ภาษาอินโดนีเซียแบบมวยวัด 2)


สภาพป่าฝนกลางเกาะสุมาตราเมื่อยี่สิบปีที่แล้ว

เมื่อต้องจับพลัดไปทำงานในอินโดนีเซีย ครั้งแรกที่ได้รู้จักภาษาของบ้านเขาก็แค่สองสามอาทิตย์ก่อนขึ้นเครื่องไปเรียนรู้ด้วยการฝึกจริงกันที่โน่นทั้งนั้น สถานฝึกภาษาอย่างเข้มข้นไม่ใช่โรงเรียนสอนภาษาติดแอร์หรือครูสอนภาษาชื่อดังกลางเมืองหลวงกรุงจาการ์ต้า หากแต่เป็น ณ ค่ายแค้มป์งานสำรวจกลางป่าฝนลึกบนเกาะสุมาตรา สร้างรายล้อมด้วยเต้นท์ลูกจ้างแรงงานชาวบ้านจากหมู่บ้านนอกเขตชายป่าระยะเข้าออกในสองชั่วโมงเดินเท้าและค่าแรงวันละห้าพันรูเปียห์

งานเดินสำรวจเริ่มต้นทันทีในรุ่งเช้าวันถัดมา จัดชุดทีมแยกย้ายคนไทยหนึ่งนักสำรวจชาวอินโดฯหนึ่งและหน่วยนำทางถางป่าแบกสัมภาระสี่คอยช่วยเหลือ เท้าต้องติดดินและสายตาห้ามดูดาวถ้าไม่อยากลื่นไถลลงเขา ในขณะที่งานต้องเดินสภาพแวดล้อมกดดันสุ่มเสี่ยงทักษะภาษายังอ่อนหัด การสื่อสารต้องใช้ความพยายามกว่าปกติคำสั้นๆเข้าใจง่ายเกี่ยวกับงานและการเอาตัวรอดในการเดินป่าจึงเป็นไฟท์บังคับที่ต้องผ่านไปให้ได้เป็นอันดับแรก

ป่าหญ้าคาข้างๆแค้มป์สำรวจตอนเช้าตรู่ ที่อาศัยอยู่กินนอนทำงานนานเกือบสามเดือน

จัดข้าวของใส่เป้อาหารกลางวันกินในป่าพร้อมแจกแจงทิศทางเป้าหมาย “ซา-ย่า เมา เปอร์-กี saya mau pergi” แปลว่าผมต้องการไปแล้ว หรือจะใช้ “ซา-ย่า เมา เบอ-รัง-กั๊ต เซอ-กา-รัง saya mau berangkat sekarang” แปลว่าผมต้องการออกเดินทางเดี๋ยวนี้ คนฟันทางก็จะออกเดินนำตามด้วยการทำเครื่องหมายไว้ตามต้นไม้รายทางกันหลงป่า

ถ้าจะให้ไปเลี้ยวทางซ้ายก็ “เบอ-ลก คี-รี belok kiri” ถ้าจะเลี้ยวขวาก็ “เบอ-ลก คะ-นาน belok kanan” ถ้าให้เดินตรงไปก็ “จะ-ลัน เตอ-รุส ซ้า-จ้า jalan terus saja” หรือถ้าไม่ดีเห็นคนนำทางทำท่างงจะหลงป่าเอาก็บอกให้ถอยหลังก่อน “มุน-ดูร ดู-ลุ mundur dulu”

ถ้าฟันทางเดินขึ้นเขาจนเหนื่อยขาลากก็บอกให้หยุดพักก่อนแป๊บนึง “เบอ-เริน-ติ ดู-ลุ สะ-บัน-ตาร์ berhenti dulu sabantar” แล้ว “มิ-นุม แอ แด๊น เมอ-โระ-โก๊ะ minum air dan merokok เปิดขวดน้ำกรอกปากพร้อมควักบุหรี่เกรเต็กออกสูบ และสำรวจแข้งขารวมถึงแขนมองหาทากเกาะอยู่กี่ตัว “ลิ-ฮัท ปา-เจิด lihat pacet หรือลิน-ตาห์ lintah” คนนำทางที่ไปด้วยอาจพูดให้ระวังทากในป่านี้มันชุมทั้งพวกที่อยู่บนพื้นดินและพวกที่เกาะอยู่ตามกิ่งไม้ซึ่งตัวนี้มันดีดตัวกะโดดได้ “ฮา-ติ ฮา-ติ ปา-เจิด บัน-ยัค ดิ ดา-ลัม ฮู-ตัน อิ-นี่ hati hati pacet banyak di dalam hutan ini”

ต้นไม้สูงใหญ่ในป่าฝนร้อนชื้น

คำว่า hati hati คือระวัง ถ้า hati เฉยๆจะแปลว่าหัวใจ hati saya หัวใจของฉัน hati rusak หัวใจชำรุดต้องเข้าอู่ซ่อมเรียก “เบง-แกล ฮา-ติ ยัง รู-สัก bengkel hati yang rusak” และ hutan แปลว่าป่า orang hutan คนป่า ถ้าสมาสคำเป็น orangutan คือลิงอุรังอุตังในภาษาไทย อันที่จริงน่าจะเขียนทับศัพท์ให้ถูกว่า “ออรังอูตัน”

เดินสำรวจ “จะ-ลัน กา-กิ jalan kaki” ในป่าฝนที่นี่ส่วนใหญ่จะใส่รองเท้าบูทยาวไม่ค่อยมีใครใส่รองเท้าเดินป่าแบบที่ขายกันตามร้านแอดเวนเจอร์ ถึงจะรู้สึกหนักและไม่กระชับในตอนแรกๆแต่เดินทุกวันจนชินไปเองประโยชน์ของรองเท้าบูทยางคือกันทากกันงูได้ดี เปียกน้ำแห้งเร็วเลอะโคลนทำความสะอาดง่ายใส่หรือถอดสะดวกเรียกว่า “เซอ-ปา-ตู้ บู้ท ปัน-ยัง sepatu boot panyang”งูเรียกในภาษาอินโดฯว่า “อู-ลาร ular” คำนี้จำได้ขึ้นใจกับอีกคำ “มา-จัน macan” เสือที่นี่คือเสือโคร่งสุมาตรา ถ้าเจอรอยเท้าแถวชายน้ำเมื่อไรให้รีบถอยห่าง เสือชนิดนี้พบได้ทั่วไปในสุมาตราตามแนวเทือกเขาบาริซานตั้งแต่เขตอาเจ่ห์ลงมาจนถึงลัมปุง ชุกชุมมากแถวปาดัง เบงกูลูและจัมบิ สมัยนั้นในโรงแรมที่เคยพักเมืองมัวราบูโง่ Muara Bungo ยังประดับผนังด้วยซากหนังเสือทั้งตัวหรือวางนอนแผ่หราบนพื้นห้องรับแขก

คู่หูนักสำรวจจาก ITB บันดุงและกรุงเทพฯ

พอได้เวลากินข้าวเที่ยงมักจะหามุมพักที่ติดกับร่องน้ำหรือลำห้วยเล็กๆ เรียกคำในว่า “สุไหง sungai” ล้างหน้าล้างมือก่อนลงมือกินข้าวกลางวัน ชาวบ้านกินข้าวกับมือส่วนเราใช้ช้อนสั้นเป็นอาวุธ “อิส-ตี-ระ-ฮัท istirahat” หยุดพัก “กี-ต้า มา-กัน เซียง ดิ ซี-นี่ kita makan siang di sini” พวกเรากินข้าวเที่ยงกันตรงนี้ กับข้าวที่พ่อครัวประจำแค้มป์ห่อให้เรามาทุกคนส่วนใหญ่จะเป็นของทำง่ายๆแห้งๆเช่นไข่ต้มราดพริก ไข่เค็ม ไก่ทอด น้ำพริก ผัดมะเขือ และเต็มเป้ะถั่วหมักทอด วนกันอยู่แค่นี้ “นา-ซิ nasi” ข้าวสวย “เตอ-ลู่ร์ เรอ-บูส telur rebus” ไข่ต้ม “เตอ-ลู่ร์ อะ-ซิน telur asin” ไข่เค็ม “อะ-ยัม โก-เรง ayam goreng” ไก่ทอด “แซม-บัล sambal” น้ำพริก บางทีชาวบ้านก็พกมาม่าอินโดฯมากินเองจัดแบบแห้งแล้วกรอกน้ำตามให้ไปผสมอืดเอาในท้องก็มี บางคนก่อไฟแล้วตักน้ำในห้วยใส่กาต้มเพื่อชงกาแฟขาดไม่ได้และบุหรี่เกรเต็ก “โก-ปี๊ kopi” ของพื้นเมืองเม็ดกาแฟป่นละเอียดลอยฟ่องใส่น้ำตาลลงคนหลายช้อน ส่วนผมขอกาแฟแบบน้ำตาลช้อนเดียว “โก-ปี๊ ปา-เกย กู-ลา เซอ-ดิ-กิต kopi pakai gula sedikit”

กินข้าวอิ่มจิบกาแฟป่าสูบเกรเต็กพ่นควันลอยล่องพักท้องมองน้ำไหลเอื่อยหายเมื่อยขาจึงพากันออกล่องลงไปทางท้ายน้ำ เดินนำหน้าเรียก “เดอ-ปัน depan” เดินรั้งท้ายเรียก “เบอ-ลา-กัง belakang” ต้องเรียกให้รอกันก่อน “โต่-ล้ง ตุง-กู-ซา-ย่า-ดู-ลุ tolong tunggu saya dulu” หรือถ้ามองไม่เห็นคนหลังก็จะตะโกนบอก“กา-มู ดิ ตุง-กู ซา-ย่า kamu di tunggu saya” แปลว่าเรารอคุณอยู่ “เจอ-ปั๊ด เจอ-ปั๊ด cepat cepat” เร่งหน่อยๆ ถ้าเดินลงน้ำแล้วตลิ่งสูงขึ้นลำบากก็เรียกให้ช่วยดึงมือว่า “ซา-ย่า มิน-ตา โต่-ล้ง saya minta tolong” ผมขอความช่วยเหลือหน่อย

ทีมงานสำรวจนำทางบุกป่าแบกสัมภาระและครูฝึกภาษา

การเดินในป่าถ้าไม่คอยจับทิศดูแผนที่ให้ตลอดอาจหลงป่าได้ง่ายๆ ยิ่งตอนเย็นแสงในป่าจะหมดเร็วกว่าข้างนอกระยะถึงแค้มป์ยังห่างหลายช่วงตีนยิ่งน่ากลัวหรือถ้ามีฝนลงด้วยนั่นคือสิ่งที่ไม่อยากให้เกิด สภาพอากาศ “อุ-ดา-รา udara” ทิศเหนือ-ใต้-ออก-ตก “อุ-ตา-ระ เซอ-ลา-ตัน ติ-มูร บา-รัต utara selatan timur barat” พระอาทิตย์ “มา-ตา-ฮา-รี่ matahari” พระจันทร์ “บุ-หลัน bulan” กลางวัน กลางคืน “เซียง มา-ลัม siang malam” ตอนเช้า ตอนเย็น “ปา-กี๊ โซ-เล่ pagi sore” ฝนตก “ฮู-จัน hujan”คำพวกนี้มักจะพูดได้ตั้งแต่วันแรกๆของการไปถึง

“alhamdulillah kita udah sampai” ขอบคุณองค์อัลเลาะห์ พวกเรากลับมาถึงแล้วโดยสวัสดิภาพ......

จันทบุรี 14 มิถุนายน 2557

หมายเลขบันทึก: 570410เขียนเมื่อ 14 มิถุนายน 2014 13:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2014 15:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท