​สอนอย่างมือชั้นครู : ๕. วันแรกในชั้นเรียน


          บันทึกชุด “สอนอย่างมือชั้นครู” ๓๔ ตอน ชุดนี้ ตีความจากหนังสือ Teaching at Its Best : A Research-Based Resource for College Instructors เขียนโดย Linda B. Nilson ซึ่งเป็นฉบับพิมพ์ปรับปรุงครั้งที่ ๓ ผมขอเสนอให้อาจารย์ในสถาบันการศึกษาไทยทุกคน หาหนังสือเล่มนี้อ่านเอง เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ เพราะหากติดตามอ่านจากบันทึกใน บล็อก ของผม ซึ่งลงสัปดาห์ละตอน จะใช้เวลากว่าครึ่งปี และการอ่านบันทึกของผมจะแตกต่างจากการอ่านฉบับแปล หรืออ่านจากต้นฉบับโดยตรง เพราะบันทึกของผมเขียนแบบตีความ ไม่ได้ครอบคลุมสาระทั้งหมดในหนังสือ

          ตอนที่ ๕ นี้ ตีความจาก Part One : Laying the Groundwork for Student Learning ซึ่งอาจารย์มหาวิทยาลัยต้องเตรียมตัวก่อนเปิดเทอม มี ๕ บท ตอนที่ ๕ ตีความจากบทที่ 4. Your First Day of Class

          สรุปได้ว่า อาจารย์ต้องใช้วันแรกในชั้นเรียนสำหรับสร้างความประทับใจ ความน่าสนใจของวิชา สร้างความรู้จักสนิทสนมกันระหว่างอาจารย์กับนักศึกษา และระหว่างนักศึกษาด้วยกัน


ก่อนชั้นเรียนแรก

          อาจารย์ต้องเตรียมตัวไว้แต่เนิ่นๆ รวมทั้งต้องแสดงให้นักศึกษาเห็นชัดเจนว่า อาจารย์มีการเตรียมตัวไว้ เป็นอย่างดี โดยให้ตรวจสอบหรือเตรียมสิ่งต่อไปนี้

  • ตรวจสอบว่า ข้อมูลบอก course materials ใน เว็บไซต์ ของรายวิชาที่เคยลงไว้ มีความสมบูรณ์ครบถ้วน
  • เตรียมถ่ายสำเนาเอกสารแจกนักศึกษาในวันแรกไว้ให้พอจำนวนนักศึกษา เตรียมไว้ล่วงหน้า หลายๆ วัน เพราะหากเตรียมตอนใกล้วันสอน อาจมีอาจารย์หลายคนต้องการใช้ ทำให้คิวยาว หรือเครื่องเสีย
  • เตรียมร่างกำหนดการในชั้นเรียนแรก ควรแยกระหว่างกิจกรรมที่ต้องทำ กับกิจกรรมที่ทำหากเวลาอำนวย
  • หนึ่งถึงสองวันก่อนชั้นเรียนแรก ไปตรวจสอบความพร้อมของห้องเรียน ในเรื่องต่อไปนี้

- เทคโนโลยีต่างๆ (คอมพิวเตอร์ และเครื่องฉาย LCD สำหรับฉาย PowerPoint และ VDO, เครื่องฉายแผ่นทึบ, ฯลฯ) ใช้การได้ดี และตนเองใช้เครื่องเหล่านั้นคล่อง อย่าลืมเตรียมเครื่องเขียน low tech ที่จำเป็น เช่นปากกาเขียน ไวท์ บอร์ด แปรงลบ

- ตรวจสอบแสงไฟ สวิตช์ไฟว่าใช้การได้ดี จะปิดหรือหรี่ไฟที่ส่วนไหนของห้องที่สวิตช์ ตัวไหน ตรวจสอบเครื่องปรับอากาศ นาฬิกา และเครื่องใช้อื่นๆ หากมีสิ่งชำรุดบกพร่อง ให้แจ้งซ่อม เพื่อให้ทุกอย่างอยู่ในสภาพใช้การได้ดีในวันแรกของการสอน

- เข้าไปในห้องเรียนประหนึ่งว่ากำลังสอน เป็นการซ้อมคนเดียว โดยจินตนาการว่ามี นักศึกษานั่งอยู่เต็มห้อง ซ้อมมองตานักศึกษา ยิ้มให้ เดินไปหานักศึกษา เดินไปเดินมาในห้อง

  • ก่อนชั้นเรียนแรกครึ่งชั่วโมง (หรือมากกว่า) เตรียมความพร้อมของตนเอง ในด้านร่างกาย เสียงพูด การแต่งกายที่เรียบร้อยและเป็นทางการ ท่าทางที่แสดงความมั่นใจ และนิ่งสงบ เพื่อสร้างความประทับใจแก่นักศึกษา อาจารย์ต้องแสวงหาวิธีส่งผ่านความกระตือรือร้น ความหลงใหล ความมีชีวิตชีวา ต่อการเรียนวิชาของตน ให้แก่นักศึกษา เพื่อสร้างความสนใจต่อการเรียน โดยเขาแนะนำวิธีเตรียมตัว ๙ ขั้นดังนี้

1.ยืนตรงอย่างมั่นคง เท้าสองข้างห่างกัน ๑ ฟุต ให้มีความรู้สึกว่าเท้าวางอยู่บนพื้นอย่างมั่นคง

2.หายใจช้าๆ และลึกๆ แบบใช้กระบังลม ๓ - ๔ ครั้ง ให้รู้สึกว่ากระดูกซี่โครงขยายออก เพื่อให้อ็อกซิเจนสร้างความแจ่มใสแก่สมอง

3.ยืดทุกส่วนของร่างกาย

4.สลัดแขนขา ประหนึ่งว่ากำลังสลัดความเครียดออกไป

5.กลอกตาซ้าย-ขวา และบน-ล่าง เพื่อเตรียมสบตานักศึกษา

6.ร้องเพลงระดับเสียงขึ้นลงสองสามครั้ง

7.เปล่งถ้อยคำเป็นเสียงแหลมและทุ้มที่สุด

8.อ่านหนังสือสำหรับเด็กดังๆ เน้นเสียง และเว้นจังหวะแบบแสดงละคร

9.อ้าปาก และยืดริมฝีปากไปในทางต่างๆ หรือทำท่าการขยับปากให้มากผิดปกติ ในขณะพูดคำที่ซับซ้อน


ความประทับใจแรกพบ

          อาจารย์ต้องวางแผนใช้ชั่วโมงแรกสำหรับสร้างความคาดหวัง และพฤติกรรมของนักศึกษา/ชั้นเรียน ที่เหมาะสม ที่จะใช้ไปตลอดการเรียนรายวิชานี้ เช่น หากต้องการให้มีการอภิปรายมากๆ ก็ต้องหาประเด็น มาให้นักศึกษาอภิปรายกันมากๆ ตั้งแต่ชั่วโมงแรก เช่นให้อภิปรายความคาดหวังของนักศึกษา หากต้องการให้เกิดการเรียนแบบช่วยเหลือกัน (cooperative learning) ก็จัดให้มีกิจกรรมกลุ่มย่อยตั้งแต่วันแรก เป็นต้น

          วิธีทำให้ชั้นเรียนมีบรรยายกาศเอาจริงเอาจังต่อการเรียน ได้แก่

          1.จัดให้มีเอกสารประมวลวิชาที่ครบถ้วนและเขียนอย่างประณีต อ่านง่าย เข้าใจง่าย

          2.กล่าวสองสามประโยค ที่บอกความสำคัญของรายวิชา และเอกสารที่แจก เพื่อสร้าง “โรคระบาด” ความกระตือรือร้นต่อวิชานั้นๆ

          3.แต่งกายให้เป็นทางการกว่าปรกติเล็กน้อย เพื่อแสดงความเป็นมืออาชีพ และความเอาจริงเอาจัง

          4.ทำให้ช่วงเวลาของชั้นเรียนมีค่าสูง แม้ในวันแรก ก็ไม่ใช่แค่วันสบายๆ ที่ปล่อยให้ผ่านไป เมื่ออาจารย์แสดงท่าทีเอาจริงเอาจังเช่นนี้ นักศึกษาก็จะได้รับการสื่อสารความเอาจริงเอาจัง โดยอาจารย์ไม่ต้องกล่าว

          เพื่อแสดงว่า อาจารย์ให้คุณค่าและเคารพการตรงต่อเวลา ไปถึงห้องเรียนก่อนเวลา และทักทายให้ความเป็นกันเองต่อนักศึกษา

          ใช้วันแรกสร้างแนวทางความประพฤติ (code of conduct) ของนักศึกษา ซึ่งจะใช้ร่วมกันตลอดภาคการศึกษา


แลกเปลี่ยนข้อมูล

          ห้องเรียนเป็นที่แลกเปลี่ยนข้อมูลสองทาง แต่ผู้เป็นฝ่ายริเริ่มคืออาจารย์ เริ่มตั้งแต่เมื่อนักศึกษามาที่ห้อง อาจารย์เตรียมติดประกาศไว้หน้าห้อง บอกชื่อและรหัสของวิชา, วันเวลาเรียน, ชื่ออาจารย์ผู้สอน, ห้องทำงานของอาจารย์, เวลาที่อาจารย์อยู่ที่ห้องทำงาน

          ต่อไปนี้เป็นวิธีการทำให้การเรียนการสอนราบรื่น มีการร่วมมือกัน

  • บัตรข้อมูลนักศึกษา เพื่อให้นักศึกษาเห็นว่าอาจารย์สนใจ และต้องการรู้จักนักศึกษา เป็นรายคน เป็นข้อมูลเพื่อช่วยให้อาจารย์จัดการเรียนการสอนตรงกับความต้องการ ของนักศึกษามากขึ้น ให้นักศึกษาแต่ละคนเขียนบอกข้อมูลต่อไปนี้ : ชื่อและนามสกุล, ชื่อเล่น, ชั้นปี, สาขาวิชาเอก, วิชาในสาขานั้นที่เคยเรียนมาก่อน, และข้อมูลอื่นๆ เช่น จังหวัดภูมิลำเนา ความสนใจนอกห้องเรียน อาชีพที่มุ่งหวังในอนาคต เพื่อเป็นข้อมูล ให้อาจารย์หาทางจัดการเรียนรู้ให้ตรงความสนใจ และอาชีพในอนาคต อย่าลืมบอกให้ นักศึกษาเขียนระบุว่านักศึกษาคาดหวังอะไรจากการเรียนรายวิชานี้ และอยากให้เน้น เรื่องไหนเป็นพิเศษ
  • บอกข้อมูลประวัติของอาจารย์ อาจบอกด้วยวาจาในห้องเรียน หรือเขียนไว้ย่อๆ ในเอกสาร ประมวลวิชา ข้อมูลนี้จะช่วยสร้างความน่าเชื่อถือของตัวอาจารย์ ควรบอกว่าอาจารย์สนใจ ทำวิจัยเรื่องอะไร ทำไมจึงสนใจสาขาวิชานี้ ทำไมจึงรักการสอนวิชานี้ ความรู้เกี่ยวกับ วิชานี้ มีประโยชน์อย่างไรต่อการมีชีวิตอยู่ในโลกนี้
  • ข้อมูลของรายวิชา ขีดเส้นใต้ส่วนสำคัญในเอกสารประมวลวิชา และนำมาย้ำในห้องเรียน และหาทางให้นักศึกษาอ่านเอกสารประมวลรายวิชา ซึ่งจะกล่าวถึงในบทที่ ๓ ของหนังสือ

อธิบายให้นักศึกษาเข้าใจ ว่าทำไมอาจารย์จึงเลือกวิธีสอนแบบนี้ เป็นวิธีการแสดงความเป็น มืออาชีพของอาจารย์ และเพื่อลดกระแสต่อต้านจากนักศึกษา ที่รู้สึกว่าอาจารย์มีวิธีสอน ที่ไม่ตรงกับที่ตนคาดหวัง

บอกอย่างชัดเจน ว่าอาจารย์คาดหวังอะไรบ้างจากนักศึกษา เช่นการเตรียมตัวก่อนมา เข้าชั้นเรียน การร่วมแสดงข้อคิดเห็น หรือกระบวนการกลุ่ม ในชั้นเรียน รวมทั้งให้ คำแนะนำวิธีเรียนที่ได้ผลดี วิธีจดบันทึก และอื่นๆ

แม้นักศึกษาไม่ถาม ควรบอกสิ่งต่อไปนี้

-จะมีการทดสอบอย่างไร

-คำถามในการทดสอบเป็นแบบไหน

-การทดสอบต้องการการคิดแบบไหน

-นักศึกษาควรเตรียมตัวสอบอย่างไร

-จะมีการแจกสรุปประเด็นของการเรียนหรือไม่

-จะมีช่วงเวลาสรุปประเด็นหรือไม่

-มีวิธีให้คะแนนการบ้าน และการสอบอย่างไร

-มีหลักการให้เกรด A, B, C, D, E อย่างไร

-คำแนะนำต่อนักศึกษาในการได้เกรดสูง

  • สัมภาษณ์ซึ่งกันและกัน ใช้เวลาประมาณ ๕๐ นาที แจกแบบสอบถาม ที่มี ๖ คำถามให้นักศึกษาตอบ ดังต่อไปนี้

-ท่านหวังได้อะไรจากวิชานี้

-อาจารย์จะช่วยให้ท่านบรรลุเป้าหมายนี้ได้อย่างไร

-นักศึกษากังวลเรื่องวิชานี้อย่างไรบ้าง

-ท่านมีพื้นความรู้และต้นทุนอะไรบ้างสำหรับเรียนวิชานี้

-ควรมีข้อกำหนดพฤติกรรมของนักศึกษาอย่างไรบ้าง เพื่อช่วยให้การเรียนบรรลุผลดี

-ปัจจัยในห้องเรียน และที่เกี่ยวกับอาจารย์ อะไรบ้างที่เป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้ ของท่าน

ให้เวลานักศึกษาแต่ละคนเขียนคำตอบ ๕ นาที แล้วจับกลุ่มแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกัน ๑๐ นาที ตามด้วยตัวแทนกลุ่มรายงานต่อชั้นเรียน ใช้เวลา ๑๕ นาที

เวลาอีก ๒๐ นาทีเป็นการถามอาจารย์ โดยที่ในแบบสอบถามมีที่ให้นักศึกษาเขียนคำถาม ถามอาจารย์ผู้สอน แล้วจับกลุ่มแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกัน ๑๐ นาที อีก ๑๐ นาทีที่เหลือ ตัวแทนกลุ่มอ่านคำถามต่อชั้น และอาจารย์ตอบ รวม ๑๐ นาที

ผู้เขียนบอกว่า กระบวนการทั้งหมดนี้ จะเป็นการปูพื้นฐานบรรยากาศชั้นเรียนที่ดี ที่ครูและศิษย์เข้าใจและเคารพซึ่งกันและกัน

  • เรียนรู้และจดจำชื่อนักศึกษา นักศึกษาจะประทับใจหากอาจารย์จำชื่อตนได้ นักศึกษาในชั้นเล็ก และในสถาบันขนาดเล็กจะคาดหวังสภาพนี้ เทคนิคจำชื่อ นักศึกษามีหลายวิธี เช่น

-จัดผังที่นั่ง นักศึกษาอาจไม่ชอบ แต่เมื่อทราบเหตุผลก็น่าจะยอมรับได้ และเมื่ออาจารย์จำชื่อนักศึกษาได้แล้ว ก็ให้อิสระ

-บันทึกลักษณะพิเศษของนักศึกษาแต่ละคน เช่นอ้วน ผอม สูงโย่ง ตัวดำ ฟันเหยิน แต่ต้องเก็บให้มิดชิด อย่าให้นักศึกษาเห็น

-มีบัญชีรายชื่อ เอาไว้ขานชื่อให้นักศึกษาตอบ โดยเน้นเรียกแบบสุ่ม

-ให้นักศึกษาติดป้ายชื่อ โดยแจกตอนเข้าห้อง และเก็บตอนเลิกชั้นเรียน จะเป็นวิธีเช็คชื่อเข้าเรียนแบบไม่รู้ตัวได้ด้วย

-ในชั้นเรียนขนาดใหญ่ อาจารย์อาจสร้างความประทับใจของนักศึกษาว่าจำชื่อได้หมด โดยจำจากรูปถ่ายพร้อมชื่อ ซึ่งหน่วยทะเบียนนักศึกษาอาจมีให้ ถ้าไม่มีก็ให้ผู้ช่วย จัดถ่ายให้ หรือขอรูปจากนักศึกษา

ละลายน้ำแข็ง : ทำความรู้จักกันเชิงสังคม

 เป็นการเล่นเกมเพื่อทำความรู้จักกัน อาจเลือกวิธีใดวิธีหนึ่งที่เหมาะสม เช่น

  •      แนะนำตัวตามปกติ บอกชื่อ นามสกุล ชื่อเล่น สาขาวิชาเอก และเหตุผลที่มาเข้าเรียนวิชานี้ รวมทั้งอาจให้บอกว่าตนมีข้อ         ภูมิใจในตัวเองด้านใดบ้าง
    • สัมภาษณ์ ๓ ขั้นตอน ทำโดยให้นักศึกษาจับคู่สัมภาษณ์ซึ่งกันและกัน ขั้นตอนที่สามคือให้แต่ละคนแนะนำคู่ของตนต่อเพื่อนในชั้น เป็นการฝึกฟัง และฝึกพูดต่อชั้นเรียนไปในตัว
    • สำรวจห้องเรียน ทำโดยอาจารย์ถามชั้นเรียน แล้วให้นักศึกษายกมือ เพื่อให้เพื่อนๆ ทั้งชั้นทราบข้อมูล ตัวอย่างคำถาม เช่น ใครมาจากภาค..., ใครแต่งงานแล้ว, ใครเคยเรียนวิชา...มาแล้ว, เป็นต้น
    • ตามล่าหาเป้าหมาย ทำโดยอาจารย์แจกกระดาษบอกคุณลักษณะของเป้าหมาย ที่แตกต่างกันแก่นักศึกษาแต่ละคน เช่น เกิดเดือนเดียวกันกับตนเอง พูดได้สองภาษา เป็นต้น กำหนดเงื่อนไขว่า เป้าต้องไม่ซ้ำคนกัน และเมื่อพบแล้วก็ให้ลงชื่อไว้บนกระดาษ ที่เป็นโจทย์
    • บิงโกมนุษย์ เป็นเกมแนวเดียวกันกับเกมตามล่า แต่ยากขึ้น โดยอาจารย์แจกกระดาษ ที่ตีตาราง ๔ x ๔ ในแต่ละช่องระบุคุณลักษณะของบุคคลเป้าหมาย ให้นักศึกษาไปถามหา บุคคล และให้ลงชื่อไว้ในช่อง ใครมีชื่อคนครบช่องก็ร้อง “บิงโก” และได้รับรางวัล ควรมีหลายรางวัล
    • วงกลมแห่ง... (ความเหมือน หรือความต่าง) ทำโดยแจกกระดาษ ที่มีวงกลมใหญ่อยู่ ตรงกลาง ล้อมรอบด้วยวงกลมเล็กหลายวง (เช่น ๕ วง) ในวงกลมใหญ่เขียนชื่อตนเอง ในวงกลมเล็กเขียนลักษณะของตนเอง เช่น เพศหญิง อายุ ๑๗ ปี ชอบดนตรี เป็นนักกีฬาว่ายน้ำ ชอบไปวัด แล้วให้หาเพื่อนที่เหมือนตนมากที่สุด หรือที่แตกต่างจากตนมากที่สุด


ละลายน้ำแข็ง : ทำความรู้จักกันด้วยเนื้อหาวิชา

          การทำความรู้จักกันด้วยเนื้อหาวิชา นอกจากช่วยสร้างความคุ้นเคยกันแล้ว ยังอาจช่วยให้อาจารย์ได้รู้ว่า นักศึกษาคนใด มีความรู้ผิดๆ ในเรื่องใดบ้าง อาจใช้เทคนิคดังต่อไปนี้ เช่น

  • เทคนิคประเมินห้องเรียน มีรายละเอียดอยู่ในหนังสือบทที่ ๒๘ โดยเลือกใช้เทคนิคสำหรับ ใช้ในวันแรกของการเรียน เช่น The Background Knowledge Probe, Focused Listening, Self-Confidence Survey
  • ประกาศปัญหา ทำโดยให้นักศึกษาเขียนลงบนกระดาษว่าตนคาดว่าจะมีปัญหาในการเรียน อย่างไรบ้าง หรือบอกว่าควรป้องกันปัญหาอะไรเสียแต่ต้น แล้วอาจารย์ทำหน้าที่เป็น facilitator บันทึกปัญหาและความถี่ลงบนกระดานหน้าชั้น หรือบนกระดาษ flip chart หรือบนกระดาษที่ฉายขึ้นจอทางเครื่องฉายแผ่นทึบ หรือลงในคอมพิวเตอร์และฉายขึ้นจอ หากข้อเขียนของนักศึกษาไม่ชัดเจน อาจารย์ซักได้ แต่อย่าซักแบบตัดสินถูก-ผิด คือต้องรับฟังปัญหาด้วยใจเป็นกลาง ไม่ตัดสินว่าควรไม่ควร

เทคนิคนี้มีประโยชน์อย่างน้อย ๔ ประการ คือ (๑) เกิดการสื่อสารระหว่างนักศึกษากับอาจารย์ และระหว่างนักศึกษาด้วยกัน (๒) ช่วยให้นักศึกษาใจชื้น ว่าตนไม่ใช่คนเดียวที่มีปัญหา (๓) บ่งชี้ต่อนักศึกษาว่า อาจารย์ยินดีรับฟัง และ (๔) ส่งเสริมให้นักศึกษาหาทางแก้ปัญหาด้วย ตนเอง (ผมขอเติมว่า หรือช่วยเหลือกันเองในหมู่เพื่อนนักศึกษา) ไม่ใช่เอาแต่หวังพึ่งอาจารย์

  • รายการสามัญสำนึก ทำโดยอาจารย์เขียนข้อความที่เกี่ยวข้องกับสาระในรายวิชา เฟ้นหา ข้อความที่ตรงกันข้ามกับความเชื่อทั่วๆ ไป หรือเป็นที่ถกเถียงไม่มีข้อยุติ จำนวนราวๆ ๑๕ข้อความ ให้นักศึกษาแต่ละคนกาถูก-ผิด แล้วให้จับคู่หรือจับกลุ่มย่อยอภิปรายแลกเปลี่ยน ข้อคิดเห็น ว่าทำไมตนมีความเห็นเช่นนั้น แล้วร่วมกันลงมติต่อข้อความแต่ละข้อ แล้วนำมา ถกเถียงกันในชั้นทีละข้อ ตามด้วยข้อเฉลยของอาจารย์ หรือจะไม่เฉลย ให้นักศึกษารอ เรียนรู้ในรายวิชา ก็ได้


ปิดฉากชั่วโมงแรก

          ก่อนเลิกชั้นเรียนแรก อาจารย์ควรเขียนคำถาม ให้นักศึกษาแต่ละคนเขียนตอบลงกระดาษส่งอาจารย์ โดยไม่ต้องลงชื่อ ตัวอย่างคำถาม

-ความรู้ที่สำคัญที่สุดที่ท่านได้เรียนรู้ในวันนี้คืออะไร

-กระบวนการเรียนรู้ในวันนี้ ทำให้ความคาดหวังต่อวิชานี้เปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง

-ท่านยังมีข้อสงสัย หรือข้อข้องใจเกี่ยวกับวิชานี้อย่างไรบ้าง

         คำถามทำนองนี้ เป็นการแสดงความเอาใจใส่ต่อนักศึกษาของอาจารย์

          คำแนะนำสุดท้ายของผู้เขียนคือ อย่าเลิกชั้นเรียนก่อนเวลาเป็นอันขาด เพราะจริงๆ แล้วการเรียนในวันแรกมีเรื่องให้ทำมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างความประทับใจในความเอาใจใส่นักศึกษา และความเอาจริงเอาจังของอาจารย์

วิจารณ์ พานิช

๑ ส.ค. ๕๗

หมายเลขบันทึก: 574572เขียนเมื่อ 14 สิงหาคม 2014 17:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 สิงหาคม 2014 17:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบพระคุณอาจารย์ที่กรุณาบันทึกเพื่อเป็นวิทยาทาน อาจารย์ทำให้ดิฉันรู้สึกตื่นเต้นและอยากเข้าชั้นเรียนในวันแรกอย่างใจจดใจจ่อค่ะ หลายเทคนิคที่ได้ทดลองใช้ แต่อาจจะยังไม่ชัดเจน ชั้นเรียนที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ น่าจะดีขึ้นกว่าเดิมค่ะ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท