สองตัวก่อเรื่อง


ในธรรมที่เป็นเหตุเนิ่นช้า หรือ ปปัญจธรรม ๓ ที่ประกอบด้วยตัณหา ทิฏฐิ มานะ นั้น ตัณหาและทิฏฐิ เป็นเรื่องที่ไม่เกินวิสัยคนธรรมดาอย่างเราๆจะจัดการแก้ไขได้ แต่มานะนั้น เกินกำลังค่ะ เพราะมีแต่พระอรหันต์เท่านั้นที่ละมานะได้

ตัณหา โดยทั่วไปเราแปลกันว่าความอยาก ความปรารถนา หากยังมีความหมายอื่นๆที่รวมลงอยู่ในคำว่าตัณหาด้วยค่ะ นั่นคือ ความกำหนัด ความคล้อยตามอารมณ์ ความยินดี ความเพลิดเพลิน ความหมกมุ่น ความข้องอยู่ ความคะนึงหา ความหวัง กิริยาที่หวัง ความละโมบ ความติดใจ ความหมายปอง ธรรมชาติที่กระซิบ ธรรมชาติที่ร้อยรัด ฯลฯ

 

ทิฏฐิ คือ ความเห็น ทฤษฎี

มานะ คือความถือตัว ความสำคัญตนว่าเป็นนั่นเป็นนี่

เราจึงถือตนว่าเป็นนั่นนี่ตามแต่ตัณหาและทิฏฐิจะนำไป ดังนั้นจึงมีเรื่องให้จิตใจไม่ผ่องใส กระวนกระวายใจ ขัดใจ ทุกข์ใจในชีวิตประจำวันได้มากมาย ตั้งแต่เรื่องเล็กๆน้อยๆไปจนถึงเรื่องใหญ่ๆ

เราควรเห็นภัยแม้แต่เรื่องเล็กๆน้อยๆ ดังนั้น แม้แต่เรื่องเล็กน้อย ก็ไม่ควรมองข้าม ที่ว่าไม่ควรมองข้าม หมายถึงไม่ใช่เก็บมาคิดเล็กคิดน้อยจนเรื่องเล็กกลายเป็นเรื่องใหญ่นะคะ แต่เก็บมาพิจารณาเพื่อละ บรรเทา ทำให้ไม่มีอีกต่อไป เพราะเรื่องเล็กๆน้อยๆ พอทำบ่อยๆ ก็กลายเป็นกิเลสกองใหญ่ได้

พระสารีบุตรอธิบายไว้ในคัมภีร์มหานิทเทสว่า การเชิดชู, การกำหนด, การติดในรูปที่เห็นและเสียงที่ทราบ, การยึดมั่นว่าเป็นของเรา, การคิดปรุงแต่ง ฯลฯ ล้วนเกิดจากธรรมทั้งสองคือตัณหาและทิฏฐินี่แหละค่ะ

เช่น

การเชิดชูสิ่งใดๆด้วยอำนาจของทิฏฐิและตัณหา เช่น เชิดชูทิฏฐิที่ว่าบุคคลจะตายเมื่อไรไม่มีใครรู้ เมื่อยังมีชีวิตอยู่ จึงควรกิน ดื่ม เที่ยว ใช้ชีวิตให้ให้เต็มที่ อย่างที่มีประโยคฮิตติดปากว่า “ชีวิตของเรา ใช้ซะ” เป็นต้น จึงอยากทำอะไรๆตามทิฏฐิที่ตนเชิดชู

ทำได้ก็แล้วไป ทำไม่ได้ก็ทุกข์ใจนะคะ

การกำหนดด้วยอำนาจของทิฏฐิและตัณหาเช่น กำหนดด้วย ทิฏฐิว่าธรรมนี้เป็นสิ่งดี ทุกคนควรปฏิบัติตาม ก็เกิดความอยากให้คนในครอบครัว คนใกล้ชิด บุคคลในสังคมเห็นพ้องด้วยและปฏิบัติตามตน แต่เพราะธาตุมีหลายธาตุ บุคคลจึงมีความเชื่อ ความชอบ วัตรปฏิบัติแตกต่างกันไป เมื่อไม่เป็นไปตามที่ตนติดข้อง ก็อาจนำไปสู่ความเสียใจ กระวนกระวาย ทุกข์ใจ

การติดในรูปที่เห็น เสียงที่ได้ยินด้วยอำนาจทิฏฐิและตัณหา เช่น ติดในทิฏฐิว่า รูปของบุคคลที่ยิ้มแย้มแจ่มใส น้ำเสียงหรือถ้อยคำที่ไพเราะรื่นหู เป็นต้น เป็นสิ่งที่น่าเจริญเจริญใจ เป็นที่ชื่นใจแก่ผู้พบเห็น จึงอยากได้รูปคือบุคคลรอบกายที่ดูยิ้มแย้มแจ่มใส อยากได้เสียงของบุคคลรอบกายที่แสดงถึงความรื่นเริงหรือแสดงความหมายเสนาะหูอยู่ตลอดเวลา ครั้นพอเห็นใครหน้าตาไม่สดชื่น พูดจาแข็งกร้าว ไม่นุ่มนวล ก็อาจนำไปสู่ความรู้สึกไม่น่ารื่นรมย์ ขวางหูขวางตา จนกระทั่งถึงกับขัดใจได้

การยึดมั่นด้วยอำนาจของทิฏฐิและตัณหา เช่น ยึดมั่นในการกระทำของตนด้วยทิฏฐิว่าเป็นการกระทำที่ดี เป็นงานที่ดี จึงเกิดความอยากให้ผู้อื่นยอมรับในการกระทำหรือผลของการกระทำของตน เมื่อไม่มีใครเห็น หรือ ไม่ได้รับการยอมรับ ก็เกิดความท้อ ไปถึงกับทุกข์

การคิดปรุงแต่งไปต่างๆด้วยอำนาจของทิฏฐิและตัณหา

เป็นต้น

เรื่องเล็กๆน้อยๆแต่เพราะธรรมทั้งสองคือทิฏฐิและตัณหานี้ กลับทำให้ชีวิตเรายุ่งยากได้ไม่น้อยเลยนะคะ ดังนั้น เราจึงไม่ควรละเลยที่จะนำมาพิจารณา

เพราะสมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวฒฺฑโน) ตรัสว่า การทำลายอุปกิเลสแม้ทีละตัว ทีละเล็กทีละน้อย หากทำบ่อยๆ ก็ถึงกับสามารถทำลายกิเลสได้ทั้งกองเชียวนะคะ

ว่าแต่.......................................

ดูไปดูมา รู้สึกว่าตัวดิฉันเองราวจะถูกทิฏฐิและตัณหา “นำไป” หลายๆรื่องเลยค่ะ

เช่นเมื่อเห็นพนักงานในร้านสะดวกซื้อหน้าตาบึ้งตึง ถามคำตอบคำด้วยเสียงแข็งๆ

บางทีก็พลอยรู้สึกไม่สดชื่นตามเขาไปด้วย

การที่จะมีสติสัมปชัญญะอยู่ตลอดเวลานี้ ...

ช่างยากจริงๆเลยนะคะ

หมายเลขบันทึก: 575596เขียนเมื่อ 3 กันยายน 2014 09:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 กันยายน 2014 09:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

สวัสดีคี่ะ  คุณณัฐรดา    วันนี้มาดู  ตัวที่ทำให้ก่อเรื่องสองตัว   ค่ะ

มาติดตามศึกษาธรรมะลึกๆ ละเอียดละออครับ... สติ มโต สุเว เสยฺโย ด้วยนะครับอาจารย์

"คิด"...ถ้า..ไม่คิด..ในทันที..อารมณ์ไม่เกิด.."สูญ"....สำผัส..ทันที....

บำรุง..ฐาน..จิต....บำรุงฐานใจ...กาย...ด้วย..ศีล..สมาธิ..ปัญญาเกิด..โอกาศ..เป็นอรหันต์เป็นได้ทุกคน..และทันนี้..หากปฏิบัติ...(นะเจ้าคะ..)

ขอบคุณที่ยกพระโอวาทมาเผยแพร่

สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวฒฺฑโน) ตรัสว่า 

การทำลายอุปกิเลสแม้ทีละตัว ทีละเล็กทีละน้อย หากทำบ่อยๆ ก็ถึงกับสามารถทำลายกิเลสได้ทั้งกอง

(เห็น ธรรม เห็นพระสงฆ์สุปฏิปันโน เห็นพระพุทธองค์ เห็นการเป็นหนึ่งเดียวของคุณ พระรัตนตรัย)

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท