ผศ.ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์
ผศ.ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์ อาจารย์ โทนี่ ปัญญโรจน์

วิธีฝึกการพูดของ เดล คาร์เนกี


วิธีฝึกการพูดของ เดล คาร์เนกี

โดย...ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์

อาจารย์ประจำบัณฑิตวิทยาลัย ม.พิษณุโลก

www.drsuthichai.com

เดล คาร์เนกี เกิดที่ฟาร์มแห่งหนึ่งในรัฐมิสซูรี เขามีฐานะไม่สู้ดีนัก เมื่ออยู่ในวัยเด็กและวัยเรียน เขาต้องอับอายกับการใส่เสื้อผ้าเก่าๆ ที่คับตึงและกางเกงขาสั้นเต่อ ซึ่งเขาไม่มีเงินพอที่จะซื้อชุดใหม่ เขามีความรู้สึกเป็นปมด้อยอยู่ตลอดเวลา

หลังจากนั้นเขาได้ศึกษาวิชาการพูดหรือวิชาแสดงปาฐกถาและโต้วาที เนื่องจากเขาเห็นว่า นักศึกษาที่เก่งวิชานี้มีชื่อเสียงมีหน้ามีตาไม่แพ้กับนักกีฬา หลังจากนั้นเขาก็สมัครเข้าแข่งขันการพูดปาฐกถา ซึ่งเขาได้ทุ่มเทกับการเตรียมตัวและการฝึกซ้อมเป็นอันมาก เขาซ้อมในขณะนั่งอยู่บนหลังม้า ขณะรีดนมวัว ขณะถอนหญ้า แต่ผลปรากฏว่า เขาต้องแพ้แล้วแพ้อีก เขาท้อจนขนาดถึงคิดจะฆ่าตัวตาย แต่ต่อมาผลการแข่งขัน เขาเริ่มประสบชัยชนะในการแข่งขันและชื่อเสียงของเขาก็ดีขึ้น

เมื่อเขาจบการศึกษาแล้วทำงาน เขาทำงานหลายๆอย่าง เช่น เขาแสดงละครเร่ เขาเป็นพนักงานขายรถบรรทุก และสุดท้ายเขาฝันว่าจะมีเวลาเขียนหนังสือและศึกษาค้นคว้า เขาจึงไปสมัครเป็นอาจารย์สอนวิชาการพูดต่อหน้าที่ชุมชนกับมหาวิทยาลัยโคลัมเบียและมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ปรากฏว่าทั้งสองมหาวิทยาลัยปฏิเสธเขา แต่เขาก็พยายามต่อไปจนในที่สุด โรงเรียนกลางคืน ไว.เอ็ม.ซี.เอ รัฐนครนิวยอร์ก ตกลงทำสัญญาให้เขาสอน เมื่อเขาสอนไปได้ไม่นานชื่อเสียงของเขาก็เริ่มดังขึ้น จนในที่สุด เขาได้เปิดสาขาการศึกษาวิชาการพูดในที่ชุมชนขึ้นถึง 750 แห่งในสหรัฐและอีก 14 ประเทศ ในขณะนั้น สำหรับในปัจจุบันก็มีการขยายสาขาเพิ่มมากขึ้นเกือบทุกประเทศทั่วโลก

เดล คาร์เนกี จึงถือได้ว่า เป็นปรมาจารย์ในวิชาการพูดในที่ชุมชนที่คนรู้จักเกือบทั่วโลก สำหรับวิธีการฝึกการพูดของเขา เขาได้เขียนเอาไว้ในหนังสือ การพูดในที่ชุมชน โดยสรุปย่อๆได้ดังนี้

1.ตั้งต้นศึกษาด้วยความปรารถนาอย่างแรงกล้าและไม่ลดละ จงตั้งเป้าหมาย จงคิดถึงผลประโยชน์ที่จะได้รับจากการพูดในที่ชุมชน เช่น เมื่อท่านประสบความสำเร็จในด้านการพูดแล้ว ท่านจะได้รับเงินทอง ชื่อเสียง ตำแหน่งมากมาย

ศาสตราจารย์ วิลเลี่ยม เยมส์ ได้กล่าวว่า “ ถ้าท่านอยากเป็นนักพูดในที่ชุมชน ท่านต้องมีความปรารถนาอย่างแท้จริง แล้วท่านก็จะได้เป็นนักพูดในที่ชุมชนในที่สุด ”

2.การเตรียมตัว เขาจะให้ความสำคัญกับการเตรียมตัว เขาแนะนำว่า เราจะไม่รู้สึกมั่นใจเว้นแต่เราจะรู้ว่าเรากำลังจะพูดถึงเรื่องอะไร เขาจะสอนลูกศิษย์ของเขาโดยให้ความสำคัญกับการเตรียมตัว กล่าวคือ เมื่อทราบว่าจะพูดเรื่องอะไร เขาแนะนำให้ไปหาหนังสือเกี่ยวกับหัวข้อเรื่องที่จะพูดมาอ่าน แล้วรวบรวมวัตถุดิบให้มาก หรือหาความรู้ให้มากกว่าที่เราจะนำเอาไปใช้หลายๆเท่า การเตรียมตัวนั้น เขาให้ความสำคัญทั้งการเตรียมร่างกายด้วย เช่น เขาแนะนำว่า ไม่ควรพูดปาฐกถาในขณะที่ท่านกำลังเหน็ดเหนื่อย จงพักผ่อนหลับนอนก่อน อีกทั้งอย่าได้กินอาหารหนักๆก่อนไปแสดงปาฐกถาแต่ควรหาอาหารว่างที่เบาๆทาน

3.ทำกิริยาท่าทางแสดงความมั่นใจ เขาแนะนำให้ออกไปพูดในที่ชุมชนด้วยความกล้าหาญ จงยิ้มเข้าไว้ เพราะเมื่อเราแสดงความกล้าหาญ เราก็จะเกิดความมั่นใจขึ้น อีกทั้ง เดล คาร์เนกี ยังได้แนะนำเรื่องของการใช้เสียงว่า เราควรพูดเสียงหนักที่คำที่มีความสำคัญและพูดเสียงลดลงในคำที่ไม่มีความสำคัญในการพูดควรใช้เสียงที่มีระดับเสียงสูงและเสียงลงบ้าง ในการพูดควรมีการหยุดพูดหรือหยุดเป็นจังหวะบ้าง กล่าวคือไม่ควรใช้เสียงที่ราบเรียบจนเกินไป

4.ฝึกหัด ฝึกหัด ฝึกหัด ข้อนี้ เดล คาร์เนกี ให้ความสำคัญมากที่สุด การขาดความมั่นใจเกิดจากการขาดความชำนาญ แต่ถ้าเราอยากจะชำนาญในเรื่องใด เราก็ต้องทำการฝึกหัด ฝึกหัด ฝึกหัด แล้วเราก็จะเกิดความชำนาญ เมื่อเกิดความชำนาญความมั่นใจก็จะเกิดขึ้นกับเรา

เนี่ยคือวิธีการฝึกการพูดของเดล คาร์เนกี และท่านก็ได้สอนการพูดในที่ชุมชนให้แก่คนเป็นจำนวนมาก ถ้าหากท่านผู้อ่านต้องการทราบรายละเอียดเพิ่มเติมท่านสามารถหาอ่านได้จากหนังสือ การพูดในที่ชุมชน เขียนโดย เดล คาร์เนกี สำหรับฉบับภาษาไทยแปลโดย อาษา ขอจิตต์เมตต์

หมายเลขบันทึก: 570764เขียนเมื่อ 20 มิถุนายน 2014 22:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2014 22:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท