เรื่องเล่าความสำเร็จ... เคล็ด(ไม่) ลับ (๑)


หลังจากที่กลุ่มโรงเรียนพันธมิตรที่ประกอบไปด้วยโรงเรียนทอสี โรงเรียนรุ่งอรุณ โรงเรียนเพลินพัฒนา และโรงเรียนปัญญาประทีป ไปตั้งวงแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันครั้งหลังสุดที่โรงเรียนทอสีเมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมาแล้ว ต่างคนต่างก็วุ่นวายอยู่กับสถานการณ์ทางการเมืองที่ไม่ปกติ จนกระทั่งมานัดหมายรวมตัวกันได้อีกครั้งเมื่อต้นเดือนกรกฎาคม

วันที่  ๗  กรกฎาคม ๕๗

คุณครูโม – สุนิสา ชื่นเจริญสุข ผู้อำนวยการโรงเรียนรุ่งอรุณ พาเพื่อนครูเดินทางมาถึงโรงเรียนเพลินพัฒนาแต่เช้า เพื่อเยี่ยมเยียนโรงเรียนอนุบาลของเพลินพัฒนาก่อนที่จะมาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อนครูอีก ๓ โรงเรียนในห้องประชุม ในการประชุมครั้งนี้ทางโรงเรียนเพลินพัฒนาขออนุญาตนำคณะวิจัยและพัฒนาการศึกษาที่เป็นกลุ่มผู้ปกครองของโรงเรียนเข้ามาร่วมเรียนรู้ด้วย

วันนี้คุณครูโมมาเปิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของวงด้วยการนำเรื่องการทำห้องเรียนอนุบาลคละอายุ ที่จัดให้นักเรียนชั้นอนุบาล ๑ – ๒ – ๓ มาร่วมเรียนรู้อยู่ในห้องเดียวกัน มาแบ่งปันตามคำขอ

อนุบาลรุ่งอรุณเริ่มทำห้องเรียนคละอายุตั้งแต่ปีการศึกษาที่แล้ว โดยเริ่มทำห้องตัวอย่าง ๓ ห้องคือ ห้องสายรุ้ง ห้องสายธาร และห้องสายหมอก แต่ละห้องมีนักเรียน ๒๕ คน ครู ๒ คน เพื่อให้เด็กมีพื้นที่ของตัวเองมากขึ้น

มาถึงปีการศึกษา ๒๕๕๗ จึงได้ขยายออกไปจนครบทั้ง ๑๒ ห้อง หลักคิดในการจัดกระบวนการเรียนรู้ คือ เน้นความเป็นธรรมชาติเช่นเดียวกับการใช้ชีวิตในครอบครัวที่มีคนต่างวัยคละอยู่ด้วยกัน โดยให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติจริง โดยใช้แนวทางและกระบวนการเรียนรู้ของเร็กจิโอ เอมิเลีย ควบคู่ไปกับไปพร้อมกับการทำห้องเรียนคละอายุ

แรงบันดาลใจ

  • การเปลี่ยนแปลง ทำให้เกิดความท้าทาย ทำให้ครูไม่อิ่มตัวนิ่งอยู่กับความเคยชิน

Vygotsky’s Zone of Proximal Development : ศักยภาพของมนุษย์เหมือนกับวงกลมสามขนาดที่ซ้อนกันอยู่ วงในสุด ขนาดเล็กที่สุด คือ สิ่งที่เราทำได้อยู่แล้ว และทำจนคุ้นชิน วงที่สองมีขอบเขตที่ขยายออกมาโดยรอบ เป็นสิ่งที่ท้าทายนิดๆ แต่เราเลือกที่จะไม่ทำก็ได้ถ้าไม่มีแรงจูงใจ ไม่มีแรงกระตุ้นเพียงพอ แต่หากทำได้เราก็จะก้าวผ่านไปสู่ก็จะผ่านไปสู่วงกลมวงที่ ๓ ซึ่งอยู่ขอบนอกสุด และต้องใช้ศักยภาพมากขึ้น และเป็นเรื่องที่ยากขึ้นไปอีก แต่ถ้าเราอยู่แต่วงข้างใน แล้วชินกับศักยภาพตรงนั้นแล้วเราก็จะพลาดการเติบโตที่กว้างขวางมากขึ้นไปกว่าเดิม

  • ธรรมชาติของเด็กในวัยอนุบาลเรียนรู้จากจากการลงมือปฏิบัติ โรงเรียนจึงพยายามที่จะหาวิธีการอยู่กับเด็กอย่างไรให้ดีจริงๆ และเกิดการเติบโตทั้งเด็กและครู

คุณครูโม : ในการทำห้องเรียนชั้นคละนั้นจะหาตัวครูผู้กล้าว่าใครอยากทำห้องเรียนชั้นคละบ้าง และได้ถ่ายทอดแนวคิดให้ครูฟังก่อนว่าห้องเรียนชั้นคละเป็นอย่างไร เพราะเชื่อว่าคนที่มีฉันทะ มีแรงบันดาลใจถ้าเจออะไรยากๆ จะสามารถฟันฝ่าได้ จะแบ่งโจทย์กันให้ช่วยกันแก้ไม่ใช่ให้ผู้บริหารเป็นผู้แก้เพียงคนเดียว

เมื่อได้ผู้กล้ามาแล้วก็พาไปสร้างแรงบันดาลใจ ด้วยการไปดูงานอนุบาลชั้นคละที่โรงเรียนอนุบาลบ้านรักที่ใช้แนวการศึกษาของวอลดอร์ฟ และเร็กจิโอ อยู่แล้ว และสร้างการงานที่ทำให้ครูตึงมือ เด็กตึงมือ จากนั้นภาคเรียนที่ ๒ พาครูไปเติมทักษะความรู้ที่ศูนย์เด็กก่อนเกณฑ์ วัดศิริพงษ์ธรรมนิมิต ที่บางเขน

ระหว่างการปฏิบัติงานคุณครูบัว – วุฒิภา คุณครูรัตน์ – เนาวรัตน์ และคุณครูอ๊อด – กนกพร เจ้าของห้องคละทั้ง ๓ ห้องก็เอาความสำเร็จ และอุปสรรคปัญหามาแลกเปลี่ยนกันอย่างไม่เป็นทางการเกือบทุกเย็น นอกจากนี้ก็มีการนำเอาความรู้ที่เกิดขึ้นจากการจัดการเรียนรู้ในห้องคละมาเล่าให้ครูห้องอื่นๆ ในระดับชั้นอนุบาลได้กันฟังด้วย

อุปสรรคที่สำคัญ

  • ความกลัวของครู กลัวที่ต้องเปลี่ยนความคุ้นชินเดิมๆ กลัวเรื่องใหม่ที่ยังไม่รู้
  • คุณครูรัตน์ : การต่อสู้กับใจตัวเอง จากการเป็นครูมาเกือบ ๒๐ ปี ความเคยชินเดิมๆ ความยึดมั่นถือมั่นจึงค่อนข้างสูง การที่จะออกจากกรอบนั้นต้องต่อสู้กับตัวเองและคู่ห้องที่เป็นน้องผู้ชาย การทำงานร่วมคู่ต้องมาปรับวิธีการคิดและการทำงาน ในเทอมแรกจะมีความทุกข์มาก ไม่เบิกบาน เครียด จึงได้ทำการปรับตัวเองใหม่ ไม่คาดหวังกับตัวเอง ถอดความยึดมั่นออก และเริ่มเรียนรู้กับสิ่งใหม่ๆ ทำให้ตอนนี้รู้สึกเบิกบาน และคิดว่าอะไรก็สามารถจัดการได้ทุกอย่าง

  • ความกลัวของผู้ปกครอง ผู้ปกครองเก่าชั้นอนุบาล ๒-๓ กลัวการเปลี่ยนแปลง เพราะกลัวลูกคนโตจะกลับไปเป็นเด็กเหมือนน้องคนเล็ก ส่วนผู้ปกครองใหม่ชั้นอนุบาล ๑ ให้การตอบรับเป็นอย่างดี

ปัจจัยความสำเร็จ

  • การรับฟังเสียงสะท้อน
  • คุณครูโม : ในช่วงของการเปิดบ้านให้ผู้ปกครองเข้ามาดู เป็นผู้ปกครองระดับอนุบาล ๒-๓ ครูต้องฟังเขาเยอะๆ เพราะผู้ปกครองอยู่บนความสงสัย สิ่งที่เป็นอุปสรรคก็คือความสงสัย ครูก็จะเก็บความสงสัยของผู้ปกครองนั้นกลับไปประชุม เพื่อนำปัญหาของแต่ละห้องไปสะท้อนกัน จริงๆ แล้วการสะท้อนที่ดีที่สุดคือการสะท้อนปัญหาจากผู้ปกครอง ปัญหาบางอย่างเราอาจมองไม่ค่อยเห็นแต่พอลงลึกไปจริงๆ จะเห็นสาเหตุของปัญหา และต้องช่วยกันวิเคราะห์และแก้ปัญหา อีกทั้งต้องใช้ความใจเย็นและอ่อนน้อมต่อผู้ปกครอง เหมือนกับตัวเราเวลาที่เราไม่สบายใจถ้ามีคนรับฟังเราก็จะคลายความรู้สึกนั้นไปได้ ปัญหาทุกปัญหาจะทำการแก้ทีละข้อ
  • ครูต้องเปิดใจในการรับฟังผู้ปกครองอย่างแท้จริง ครูต้องตั้งหลักว่าผู้ปกครองไม่ได้มาจับผิดเรา ผู้ปกครองมาเพียงสะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ผู้ปกครองชั้นอนุบาล ๒-๓ เขาไม่ได้มาด้วยใจอยู่แล้วในการทำชั้นคละ เขามาด้วยเหตุผลของครู สิ่งที่จะทำให้ผู้ปกครองคลายความกังวลได้คือ สัมพันธภาพระหว่างครูกับผู้ปกครอง ท่าทีครูต้องเปลี่ยนจากยึดมั่นถือมั่นเป็นเปิดใจรับฟัง
  • นอกจากนี้ยังมีแบบสอบถามเวลาผู้ปกครองมาร่วมกิจกรรม ครูก็จะอ่านจากแบบสอบถามนั้นแล้วมาดูว่าข้อไหนที่เร่งด่วนและครูจะตอบโจทย์นั้นอย่างไร และจะให้ความใกล้ชิดกับผู้ปกครองมากขึ้น จากการพูดคุยและเขียนในสมุดสื่อสาร แต่คนไหนที่เราเห็นว่าเป็นปัญหาหลักๆ เราก็จะตามติด โดยการคุยโดยใช้สัมพันธภาพ และทำให้ผู้ปกครองรู้สึกว่าผู้ปกครองนั้นเป็นตัวช่วยเป็นกัลยาณมิตรอย่างแท้จริง และขอบคุณเขาอย่างจริงใจ

  • การปฏิบัติธรรมจะทำให้ครูนิ่ง และมีสติ เมื่อพบปัญหา ก็เรียนรู้และแก้ไข ครูที่ปฏิบัติธรรมจะทำให้หลุดจากปัญหาได้ง่ายกว่า
  • คุณครูอ๊อด : พื้นฐานเป็นคนเป๊ะ ในเรื่องของระเบียบและงานกิจวัตร เพราะต้องการให้เด็กได้อย่างที่ครูตั้งใจไว้ จึงรู้สึกเหนื่อย จึงหันมาดูใจตัวเอง จึงพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส เริ่มเรียนรู้ไปกับเด็ก และการไปถึงเป้าหมายไม่จำเป็นต้องเป็นประตูเดียว แต่ก็ขึ้นอยู่กับสิ่งที่ต้องต่อยอดว่าจะพาเด็กไปถึงที่ไหน เมื่อไร และก็เริ่มไปด้วยกัน ไม่จำเป็นต้องฉุดเด็กไป ครูก็จะไม่เหนื่อยด้วย
  • ในการทำห้องเรียนคละอายุ วิถีชีวิตในการอยู่ร่วมกันเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ครูต้องรู้หลักสูตรว่าระดับชั้นไหนต้องเรียนรู้เรื่องอะไร และจะสอดแทรกเข้าไปในกิจกรรมการเรียนรู้ได้อย่างไร
  • การฝึกสังเกต และบันทึกการเรียนรู้ของเด็กตามแนวเร็กจิโอ ทำให้ครูเข้าใจการเรียนรู้ของเด็ก เห็นตัวเด็กมากขึ้น เข้าใจภาษาเด็ก และการสื่อสารของเด็กมากขึ้น
  • คุณครูบัว : ห้องเรียนชั้นคละความสนุกมากมาย บางอย่างที่ไม่คิดว่าจะทำได้ก็ได้ทำ ถือว่าเป็นโอกาสที่ทำให้ได้ไปเรียนกับเด็กๆ ในบางครั้งเด็กก็เป็นครูของเรา ตัวอย่างเช่น ครั้งหนึ่งมีการหุงข้าวโดยไม่ใช้เตาไฟฟ้า แต่ก็ไม่ได้เตรียมตัวไปก่อน เพื่อจะได้เรียนไปพร้อมกันกับเด็ก มีเด็กที่คอยบอกว่าทำอย่างนั้นอย่างนี้ จึงถือว่าเป็นโอกาสกับเรา จากทัศนคติที่เคยมีครูคือการสอนแต่จริงๆ แล้วเรามาเรียนไปพร้อมกับเด็ก เด็กก็เป็นครูของเราได้ ในการทำห้องเรียนชั้นคละมีทั้งสนุกและเครียด แต่ทุกอย่างก็เป็นบทเรียน
  • ระหว่างทางใช้การนิเทศแบบกัลยาณมิตรที่หนุนนำต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการประชุมแบบ AAR ที่มีผู้บริหาร และคณาจารย์ที่เชี่ยวชาญในการจัดกระบวนการเรียนรู้จากสถาบันอาศรมศิลป์ มาร่วมวงด้วย

หมายเลขบันทึก: 573272เขียนเมื่อ 26 กรกฎาคม 2014 15:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 กรกฎาคม 2014 15:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ทุกอาชีพต้องฟังเสียงสะท้อนจึงจะปรับให้เข้ากับความต้องการ

ขอบคุณที่สรุปได้ดีมากค่ะ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท