บันทึกการเดินทางด้วยรอยเท้าตนเอง (31) : ณ ที่ตรงนั้น



การลงพื้นที่ชุมชนแต่ละครั้ง ผมไม่ได้จบกระบวนการคิดแค่ให้รู้ว่าสถานที่ตรงนั้นตั้งอยู่ที่ใด

แต่จะเฝ้ามองให้ลึกไปกว่านั้นว่าสถานที่ดังกล่าวมีหน้าตาอย่างไร-ทำหน้าที่อะไร  หรือเกี่ยวโยงสัมพันธ์กับผู้คนในชุมชนอย่างไร






กรณีเช่นนี้-นานมาแล้ว  ผมไปเยี่ยมชมการจัดกระบวนการเรียนรู้ของนิสิตกับชุมชน
ผมมีโอกาสได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับนิสิตกลุ่มดังกล่าว

นิสิตสะท้อนข้อมูลการเรียนรู้กับผมอย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรมผ่านสื่อต่างๆ หนึ่งในนั้นก็คือแผนที่เดินดิน รวมถึงการบอกเล่าถึงสถานที่ต่างๆ ในชุมชนอย่างเสร็จสรรพ

ครับ-ต้องยอมรับว่าข้อมูลคืนกลับมานั้นมีเยอะมาก
จนอดที่จะดีใจแทนชาวบ้านไม่ได้    เพราะข้อมูลที่ได้มานั้นมากมายพอที่จะแปลงไปสู่ต้นทุนสำหรับการทำแผนพัฒนา หรือส่งมอบให้กับผู้ที่เกี่ยวข้อง  เพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนชุมชนให้เข้มแข็งและมีพลังได้อย่างไม่ยากเย็น





แต่ปัญหามันมีอยู่ว่า---
ผมถามนิสิตว่า สถานที่เหล่านั้นทำหน้าที่อะไร มีความสำคัญอย่างไร เช่น หอระฆัง ดอนปู่ตา

ครับ-เป็นการถามเพื่อเรียนรู้ร่วมกัน  มิใช่ถามเพื่อ “ลองของ” หรือ “หมิ่นแคลนนิสิตกับอาจารย์” ที่ดูแลโครงการดังกล่าว

เชื่อมั๊ยครับ-ค่อนครึ่งตอบไม่ได้เลยว่าภายใต้ “พิกัด” สถานที่ที่นิสิตสื่อสารกับผมนั้นมีอะไรมากกว่าการตั้งตระหง่านที่มองด้วยตาเปล่าๆ

นิสิตไม่อาจเล่าได้เลยว่า หอระฆังที่ว่านั้นสร้างเมื่อไหร่ มีการระดมทุนอย่างไร หอบหิ้วไปทำไกลแสนไกลและขนใส่เกวียนเดินทางมายังหมู่บ้านยาวนานเป็นเดือนๆ...

เช่นเดียวกับการบอกไม่ได้ว่าภายในป่าชุมชนอันเป็นดอนปู่ตานั้นมีแมกไม้ใด  มีสมุนไพรชนิดใด  มีแหล่งน้ำมั๊ย  ชาวบ้านใช้ประโยชน์อย่างไร  มีฤดูกาลและพิธีกรรมเช่นใด  หมอยาในชุมชนเก็บหยูกยาจากป่าผืนนี้หรือไม่  และใครเป็น “เฒ่าจ้ำ”...







ครับ-ยืนยันว่าแลกเปลี่ยนกันแบบกัลยาณมิตร ไม่ได้ดุ ไม่เข้ม –เอาจริงเอาจัง เพียงแต่หยิกแซวแบบสายลมแสงแดด ทิ้งประเด็นให้คิดแบบเนียนๆ...

แน่นอนครับ-ผมเชื่อและศรัทธาต่อการเรียนรู้เช่นนั้น
ผมเชื่อว่าในทุกๆ ที่ล้วนเต็มไปด้วยความรู้ เต็มไปด้วยเรื่องเล่า...เต็มไปด้วยระยะทางแห่งการก่อเกิด ดำรงอยู่ แดกดับ –คืนกลับ หรือกระทั่งแตกยอด ผลัดใบเป็นอื่นจากฐานรากอันเป็นปฐมบท-   สำคัญว่าเราจะถอดรหัสมันได้มากน้อยแค่ไหน

ในฐานะคนเชื่อมร้อยกระบวนการเรียนรู้อย่างผม   คงทำได้แค่นี้แหละครับ สังเกตการณ์ กระตุ้น ทิ้งประเด็นชวนขบคิดและลงมือทำ

ส่วนจะคิดหรือไม่ (คิดได้หรือไม่)  จะทำหรือไม่  (ทำได้หรือไม่)  มันเป็นสิทธิส่วนบุคคล
เราล้วนมีระยะทางแห่งการเรียนรู้ยาวไกล
ครับ-ยาวไกลและยาวไกล จริงๆ


หมายเหตุ  
แรงคิดจากการเห็นเด็กๆ วิ่งเล่นในลานวัด
วัด ซึ่งทำหน้าที่มากกว่าเผยแผ่ศาสนา

๗  กันยายน ๒๕๕๗
โนนแสบง มหาสารคาม

หมายเลขบันทึก: 575881เขียนเมื่อ 8 กันยายน 2014 10:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 กันยายน 2014 10:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

ชอบใจที่ทำให้นิสิตได้รู้รากเหง้าของชุมชนว่าเป็นมาอย่างไร

ในแต่ละสถานที่มีความเป็นมาไม่เหมือนกัน

ชอบใจภาพเด็กๆกระโดดยางด้วย

ปัจจุบันไม่ค่อยมีแล้วนะครับ

ขอบคุณครับ

ข้อมูล สำคัญมากๆๆ นะคะ ...ที่จะนำไปเป็น .."ต้นทุน" สำหรับการทำแผนพัฒนา หรือส่งมอบให้กับผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนชุมชนให้เข้มแข็งและมีพลังได้อย่าง .... ขอบคุณบันทึกดีดีนี้ค่ะ

สุขสันต์วันบุญข้าวสารท วันไหว้พระจันทร์ ค่ะ

ต้องรู้จักตนเองก่อนจึงจะรู้จักผู้อื่น  คือสิ่งที่สำคัญที่สุดจ้ะ

อันนี้ศิลปะขั้นสูงเลยนะคะ

"...หยิกแซวแบบสายลมแสงแดด  ทิ้งประเด็นให้คิดแบบเนียนๆ..."

ไม่เร่งรัดกดหนักจิตใจเกินไป   ผ่อนคลายสบาย ๆ  ....   เยี่ยมยุทธ์ค่ะ 

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท