PLC เทศบาลเมืองมหาสารคาม _ : ผอ.ดร.สมปอง มาตย์แท่น (๑)


ครูสมปอง มาตย์แท่น | เมื่อผู้บริหารลงมือแก้ปัญหาอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้

(ถอดบทเรียน เขียนเล่าเรื่องโดย ฤทธิไกรไชยงาม)

ดร.สมปอง มาตย์แท่น เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนศรีสวัสดิ์วิทยา แต่ที่ผมเขียนนำหน้าชื่อท่านว่า “ครู” เพราะบทบาทที่จะเล่าให้ฟังต่อไปนี้ ท่านเป็น “ครู BP เทศบาลเมืองมหาสารคาม” ที่ประสบผลสำเร็จในการแก้ปัญหาอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ของนักเรียน ซึ่งเป็นปัญหาระดับชาติ. ท่านบอกว่า จำนวนนักเรียนเพิ่ม ๒๐๐ คน เพราะผู้ปกครองเชื่อมั่นว่า ลูกของตนเองสามารถ "อ่านออก เขียนได้" หลังจากที่ท่านใช้วิธีนี้ ตอนนี้จึงเน้นเรื่องการ "อ่านไม่ออก เขียนไม่คล่อง".และกำลังจะยกเป็นอัตลักษณ์ของโรงเรียน

ดูเหมือนท่านจะตกผลึกแล้วกับแนวทางการแก้ปัญหาเด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ เพราะฟังจากน้ำเสียงและเรื่องราวที่ท่านเล่าให้ฟังนั้น แสดงถึงความเข้าใจในปัญหา “เด็ก ที่อ่านไม่ออก จะไปโทษครูไม่ได้นะ เพราะครูก็สอนกันมาก สอนกันเหมือนเดิม เพราะหลักสูตรไม่ดี ผิดที่หลักสูตร และตอนนี้ผู้ปกครองส่วนใหญ่ก็ไม่สามารถช่วยสอนการบ้านได้ จึงเป็นปัญหาหลายด้าน”มั่นใจเพราะได้ทำสำเร็จเกิดผลลัพธ์แล้ว เช่นตอนหนึ่งท่านบอกอย่าง “ฟันธง” ว่า “ความจริงครูไม่ต้องทำอะไรนอกจากสอนให้หนักเท่านั้นแหละ..ปากต่อปากไปเอง ทำมาแล้ว ๒ ปี เด็กเพิ่มขึ้น ๒๐๐ คน” และภูมิใจในผลงานเชิงประจักษ์ และสามารถบอกวิธีการได้อย่างละเอียดชัดเจน เพราะท่านฟันฝ่ามาด้วยตัวท่านเอง ผมสังเคราะห์แผนผังขั้นตอนและวิธีการแก้ปัญหานักเรียนอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ จากเรื่องที่ท่านเล่าให้ฟัง ดังเช่น ประโยคต่อไปนี้

“...เน้นที่ปรับพื้นฐานของนักเรียนนี่แหละ "ทำซ้ำ ทำย้ำ ทำบ่อย" ทำเป็นกิจวัตรของเรา "ซ้ำ" หมายความว่า ทุกชั่วโมงก่อนสอน ๕ นาที และหลักเลิกเรียน รวมกลุ่มทุกวัน มีท่องสูตรคูณ เรียนรู้คำ เรียนรู้ประโยค ถ้าเป็นภาษาอังกฤษอาจจะเป็นเพลง ทำแบบนี้ได้ผลมาก ควบคุมหนักๆ อยู่ ๑ เทอม ... เราพิสูจน์แล้วว่า หลักสูตรปี '๐๓ ดีที่สุด... ถ้าเด็กท่องได้แล้ว อ่านได้แล้ว จะเกิดความคิด ความอ่าน ต่อยอดออกไปได้ จะ "แตก" ออกไป แต่ถ้าจำไม่ได้ว่ามีอะไรบ้าง จะเอาอะไรมาต่อ มาสะกด จะเอาอะไรมาผสมอะไร ... ความรู้ต้องติดไปในสมองก่อนต้องได้ตั้งแต่ต้นทาง...”

“...ต้องศึกษาเด็กก่อน ผอ.จะไปดูว่ากลุ่มไหนเด็กเก่ง คัดกรองเด็กก่อน เมื่อรู้ว่าใครได้ไม่ได้ ก็เอานักเรียนที่ทำได้มาเป็น "หลัก" ย้ายมาปีแรก ไปสอนแทนเด็ก ป.๔ เด็ก ๒๗ คน อ่านออกอยู่ ๗ คน ...ทีแรกนำมาทำเองเลย ตอนพักเที่ยงและหลังเลิกเรียน เราทำให้ครูเห็นเป็นตัวอย่างก่อน”

“...เอา ๗ คน มาคุยว่า เขาต้องดูแลเพื่อน รับผิดชอบเพื่อน สอนเพื่อน แล้วแบ่งเด็กที่เหลือเป็น ๗ กลุ่ม โดยให้สมัครใจว่าใครจะไปอยู่กับใคร”

“...แรกๆ ครูเป็นคนหาให้ และสร้างหัวหน้าทีม หรือเด็กแกนนำก่อน ใช้วิธียกย่อง เชิดชู ให้เป็นฮีโร่ในกลุ่ม พบว่า นักเรียนแกนนำจะแข็งขันมาก เขาอยากจะให้เพื่อนได้ ผอ. จะอยู่แถวนั้น ไม่ไปไหนเลย คอยดู... สอนตั้งแต่ฟังไปเลย อ่านให้ฟัง พาอ่าน ฟังอ่าน...”

“...เขาว่างตอนไหน แล้วแต่เขา ส่วนใหญ่ตายตัวคือ พักเที่ยง กับหลังเลิกเรียน ครูมอบงานให้ เมื่อทำเสร็จแล้ว ก็ให้ไปเล่นได้...”

“...แรกๆ เราทั้งช่วยสอน ทั้งช่วยหา ต่อๆ มาก็ปล่อยให้เขาทำเอง คิดเอง หาหนังสือเอง เขาชอบแบบไหน หนังสืออะไร เราต้องสร้างแหล่งเรียนรู้ให้เขาด้วย ซื้อหนังสือปีที่แล้วให้นักเรียนไปเลือก...ตอนนั้นขอซื้อหนังสือเข้าห้องสมุด ๑ แสนบาทเลือกมากองไว้ๆ แล้วก็ซื้อมา แต่เราเป็นคนกำกับ เชียร์ เผลอไม่ได้...”

“หาหนังสือง่ายๆ มาให้อ่าน หนังสืออนุบาล ๑ ป.๑ มาให้อ่าน ทำต่อเนื่องจนเป็นนิสัย ถึงเวลาก็จะวิ่งมา”

“สำคัญคือ การชม สำคัญมาก และถามไถ่ เห็นหน้าเมื่อไหร่ ทักเรื่องนี้ทันที...ต้องรักเขาด้วยนะ ...พอเขารู้สึกว่าได้รับความอบอุ่น ก็จะทำตัวดีขึ้น”

ท่านใช้วิธีแก้ไขแบบสไตล์ "นักปฏิบัติ" ทันที ด้วยรูปแบบการพัฒนาคล้ายบันได ๓ ขั้น คือ ขั้นเตรียม ขั้นสอน และขั้นส่งเสริมให้เรียนรู้ด้วยตนเอง ดังรูป

ขั้นเตรียม

๑)การคัดกรองนักเรียนเพื่อค้นหา “นักเรียนแกนนำ” แล้วคุยให้เข้าใจ และสร้างแรงจูงใจ โดยการยกย่องให้ความสำคัญในการแบ่งปันช่วยสอนเพื่อน

๒)พัฒนานักเรียนแกนนำ โดยในเบื้องต้น ครูเป็นผู้สืบค้นให้ จัดเตรียมเอกสาร ใบงานให้ หาหนังสือที่ง่ายๆ เหมาะสม เช่น หนังสือระดับอนุบาล ๑. ฯลฯ

๓)แบ่งกลุ่มตามจำนวนนักเรียนแกนนำที่มี เพื่อให้นักเรียนแกนนำแต่ละคนได้ช่วยเหลือเพื่อนหรือน้องได้อย่างเต็มที่ แล้วให้นักเรียนกลุ่มเป้าหมาย เลือกเองว่าจะไปอยู่กับนักเรียนแกนนำคนใด

ขั้นสอน

๔)ครูเป็นผู้ “พาทำ” ที่ละขั้นตอน ตั้งแต่อ่านให้ฟัง “พาอ่าน” และ “ฟังอ่าน” คือ ให้อ่านให้ฟัง โดยใช้เวลาพักเที่ยงและหลังเลิกเรียนทุกวันนอกจากนี้แล้ว ยังกำหนดให้ทำกิจกรรมอื่นๆ เพื่อให้นักเรียนได้ฝึก “ซ้ำๆ ย้ำๆ บ่อยๆ” ได้แก่ ใช้เวลา ๕ นาทีก่อนเรียนทุกคาบเรียน เรียนรู้คำเรียนรู้ประโยคใหม่ หลังเลิกเรียนให้ท่องบทอาขยาน และสูตรคูณ ฯลฯ

๕)ให้นักเรียนแกนนำเป็นผู้ “พาอ่าน พาทำ และ ฟังอ่าน” ครูเปลี่ยนมาทำหน้าที่เป็นครูฝึก (Coach) เอาใจใส่ ไม่ไปไหน อยู่ให้นักเรียนรู้ว่ากำลังดูอยู่ และใช้จิตวิทยาเชิงบวก ยกย่อง ชมเชย เสริมแรงบ่อยๆ

ขั้นเรียนรู้ด้วยตนเอง

๖)ให้นักเรียนแกนนำ “นำอ่าน” และ “ฟังอ่าน” และให้ดำเนินการ “ขั้นเตรียม” เอง คือ ให้นักเรียนแกนนำเป็นผู้เลือกหนังสือ เลือกเนื้อหา ใบงาน สื่อ ฯลฯ และให้เป็นผู้ออกแบบเวลา สถานที่ เหมือนนักเรียนแกนนำทำหน้าที่คลาย Coach ครูเปลี่ยนบทบาทเป็นพี่เลี้ยง (Metor) ของนักเรียนแกนนำอีกที

ด้วยวิธีการในลักษณะ ๖ ขั้นตอนนี้ ท่านสามารถทำให้ปัญหาอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ลดลงจนเกิดการ “พูดปากต่อปาก” ของผู้ปกครอง จนนำมาซึ่งความเชื่อมั่นส่งลูกเข้าเรียนในโรงเรียนศรีสวัสดิ์วิทยามากขึ้น

หมายเลขบันทึก: 575890เขียนเมื่อ 8 กันยายน 2014 15:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 กันยายน 2014 15:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

บันได 3  ขั้นเลยนะคะ  

- ครูพาทำ-ครูทำให้ดู

- นักเรียนแกนนำ- ทำเอง

- นักเรียนเรียนเป็นทีม - ด้วยตนเอง

ดีจังเลยค่ะ

ขอบคุณมากค่ะ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท