​ประเมินเพื่อมอบอำนาจ : 6. ให้คำแนะนำป้อนกลับเพื่อการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิผล


บันทึกชุด “ประเมินเพื่อมอบอำนาจ" (การเรียนรู้) ๑๐ ตอน ชุดนี้ ตีความจากหนังสือ Embedded Formative Assessment เขียนโดย Dylan Wiliam เพื่อเสนอใช้การทดสอบหรือการประเมินในทางบวก ต่อการเรียนรู้ โดยใช้แบบเนียนไปการกระบวนการเรียนรู้ของศิษย์ และเนียนไปกับการโค้ชศิษย์ เพื่อใช้ “การประเมินเพื่อพัฒนา" (formative assessment) ยกระดับการเรียนรู้ของนักเรียน ด้วยความเชื่อว่า การใช้ “การประเมินเพื่อพัฒนา" ที่ดำเนินการโดยครูในชั้นเรียน และดำเนินการอย่างถูกต้อง เป็นปัจจัยสำคัญที่สุด ต่อการยกระดับผลสัมฤทธิ์ของการเรียน (learning outcomes)

บันทึกตอนที่ ๖ นี้ ตีความจากบทที่ ๕ Providing Feedback That Moves Learning Forward เป็นยุทธศาสตร์ที่ ๓ ใน ๕ ยุทธศาสตร์ของการประเมินเพื่อการพัฒนาที่ดี คือ ยุทธศาสตร์การใช้สารสนเทศ จากการประเมิน ประกอบการให้คำแนะนำป้อนกลับ เพื่อให้ได้การเรียนรู้ที่มีผลสัมฤทธิ์สูง ย้ำที่วิธีการให้คำแนะนำป้อนกลับ (feedback) อย่างถูกต้อง เพื่อกระตุ้นความสนใจงาน (การเรียน) ไม่ใช่กระตุ้นอีโก้ ของเด็ก

สาระสำคัญยิ่งคือ คำแนะนำป้อนกลับไม่ใช่ว่าจะก่อผลดีต่อการเรียนรู้เสมอไปนะครับ มีถมไป ที่เมื่อครูให้คำแนะนำป้อนกลับแล้ว เด็กกลับมีผลการเรียนเลวลง ดังนั้นครูต้องรู้วิธีให้คำแนะนำป้อนกลับ ที่ถูกต้อง และรู้ว่าต้องไม่ใช้คำแนะนำป้อนกลับแบบใด

หนังสือบทที่ ๕ นี้ ก็เหมือนบทก่อนๆ ที่เต็มไปด้วยสาระจากผลงานวิจัย ที่ผมอ่านแล้วตื่นตาตื่นใจ รำพึงกับตนเองว่า เรื่องการศึกษานี้ซับซ้อนจริงหนอ หลายเรื่องที่สามัญสำนึกบอกเราว่าได้ผลดีแน่ๆ แต่ผลการวิจัยบอกว่า กลับก่อผลร้าย และเขามีคำอธิบายที่น่าเชื่อถือด้วย ผมตีความว่าสามัญสำนึกของเรา มักเป็นเหตุผลชั้นเดียว แต่ความเป็นจริงด้านการศึกษาเหตุผลมันซับซ้อนยอกย้อน เพราะมีปัจจัยมาเกี่ยวข้อง มากกว่าที่เราตระหนัก

จะเข้าใจเรื่อง feedback ถ่องแท้ ต้องกลับไปที่ต้นตอของคำ ซึ่งเป็นศัพท์ของวงการวิศวกรรม ที่มี feedback loop ของการปฏิบัติงาน ที่ต้องการบรรลุเป้าหมาย เขาใส่ตัววัดผลงานเข้าไปในกระบวนการปฏิบัติงาน สำหรับให้ผลการประเมินมันป้อนกลับไปควบคุมกระบวนการปฏิบัติงาน ให้ปรับตัว เพื่อเข้าไปใกล้เป้าหมาย มากยิ่งขึ้น

ดังนั้น feedback ไม่มีความหมาย หากไม่มีการปรับตัว ซึ่งในกรณีของเรา คือการที่นักเรียนปรับปรุง การเรียนของตน

เป้าหมายของการให้คำแนะนำป้อนกลับแก่นักเรียน คือเพื่อให้นักเรียนปรับความรู้ และวิธีการเรียนของตน เพื่อให้การเรียนบรรลุผลสัมฤทธิ์ที่สูงขึ้น คำแนะนำป้อนกลับใดไม่ก่อผลนี้ อาจไม่เรียกว่าคำแนะนำป้อนกลับ หรืออาจเรียกว่าเป็นคำแนะนำป้อนกลับที่ไร้ผล และที่เราไม่ต้องการอย่างยิ่ง คือ คำแนะนำป้อนกลับที่ก่อผลร้าย ยิ่งทำให้ผลการเรียนตกต่ำลง


คุณภาพของคำแนะนำป้อนกลับ

คำแนะนำป้อนกลับที่มีคุณภาพ คือคำแนะนำป้อนกลับที่มีผลเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้ได้รับ เพื่อให้เกิดผลดี ต้องพุ่งเป้าคำแนะนำไปที่ตัวพฤติกรรม ไม่ใช่ที่ตัวนักเรียน หรือกล่าวว่า พุ่งเป้าไปที่ การทำงานของนักเรียน ไม่ใช่ที่อัตตาของนักเรียน และต้องเลือกแนะนำเฉพาะส่วนที่นักเรียนควบคุมได้ ไม่ใช่สิ่งที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของนักเรียน

กาละ เทศะ เป็นปัจจัยสำคัญมาก ต่อการให้คำแนะนำป้อนกลับ หากนักเรียนกำลัง “จิตไม่ว่าง" คำแนะนำป้อนกลับจะไร้ความหมาย


คำแนะนำป้อนกลับที่ไม่ดี

คำแนะนำป้อนกลับที่ไม่พึงประสงค์คือ คำแนะนำป้อนกลับที่มีผลต่อไปนี้ต่อนักเรียน

  • ๑.คิดว่าตนเอง โง่ หรือไม่ถนัดเรื่องนั้นๆ และหมดกำลังใจเรียน
  • ๒.กระตุ้นอัตตาตัวตน แทนที่จะกระตุ้นมานะใฝ่เรียน
  • ๓.คิดถึงการเรียนที่ผ่านมาแล้ว หรือผลของการทดสอบ แทนที่จะคิดไปข้างหน้าเพื่อหาทางปรับปรุงตนเอง
  • ๔.เมื่อได้รับคำแนะนำป้อนกลับ นักเรียนส่วนหนึ่งมีงานทำ อีกส่วนหนึ่งไม่มีงานทำ


คำแนะนำป้อนกลับที่ดี

คำแนะนำป้อนกลับที่พึงประสงค์ มีลักษณะ

  • ๑.กระตุ้นการคิดบวก คิดพัฒนาการเรียนของตนเอง ไม่กระตุ้นอารมณ์ปกป้องความรู้สึก หรืออัตตาตัวตนของตนเอง
  • ๒.สั้น ตรงประเด็น (เป้าหมายการเรียนรู้) ไม่มากข้อ หลักการของการให้คำแนะนำป้อนกลับคือ “Less is more" ซึ่งหมายความว่าคำแนะนำป้อนกลับ ที่มีน้อยประเด็น แต่ตรงประเด็นการเรียนรู้ ก่อผลดีต่อศิษย์มากกว่า
  • ๓.สร้างงานให้แก่ผู้เรียนมากกว่าแก่ตัวครู คือเมื่อได้รับ feedback จากครูแล้วนักเรียนต้องทำงาน เพื่อพัฒนาตนเอง
  • ๔.มีคำแนะนำวิธีการปรับปรุงหรือแก้ไขในอนาคต ไม่ใช่แค่บอกว่าถูกหรือผิด ดีหรือไม่ดี คือชักชวนเด็กคิดไปในอนาคตไกลๆ ไม่ใช่คิดแค่ปัจจุบัน
  • ๕.นักเรียนสามารถนำเอาคำแนะนำป้อนกลับไปใช้ได้
  • ๖.ทำให้นักเรียนเป็นเจ้าของ กระบวนการเรียนรู้
  • ๗.ทำให้นักเรียนมองครูเป็น โค้ช หรือผู้ช่วยแนะนำ ให้เรียนรู้ได้ดีขึ้น ไม่ใช่เป็นผู้พิพากษา ว่าใครเก่งใครไม่เก่ง

เทคนิคการให้คำแนะนำป้อนกลับ

คำแนะนำสำคัญที่สุดคือ คำแนะนำป้อนกลับต้องทำให้เกิดการคิด ทำให้เด็กคิด ไม่ใช่เกิดอารมณ์วูบ ต่อต้านคำแนะนำป้อนกลับ ต่อไปนี้เป็นคำแนะนำเชิงปฏิบัติ

  • ๑.อย่าให้คำแนะนำป้อนกลับ โดยไม่มีเวลาในชั้นเรียน ให้เด็กใช้คำแนะนำป้อนกลับ ในการปรับปรุงงานของตน เพื่อให้คำแนะนำป้อนกลับนำไปสู่การคิดไปข้างหน้า และการลงมือปรับปรุง
    • ๒.ใช้เทคนิค “สามคำถาม" เมื่อครูตรวจงานของเด็ก ให้เลือก ๓ ประเด็นสำคัญที่ต้องการให้ เด็กทบทวนไตร่ตรองเพื่อแก้ไข เขียนตัวเลข ๑ ในวงกลมที่ประโยคหรือตอนนั้น และเลข ๒ และ ๓ ในวงกลมที่ประโยคสำคัญที่ ๒ และ ๓ แล้วครูเขียนคำถามที่ด้านล่างของกระดาษ ว่า ข้อ ๑ ครูต้องการให้นักเรียนไตร่ตรองทบทวนอะไร และเว้นช่องว่างไว้ให้นักเรียนเขียน และทำเช่นเดียวกันกับข้อ ๒ และ ๓ เทคนิคนี้ช่วยให้นักเรียนทุกคนมีงานทำ เพื่อคิด ไปข้างหน้า ในการปรับปรุงความรู้และการเรียนรู้ของตนเอง ไม่ว่าผลงานที่ส่งครู จะมีคุณภาพอย่างไร
    • ๓.อย่าให้คำแนะนำป้อนกลับพร้อมกับให้คะแนน ผลการวิจัยบอกว่า เมื่อให้คำแนะนำ ป้อนกลับพร้อมกับให้คะแนน ผลต่อการเรียนรู้ของนักเรียนจะเท่ากับให้คะแนนอย่างเดียว โดยไม่มีคำแนะนำป้อนกลับ จากการเข้าไปสังเกตพฤติกรรมของนักเรียน เขาอธิบายว่า เมื่อได้รับกระดาษคำตอบ พร้อมคะแนน และคำแนะนำป้อนกลับ เด็กทุกคนจะดูคะแนน ของตนเอง แล้วเอาไปเปรียบเทียบกับคะแนนของเพื่อน แล้วความสนใจก็จะไปอยู่ ที่คะแนน ไม่ได้สนใจคำแนะนำป้อนกลับเลย เด็กจะไม่อ่านคำแนะนำป้อนกลับ หรืออ่านก็อ่านแบบไม่สนใจ
    • ๔.เทคนิคการเฉลยแบบไม่เฉลย นี่เป็นชื่อเทคนิคที่ผมตั้งขึ้นเอง จากที่ในหนังสือเขาแนะนำว่า เมื่อมีโจทย์ให้เด็กทำ สมมติว่า ๑๐ ข้อ เมื่อครูตรวจ แทนที่จะให้เครื่องหมายถูกผิด ครูเขียนว่า มีผิดอยู่ ๕ ข้อ ให้นักเรียนไปหาเอง ของนักเรียนอีกคนหนึ่งครูเขียนว่า ผิด ๑ ข้อ ให้หาข้อผิดเอง นี่คือกุศโลบายให้นักเรียนคิดหลังได้รับคำแนะนำป้อนกลับ ตรงนี้ผมขอตั้ง ข้อสังเกตว่า คำตอบของนักเรียนบางคนอาจถูกทั้งหมด นักเรียนเหล่านี้เมื่อได้รับคำตอบ กลับมา ก็จะไม่มีอะไรทำ ครูต้องหาทางให้เด็กที่ตอบถูกหมดมีงานทำ เช่น เมื่อนักเรียน ได้รับคำแนะนำป้อนกลับ ครูให้เวลาหาข้อผิดของตน ๕ นาที แล้วให้จับคู่อภิปรายกับเพื่อน โดยให้นักเรียนที่ไม่มีข้อผิดจับคู่กับเพื่อนที่มีข้อผิดมากข้อ ให้เวลา ๕ นาที แล้วให้แต่ละคู่ นำเสนอต่อชั้นเรียน ว่ามีคู่ใดที่มีคำตอบไม่ตรงกัน หรือคำตอบตรงกัน แต่มีวิธีแก้โจทย์หรือ มีเหตุผลต่างกัน ให้นำเสนอต่อชั้น ก็จะเกิดการคิดต่ออย่างสนุกสนาน
    • 5.เทคนิคเฉลยบางส่วน (scaffolded feedback) เป็นวิธีให้คำแนะนำช่วยเหลือแบบที่ ช่วยเพียงบางส่วน เพื่อให้นักเรียนได้ฝึกช่วยตัวเอง ตัวอย่างเช่น คำโต้ตอบระหว่าง ครูกับศิษย์ ต่อไปนี้

ครู : เธอไม่เข้าใจตรงไหน

นักเรียน : ไม่เข้าใจทั้งหมด

ครู : ส่วนแรกของโจทย์เหมือนกับโจทย์ข้อก่อน ส่วนหลังเติมตัวแปรเข้าไปอีกตัวหนึ่ง ลองหาดูเองก่อน อีก ๒ - ๓ นาทีครูจะกลับมาใหม่

ข้อความในบทนี้เต็มไปด้วยการนำผลการวิจัยมาตีความ ที่น่าตกใจคือ เขาพบว่า ร้อยละ ๔๐ ของการวิจัยเรื่องการให้คำแนะนำป้อนกลับ พบว่าคำแนะนำป้อนกลับให้ผลลบ คือนักเรียนมีผลการเรียนเลวลง ตีความได้ว่า เพราะคำแนะนำป้อนกลับที่ใช้ เป็นคำแนะนำป้อนกลับที่ไม่ดี

ที่ผมตกใจอีกเรื่องหนึ่งคือ ผลของการสอบให้เกรด เขาบอกว่า ผลการวิจัยบอกชัดเจน ว่ามันทำให้ผลการเรียนเลวลง และที่ร้ายกว่านั้นคือ มันไม่ได้วัดความรู้จริงๆ ของนักเรียน เรื่องการประเมินนี่ มีเรื่องให้ศึกษาและเรียนรู้มากจริงๆ เป็นหัวข้อวิจัยการศึกษาที่วงการศึกษาไทยน่าจะเอาใจใส่อย่างยิ่ง

วิจารณ์ พานิช

๖ ม.ค. ๕๗

หมายเลขบันทึก: 570369เขียนเมื่อ 13 มิถุนายน 2014 17:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มีนาคม 2015 04:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท