คิดเรื่องงาน (85) : ห้องนิทรรศการ (บันทึกประวัติศาสตร์บนถนนสายกิจกรรม)


ด้วยความที่ผมเป็นคนประเภทชอบหวนคิดถึง “อดีต” ผมจึงชูประเด็นของการทบทวนอดีตบนถนนสายกิจกรรม เพื่อเป็นข้อมูล หรือชุดความรู้ให้เหล่าบรรดาผู้เกี่ยวข้องได้ศึกษาเรียนรู้

หนึ่งในความฝันหลายเรื่องที่ผมอยากจะทำนั่นก็คือการมีห้องจัดนิทรรศการประจำอาคารพัฒนานิสิต

ครับ, เป็นความฝันที่สถิตเสถียรอยู่ในหัวสมองของผมมายาวนานร่วม ๑๐ ปี-
เมื่อครั้งที่ระดมความคิดออกแบบอาคารพัฒนานิสิต

ครั้งนั้น-ผมถือว่าตนเองเป็นกลุ่มแกนหลักของการขับเคลื่อนอย่างชัดเจน   ทั้งนำหน้านิสิตและหนุนหลังนิสิตให้ลุกขึ้นมาถามทักต่อมหาวิทยาลัย   เพื่อให้มีอาคารพัฒนานิสิตเสียที  หลังจากที่ไม่มีอาคารเป็นตัวเป็นตนมาอย่างยาวนาน

ครับ-หนึ่งในองค์ประกอบของอาคารพัฒนานิสิต  ผมยืนยันหนักแน่นว่าต้องมี “ห้องนิทรรศการ” อย่างน้อย ๑ ห้อง





แน่นอนครับ-ห้องนิทรรศการที่ผมว่านี้จะทำหน้าที่เป็นเสมือนห้องรวบรวมประวัติศาสตร์บนถนนสายธารแห่งการพัฒนานิสิตจาก “อดีต-ปัจจุบัน”  หรือกระทั่งการพยากรณ์ยึดโยงสู่ “อนาคต”   และนั่นยังรวมถึงการเป็นสถานที่จัดนิทรรศการผลงานเนื่องในวาระต่างๆ อันจะเป็นประโยชน์ต่อการกระตุ้นให้เกิด "พลังแห่งการเรียนรู้ร่วมกัน"  ในมิติต่างๆ

อย่างไรก็ดี  ภายหลังอาคารพัฒนานิสิตก่อร่างสร้างตัวเสร็จสิ้นได้ไม่นาน   ผมก็ยังไม่มีโอกาสเข้าไปดูแลและรับผิดชอบโดยตรง   ครั้นพออะไรๆ แล้วเสร็จ   ผมก็ออกเดินทางไปทำงานอันเป็น “ความฝันใหม่” นั่นก็คืองานบริการวิชาการแก่สังคมในชื่อ “หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน” จนล่าสุดได้หวนกลับมาอีกครั้งเมื่อเมษายน ๒๕๕๖





ด้วยความที่เพิ่งหวนกลับมาใหม่จึงยังไม่กล้าพอที่จะพูดโน่นนี่เท่าใดนัก   แต่ทุกๆ วันก็ไม่เคยละเลยที่จะเบิ่งมองเข้าไปในห้องนิทรรศการที่ “ว่างเปล่า” และ “รกร้าง” ไปด้วยสิ่งของต่างๆ ที่วางไว้อย่างระเกระกะ ราวกับเป็นห้องเก็บของยังไงยังงั้น

ผมพยายามกระตุ้นน้องๆ ที่เกี่ยวข้องในเรื่องเหล่านี้ให้ลอง “ขยับ” -ปรับแต่งห้องนี้อย่างจริงๆ จังเสียที แต่ก็ได้รับคำตอบแบบขำๆ หยิกๆ หยอกๆ ปนกลับมาซ้ำๆ เหมือนเดิมว่า “รอพี่ (กลับมา) พาทำ.”


ครับ- จริงๆ ฟังเหมือนขำๆ แต่ในความเป็นจริง มันก็จริงตามนั้น-


จนที่สุดแล้ว พลังความฝันที่อัดแน่นอยู่ในหัวสมองของผมก็ทะลักล้นออกมาจนได้ – ผมปักหมุดลงหนักแน่นว่าในอนาคตอันใกล้นี้ผมจะเปิดห้องนิทรรศการในชื่อ “มหาวิทยาลัยกับชุมชน” ดังนั้นจึงขอแรงน้องๆ ช่วยกันรื้อข้าวของต่างๆ ออกมากองและจัดระวางไว้ด้านนอกให้หมด 

ครับ- "เอาออกมาให้หมด"  ... ให้หมดทุกชิ้น ไม่เหลือทิ้งไว้ในห้องนิทรรศการแม้แต่ชิ้นเดียว  เพียงเพื่อให้มีพื้นที่ในการเข้าไปเก็บกวาด ทำความสะอาด

รวมถึงการได้พิจารณาใคร่ครวญว่ามีวัตถุดิบใดที่ยังสามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ใดบ้าง  มีสิ่งใดที่ควรรื้อถอนทิ้งไป ฯลฯ




พอทำได้เช่นนั้น ก็เห็นวัตถุดิบเก่าๆ มากมายก่ายกองที่สามารถจัดหมวดหมู่และจัดวางในห้องนั้นได้อีกครั้ง โดยเบื้องต้นผมชูประเด็นต่างๆ ล่วงหน้าว่าสิ่งใดบ้างควรนำขึ้นมาจัดแสดงเบื้องต้นไว้ก่อน ดีกว่าปล่อยให้ห้อง “ว่างเปล่า” หรือ “รกร้าง” อย่างไร้ระบบคิด !

ครับ- ด้วยความที่ผมเป็นคนประเภทชอบหวนคิดถึง “อดีต” ผมจึงชูประเด็นของการทบทวนอดีตบนถนนสายกิจกรรม เพื่อเป็นข้อมูล  หรือชุดความรู้ให้เหล่าบรรดาผู้เกี่ยวข้องได้ศึกษาเรียนรู้  เพื่อจะได้ปะติดปะต่อในการสร้างสรรค์กิจกรรมในปัจจุบันให้ดีขึ้น ไม่ใช่ทำงานชิ้นใหม่ราวกับเป็น “งานใหม่” อยู่ตลอดเวลา –




ครับ- ยังไม่ถึงวาระแห่งการเปิดห้องนิทรรศการอย่างเป็นทางการ แต่ถัดจากนี้ไป คือส่วนหนึ่งที่ผมเขียนเปิดเปรยเกริ่นกล่าวไว้หน้าห้องนิทรรศการ ซึ่งในเร็วๆ วันนี้ ความฝันที่ว่าคงเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น (กระมัง)


หลายต่อหลายคนมักพูดเสมอว่า  “อนาคตที่ดีถูกกำหนดด้วยสิ่งดีๆ ของวันนี้”
จนลืมไปว่าโดยแท้ที่จริงแล้ว  เราล้วนเติบโต แกร่งกล้ามาจากอดีตด้วยกันทั้งนั้น
อดีต มีสถานะเป็นต้นธารของวันนี้และพรุ่งนี้  หรือกระทั่งเป็นจุดกำเนิดของอนาคตอันไกลโพ้น
ซึ่งเราสามารถมองเห็นและไม่อาจมองเห็นได้ด้วยตา - หากแต่สัมผัสได้ด้วยใจ

ด้วยเหตุนี้ “อดีต” จึงย่อมมีสถานะเป็นประหนึ่ง “รากเหง้า” ของชีวิตไปโดยปริยาย
บาดแผลและความสุขสำราญของอดีตคือต้นทุนอันยิ่งใหญ่ของการทำให้ชีวิตงอกงาม- กล้าและแกร่ง

ในมิติ “กิจกรรมนอกชั้นเรียน” ก็เป็นไปในครรลองเดียวกัน
เราไม่อาจดุ่มเดินไปข้างหน้าได้โดยไม่สนใจ “อดีต” อันเป็นประวัติศาสตร์รากเหง้าของกิจกรรมนั้นๆ ได้เลย ชุดความรู้หลากรูปลักษณ์จากอดีตกาลย่อมทรงพลังต่อการเป็น “ครู” ให้เราสามารถประยุกต์ หรือรังสรรค์ “กิจกรรม” ของปัจจุบันและอนาคตได้อย่างมีทิศทาง มีประสิทธิภาพ และประสิทธิผล ทั้งต่อนิสิต สถาบัน ชุมชนและสังคม

การหวนกลับทบทวนอดีต เป็นกระบวนการหนึ่งในมิติของการ “ถอดบทเรียน” (การจัดการความรู้)
ถอดบทเรียน เพื่อกำหนดความหนักแน่นของวันนี้, พรุ่งนี้- และอนาคตอันแสนไกล
การหวนกลับทบทวนอดีต จะทำให้เรารู้ว่าเรามีแก่นสารรากเหง้าทางความคิดเช่นใด
หรือกระทั่งทำให้เรารู้ว่า “ตัวเรา” และเป็น “องค์กรแห่งเรา” เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้แค่ไหน
ตัวเรา (มี-หรือ-ไม่มี) ข้อมูลและความรู้ให้สืบค้น ต่อยอด (บ้าง)
มิใช่ทำราวกับว่าองค์กรแห่งเรา-เรื่องแต่ละเรื่อง ล้วนเป็นเรื่องใหม่ที่เพิ่งอุบัติขึ้นสดๆ ร้อนๆ

พนัส ปรีวาสนา
กลางวสันตฤดู ๒๕๕๗


หมายเลขบันทึก: 575591เขียนเมื่อ 3 กันยายน 2014 07:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 กันยายน 2014 04:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ตามดู  อดีต. ==>  รากเหง้า  ค่ะ 

สวัสดีค่ะ  อาจารย์แผ่นดิน   มาเยี่ยมกิจกรรมดีๆ  

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท