​เปิดโครงการประเพณีฯ ประจำปี ๒๕๕๗



มมร วิทยาเขตร้อยเอ็ด : เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๕๗ เวลา ๐๙.๓๐ น. ณ หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย วิทยาเขตร้อยเอ็ด ดร.สมศักดิ์ จังตระกูล ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการอนุรักษ์ประเพณีประกวดการขับร้องทำนองสรภัญญะ ประจำปี ๒๕๕๗



โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุรพันธ์ สุวรรณศรี ผู้ช่วยอธิการบดี มมร วิทยาเขตร้อยเอ็ด เป็นผู้กล่าวรายงานต่อประธานในพิธีฯ ความว่า โครงการอนุรักษ์ประเพณีประกวดการขับร้องทำนองสรภัญญะ ประจำปี ๒๕๕๗ มีงานศูนย์อนุรักษ์ศิลปและวัฒนธรรมอีสาน ฝ่ายบริหารทั่วไปและบริการวิชาการ ศูนย์บริการวิชาการร้อยเอ็ด เป็นผู้รับผิดชอบในครั้งนี้ สำหรับการขับร้องสรภัญญะ ภาษาถิ่นอีสานเรียกว่า สวดสรภัญญะ หรือ ฮ้องสรภัญญะ เป็นการสวดมนต์ในทำนองสังโยค คือ การสวดเป็นจังหวะ หยุดตามรูปประโยค การขับร้องสรภัญญะไม่สามารถสืบทราบได้ว่ามีมาตั้งแต่เมื่อใด แต่ปัจจุบันการสวดสรภัญญะมักนิยมสวดกันในงานทอดผ้าป่า งานบุญกฐิน งานทอดเทียน งานกวนข้าวทิพย์ และในกิจกรรมวันธรรมสวนะ ประเพณีประกวดการขับร้องทำนองสรภัญญะ เป็นประเพณีที่มีความสำคัญมากในพระพุทธศาสนา ควรมีการอนรุกษ์ ส่งเสริม และสืบสานให้อยู่คู่กับพระพุทธศาสนาตลอดไป 




ดังนั้น มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย วิทยาเขตร้อยเอ็ด ซึ่งเป็นสถานศึกษาทางพระพุทธศาสนา จึงได้มอบหมายให้ศูนย์บริการวิชาการร้อยเอ็ด จัดโครงการอนุรักษ์ประเพณีประกวดการขับร้องทำนองสรภัญญะ ประจำปี ๒๕๕๗ ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้

๑. เพื่อปลูกจิตสำนึกถึงความเป็นไทยให้เด็กและเยาวชน ตระหนักถึงความสำคัญของศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน

๒. เพื่ออนุรักษ์สืบสานประเพณีท้องถิ่น ให้เยาวชนและประชาชนได้เรียนรู้และร่วมกันอนุรักษ์ไว้ให้คงอยู่ตลอดไป

๓. เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนในการส่งเสริมการเรียนรู้ศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน



ส่วนกิจกรรมในโครงการฯ ประกอบด้วย

๑. ประกวดการขับร้องทำนองสรภัญญะ ประเภทคณะ(ประชาชนทั่วไป)

๒. ประกวดการขับร้องทำนองสรภัญญะ ประเภทคณะ(นักเรียน/นักศึกษา)

๓. ประกวดการขับร้องทำนองสรภัญญะ ประเภทเดี่ยว(ประชาชนทั่วไป)

๔. ประกวดการขับร้องทำนองสรภัญญะ ประเภทเดี่ยว(นักเรียน/นักศึกษา)

๕. ประกวดพานบายศรีประยุกต์ วัสดุประดิษฐ์

๖. ประกวดการเทศน์แหล่อีสาน

๗. ประกวดหมอลำพื้นบ้าน(ลำใส่แคน)



ด้านงบประมาณ ได้รับการสนับสนุนจาก มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม และมีผู้เข้าร่วมโครงการประกอบด้วย คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ นักศึกษา พระภิกษุ สามเณร และประชาชนทั่วไป ในเขตจังหวัดร้อยเอ็ดและใกล้เคียง หลังจากนั้นประธานฯ ได้กล่าวเปิดโครงการ พร้อมลั่นฆ้องชัย และมอบของที่ระลึกแก่ผู้เข้าร่วมโครงการ.

หมายเลขบันทึก: 574719เขียนเมื่อ 17 สิงหาคม 2014 16:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 สิงหาคม 2014 16:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท