เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่บิดาของผู้เขียนและเพื่อให้ประวัติศาสตร์เสี้ยวหนึ่งของสงครามอินโดจีน*ซึ่งถูกบันทึกไว้อย่างภาคภูมิใจได้แพร่หลายออกไป ผู้เขียนจึงได้ แกะบันทึกเก่า ด้วยอายุประมาณ 74 ปีของบิดาซึ่งหลังจากที่ท่านถึงแก่กรรมเมื่อ 12 ปีที่แล้ว ผู้เขียนได้ค้นพบและเก็บไว้พร้อมภาพถ่ายและเหรียญชัยสมรถูมิที่ท่านได้รับมอบจากทางการเมื่อเสร็จสิ้นสงครามครั้งนั้น สมุดบันทึกนั้นเก่ามาก บางจุดตัวหนังสือก็เลือนจางจนอ่านไม่ออก บัดนี้ผู้เขียนได้จัดพิมพ์เก็บไว้ในไฟล์คอมพิวเตอร์รวมทั้งถ่ายภาพแต่ละหน้าเก็บไว้ในแผ่น CD ในสมุดบันทึกนอกจากจะบันทึกชีวิตระหว่างการเป็นทหารและเหตุการณ์ในสนามรบแล้วยังมี บทสวดคาถาอาคมที่ท่านคงใช้ท่องบ่นเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจและเป็นเครื่องคุ้มภัยให้คลาดแคล้ว เนื้อเพลงปลุกใจในยุคนั้น เช่นเพลง ไก่แก้ว เพลงข้ามโขง และเพลงหวานซึ้งที่ท่านคงร้องเล่นยามที่มีโอกาสพักผ่อน เช่น เพลง ดาวเคียงเดือน ชื่นชีวิต และ ร้อนเสน่ห์
บันทึกเหตการณ์การเข้าร่วมรบของพลทหารสุชาติ ตะบูนพงศ์
เรื่องราวต่าง ๆที่เราทำไป
** เมื่อเข้ารับระดม เราเคลื่อนที่ออกจากเพ็ชร์ เรามีตำแหน่งเป็นพลกระสุน .ด ในหมู่ปืนกลเบา หมวด ๑ กองร้อย ๑ ต่อมาฝึกอยู่ที่ที่จังหวัดปราจีน เรารับตำแหน่งเป็นนายพวกปืนเล็กในหมู่ปืนกลเบา ต่อมาเราเคลื่อนที่ต่อไปอีกถึงอรัญและเข้าอยู่ในเขตร์ดอยลึก ถึงเวลาที่เราต้องเข้ารบในสนามรบอันแท้จริงแล้ว เราได้รับเลือกเป็นรองผู้บังคับหมู่ปืนกลเบาและต่อนี้เราคงอยู่ในตำแหน่งนี้เรื่อยจนทำการรบและได้ชัยชะนะกลับมาพักอยู่ในกรุงเทพพระมหานคร เราฝึกซ้อมการเดินสวนสนาม ในขณะนี้เราก็ได้รับเลือกขึ้นเป็นผู้บังคับหมู่อีกวาระ ๑ แต่ถึงวันเดินจริงแล้วเราคงต้องจากตำแหน่งนี้อีก คือเราได้รับเลือกไปเดินคุมคู่กับธงชัยเฉลิมพลของกองพันเรา พร้อมทั้งเชิญธงขึ้นและลงจากที่ตั้งกองพันด้วย ต่อมาก็ถึงเวลาเดินทางกลับเพ็ชร์บุรีอันเป็นที่ตั้งปรกติ
วันที่ ๒ พฤษภาคม.(๒๔๘๓).. เป็นวันที่เราเดินทางกลับเพ็ชร์บุรีเรามาขึ้นรถไฟโดย(ถูก)ขนมาขึ้นรถยนต์ของทหาร และในบ่ายวันนั้นเราก็มาถึงเพ็ชร์บุรีและได้มีการเดินรอบเมืองกันด้วยตอนเย็นวันนั้น ด้วยความร่วมมือของข้าราชการพลเรือน พ่อค้าได้จัดอาหารไว้เลี้ยงพวกเรา ต่างได้กินกันอย่างอิ่มสำราญยิ่ง ทั้งมีภาพยนต์ฉายให้ชมเป็นพิเศษอีกด้วย ในงานวันนี้นับว่ามะโหราญพอใช้ เรื่องราวต่าง ๆก็ได้สุดสิ้นลงเพียงนี้และต่อไปก็เป็นเวลาที่เรารอเวลาที่ทางการจะได้ปลดเราออกจากราชการทหารเท่านั้น เรายังลืมไปว่าเราได้มีโอกาสไปเที่ยวชมในพระที่นั่งอนันตสมาคมซึ่งเป็นที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรในปัจจุบันนี้ ในพระที่นั่งซึ่งก่อสร้างโดยนายช่างชาวอิตาเลียน การสร้างได้สร้างด้วยหินอ่อนทั้งหลัง ภายในนั้นทำอย่างงดงามวิจิตรตระการตามากทั้งรูปวาดหรือคูหาห้องก็ทำอย่างสวยสดงดงามมาก ภายในแบ่งเป็นสองชั้น ชั้นบนเป็นที่ประชุมสภา ชั้นล่างนั้นเป็นที่ตั้งรูปปั้นและศิลาสลักเป็นรูปตุ๊กตาแบบศิลป และมีรูปเรือรบหลวงตัวอย่างตั้งให้ชมอยู่ด้วย เราเดิมชมอยู่จนทั่วสิ้นเวลาประมาณ ๑ ชั่วโมงเศษจึงได้กลับออกมาและเราก็เดินเลยไปยังโรงช้าง เราได้ไปดูช้างเผือกชื่อ.... และพัง...ได้ยินเรียกชื่อว่าแม่.เสวต...หรือยังจะมีอะไรต่อไปอีกก็ไม่รู้ ทางด้านหนึ่งซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงช้างธรรมดาในที่นั้นมีอยู่ด้วยกัน ๓ เชือกและต่อจากนี้เราก็กลับที่พักของเรา เป็นอันการเที่ยววันนี้ได้สิ้นสุดเพียงเท่านี้
(ยังมีตอนต่อไป)
*หมายเหตุ : สงครามอินโดจีน พ.ศ. ๒๔๘๓-๒๔๘๔
สงครามอินโดจีน หรือกรณีพิพาทอินโดจีน เป็นการสู้รบระหว่างประเทศไทยและฝรั่งเศสเหนือดินแดนอินโดจีนของฝรั่งเศสบางส่วนที่เคยเป็นของไทย เป็นสงครามย่อยที่เกิดขึ้นท่ามกลางสงครามโลกครั้งที่ ๒ หลังจากที่ฝรั่งเศสพ่ายแพ้ต่อนาซีในปี พ.ศ. ๒๔๘๓ ทางฝ่ายไทยเห็นว่าความพ่ายแพ้ของฝรั่งเศสจะยิ่งให้ไทยมีโอกาสทวงดินแดนที่เคยเสียไปในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกลับคืนมามากขึ้น ในขณะนั้นการปกครองอาณานิคมของอินโดจีน ฝรั่งเศสถูกตัดตขาดจากความช่วยเหลือและกำลังบำรุงจากภายนอก และเมื่อญี่ปุ่นบุกเข้ายึดครองอินโดจีนกันยายน ๒๔๘๓ ซึ่งฝรั่งเศสถูกบีบให้อนุญาตให้ญี่ปุ่นตั้งฐานทัพ ทำให้รัฐบาลไทยเชื่อว่าฝรั่งเศสจะไม่สามารถต้านทานการเผชิญหน้ากับไทยอย่างจริงจังได้
ในวันที่ ๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๓ เมื่อคณะนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง รวมทั้งประชาชนร่วมกันเดินขบวนเรียกร้องรัฐบาลเรียกเอาดินแดนคืนจากฝรั่งเศสจากเหตุการณ์ ร.ศ. ๑๑๒ เช่น เสียมราฐ พระตะบอง จำปาศักดิ์ เป็นต้น จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีและผู้บัญชาการทหารสูงสุดในขณะนั้น ได้ส่งทหารข้ามพรมแดนเข้าไปยึดดินแดนคืนทันที ท่ามกลางกระแสชาตินิยมอย่างหนัก เพลงปลุกใจในเวลานั้นได้ถูกเปิดอย่างต่อเนื่อง เช่น เพลงข้ามโขง เพลงจำปาศักดิ์ เพลงเสียมราฐ เป็นต้น
เกิดการยิงต่อสู้กันอย่างหนักระหว่างทหารไทยกับทหารฝรั่งเศส การต่อสู้ของกองทัพเรือที่เกาะช้าง จ.ตราด เมื่อเรือหลวงธนบุรีของกองทัพเรือไทยได้เข้าต่อสู้กับเรือรบลามอตต์ปิเกต์ของฝรั่งเศส เหตุการณ์นี้ได้ถูกเรียกในเวลาต่อมาว่า ยุทธนาวีเกาะช้าง ในส่วนของกองทัพอากาศไทย เครื่องบินรบของฝ่ายไทยและฝรั่งเศสได้ปะทะกันในสมรภูมิภาคตะวันออก การต่อสู้ที่ดุเดือดได้รับการกล่าวขานมากที่สุด คือ ในวันที่ ๑๐ ธันวาคม กรณีพิพาทสิ้นสุดลงได้ โดยมีญี่ปุ่นเป็นตัวกลางในการเจรจา ไทยกับฝรั่งเศส ลงนามในอนุสัญญาสันติภาพที่กรุงโตเกียว เมื่อวันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๔๘๔ ผลทำให้ไทยได้ดินแดนพิพาทมาอยู่ในปกครอง และจัดตั้งเป็นจังหวัดใหม่ขึ้น ๔ จังหวัด คือ จังหวัดนครจัมปาศักดิ์ จังหวัดลานช้าง จังหวัดพิบูลสงครามและจังหวัดพระตะบอง รวมเป็นพื้นที่ทั้งหมดประมาณ ๒๔,๐๓๙ ตารางกิโลเมตร ซึ่งจังหวัดดังกล่าวนี้ ไทยได้ปกครองเรื่อยมาจนสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง ต่อมาไทยได้สร้างอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิไว้ที่กรุงเทพ ฯ เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานและเก็บอัฐิของกำลังพลที่เสียชีวิตในสงครามอินโดจีนซึ่งมีทั้งหมด ๑๖๐ คน และจากสงครามโลกครั้งที่ ๒ และสงครามเกาหลี(สรุปจากวิกิพีเดีย และเอกสารทางประวัติศาสตร์อื่น ๆอีกจำนวนหนึ่ง)
กด Like ครับอาจารย์
เป็นเรื่องที่ลูกหลานสมควรกระทำอย่างยิ่งครับ ;)...
อ่านแล้วพยายามคิดตามให้เห็นภาพด้วยนะคะ
เป็นบันทึกที่ต้องตามอ่านแล้วค่ะ
เป็นบันทึกที่มีคุณค่ายิ่งนะคะอาจารย์...ซาบซึ้งใจผู้บันทึกมากๆค่ะ ...คนรุ่นหลังไม่รู้ซึ้งถึงความยากลำบากของพระเจ้าแผ่นดิน และเหล่าทหารหาญผู้ที่เสียสละแม้กระทั่งชีวิตกอบกู้ ปกป้อง รักษาประเทศบ้านเมืองมาจนถึงทุกวันนี้...และธรรมเนียมการเลี้ยงดูปูเสื่อจากพ่อค้า หรือคหบดีมีมานานแล้ว แต่ทุกวันนี้นำมาใช้ไม่ถูกต้อง ทำให้เกิดความความเสียหายนะคะ...
เป็นพระคุณแก่คนไทยอย่างยิ่งค่ะ
คุณพ่อของพี่ใหญ่เข้าร่วมรบในสงครามช่วงนี้ด้วยค่ะ..
ขอบคุณทุกท่านที่ให้เกียรติเข้ามาอ่านค่ะ มี อีก 2 ตอนนะคะ ตอนที่ 2 การรบเพิ่มความดุเดือดขึ้นค่ะ
ขอบคุณพี่ใหญ่ที่เอารูปทหารหาญมาให้ดูกันค่ะ รูปนี้ทุกคนดูมีขวัญและกำลังใจดีเยี่ยมนะคะ
เป็นเรื่องราวเรื่องเล่า ที่ทำให้รู้สึกว่าได้เข้าใกล้เหตุการณ์จริงเข้าไปอีกเยอะเลยครับ ผมมีเรื่องเล่าในชั้นเรียนของผมอีกแล้ว ขอบคุณนะครับท่านอาจารย์ จะอ่านให้ครบทุกตอนครับ