มโนทัศน์เรื่องการกลับชาติมาเกิด: วรรณคดีไทยไม่ใช่เรื่องล้าหลังทางความคิด


มโนทัศน์เรื่องการกลับชาติมาเกิด: วรรณคดีไทยไม่ใช่เรื่องล้าหลังทางความคิด


เฉลิมลาภ  ทองอาจ

โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม


             ผู้ที่อ่านหรือศึกษาวรรณคดีไทย ย่อมทราบดีอยู่ว่า วรรณคดีประเภทชาดก ซึ่งเป็นวรรณคดีนิทานในพุทธศาสนานั้น เป็นวรรณคดีที่ปรากฏเรื่องของการกลับชาติมาเกิดอยู่มาก คำว่าชาดกนี้ แปลว่า “ผู้ที่ได้เกิดแล้ว” อันหมายถึงพระโพธิสัตว์ หรือพระมหาสัตว์ ซึ่งเชื่อกันว่า ได้ทรงเวียนว่ายอยู่ในสังสารวัฏ เพื่อบำเพ็ญบารมีให้ถึงพร้อม เมื่อเสวยพระชาติสุดท้ายเป็นพระเวสสันดรแล้วนั้นเอง จึงได้ทรงบำเพ็ญปรมัตถ์บารมี ในพระชาติถัดมาจึงประสูติเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ และเมื่อเจ้าชายพระองค์นั้น มีพระชนมายุได้ 35 ปี จึงได้ทรงค้นพบความจริงอันประเสริฐ และเป็นสมเด็จพระบรมศาสดา สัมมาสัมพุทธเจ้า

             นอกจากพระเวสสันดร จะกลับมาเกิดเป็นเจ้าชายผู้แสวงหาโมกษะแล้ว บุคคลในพระชาติเดียวกันนั้นก็กลับมาเกิดใหม่ ร่วมอยู่ในพุทธประวัติด้วยเช่นกัน เช่น พระเจ้ากรุงสญชัย กลับมาเกิดเป็นพระเจ้า พระเจ้าสุทโธทนะ พระนางมัทรีกลับมาเกิดเป็นพระนางยโสธราพิมพา พระชาลี กลับมาเกิดเป็นพระราหุล พระกัณหา กลับมาเกิดเป็นพระอุบลวรรณาเถรี เป็นต้น

          เรื่องการกลับชาติมาเกิดในพระเวสสันดร หรือในชาดกเรื่องอื่น ๆ แสดงให้เห็นพื้นฐานความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องของการตายแล้วไม่สูญ ประเด็นตรงนี้มีความสำคัญอย่างไร

          เมื่อเกิดภาวะที่เรียกว่า ตายแล้วไม่สูญ มีประเด็นให้ต้องขบคิดต่อว่า สิ่งไม่สูญนั้นคืออะไร ประเด็นนี้อาจจะเรียกได้ว่าเป็นดวงจิต เป็นวิญญาณ หรืออะไรก็แล้วแต่ แต่ความตายแล้วไม่สูญ แสดงให้เห็นว่า ดวงจิตหรือวิญญาณนั้น ย่อมแยกออกจากร่างกาย เป็นคนละส่วนกัน เมื่อร่างกายเสื่อมสลายผุพังไป แต่ดวงวิญญาณนั้นยังคงปรากฏอยู่ ที่สำคัญคือ ยังสามารถ่ายโอนดวงจิตหรือวิญญาณนั้น ไปสู่ร่างใหม่ในลักษณะ ต่าง ๆ ได้อีกด้วย ประเด็นเรื่องการเดินทางของวิญญาณ ผ่านภพภูมินั้น มีปรากฏในพระไตรปิฎก ทั้งในส่วนที่เป็นสุตตันตปิฎกที่ว่าในเรื่องของชาดก และส่วนของพระอภิธรรมปิฎกที่ว่าในเรื่องของปฏิจจสมุปบาทรวมถึงแนวคิดอื่น ๆ ที่ปรากฏต่อมาในยุคหลังพุทธกาล

         ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ เมื่อในสมัย พ.ศ. 500 พระนาคเสน มหาเถระแห่งชมพูทวีป ได้ตอบคำถามกษัตริย์เมนันเดอร์ (พระยามิลินทร์) ในประเด็นว่า “พระพุทธเจ้ามีจริงหรือไม่” พระนาคเสนวิสัชนาว่า “มี” เมนันเดอร์จึงถามต่อไปว่า “ท่านเคยเห็นพระพุทธเจ้าหรือ ไยจึงตอบว่ามี” พระนาคเสนจึงถามกลับว่า “ท่านว่าต้นวงศ์กษัตริย์ของท่านมีหรือไม่” พระยามิลินทร์ตอบว่า “มี” พระนาคเสนถึงถามต่อว่า “แล้วท่านเคยเห็นหรือไม่” พระยามิลินทร์ก็ตอบว่า “ไม่เคย” กรณีการถามตอบของพระสมณะและกษัตริย์คู่นี้ ทำให้เราเห็นแนวคิดว่า การกำเนิดของมนุษย์เรา ล้วนแต่มีสาแหรก มีสืบสายถ่ายทอดมาจากจุดจุดหนึ่ง ณ จุดนั้น ไม่มีใครทราบได้ว่าเป็นอย่างไร แม้จะไม่เคยเห็น แต่ไม่อาจตอบได้ว่า ไม่มี ด้วยเหตุนี้ ประเด็นเรื่องของ การกลับชาติมาเกิด หรือการถือกำเนิดในรูปลักษณ์ใหม่ หาใช่เป็นประเด็นเฉพาะในทางพุทธศาสนาไม่ แต่สามารถจัดได้ว่า เป็นประเด็นปรัชญาสากล ซึ่งว่าด้วยกำเนิดของชีวิต ซึ่งนักปรัชญาทั้งฝ่ายตะวันตกและฝ่ายตะวันออก ต่างก็พยายามจะเสนอคำตอบหรือคำอธิบายมาอย่างต่อเนื่อง

         วรรณคดีชาดกมีที่มาจากพุทธศาสนา ซึ่งมีสาระสำคัญที่ว่าด้วยกรรมหรือการกระทำ การกระทำอย่างหนึ่งในชาติที่แล้ว อาจส่งผลอย่างหนึ่งในชาติต่อมา ความเชื่อในเรื่องของภพภูมิหรือการโอนย้ายถ่าย วิญาณไปสู่ร่างใหม่ สถานที่ใหม่เช่นนี้ หาใช่เรื่องที่พุทธศาสนาเป็นเจ้าของหรือถือไว้แต่ผู้เดียวไม่ ผู้ศึกษาวรรณคดี พึงจะต้องทำความเข้าใจด้วยว่า แนวคิดในศาสนาพุทธประเด็นนี้ สอดคล้องกับแนวคิดของ นักปรัชญาหลายสำนัก โดยเฉพาะในฝั่งฝากตะวันตก ซึ่งก็มีความเชื่อเรื่องนี้เช่นเดียวกัน

         ได้กล่าวมาแล้วแต่ตอนต้นว่า แนวคิดเรื่องการกลับชาติมาเกิด เป็นแนวคิดสากล ไม่ใช่เรื่องที่เชื่อกันแต่เฉพาะในพุทธศาสนา ก่อนสมัยของเพลโต นักปรัชญากรีก ก็มีนักปรัชญาในกลุ่มไอโอเนียน (Ionian) โดยเฉพาะนักคณิตศาสตร์หลายคน ที่เชื่อในเรื่องของจิตและร่างกาย ที่อยู่แยกจากกัน นักปรัชญาคนหนึ่งที่เราอาจจะไม่คิดว่า เชื่อในเรื่องนี้ด้วย คือผู้คิดสมการสามเหลี่ยมมุมฉากอันมีชื่อเสียง พีทาโกรัส (Pythagoras) (570-495 B.C.)

          นักปรัชญาผู้นี้ ไม่ได้เป็นแต่เฉพาะนักคณิตศาสตร์ ดังที่เรารู้จักกันทั่วไป เขายังเป็นนักปรัชญา เป็นผู้ที่หาคำตอบของสิ่งต่าง ๆ โดยเฉพาะในเรื่องของจิต เขาเชื่อว่า จิตใจของเราเป็นสิ่งสิ่งหนึ่ง ที่จะต้องขัดเกลา หรือชำระให้สะอาดอยู่เสมอ ที่สำคัญ จิตนี้ยังถ่ายทอด หรือเดินทางเปลี่ยนจากคนไปสู่คน หรือจากคนไปสู่สัตว์ได้อีกด้วย จิตนี้สามารถที่จะกำเนิดใหม่ (reincarnation) ในรูปลักษณ์ใหม่ ๆ จากความเชื่อนี้ ทำให้ พีทาโกรัสเชื่อว่า สิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ล้วนแต่มีความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน ทุกอย่างมีความเป็นพี่น้อง เขาและสานุศิษย์จึงเลิกรับประทานสัตว์ และหันมาบริโภคพืชผักผลไม้แทน เพราะเชื่อว่า สัตว์เหล่านั้นมีจิตของมนุษย์ที่ถ่ายโอนมาสู่ร่างใหม่ ดังนั้น สัตว์ต่าง ๆ อาจจะเคยเป็นเพื่อนพี่น้องของพวกเขามาก่อนก็ได้

          ก่อนสมัยของพีทาโกรัส พวกชาวอียิปต์โบราณ ก็เชื่อว่า วิญญาณของบุคคล เมื่อออกจากร่างที่ตายแล้ว ก็จะวนเวียนไปสถิตในสัตว์ หรือในสิ่งต่าง ๆ ได้ต่อไป ในรอบหนึ่งใช้เวลาถึงประมาณ 3,000 ปี จึงจะกลับมาสถิตในร่างของมนุษย์อีก เราจึงได้เห็นหลักฐานเกี่ยวกับพีระมิดและมัมมี่ ที่ทำให้เราได้เห็นความเชื่อในเรื่องของจิต ที่แยกเป็นอิสระจากร่างกาย ซึ่งพระพุทธศาสนาก็เชื่อในแนวคิดนี้ด้วย แต่มิได้ถือเป็นแก่นสาระสำคัญเท่าใดนัก เมื่อเทียบกับแนวคิดเรื่องของทุกข์ และมรรควิธีพ้นจากทุกข์

          ความเห็นที่ว่า วรรณคดีไทย วรรณคดีชาดก เป็นวรรณคดีที่งมงาย และเชื่อในเรื่องการกลับชาติมาเกิด จึงเป็นความเห็นที่ดูจะใส่ร้ายวรรณคดีอยู่มาก ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว ประเด็นนี้ เป็นประเด็นปรัชญาสากล ซึ่งมีมาแต่ดั้งเดิม การที่เราได้ศึกษาวรรณคดี คือ การแสวงหาคำตอบทางปรัชญา ว่าชีวิตคืออะไร ตายแล้วไปไหน คำตอบพวกนี้ เป็นคำถามตั้งแต่มนุษย์เริ่มมีความคิดในเชิงปรัชญา นับเนื่องมาก็หลายพันปี กระทั่งปัจจุบัน ก็ยังคงเป็นคำถามที่ถามได้อย่างต่อเนื่อง และมีผู้พยายามที่จะหาคำตอบได้แตกต่างกันออกไป สิ่งที่เราสามารถกระทำได้ ที่จริงแล้วอาจจะมิใช่การรอคอยคำตอบ แต่เราควรที่จะนำกระบวนการค้นหาหรือการเสนอแนวคิดเหล่านั้นในวรรณคดีไทยมาครุ่นคิด เพราะระหว่างทางของกระบวนการคิดนั้น อาจจะเป็นเวลาที่มีค่า กว่าเวลาที่เราได้รับคำตอบก็เป็นไปได้

______________________________________

หมายเลขบันทึก: 572962เขียนเมื่อ 21 กรกฎาคม 2014 14:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 กรกฎาคม 2014 14:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ในวรรณดคีไทย

หลายเรื่องทันสมัยมากครับ

เช่นพระอภัยมณี

มีเรียกลม เรียกฝน มียานพาหนะที่บินได้

การกลับชาติมาเกิดในเรื่องของชาดกก็น่าสนใจนะครับ

ขอบคุณมากๆครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท