​คำนำ หนังสือ “การประเมินเพื่อมอบอำนาจ”


สำนักพิมพ์สานอักษร กำลังดำเนินการจัดพิมพ์หนังสือ การประเมินเพื่อมอบอำนาจ จึงเอาคำนำของผู้เขียนมาเผยแพร่ดังต่อไปนี้

คำนำของผู้เขียน

หนังสือ การประเมินเพื่อมอบอำนาจ

วิจารณ์ พานิช

...........

          หนังสือ การประเมินเพื่อมอบอำนาจเล่มที่ท่านถืออยู่นี้ เป็นหนังสือที่มีความแปลกใหม่มาก คือได้จากการ “ตีความซ้อนการตีความ” กล่าวคือ ผมได้ตีความสาระในหนังสือEmbedded Formative AssessmentเขียนโดยDylan Wiliamเป็นบันทึกชุด ประเมินเพื่อมอบอำนาจลงใน บล็อก gotoknow.orgรวม ๑๐ ตอน และได้ส่งต้นฉบับของการตีความนี้ให้ รศ. ประภาภัทร นิยม อธิการบดี สถาบันอาศรมศิลป์ กัลยาณมิตรท่านหนึ่งของผม อ่าน ท่านอ่านแล้วบอกว่าต้องพิมพ์เป็นหนังสือเผยแพร่ให้กว้างขวาง และได้ส่งต้นฉบับต่อให้แก่สำนักพิมพ์สานอักษร

          ผู้ดำเนินการสำนักพิมพ์สานอักษร คือคุณเกื้อกูล นิยม อ่านต้นฉบับแล้วบอกว่า ทำเป็นหนังสือประกอบภาพ ครูจะนิยมอ่านมากกว่า โดยที่หนังสือจะมีตัวอักษรน้อยลง เน้นการสื่อสารสาระด้วยภาพประกอบ ซึ่งจะถูกจริตครู ซึ่งเป็นคนสมัยใหม่ ที่ไม่ชอบอ่านหนังสือยาวๆ หนังสือเล่มนี้จึงเกิดจากการ “ตีความสองซ้อน” ดังกล่าวแล้ว

           ท่านที่ต้องการอ่านสาระตามต้นฉบับที่เป็นตัวหนังสือทั้งหมด สามารถอ่านได้ที่ www.gotoknow.org/posts?tag=dylan_wiliamผมเขียนบันทึกเรื่องการศึกษา ลงใน บล็อก gotoknow.org ก็เพื่อรับใช้สังคมไทย ด้านการปฏิรูปการเรียนรู้หรือการศึกษา เป็นส่วนหนึ่งของขบวนการกอบกู้คุณภาพการศึกษาไทย ที่ตกต่ำอย่างน่าตกใจ และหากทิ้งไว้ ก็จะก่อหายนะ ทำให้สังคมไทย ตกต่ำล้าหลัง

          การประเมินเพื่อมอบอำนาจ (Embedded Formative Assessment - EFA) เป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา หรือทุกขณะจิตในตัวครู ในขณะครูทำหน้าที่ในชั้นเรียน และเกิดขึ้นตลอดเวลาที่นักเรียนเรียน

          ครูทำ EFA เพื่อประโยชน์สองประการ คือ (๑) เพื่อเอื้ออำนวยการเรียนรู้ของศิษย์ (๒) เพื่อการเรียนรู้ของตัวครูเอง เพื่อการปรับปรุงตนเอง ให้ทำหน้าที่ครูได้ดียิ่งขึ้น

          EFA มีความสำคัญต่อศิษย์สามประการ คือ (๑) EFA โดยครู ที่ตามด้วยการให้คำแนะนำป้อนกลับเชิงบวก (Formative Feedback) แก่ศิษย์ จะช่วยให้ศิษย์ปรับปรุงการเรียนของตนได้ในทันที (๒) EFA โดยตัวนักเรียนเอง ต่อตนเอง จะเป็นทักษะติดตัวไปตลอดชีวิต ช่วยให้รู้จักปรับปรุงวิธีเรียนรู้ของตนเอง และ (๓) EFA ที่นักเรียนทำต่อเพื่อนนักเรียน ตามด้วยคำแนะนำป้อนกลับเชิงบวก จะทำให้เกิดการเรียนรู้เป็นทีม (Team Learning) ซึ่งเป็นหลักการเรียนรู้สมัยใหม่ ในศตวรรษที่ ๒๑ เป็นทักษะสำคัญที่นักเรียนจะต้องพัฒนาขึ้นในตน

          ข้อความในย่อหน้าบนนั้น ใช้ได้กับคนทุกคน เป็นเครื่องมือเอื้อและเสริมพลังการเรียนรู้ของคนทุกคน ใครมีทักษะนี้ ก็จะมีความสามารถในการเรียนรู้ในทุกเรื่องที่ตนดำเนินการหรือมีประสบการณ์ เป็นทักษะของการเรียนรู้ตลอดชีวิต

          ได้ย้ำแล้วย้ำอีกในหนังสือเล่มนี้ว่า ปัจจัยสำคัญที่สุดของการยกระดับคุณภาพการศึกษาไทย คือการพัฒนารอยต่อ หรือจุดสัมผัสระหว่างครูกับศิษย์ไม่ใช่การปฏิรูปหลักสูตร ไม่ใช่การลดขนาดชั้นเรียน และคุณภาพของรอยต่อดังกล่าวอยู่ที่ ทักษะการประเมินเพื่อมอบอำนาจของครู และในบทที่ ๑๐ ซึ่งเป็นบทสุดท้าย ผมได้เสนอวิธีบริหารจัดการเพื่อส่งเสริม ให้ครูทั้งประเทศ มีทักษะนี้ นอกจากนั้น ผมขอเสนอให้คณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ทั้งประเทศ นำไปบรรจุไว้ในหลักสูตร การผลิตครูเพื่อฝึกฝนให้บัณฑิตสาขาศึกษาศาสตร์/ครุศาสตร์ มีทักษะนี้ติดตัว เป็นนิสัย

          ขอขอบคุณสำนักพิมพ์สานอักษรที่จัดพิมพ์เผยแพร่หนังสือ การประเมินเพื่อมอบอำนาจเล่มนี้ โดยเฉพาะคุณเกื้อกูล นิยม ที่ได้ทำหน้าที่บรรณาธิการ จัดทำภาพประกอบ และตัดแต่งถ้อยคำทำเป็นรูปเล่มที่ทันสมัย ตรงกับรสนิยมของผู้อ่าน และขอบคุณ รศ. ประภาภัทร นิยม ที่ดำริให้สำนักพิมพ์สานอักษรจัดทำหนังสือเล่มนี้

          ผมหวังว่า หนังสือเล่มนี้จะเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการ การปฏิรูปการศึกษาไทยที่คนไทยทุกคนช่วยกันขับเคลื่อน โดยไม่รอภาคราชการ ไม่รอผู้มีอำนาจทางการเมืองหรือภาคราชการ

          ข้อสรุปหนังสือเล่มนี้ในหน้าเดียว อ่านได้ที่ www.gotoknow.org/posts/569192

วิจารณ์ พานิช

๑๖ มิถุนายน ๒๕๕๗

หมายเลขบันทึก: 572959เขียนเมื่อ 21 กรกฎาคม 2014 13:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 กรกฎาคม 2014 13:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท