นวัตกรรมใหม่ "แบบเรียนภาษาไทย" แบบนี้ ... ไหวไหมเนี่ย?


...

...

.........................................................................................................................................................................................

เริ่มจากข่าว ...

วันนี้ (3 ก.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภาพแบบเรียนวิชาภาษาไทยที่สอนเรื่องการสะกดคำ ของโรงเรียนแห่งหนึ่งได้ถูกแชร์ต่อ ๆ กันอย่างรวดเร็วในโลกโซเชียลเน็ตเวิร์ก เนื่องจากเป็นแบบเรียนภาษาไทยที่สอนการสะกดคำแปลก และแตกต่างไปจากการเรียนภาษาไทยในยุคก่อน ๆ

ตัวอย่างการสะกดคำ มีดังนี้

“เก” อ่านว่า “เอ-กอ”

“จำ” อ่านว่า “จอ-อำ-อา”

“มือ” อ่านว่า “มอ-อือ-ออ”

“เสื่อ” อ่านว่า “เอ-สอ-อือ-ไม้เอก-ออ

สำหรับแบบเรียนภาษาไทยที่สะกดคำแบบใหม่นี้ จากข้อมูลที่เหล่าผู้ปกครองเข้ามาโต้เถียงกันบนโลกออนไลน์ ได้ความว่าเป็น “โรงเรียนสารสาสน์”

.......................................................................................................................................................................................

และข่าวล่าสุด ...

วันนี้ (4 ก.ค.) ดร.บัณฑิตย์ ศรีพุทธางกูร เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) กล่าวว่า ตนได้มอบให้เจ้าหน้าที่กลุ่มส่งเสริมสถานศึกษาเอกชน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ไปตรวจสอบการเรียนการสอนวิชาภาษาไทยของโรงเรียนในเครือสารสาสน์ ว่า การสอนวิชาภาษาไทยในรูปแบบดังกล่าวดำเนินการมานานแล้วหรือยัง และมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของเด็กเป็นอย่างไร หรือยังอยู่ในช่วงทดลองสอนเท่านั้น อย่างไรก็ตามโดยหลักการไม่ถือว่าเป็นความผิด เพราะในการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนเอกชนนั้น สช.จะดูเป้าหมายสุดท้ายว่าเด็กมีความรู้ตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน อ่านออกเขียนได้หรือไม่ ส่วนเทคนิค และวิธีการสอนนั้น เป็นเรื่องที่สถานศึกษาดำเนินการเองได้ สำหรับแบบเรียนที่ใช้ในการเรียนการสอน รัฐบาลก็เปิดกว้างให้ทุกคนสามารถเขียนตำราขึ้นมาได้ แต่ต้องอยู่ในกรอบ และหากนำมาใช้ต้องผ่านการตรวจสอบก่อน เพื่อให้เป็นที่น่าเชื่อถือ และยอมรับได้

ดร.กมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า ตนได้หารือกับสำนักวิชาการและมาตรฐานการเรียนรู้ และสถาบันการศึกษาภาษาไทย ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ทราบว่าการสอนลักษณะดังกล่าวเป็นการสอนเพื่อการเขียน ไม่ใช่การสอนเพื่อการอ่านแบบแจกลูกสะกดคำอย่างที่สถานศึกษาในสังกัด สพฐ.ดำเนินการสอนกันอยู่ อย่างไรก็ตามรูปแบบและวิธีการที่โรงเรียนเอกชนดังกล่าวใช้นั้น ถือเป็นเทคนิคการสอนอย่างหนึ่ง ซึ่งไม่ผิดแต่ก็ไม่ถูกหลักวิชาการ ทั้งนี้การสอนที่ถูกหลักควรสอนอ่าน และสอนเขียนเหมือนกัน เช่น คำว่า “เป็น” จะอ่านว่า ปอ-เอะ-นอ = เป็น และเมื่อสอนให้เด็กเขียนในคำเดียวกัน เด็กจะเรียนรู้ได้เองว่าต้องเอาสระมาไว้ข้างหน้าก่อน ทั้งนี้เท่าที่ตรวจสอบในเบื้องต้น พบว่า โรงเรียนของ สพฐ. ไม่มีโรงเรียนใดใช้วิธีการสอนในลักษณะเดียวกับที่มีการเผยแพร่ทางโซเชียลมี เดีย และส่วนตัวเห็นว่าโรงเรียนไม่ควรใช้ และจะไม่ให้ใช้วิธีการนี้สอนนักเรียนของ สพฐ.ด้วย เพราะการสอนแจกลูกสะกดคำแบบเดิมที่ทำอยู่ในปัจจุบันมีความเหมาะสมแล้ว และช่วยให้เด็กอ่านคล่องเขียนคล่องได้มากกว่า

......................................................................................................................................................................................

อ้างอิง : หนังสือพิิมพ์เดลินิวส์ออนไลน์

........................................................................................................................................................................................

...

ความคิดเห็นส่วนตัว ...

...

สำหรับคนรุ่นเก่า ๆ อย่างเรา เจอการสะกดแบบใหม่แบบนี้ไปถึงกับงงไปเลย
มี SMS จากผู้ปกครองหลายคนที่บอกว่า ไม่รู้จะสอนการบ้านลูกอย่างไร

ให้สันนิษฐานเล่น ๆ น่าจะเรียกว่า "นวัตกรรมใหม่" มั้งครับ

นวัตกรรม หมายถึง การทำสิ่งที่มีอยู่แล้วให้ดีขึ้น ง่ายขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น

แต่ ...

แน่ใจไหมว่า อันนี้มันดีขึ้น ง่ายขึ้น มีประสิทธิภาพในระยะยาวเกิดขึ้นจริง

นี่คือ วิธีจำเหมือนภาษารูปภาพ เช่น ภาษาจีน ภาษาญี่ปุ่น ภาษาอียิปต์โบราณ ฯลฯ
ทุกอย่างมันต้องตายตัว เจอคำนี้ในอนาคตอ่านได้ทันที

แต่ถ้าหากเจอคำที่คล้ายกัน แต่ไม่เหมือนกัน จะเริ่มอ่านไม่ได้แล้ว
เพราะมันต้องประยุกต์ ไม่ใช่ การจดจำอย่างที่คิดมาแบบนี้

...

เคยเดินไปเจอหนังสือสอนภาษาอังกฤษไหมครับ เช่นที่ร้าน SE-ED
คนเขียนหนังสือหนังสือประเภทนี้ พยายามจะทำให้เด็กไทย หรือ คนไทย
เรียนภาษาอังกฤษให้เข้าใจได้ง่ายมากที่สุด

ดังนั้น จึงมีเทคนิคมากมายในการจดจำ เช่น การใช้ Mind Map เป็นต้น

ผมว่านะ คนคิด "แบบเรียนภาษาไทย" ฉบับนี้ คงมีความคิดไม่ต่างกัน
แต่ ... คงไม่ได้คิดถึงผลระยะยาว เอาแค่เฉพาะหน้านี่แหละ

เพื่อให้เขาจะได้ เขียนได้อย่างถูกต้อง ไปด้วย (อันนี้เท่าที่ฟังผู้รู้ัมา)

...

สรุป คือ แบบเรียนภาษาไทยเล่มนี้ เขาเน้นการเขียนให้ถูกต้องเป็นหลัก
โดยการสะกดทีละพยางค์ ๆ ไป ไม่ได้เป็นแบบประยุกต์ใช้ในอนาคตได้

...

คุณครูสอนภาษาไทยเรียนเชิญ Comment นะครับ ;)...

...

บุญรักษา ภาษาไทยครับ ;)...

...

...

หมายเลขบันทึก: 571690เขียนเมื่อ 4 กรกฎาคม 2014 18:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 กรกฎาคม 2014 18:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (22)

เกือบไม่ได้อ่านบันทึกนี้ มัวแต่ตาลาย บันทึกประจำวัน...อิอิอิ

นวัตกรรมนี้..ไม่อยากตำหนิ ครูทุกคนก็มีเหตุผล อาจเป็นงานวิจัยของเขาก็ได้

แจกลูกประสมคำของเดิมดีอยู่แล้วก็จริง แต่ถ้านักเรียนที่เขาเรียนอยู่ เกิดถูกใจในวิธีใหม่ ในนวัตกรรมใหม่นี้ อะไรจะเกิดขึ้น เด็กได้เต็มๆ จึงคิดว่า ไม่อยากด่วนสรุป เอกชน บางที เขาก็มีวิธีสอนเฉพาะของเขา เขาอาจเน้นบางอย่าง ที่เราไม่รู้ ครับ

ชอบความคิดของ อาจารย์ชยันต์ ครับ ตรงจุด

เมื่อคืนวันที่๓ กค ๒๕๕๗ รายการคมชัดลึก  ช่องเนชั่น เชิญวิทยากร ๒ ท่าน คือ 

- ดร.อุษณีย์ อนุรุทธ์วงศ์ ประธานศูนย์พัฒนาอัจฉริยภาพ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว.) มศว.ประสานมิตร เชี่ยวชาญด้านสมองและการเรียนรู้  

- ดร.สหะโรจน์ กิตติมหาเจริญ อาจารย์ภาควิชาภาษาไทยและภาษาตะวันออก คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง  มาช่วยวิเคราะห์เรื่องนี้  

ดิฉันสรุปความได้ว่า   "วิธีการสอน" แบบใหม่(ของ ร.ร.สช.) เป็นการสอนตามอย่างภาษาอังกฤษ แบบให้เด็กจำ ทำให้เด็กไม่เข้าใจถึงแก่นของหลักการสะกดคำในภาษาไทย  จับหลักไม่ได้ เกิดผลเสียระยะยาวต่อการเรียนภาษาไทย

สนใจเรื่องนี้ ตรงที่ ดร.อุษณีย์ บอกว่า การอ่าน-เขียน ภาษาไทยกำลังวิกฤติ เพราะท่านเชี่ยวชาญเรื่องสมองกับการเรียนรู้ ดิฉันจึงให้น้ำหนักความเห็นท่านมาก ((แต่ท่านไม่ได้สรุปนะคะว่าการสอนแบบนี้เป็นสาเหตุ)

ดิฉันกำลังพยายามทำความเข้าใจเรื่องนี้ด้วยการเอาคลิปมาดูซ้ำอยู่ค่ะ  ถ้าเราถือว่าประเด็นที่โผล่มานี้เป็นวิกฤติก็สมควรถกเถียงกันให้สร้างสรรและเห็นทางออก ไม่ให้จบเงียบๆ ค่ะ

ในคลิปรายการ มีประเด็นย่อยๆ ให้คิดต่อเยอะ

คลิป "ไอ-ทอ-ยอ"

ผมเห็นครั้งแรกก็งง งง เป็นตำราเรียนที่แปลกมาก

แบบนี้ผมสะกดผิดหมดแน่

สงสัยใช้การจำรูปจริงๆ  ผมสะกดแบบเก่ากับนักเรียนประถมฯที่ไปเป็นครูอาสาที่กาญจนบุรี

นักเรียนบอกว่า ครูคนก่อนไม่ได้สอนสะกดแบบนี้

ผมต้องสอนอยู่นานกว่านักเรียนจะชิน  ในที่สุดเด็กๆสามารถอ่านเป็นแบบขับเสภาได้ครับ

สนุกมากๆๆ สรุปผมเป็นครูภาษาอะไรเนี่ย 555

ขอบคุณอาจารย์มากๆครับ

มองแบบนักภาษานะครับ ว่าสิ่งแปลกใหม่ ก็คือวิวัฒนาการทางด้านภาษานะครับ การสอนสะกดคำแบบเก่าถามว่าดีไหมก็ดีนะครับ แต่บางครั้งก็ยุ่งยาก เช่น ชก แจกได้ว่า ชอ โ-ะ กอ ชก แทนจะอ่านว่า ชอ กอ ชก ไปเลย บอกเด็กว่า สระลดรูป แต่จะมีคำถามต่อว่าทำไมไม่ลดทุกตัวครับครู จะบอกว่าหลักภาษาไทยไม่ตายตัวนะครับ การคิดแบบใหม่ผมมองว่าดี ด้วยวิธีการ แต่รูปแบบอาจปรับอีกสักนิด เด็กๆ ได้ประโยชน์ และการที่เป็นแบบนี้ ภาษาไทยเราจึงร่ำรวยคำต่างๆมาใช้ คนที่ค้านก็อาจลืมคิดไปว่า ถ้าภาษาไทยไม่พัฒนา หรือวิวัฒนาการ เราก็จะมีแค่คำเดิมสมัยเก่า ที่ใช้ชนิดที่ว่าพูดให้ถูกต้อง ห้ามดัดแปลงหรือพูดผิดเสียงนะครับ 

ท่านอาจารย์ ขจิต ฝอยทอง สอนภาษาอังกฤษไงครับ 555

ผมว่ามันเป็นอีกมุมมองใหม่ ในยุคของเด็ก รุ่นนี้ครับ ถ้าทำอย่างนี่ต่อไปมันจะกลายเป็นค่านิยม 

จนออกเป็นข้อบังคับที่เปลี่ยนเเปลง เมื่อมีการเปลี่ยนเเปลงมาในบริบทนี่้ผมว่ามัตก็ไม่ได้มีผลเสียอะไรมากมายนัะครับ

อ่านข่าวตอนแรก งง
ต่อมาเจอรายการของสถานทีโทรทัศน์...........เริ่มเข้าใจ แล้วบอกตนเองว่า เราที่ถูกสอนมาแบบดั้งเดิม เมื่อเปิดใจเรียน โอ กอ โก  โอ ลอ โล  โอ มอ โม.........อืมก็ได้อยู่นะ แต่อะไรดีกว่าตนเองก็บอกไม่ได้
มาอ่านบล็อกของ อ.วัส..........ก็ยังสรุปไม่ได้ค่ะ  ประสบการณ์เดิมถูกฝังลึกมาหลายสิบปีเกินไป 
ไม่ทราบอาจารย์วัส รับชมรายการนี้หรือยัง.......
http://www.youtube.com/watch?v=mhIc6JENlE0&feature...

ขอชาวบ้านผู้ที่ไม่ได้เป็นครู อาจารย์ มาร่วมแสดงความคิดเห็นสักเล็กน้อยนะครับอาจารย์วสวัส...

เห็นหลายท่านแสดงทัศนะแตกต่างกันไป เป็นกลาง เห็นด้วย และไม่เห็นด้วย...บางทีเราอาจหลงประเด็น เท่าที่จับจุดได้ก็คือ "...เป็นการสอนเพื่อการเขียน ไม่ใช่การสอนเพื่อการอ่าน..."  เขาอาจจะมีตำราการสอน เพื่อการอ่านต่างหากก็ได้...

ถึงอย่างไรโดยส่วนตัวแล้ว เท่าที่ดูคลิปที่เด็กอ่านแล้ว(ไม่ใช่เขียน) เห็นว่าเป็นการอ่านนั่นแหละ เมื่อพิจารณาดูหนังสือที่ใช้เป็นตำราดังกล่าวแล้ว  โดยความคิดเห็นส่วนตัว(ไม่ได้เกี่ยวกับใครหรืออาจารย์ท่านใด) การสอนแบบนี้...

๑.เป็นการตัดมิติทางสังคมหรือมิติทางวิญญาณ  คือ ผู้ปกครองไม่สามารถสอนลูกของต้นเองได้ เพราะขัดกับหลักการหรือรูปแบบที่พ่อแม่เคยเรียนมา ภาพที่เราเคยเห็นพ่อแม่ ตายายจับบ่าลูก จับมือลูกเขียนสะกดคำ เขียนหนังสือจะหายไป จะทำไม่ได้ เหลือเพียงความโดดเดี่ยวเมื่อเด็กอยู่ที่บ้าน เพราะพ่อแม่ ตายายไม่รู้วิธีสอนเหมือนดั่งที่ครูหรือผู้เขียนหลักสูตรสอนหรือตั้งใจอยากให้สอน...

มาตรฐานทางสังคมโดยเฉพาะชนบท ที่สอนกันแนะนำกันมาหลายรุ่น รุ่นแล้วรุ่นเล่าจะขาดหายไป พ่อแม่ ปู่ย่า ตายายจะบ่นว่าให้ครูและโรงเรียน ว่าสอนลูกหลานเขาไปในทิศทางที่ไม่ถูกต้อง...ขณะเดียวกันก็ดูถูกภูมิปัญญาครูอาจารย์รุ่นก่อน ๆ มาอย่างเต็มเปา โดยคิดว่าการสอนรุ่นก่อน ๆ มาล้าสมัย เชย ไม่ทันต่อสถานการณ์ เด็กเข้าใจยาก ควรสอนแบบใหม่สไตล์ของตน แล้วผู้ที่เขียนหลักสูตรใหม่สไตล์ตน เรียนมาแบบไหนอย่างไร คิดได้ทำได้ แต่มิติที่หลากหลายจะขาดหายไป... 

๒.เป็นการตัดหลักการทางไวยากรณ์ของภาษาไทย  คือ การออกเสียง วรรณยุกต์ สระ ที่ผิดเพี้ยนไป ออกเสียงสระได้ไม่ครบ และหลงวรรณยุกต์กับสระว่า ตัวไหนคือวรรณยุกต์ ตัวไหนคือสระ   ดั่งที่ยกตัวอย่างเบื้องต้น  คำว่าเสื่อ  เอ-สอ-อือ-ไม้เอก-ออ = เสื่อ   เอ คือ อะไร?  สอ คืออะไร? อือ คืออะไร? ไม้เอก คืออะไร และออ สุดท้ายคืออะไร  โดยความเป็นจริง คือ สระเอือ(ตัวเดียว)  แต่เมื่อมีการแยกแบบนี้เด็กจะไม่คิดไปได้หรือว่า  เอ คือ สระเอ  อือคือ สระอือ(สระอีกตัว)และ ออ คือ สระออ(สระอีกตัว) แล้วสระ เอือ หายไปไหน? เมื่อเจอคำยากๆ เพิ่มมากกว่านี้จะสะกดและออกเสียงได้หรือถูกต้องหรือไม่ ไม่สับสนในการเขียนสำหรับเด็ก แต่จะสับสนสำหรับหลักการอ่าน เขียน สระ รูปแบบของการผันคำและหลักการทางไวยากรณ์

๓.เป็นการลดทอนความสามารถด้านสติปัญญา คือ การคิดวิเคราะห์ การเทียบเคียง การสังเกต หากพบคำที่ยากมาก ๆ หรือ รูป เสียง ที่ผิดไปจากที่ได้เรียนมา จะสะกดคำและอ่านได้ไม่ตรงกับรูป และเสียง ที่เป็นจริง โดยเฉพาะยุคปัจจุบันที่นักเรียนหรือเยาวชนส่วนใหญ่ฝักใฝ่แต่การแช็ต ไลน์ ศักยภาพด้านภาษาไทยที่ตนเองควรจะรู้ควรจะเข้าใจ จะลดน้อยถอยลงไปเรื่อย ๆ จากที่เคยใช้พื้นฐาน เจ็ดพันคำ ก็จะไม่ถึง หกพันคำ เพราะตามเทคโนโลยีหรือสื่ออิเลกทรอนิกส์กันมาก ใช้คำและภาษาที่ผิดเพี้ยนและวิบัติกันไปมากขึ้น ๆ เรื่อย ๆ สังเกตได้ว่า ธ  ธง ของภาษาไทยในปัจจุบัน ในกลุ่มเยาวชนมีใครบ้างที่ออกเสียงถูกต้อง ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าผิดก็เลียนแบบกัน เอาอย่างกัน นักการศึกษา ผู้รับผิดชอบด้านแสดง การร้องเพลงไม่เห็นจะมีใครออกมาพูด มาแย้งหรือรับผิดชอบกันบ้างเลย ปล่อยปละละเลย สร้างกระแสในทางที่ผิด เด็กเล็กที่เรียนอ่านเขียน พอได้ฟังเพลงจากรุ่นพี่ร้องก็เกิดพฤติกรรมถือตาม ทั้ง ๆ ที่ไม่ถูกต้อง...

ขาดความมั่นใจในการใช้ภาษา การออกเสียง การผันคำ สะกดคำ สับสนกับการสอนที่ป้อนให้แนะนำให้ว่า ที่ถูกต้องเป็นเช่นไรกันแน่

๔. เกี่ยวกับสถาบันการศึกษา    โดยส่วนตัวแล้ว ไม่อยากเห็นหรือได้ยินคำว่า "ไม่ผิด แต่ก็ไม่ถูกหลักวิชาการ" ควรจะยึดหลักการทางไวยากรณ์ ของแต่ละภาษาเป็นเกณฑ์ เท้นส์ในภาษาอังกฤษเรายังยอมรับและเรียนกันได้ ท่องกันได้อย่างเต็มรูปแบบ แล้วหลักไวยากรณ์ของภาษาไทย ทำไมเราจะยอมรับ เรียน หรือทำให้เป็นเอกภาพไม่ได้...

หากเห็นว่าหลักสูตรไม่สอดคล้อง ไม่เหมาะสมกับบริบท วิถีชีวิต การศึกษาของสังคมไทย ก็ไม่ควรจะอนุญาตให้ผลิตออกมาใช้  เพราะใช้แล้วจะเกิดความสับสนและแบ่งแยก อย่างน้อยก็แยกกันระหว่าง โรงเรียนรัฐกับโรงเรียนเอกชนแล้ว ในตอนนี้...

ด้วยความเอาใจใส่และเป็นห่วงภาษาไทยอย่างยิ่งยวดครับผม


ยังมิได้ชมครับ คุณครูนก noktalay ;)...

ขอบคุณมากครับ ;)...

COMMENT "พี่หนาน" กด LIKE ล้านครั้งครับ ;)...  

เป็นเรื่องที่น่าห่วงจริง ๆ ครับ กับก้นบึ้งแห่งวัฒนธรรมของเรานี้ ;(

- การสะกดแบบสระที่เราเรียนๆ กันมานั้น เป็นการ chunking การสะกดคำหรือเป็นการแบ่งกลุ่มของคำค่ะ ช่วยให้จำง่ายขึ้นและขยายคำได้มากขึ้นค่ะ 

- การเปลี่ยนแปลงการสะกดมาเป็นแบบใหม่นี้ ลำบากแน่นอนค่ะ 

- เช่น เบอร์โทรศัพท์ สมัยก่อนนั้นมีการ chunking แบบ 074-656-896 จำง่ายกว่าแบบใหม่คือ 

0-7465-6896 แต่อย่างไรก็ดีกว่าจำโดยไม่มีการ chunking เลยค่ะ เช่น 074656896

ค่ะ มองจากมุมมองของ Information scientist นะคะอาจารย์

ด้วยความหลากหลายครับ อ.จัน จันทวรรณ ;)...

ผมดูแล้วงงๆๆๆมากๆเลยครับ ขอโทษครับผมยังไม่ได้อ่านความคิดเห็นของแต่ละท่าน เพราะผมอยากแสดงความเห็นของผมครับ วิธีที่เอามานำเสนอผมว่ามันไม่ได้เรื่อง ไม่เชื่อลองดู ต่อไปเด็กจะอ่านหนีงสือไม่ออกมากขึ้นครับ การศึกษาเมืองไทยจะด้อยลงไปอีกครับ  ภาษาไทยนะครับเป็นภาษาของกวี การประสมสระกับตัวอักษรมันต้องสัมผัส จำง่าย อย่าทำให้สับสนเถอะครับ  ก  า ต้องอ่านว่ากา    ก .เ..เต้องอ่านว่าเก  ไม่ไช่ ก  +  า  ไม่ใช่  เ+ก   หรือคิดว่าจะขายตำราก็ไม่ว่ากันรวยกันเถอะ แต่กรรมจะตกอยู่กับเยาวชน ตกอยู่แก่ประเทศ จะล้าหลังต่อไป  เลิกนะครับวิธีนั้น เหมือนปัญญาอ่อน

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท