Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

First Concept Note เพื่อโรงพยาบาลแห่งขุนเขา : งานคลินิกกม.เพื่อให้ความช่วยเหลือทางกม.แก่คนชายแดนที่มีปัญหาสถานะบุคคลตามกม.


งานคลินิกกฎหมายเพื่อให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่คนชายแดนที่มีปัญหาการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมาย 

: First Concept Note ในข้อเสนอโครงการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ผู้มีปัญหาสถานะบุคคลเพื่อต่อยอดการสำรวจสถานการณ์ด้านสุขภาวะของคนชายแดน ณ จังหวัดตาก ที่เสนอโดยโรงพยาบาลแม่ระมาด/อุ้มผาง/ท่าสองยาง/พบพระ ต่อ สสส.

สรุปความคิดโดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร[1]

เมื่อวันที่ ๑๐ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๗

-------------------------

งานที่เสนอทำในโรงพยาบาลชายแดนของรัฐนี้ มิใช่งานใหม่ทีเดียว แต่เป็นงานใหม่ที่ต่อยอดบนงานเก่าที่มีเคยทำมาแล้ว

-------------------------

ข้อเสนอโครงการฉบับนี้ถูกจัดทำขึ้นภายใต้แนวคิดเพื่อกำหนดแนวคิดและขั้นตอนการทำงานต่อยอดข้อค้นพบที่ได้รับจากการทำงานภายใต้ “โครงการการลงพื้นที่เพื่อทำรายงานสถานการณ์ด้านการจัดการสุขภาวะของคนชายแดนที่มีปัญหาสถานะและสิทธิตามกฎหมายในพื้นที่ชายแดนจังหวัดตากเพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” ระหว่างกรกฎาคม – กันยายน พ.ศ.๒๕๕๗ ซึ่งเป็นงานที่ได้รับทุนสนับสนุนการทำงานจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

การทำงานสำรวจสถานการณ์ด้านสุขภาวะของคนชายแดนที่จังหวัดตากทำให้คณะผู้ศึกษาภายใต้โครงการดังกล่าว (๑) ได้ค้นพบข้อความจริงว่า มีคนชายแดนที่ยังประสบปัญหาความไร้รัฐไร้สัญชาติอยู่ไม่น้อย และ (๒) ได้ค้นพบข้อความรู้ว่า มีความเป็นไปได้ทั้งทางกฎหมายและนโยบายที่จะจัดการปัญหาการรับรองสถานะบุคคลให้แก่คนชายแดนดังกล่าว ตลอดจน (๓) ได้ค้นพบถึงโอกาสที่จะปฏิรูปกฎหมายและนโยบายที่ไม่เหมาะสมหรือเป็นอุปสรรคในการจัดการสิทธิในสุขภาวะของคนดังกล่าว อาทิ โอกาสในการปฏิรูปกฎหมายและนโยบายว่าด้วยหลักประกันสุขภาพสำหรับบุคคลที่มีปัญหาสถานะบุคคล

จะเห็นว่า งานใหม่ที่เสนอทำ จึงเป็นงานที่ต่อยอดบนข้อค้นพบทั้ง ๓ ประการที่ได้มาจากงานเก่าที่เป็นเรื่องของการสำรวจสถานการณ์ และเป็นเรื่องที่ทำต่อยอดงานวิจัยเพื่อให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายในโครงการเด็กและเยาวชนข้ามชาติด้อยโอกาสของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือในการทำงานเพื่อคนชายแดนที่มีปัญหาการรับรองสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมาย ณ จังหวัดตาก

-------------------------

งานใหม่ที่จะเป็นงานหลักในข้อเสนอโครงการครั้งนี้ ก็คือ งานให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายที่อยู่ในระบบงานของโรงพยาบาลเอง

-------------------------

โดยงานใหม่ที่เสนอรับทุนครั้งนี้ งานให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายจะเป็นงานหนึ่งในระบบงานของโรงพยาบาลเอง นับหนึ่งการทำงานโดยบุคลากรของโรงพยาบาลเอง ตลอดจนมีระบบการติดตามงานเท่าที่จะเป็นไปได้ภายใต้กฎหมายและนโยบายที่เป็นอยู่

เมื่อผู้อำนวยการโรงพยาบาลแม่ระมาด/ท่าสองยาง/พบพระ ตัดสินใจที่จะสร้างระบบงานให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่มนุษย์ที่มีปัญหาการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายในพื้นที่บริการของโรงพยาบาลของตน ในลักษณะเดียวกับที่ทำในโรงพยาบาลอุ้มผางตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓ จึงเกิดการตัดสินใจที่จะสร้างระบบการทำงานของโรงพยาบาล “เพื่อให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย” แก่คนดังกล่าว และงานกฎหมายที่เกิดขึ้นนี้ย่อมมีลักษณะ “เป็นงานที่ชัดเจนในระบบงานของโรงพยาบาล” และงานดังกล่าวยังมีลักษณะ “เป็นงานทั้งเชิงรับและเชิงรุก” ในการจัดการปัญหาการรับรองสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายที่พบในพื้นที่บริการของโรงพยาบาลทั้งสี่

“งานให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายเป็นงานที่มีลักษณะชัดเจน” เราตระหนักว่า “แนวคิดเรื่องคลินิกกฎหมาย” เป็นที่ยอมรับโดยผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุ้มผาง/แม่ระมาด/ท่าสองยาง/พบพระ ในสถานะของ “กลไกของโรงพยาบาล” ในการทำงานให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายเท่าที่เป็นได้ภายใต้กฎหมายและนโยบายที่เป็นอยู่ และเรายังตระหนักต่อไปว่า ผู้อำนวยการโรงพยาบาลทั้งสี่มีแนวคิดและวิธีปฏิบัติที่ชัดเจนในการรับรองสิทธิในสุขภาพดีของมนุษย์ที่พบในการทำงานของโรงพยาบาล ทั้งนี้ ไม่ว่าพวกเขาจะมีหลักประกันสุขภาพหรือไม่ ไม่ว่าพวกเขาจะมีสถานะเป็นคนเข้าเมืองผิดหรือถูกก็ตาม เมื่อพวกเขาปรากฏตัวในพื้นที่บริการของโรงพยาบาลแม่ระมาด/อุ้มผาง/ท่าสองยาง/พบพระ ดังจะเห็นว่า พวกเขาจะได้รับการบริการด้านสาธารณสุขโดยไม่เลือกปฏิบัติ และหากพวกเขาตกอยู่ในปัญหาความไร้รัฐไร้สัญชาติเพราะมีปัญหาการรับรองสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมาย บุคคลากรของโรงพยาบาลทั้งสี่ก็จะบันทึกปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนดังกล่าวเอาไว้ในฐานข้อมูลของโรงพยาบาล และดำเนินการจัดการปัญหานี้ เสมือนเป็นโรคภัยไข้เจ็บที่รักษาพยาบาลกันในโรงพยาบาล แม้ปัญหาความไร้รัฐไร้สัญชาติของมนุษย์จะมิใช่เรื่องของสุขภาพทางกายและจิต แต่ปัญหาดังกล่าวก็ส่งผลต่อมนุษย์ผู้เป็นเจ้าของปัญหาให้มีปัญหาสุขภาพใจและสุขภาพสังคม โดยเฉพาะปัญหาดังกล่าวอาจจำไปสู่การเข้าไม่ถึงสิทธิในหลักประกันสุขภาพ และปัญหาความไร้สิทธิดังกล่าวก็จะทำให้คนดังกล่าวมีปัญหาสุขภาพกายและจิตอีกด้วย ด้วยแนวคิดที่ชัดเจนของผู้อำนวยการโรงพยาบาลทั้งสี่ในลักษณะนี้ งานให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายที่เกิดขึ้นในโรงพยาบาลทั้งสี่นี้จึงมีเป้าหมายเพื่อรับรองทั้งสิทธิในบริการสาธารณสุขของมนุษย์ทุกคน ตลอดจนสิทธิในการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายให้แก่มนุษย์ที่ปรากฏตัวขึ้นในพื้นที่รับผิดชอบของโรงพยาบาลทั้งสี่อีกด้วย

“งานให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายจะเป็นงานที่มีลักษณะเชิงรับที่มีประสิทธิภาพในโรงพยาบาล” ก็เพราะ ในแต่ละวันของโรงพยาบาลชายแดน ก็เป็นปกติที่มีคนไร้รัฐไร้สัญชาติปรากฏตัวในโรงพยาบาลเพื่อขอรับการรักษาพยาบาล ซึ่งความเป็นไปได้มีได้ใน ๒ ทิศทาง กล่าวคือ (๑) ในทิศทางแรก เมื่อมารดาไร้รัฐไร้สัญชาติเข้ามาคลอดบุตรในโรงพยาบาล งานให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายย่อมจะต้องจัดการจดทะเบียนคนเกิดให้แก่เด็กทุกคนที่มาคลอดในห้องคลอดของโรงพยาบาล มาตรฐานการจัดการคนเกิดภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศและกฎหมายไทย ก็คือ เด็กทุกคนที่คลอดในโรงพยาบาลจะต้องได้รับการจดทะเบียนคนเกิดโดยรัฐเจ้าของตัวบุคคลอย่างถูกต้องและครบขั้นตอน ดังนั้น งานให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายในโรงพยาบาลย่อมจะทำให้เกิด “เขตปลอดเด็กไร้รัฐ” ในห้องคลอดของโรงพยาบาลทั้งสี่ของเราได้อย่างแน่นอน และ (๒) ในทิศทางที่สอง ซึ่งน่าจะเป็นกรณีที่มีคนไร้รัฐไร้สัญชาติเข้ามารับการรักษาพยาบาล ก็จะมีระบบให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายเท่าที่จะเป็นไปได้ กล่าวคือ ก็จะต้องมีการบันทึกปัญหาของคนดังกล่าว และส่งให้มีการพิจารณาปัญหาโดยฝ่ายนักกฎหมายเพื่อแนะนำการจัดการปัญหาความไร้รัฐไร้สัญชาติแก่คนดังกล่าว ตลอดจนอาจเข้าช่วยดำเนินการตามกฎหมายและนโยบายเพื่อคนดังกล่าว ทั้งนี้ แล้วแต่ลักษณะของปัญหาที่คนดังกล่าวมีอยู่

“งานให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายจะเป็นงานที่มีลักษณะเชิงรุกออกไปนอกโรงพยาบาลและสร้างความเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน” นอกจากงานตั้งรับเพื่อจัดการปัญหาการรับรองสถานะบุคคลให้แก่คนชายแดนที่เข้ามาเกิดหรือป่วยในโรงพยาบาล ด้วยการสถาปนางานให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายในระบบงานโรงพยาบาลครั้งนี้จะทำให้ “งานออกหน่วยนอกโรงพยาบาล” มีศักยภาพที่จะจัดการปัญหาความไร้รัฐไร้สัญชาติในชุมชนนอกโรงพยาบาลอีกด้วย

โดยไม่รอการสนับสนุนทุนจากองค์กรภายนอก โรงพยาบาลทั้งสี่ก็ออกหน่วยไปในโรงเรียนและบ้านพักเด็กด้อยโอกาสในพื้นที่บริการบ้างแล้ว งานในหลายจุดเริ่มต้นแล้วนับแต่การสำรวจสถานการณ์ภายใต้โครงการแรก อาทิ (๑) งานระหว่างโรงพยาบาลแม่ระมาดกับโรงเรียนบ้านขะเนจือ/อบต.บนดอยแม่ตื่น (๒) งานระหว่างโรงพยาบาลอุ้มผางกับโรงเรียน ตชด. แม่กลองคี (๓) งานระหว่างโรงพยาบาลท่าสองยางกับหมู่บ้านมอทะ/โรงเรียนบ้านแม่อุสุ และ (๔) งานระหว่างโรงพยาบาลพบพระและหมู่บ้านพบพระกลาง/หมู่บ้านหมื่อฤๅไชย

จะเห็นว่า งานออกหน่วยของคลินิกกฎหมายของโรงพยาบาลทั้งสี่จึงมีทั้ง (๑) งานที่ปรากฏในความรับผิดชอบของแต่ละโรงพยาบาลอยู่แล้วตั้งแต่การทำงานสำรวจสถานการณ์ และ (๒) งานที่จะปรากฏตัวขึ้นใหม่ด้วยคำร้องขอของชุมชนต่างๆ ในพื้นที่บริการของโรงพยาบาล ซึ่งงานออกหน่วยทำงานในลักษณะนี้ ต้องการนักกฎหมายจำนวนมาก ซึ่งก็มีความเป็นไปได้จาก ๒ แนวคิด กล่าวคือ (๑) มีคณะนิติศาสตร์ของหลายมหาวิทยาลัยไทยที่ยอมรับที่จะส่งนักกฎหมายและนักศึกษากฎหมายมาร่วมทำงานออกหน่วย อาทิ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยพะเยา มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และมหาวิทยาลัยขอนแก่น และ (๒) มีการสร้างโรงเรียนกฎหมายเคลื่อนที่ว่าด้วยการจัดการสิทธิในสถานะบุคคลให้แก่คนชายแดนในจังหวัดตากภายใต้ความร่วมมือระหว่างสี่โรงพยาบาล/คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์/มูลนิธิฮันส์ ไชเดล แห่งประเทศเยอรมัน เพื่อการฝึกอบรมนักกฎหมายตีนเปล่าขึ้นมาทำงานให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายในระบบงานของโรงพยาบาลทั้งสี่ ซึ่งความร่วมมือดังกล่าวนี้ได้บรรลุที่จะมีโรงเรียนกฎหมายในลักษณะนี้ครั้งหนึ่งแล้วในระหว่างวันที่ ๕ – ๙ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๗ ณ โรงพยาบาลแม่ระมาดและโรงพยาบาลแม่สอด และจะเกิดอีกครั้งในระหว่างวันที่ ๒๒ – ๒๗ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๗ ณ โรงพยาบาลท่าสองยาง

โดยแนวคิดตามข้อเสนอโครงการ จะเกิดงานให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายใน ๒ ลักษณะในระบบงานโรงพยาบาลแม่ระมาด/อุ้มผาง/ท่าสองยาง/พบพระ กล่าวคือ (๑) จะมีการออกหน่วยจากโรงพยาบาลเพื่อสำรวจปัญหาความไร้รัฐไร้สัญชาติของมนุษย์ในโรงเรียนและบ้านพักเด็กด้อยโอกาสที่ตั้งอยู่ในพื้นที่บริการของโรงพยาบาล มิใช่เพียงตั้งรับงานเพียงในโรงพยาบาล และ (๒) มีการส่งต่อการจัดการปัญหาที่สำรวจพบต่อไปยังองค์กรของรัฐที่มีหน้าที่รักษาการตามกฎหมาย และคณะนิติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยที่มีความตกลงกับโรงพยาบาล ในกรณีที่มีข้อขัดข้องและข้อขัดแย้งกับองค์กรของรัฐที่มีหน้าที่รักษาการตามกฎหมาย

ศักยภาพในการทำงานเพื่อให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายในโรงพยาบาลทั้งสี่นี้เกิดจาก (๑) การมีนักกฎหมายประจำโรงพยาบาลแล้วในโรงพยาบาลอุ้มผางและแม่ระมาด (๒) มีการสนับสนุนการทำงานโดยนักกฎหมายจากบางกอกคลินิก คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ (๓) อาจมีการระดมความช่วยเหลือจากคณะนิติศาสตร์อื่น และองค์การพัฒนาเอกชนอื่นที่มีความเชี่ยวชาญด้านกฎหมายและเทคโนโลยีด้านการจับเก็บข้อมูล ตลอดจนองค์กรอิสระที่มีหน้าที่ดูแลความชอบด้วยกฎหมายของการจัดการสิทธิในการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมาย โดยเฉพาะ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนทั้งในระดับชาติ ระดับอาเซียน และระดับสหประชาชาติ

แม้ในวันนี้ ระบบการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายที่ชัดเจนทั้งเชิงรับและเชิงรุกก็เริ่มต้นแล้วและเป็นไปเท่าที่จะเป็นไปได้ในทั้งสี่โรงพยาบาล สำหรับโรงพยาบาลอุ้มผาง งานดังกล่าวเริ่มต้นตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓ โดยนักกฎหมายประจำคลินิกของโรงพยาบาลเอง ในขณะที่โรงพยาบาลแม่ระมาดจะเริ่มมีนักกฎหมายประจำคลินิกกฎหมายตั้งแต่เดือนกันยายน พ.ศ.๒๕๕๗ ส่วนโรงพยาบาลท่าสองยางและพบพระนั้น ก็ใช้บุคคลากรด้านสังคมสงเคราะห์และพยาบาลที่ได้รับการฝึกอบรมเพื่อทำงานนี้แล้ว ในระหว่างรอนักกฎหมายประจำโรงพยาบาลที่จะจัดให้มีในวาระต่อไป นอกจากนั้น แม้จะมีนักกฎหมายประจำโรงพยาบาลเพื่อดูแลงานให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายนี้แล้ว บุคลากรด้านสาธารณสุขที่มีความเกี่ยวข้องกับบุคคลที่มีปัญหาสถานะบุคคลตามกฎหมาย ก็คงจะต้องมีหน้าที่ในงานช่วยเหลือทางกฎหมายนี้ ร่วมกับนักกฎหมายประจำโรงพยาบาล

โดยสรุป งานช่วยเหลือทางกฎหมายที่เกิดขึ้นแล้วในโรงพยาบาลแม่ระมาด/อุ้มผาง/ท่าสองยาง/พบพระครั้งนี้ ก็คือ ประสบการณ์ของการใช้หลักแพทยธรรมและหลักนิติธรรมในการจัดการระบบงานด้านสาธารณสุขของโรงพยาบาลของรัฐนั่นเอง ประสบการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ย่อมนำไปสู่บทเรียนที่จะต้องถอดออกมาเป็นสูตรสำเร็จ/ต้นแบบ/คู่มือต่อไปสำหรับคลินิกกฎหมายเพื่อจัดการปัญหาสถานะบุคคลต่อไปที่จะเกิดในโรงพยาบาลอื่นๆ ตามแนวชายแดนระหว่างรัฐไทยและรัฐต่างประเทศ


[1] เป็นบันทึกสรุปแนวคิดของผู้อำนวยการโรงพยาบาลชายแดนของรัฐ ๔ ท่าน กล่าวคือ (๑) นพ.จิรพงศ์ อุทัยศิลป์ (๒) นพ.วรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย์ (๓) นพ.ธวัชชัย ยิ่งทวีศักดิ์ และ (๔) นพ.ศักดิ์บัญชา สมชัยมงคล ตั้งแต่วันที่ ๖ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๗ เป็นต้นมา

แผนผังแสดงการทำงานในกรณีที่คลินิกกฎหมาย "มี" นักกฎหมายประจำโรงพยาบาล

แผนผังแสดงการทำงานในกรณีที่คลินิกกฎหมาย "ไม่มี" นักกฎหมายประจำโรงพยาบาล

หมายเลขบันทึก: 574213เขียนเมื่อ 10 สิงหาคม 2014 13:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 สิงหาคม 2014 16:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ตามมาเชียร์การทำงานครับอาจารย์

ขอบคุณครับ

ขอบคุณแทนผู้ด้อยโอกาสเหล่านั้นเป็นอย่างยิ่งเลยค่ะ 

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท