ยมเป็นตึกสูง ที่ชั้นล่างบรรยากาศเป็นอย่างนี้

                                            บรรยากาศในห้องประชุม

                                        ผู้นำสองท่านของ Shopfront

วิจารณ์ พานิช

๒๖ ก.ค. ๕๗

หมายเลขบันทึก: 575891เขียนเมื่อ 8 กันยายน 2014 15:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 กันยายน 2014 15:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท