แนวการประเมินการอ่าน คิดวิเคราะห์ เขียน


           สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เสนอแนวทางการประเมินการอ่าน คิดวิเคราะห์ และเขียนไว้ในเอกสารประกอบหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช ๒๕๕๑ เรื่องแนวทางการปฏิบัติการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ ในที่นี้ขอนำเสนอเพียงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑ ถึง ๖ ดังนี้

ขอบเขตการประเมินการอ่าน คิดวิเคราะห์ และเขียน

ม. ๑ – ม. ๓

           การอ่านจากสื่อสิ่งพิมพ์และ/หรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ที่ให้ข้อมูลสารสนเทศ ข้อคิดความรู้เกี่ยวกับสังคม และสิ่งแวดล้อมที่เอื้อให้ผู้อ่านนำไปคิด วิเคราะห์ วิจารณ์สรุปแนวคิด คุณค่าที่ได้นำไปประยุกต์ใช้ด้วยวิจารณญาณ และถ่ายทอดเป็นข้อเขียนเชิงสร้างสรรค์ หรือรายงานด้วยภาษาที่ถูกต้อง เหมาะสม เช่น อ่านหนังสือพิมพ์ วารสาร หนังสือเรียน บทความ สุนทรพจน์ คำแนะนำ คำเตือน แผนภูมิ ตาราง แผนที่

ม. ๔ – ม. ๖

           การอ่านจากสื่อสิ่งพิมพ์และ/หรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ที่ให้ข้อมูลสารสนเทศ ความรู้ ประสบการณ์แนวคิด ทฤษฎี รวมทั้งความงดงามทางภาษาที่เอื้อให้ผู้อ่านนำไปคิด วิเคราะห์ วิพากษ์ วิจารณ์ แสดงความคิดเห็นโต้แย้งหรือสนับสนุน ทำนาย คาดการณ์ ตลอดจนประยุกต์ใช้ในการตัดสินใจแก้ปัญหา และถ่ายทอดเป็นข้อเขียนเชิงสร้างสรรค์ รายงาน บทความทางวิชาการ อย่างถูกต้องตามหลักวิชา เช่น อ่านบทความวิชาการ วรรณกรรมประเภทต่าง ๆ

ตัวชี้วัดความสามารถในการอ่าน คิดวิเคราะห์ และเขียน

           ม.๑ – ม. ๓

                     ๑. สามารถคัดสรรสื่อที่ต้องการอ่านเพื่อหาข้อมูลสารสนเทศได้ตามวัตถุประสงค์ สามารถสร้างความเข้าใจและประยุกต์ใช้ความรู้จากการอ่าน

                     ๒. สามารถจับประเด็นสำคัญและประเด็นสนับสนุนโต้แย้ง

                     ๓. สามารถวิเคราะห์ วิจารณ์ความสมเหตุสมผล ความน่าเชื่อถือ ลำดับความและความเป็นไปได้ของเรื่องที่อ่าน

                     ๔. สามารถสรุปคุณค่า แนวคิด แง่คิดที่ได้จากการอ่าน

                     ๕. สามารถสรุป อภิปราย ขยายความคิดเห็น โต้แย้ง สนับสนุน โน้มน้าว โดยการเขียนสื่อสารในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ผังความคิด เป็นต้น

           ม.๔ – ม.๖

                     ๑. สามารถอ่านเพื่อการศึกษา ค้นคว้า เพิ่มพูนความรู้ ประสบการณ์ และการประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน

                     ๒. สามารถจับประเด็นสำคัญ ลำดับเหตุการณ์ จากการอ่านสื่อที่มีความสลับซับซ้อน

                     ๓. สามารถวิเคราะห์สิ่งที่ผู้เขียนต้องการสื่อสารกับผู้อ่าน และสามารถวิพากษ์ให้ข้อเสนอแนะในแง่มุมต่าง ๆ

                     ๔. สามารถประเมินความน่าเชื่อถือ คุณค่า แนวคิดที่ได้จากสิ่งที่อ่าน อย่างหลากหลาย

                     ๕. สามารถแสดงความคิดเห็นโต้แย้ง สรุป โดยมีข้อมูลอธิบายสนับสนุน อย่างเพียงพอและสมเหตุสมผล

เกณฑ์การตัดสินคุณภาพการอ่าน คิดวิเคราะห์ และเขียน

           เกณฑ์การตัดสินคุณภาพการอ่าน คิดวิเคราะห์ และเขียน มี ๔ ระดับ ดังนี้

           ดีเยี่ยม หมายถึง มีผลงานที่แสดงถึงความสามารถในการอ่าน คิดวิเคราะห์ และเขียนที่มีคุณภาพดีเลิศอยู่เสมอ

           ผ่าน หมายถึง มีผลงานที่แสดงถึงความสามารถในการอ่าน คิดวิเคราะห์ และเขียนที่มีข้อบกพร่องบางประการ

           ไม่ผ่าน หมายถึง ไม่มีผลงานที่แสดงถึงความสามารถในการอ่าน คิดวิเคราะห์ และเขียน หรือถ้ามีผลงาน ผลงานนั้นยังมีข้อบกพร่องที่ต้องได้รับการปรับปรุงแก้ไขหลายประการ

           การตัดสินผลการเรียนระดับมัธยมศึกษาให้ตัดสินเมื่อสิ้นภาคเรียน และใช้ผลการประเมินภาคเรียนสุดท้ายของปีการศึกษาในการตัดสินผลการประเมินเพื่อเลื่อนชั้น ส่วนการตัดสินผลการประเมินเพื่อจบการศึกษาให้ใช้ผลการประเมินปลายปีสุดท้ายของระดับการศึกษานั้น ๆ

รูปแบบการประเมินการอ่าน คิดวิเคราะห์ และเขียน

            สำนักวิชาการมาตรฐานการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้เสนอรูปแบบการประเมินการอ่าน คิดวิเคราะห์ และเขียนไว้ ๔ รูปแบบ ดังนี้

            รูปแบบที่ ๑ การบูรณาการตัวชี้วัดการประเมินการอ่าน คิดวิเคราะห์ และเขียนร่วมกับการประเมิน ๘ กลุ่มสาระการเรียนรู้

            รูปแบบที่ ๒ การใช้เครื่องมือแบบประเมินการอ่าน คิดวิเคราะห์ และเขียน

            รูปแบบที่ ๓ การกำหนดโครงการ/กิจกรรมส่งเสริมความสามารถในการอ่าน คิดวิเคราะห์ และเขียนให้ผู้เรียนปฏิบัติโดยเฉพาะ

            รูปแบบที่ ๔ การบูรณาการตัวชี้วัดการประเมินความสามารถในการอ่าน คิดวิเคราะห์ และเขียน ร่วมกับการประเมินกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน

            การประเมินการอ่าน คิดวิเคราะห์ และเขียนควรประเมินในห้องเรียนตามปกติ หากประเมินโดยใช้เวลานอกห้องเรียน ควรมอบหมายให้ผู้เรียนทำงานกลุ่มที่สะท้อนความสามารถการอ่าน คิดวิเคราะห์ และเขียนเป็นพิเศษ สถานศึกษาส่วนใหญ่จะใช้รูปแบบที่ ๑ คือ บูรณาการร่วมกับกลุ่มสาระการเรียนรู้ทั้ง ๘ กลุ่มสาระการเรียนรู้ จัดกิจกรรมการเรียนการสอนและประเมินเป็นครั้ง ๆ แล้วนำผลมาสรุปรวม โดยแบ่งระยะเวลาสรุปเป็นช่วง ๆ

การรายงานผลการประเมินการอ่าน คิดวิเคราะห์ และเขียน

            รูปแบบรายงานขึ้นอยู่กับการออกแบบการจัดการเรียนรู้ การวางแผนร่วมกันของผู้บริหาร ครู และคณะกรรมการประเมินการอ่าน คิดวิเคราะห์ และเขียนว่าจะจัดให้มีการรายงานกี่ครั้ง ทั้งนี้ ครูหรือผู้รับผิดชอบต้องศึกษาขอบเขตของตัวชี้วัดการประเมินก่อนจึงจะช่วยให้เลือกวิธีการที่จะใช้ในการประเมินการอ่าน คิดวิเคราะห์ และเขียนได้อย่างเหมาะสม

                                                                                 *****************************

ที่มาข้อข้อมูล : วารสารวิชาการ ปีที่ ๑๓ ฉบับที่ ๒ เมษายน – มิถุนายน ๒๕๕๓, กระทรวงศึกษาธิการ

หมายเลขบันทึก: 574151เขียนเมื่อ 9 สิงหาคม 2014 11:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 สิงหาคม 2014 11:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท