เก็บตกงานเสวนา “เส้นทางสู่ตำแหน่งศาสตราจารย์”


บันทึกนี้เป็นข้อคิดจากงานเสวนา “เส้นทางสู่ตำแหน่งศาสตราจารย์” จากงานนเรศวรวิจัยครั้งที่ 10

โดย ศ.นพ. ดร.ศุภสิทธิ์ พรรณารุโณทัย คณบดีคณะแพทยศาสตร์; ศ.ดร. รัตนะ บัวสนธ์ คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย; ศ.ดร.สมยศ พลับเที่ยง คณบดีคณะวิทยาศาสตร์; รศ.ดร.กิจการ พรหมมา คณะเกษตรศาสตร์ฯ และดำเนินรายการโดย ดร.สันต์ จันทร์สมศักดิ์ คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์

งานนี้เป็นการเสวนาแบบเป็นกันเองโดย ดร.สันต์ ยิงคำถาม และให้ผู้ร่วมเสวนาผลัดกันแลกเปลี่ยนครับ ข้อคิดเท่าที่ผมจำได้ก็มีดังต่อไปนี้ครับ (ข้อความใน [???] คือความคิดผมที่ต่อยอดจากผู้เสวนาครับ)

เราต้องมีทัศนคติว่า “เราทำได้” หรือมี can-do attitude คนอื่นทำได้เราก็ทำได้ครับ [เราไม่ได้เป็นผู้บุกเบิกเส้นทางนี้อีกแล้วครับ มีคนมาถากถางเส้นทางไว้ให้เราเดินมากมาย แต่เราจะเดินไปให้ไกลกว่าคนที่มาก่อน]

ว่างเมื่อไรให้หยิบงานขึ้นมาเขียน รอเครื่องบิน รอรถ เดินทาง ทุกที่คือที่ทำงาน คนเราเวลาเท่ากัน แต่เราเอาเวลาไปทำอะไรบ้างเท่านั้นเอง บางคนอาจเขียนได้วันละหน้า บางคนไม่ได้เขียนเลยทั้งวัน [ศ.ดร. รัตนะ]

ตำแหน่งศาสตราจารย์คือตำแหน่งขั้นต่ำของการทำงานวิจัยให้ได้คุณภาพ อย่าคิดว่ามันคือรางวัลของความสำเร็จ [รศ.ดร.กิจการ]

เมื่อยื่นขอตำแหน่งแล้วได้รับการปฏิเสธ หรือแจ้งแก้ไขงาน ให้ทำตามคำแนะนำนั้น อย่ายื่นอุทธรณ์ เพราะกรรมการที่รับเรื่องก็เป็นชุดเดียวกับที่สั่งแก้ไขงาน ไม่มีประโยชน์ที่จะยื่นอุทธรณ์ เราทุกคนมีอัตตาว่างานเราดีที่สุด เจ๋งที่สุด ให้ลดอัตตาแล้วฟังผู้ร่วมวิชาชีพเรา โดยเฉพาะผู้มีประสบการณ์มาก่อน [เรื่องนี้ก็ไม่ต่างจากการทำวิทยานิพนธ์ การทำวิจัยแล้วส่งไปตามงานประชุมหรือวารสารต่างๆ ครับ เรามักคิดว่าของเราเจ๋งสุด แต่ส่งไปทำไมโดนตีกลับ โดนแก้ไข ให้คิดว่าเป็นการปรับปรุงงานเรา เปิดใจให้กว้างเพื่อพัฒนาตนเอง]

วางแผนให้ดี ข้อนี้สำคัญครับ เพราะมันหมายถึงงานที่มีน้ำหนัก บางท่านแนะนำว่า งานวิจัยที่เราทำควรมีเป้าหมายระยะยาว (เป็นเป้าหมายชีวิต เป็นความเชี่ยวชาญเฉพาะ) แล้วเริ่มจากการเก็บงานเล็กๆ เช่นส่งเข้าการประชุมวิชาการเป็น Proceedings หรือ Abstract สั้นๆ จากนั้นขยายเป็นบทความวิชาการ แล้วเอามารวมเป็นหนังสือ ในขั้นตอนการส่งงานเพื่อให้กรรมการพิจารณานั้นไม่ต้องส่งเยอะ ส่งแต่งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการที่มี Impact Factor สูงๆ และเอางานยิบย่อยที่เราเคยทำมารวมเป็นหนังสือแทน

เรื่องของสำนักพิมพ์นั้น หลายท่านแนะนำว่าถ้าได้สำนักพิมพ์ที่มีคุณภาพ (แถวๆ สามย่าน) ก็จะดี เพราะเป็นข้อรับประกันว่าเราผ่านการกลั่นกรองแล้วชั้นหนึ่งก่อนหนังสือจะถูกวางบนชั้น

แน่นอนว่าเกร็ดความรู้และแนวคิดเหล่านี้ไม่ได้จำกัดอยู่แต่เพียงการเดินทางไปสู่ตำแหน่ง ศ. เท่านั้น แต่ยังใช้ได้กับการดำเนินชีวิตโดยทั่วไปด้วย มุ่งหน้าไปสู่สิ่งที่เราอยากเป็น ชีวิตในแบบที่เราอยากมี ไม่ต้องรีบ ไปเรื่อยๆ เหนื่อยหรือท้อก็พัก แต่อย่าหยุดเดิน เทคนิคง่ายๆ ที่ท่านอาจารย์ รศ.ดร. กิจการ ฝากไว้คือ ถ้าเหนื่อยก็ให้ดูงานเก่าๆ ของเราแล้วเอานิ้วโป้งปิดตัว ผ. หรือ ร. เอาไว้ จินตนาการว่าสักวันเราจะมีอักษรตัวเดียวนำหน้าเราครับ

หมายเลขบันทึก: 573273เขียนเมื่อ 26 กรกฎาคม 2014 16:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 กรกฎาคม 2014 16:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

"... เมื่อยื่นขอตำแหน่งแล้วได้รับการปฏิเสธ หรือแจ้งแก้ไขงาน ให้ทำตามคำแนะนำนั้น อย่ายื่นอุทธรณ์ เพราะกรรมการที่รับเรื่องก็เป็นชุดเดียวกับที่สั่งแก้ไขงาน ไม่มีประโยชน์ที่จะยื่นอุทธรณ์ เราทุกคนมีอัตตาว่างานเราดีที่สุด เจ๋งที่สุด ให้ลดอัตตาแล้วฟังผู้ร่วมวิชาชีพเรา โดยเฉพาะผู้มีประสบการณ์มาก่อน ..."

ขอบคุณครับอาจารย์ แง่นี้ ... ยังไม่มีใครพูดที่นี่ ;)...

เจอแนวคิดห้ามอุทรณ์แล้วอึ้งๆครับ

555

ขอบคุณมากๆครับ

ได้ประเด็นดีๆมากเลย

อาจารย์ขจิตครับ จริงๆ แล้วเจตนารมณ์ของข้อแนะนำที่ว่า "ห้ามอุทธรณ์" หมายถึงเราเอาพลังงานไปแก้ไขงานเรา ดีกว่าเสียเวลาและเสียอารมณ์ไปร้องขอความเห็นใจครับ :) 

แต่แนวคิด "ห้ามอุทธรณ์" ทำให้ผมนึกถึงวลีที่ฝรั่งพูดว่า "Take the ball and go home" (link) ประมาณว่าถ้าเราเล่นเกมนี้ได้ไม่ดี ก็ไปทำกติกาเอง คล้ายๆ กับการส่งงานวิจัยไปวารสารวิชาการแล้วเขาไม่ตอบรับ เราก็ไม่ได้อุทธรณ์ แต่ไปส่งที่อื่น หนักเข้ามหาวิทยาลัยก็เปิดวารสารวิชาการของตัวเองเสียเลย 

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท