แก้เตียงหัก รักอย่างแม่


ระยะหลังๆมานี้ บุคคลรอบตัวดิฉันมักมีแต่ปัญหาขาเตียงคลอน จนดิฉันแทบจะลงความเห็นว่า นี่คือปัญหาหลักในชีวิตคู่ของคนอายุเกินครึ่งร้อยเลยทีเดียว

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) ได้กล่าวถึงเรื่องของธรรมคือ "อนิจจัง" อันหมายถึงความไม่เที่ยง การเปลี่ยนแปลง ว่าผู้ศึกษาต้องระวังให้ดี เพราะถ้าเข้าใจว่า ก็ในเมื่อสรรพสิ่งไม่เที่ยงก็ต้องยอมรับตามนั้นแล้วปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามลักษณะของอนิจจัง ท่านว่านั่นกลับเป็นเหตุให้เกิดความประมาท

ในคำตรัสที่เราคุ้นเคยคือ "สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา" นั้น มีทั้งเหตุและผลอยู่พรั่งพร้อมเลยค่ะ

เพราะสรรพสิ่งทั้งปวงมีสภาพเกิดขึ้นแล้วตั้งอยู่ชั่วขณะจากนั้นก็ดับ เป็นสภาพไม่มีเจ้าของ ไม่เป็นไปตามใจปรารถนา แต่เป็นไปตามเหตุปัจจัย ดังนั้น สิ่งที่เกิดจากสิ่งที่เกิดจากการผสมปรุงแต่งจึงไม่สามารถคงอยู่ในสภาพเดิมได้ ต้องแปรปรวนไปตลอดเวลาเพราะการทยอยเกิดดับของสิ่งที่มาผสมรวมเข้าด้วยกัน

การนำคำตรัสนี้มาใช้ในชีวิต จึงต้องพิจารณาหลายๆเรื่องไปพร้อมๆกัน คือ เรื่องของเหตุ เรื่องของผล เรื่องของการปฏิบัติอันเป็นเหตุด้วยความไม่ประมาท และเรื่องของท่าทีต่อผลเพื่อไม่ให้ผลการปฏิบัติกลับหมุนวนกลายเป็นเหตุใหม่อันก่อให้เกิดทุกข์ขึ้นมา

คำตรัสนี้แสดงความเป็นจริงของสรรพสิ่ง จึงช่วยให้เราปฏิบัติต่อสรรพสิ่งอย่างถูกต้อง

1

เพราะทุกสิ่งเกิดแต่เหตุปัจจัย เราต้องการผลอย่างไร ก็ต้องสร้างปัจจัยอย่างนั้น เช่น หากต้องการรักษาบางสิ่งไว้ ก็ต้องไม่ประมาท เพียรสร้างเหตุปัจจัยให้สิ่งนั้นคงอยู่

มีคำที่เกี่ยวกับคำตรัสนี้ควรสนใจอยู่ สองคำค่ะ คือคำว่า ปล่อยปละ กับ ปล่อยวาง

หากเรารับรู้ว่าสิ่งทั้งปวงต้องเปลี่ยนแปลงไปแล้วจึงนิ่งรับสภาพโดยไม่คิดสร้างเหตุปัจจัยในการรักษา สิ่งเหล่านั้นก็เปลี่ยนแปรไปจริงๆค่ะ ก็เพราะเหตุที่เราทำคือปล่อยปละละเลย ไม่มีการกระทำเหตุเพื่อการปกปักรักษาสิ่งนั้น แต่ถ้าเราทำเหตุคือการรักษาอย่างเต็มที่แล้วก็ไม่สามารถรักษาสภาพที่สมบูรณ์ของสิ่งนั้นไว้ได้ ก็ต้องปล่อยวาง ยอมรับว่าสรรพสิ่งล้วนแปรเปลี่ยนไปได้ ทุกสิ่งไม่เป็นไปตามปรารถนา เราจึงไม่ทุกข์ใจเพราะการที่สิ่งนั้นแปรเปลี่ยนไป

การปล่อยปละเป็นผลที่ตามมาจากเหตุคือความประมาท ส่วนการปล่อยวาง เป็นผลของการทำเหตุคือขวนขวายทำอย่างเต็มกำลังและท่าทีต่อผลคือเห็นด้วยปัญญาจนวางใจเป็นกลาง

ความสัมพันธ์ในชีวิตคู่ก็เช่นกันค่ะ หากเราปล่อยปละละเลย ไม่สร้างเหตุในการรักษาความสัมพันธ์ไว้ ก็มีโอกาสที่ความสัมพันธ์จะกลับกลายได้

ลองพิจารณาความรักของพ่อแม่ที่มีต่อลูกดูนะคะ ความรักจัดเป็นสังขารเพราะเกิดจากการปรุงแต่ง แต่ทำไมความรักของพ่อแม่ที่มีต่อลูกจึงจีรังยั่งยืน ไม่เปลี่ยนแปลง ก็เพราะท่านรักษาเหตุคือรักโดยไม่หวังสิ่งใดๆจากลูกตอบแทนอย่างไม่เปลี่ยนแปลงไปไว้นั่นเอง พ่อแม่ก็ไม่เคยหมดรัก ไม่เคยหยุดทำสิ่งดีๆโดยไม่หวังสิ่งตอบแทนให้แก่ลูก

พ่อแม่จึงเปรียบเหมือนพรหมของลูก จึงมีจิตอันประกอบด้วยคุณธรรมอย่างพรหมกับลูก หรือพรหมวิหาร ๔ คือมีเมตตา ปรารถนาให้ลูกมีสุข กรุณา หากลูกมีทุกข์ก็ปรารถนาให้ลูกพ้นทุกข์ มุทิตา สนับสนุนและชื่นชมความสำเร็จของลูก อุเบกขา หากลูกโตพอจะดูแลตนได้ก็ต้องปล่อยวางจากลูกบ้าง หรือ เมื่อลูกทำผิดก็ต้องวางใจเป็นกลาง ยอมให้ลูกได้รับโทษบ้าง เมื่อพ่อแม่มีธรรมคือพรหมวิหาร ๔ อยู่ในใจ จึงแสดงออกอย่างเป็นรูปธรรมด้วยองค์ธรรมที่มารองรับ เช่น มีสังคหวัตถุ ๔ คือมีการให้ หรือทาน มีวาจาอ่อนหวาน เป็นมิตร หรือ ปิยวาจา มีการขวนขวายช่วยเหลือหรือ อัตถจริยา และมีการตนเสมอต้นเสมอปลาย หรือ สมานัตตตา

สำหรับสมานัตตตานี้ หากใช้กับบุคคลทั่วไป ยังหมายถึงการมีคุณธรรมเสมอกันอีกด้วย เช่น เรารู้ว่าผู้ที่แวดล้อมเรามีคุณธรรมอย่างไร หากสำรวจตนแล้วเรายังไม่มีคุณธรรมนั้นในตน ก็ขวนขวายบ่มเพาะขึ้นให้มีเสมอกัน เพื่ออยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข

อันที่จริงมีความเกิดดับ มีความเปลี่ยนแปลง อยู่ในช่วงเวลาความรักของพ่อแม่ตลอดเวลาค่ะ เพียงแต่ “ สันตติ ” หรือ “ ความสืบต่อ ” นั้นปิดบังไว้เราจึงมองไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงหรือไม่เที่ยงนั้น เนื่องจากจิตเกิดดับอยู่ตลอดเวลา เมื่อจิตดวงที่มีความรักให้แก่ลูกประกอบอยู่ของพ่อแม่ดับลง ดวงใหม่ที่คุณลักษณะคล้ายๆดวงเก่าที่เพิ่งดับไปก็เกิดใหม่ขึ้นสืบต่อทันที และเพราะการเกิดดับของจิตที่สืบต่อกันนั้นเร็วมากจนเราไม่รู้สึก เมื่อมองในช่วงเวลาหรือในขณะหนึ่งๆ จึงดูเหมือนว่าความรักของพ่อแม่ที่มีต่อลูกนั้นไม่เคยดับหรือสลายไปเลย ทำให้ดูเหมือนว่าความรักของพ่อแม่นั้น “เที่ยง”

และหากเรามองว่าความรักของพ่อแม่นั้นเที่ยงแล้ว อาจรู้สึกว่าแล้วจะไม่ค้านกับคำตรัสของพระพุทธเจ้าที่ว่าสังขารทั้งปวงไม่เที่ยงหรือ จึงอยากชวนพิจารณาดู อปริหานิยธรรมทั้งที่ทรงแสดงต่อหน้าวัสสการพราหมณ์ และ ที่ทรงแสดงต่อภิกษุทั้งหลายค่ะ ดังเช่นที่ตรัสว่า

“พราหมณ์ สมัยหนึ่ง เราอยู่ที่สารันททเจดีย์ เขตกรุงเวสาลี ได้แสดงอปริหานิยธรรม ๗ ประการนี้แก่พวกเจ้าวัชชี พวกเจ้าวัชชีพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียวไม่มีความเสื่อมตราบเท่าที่พวกเจ้าวัชชียังมีอปริหานิยธรรมทั้ง ๗ ประการนี้อยู่และใส่ใจอปริหานิยธรรมทั้ง ๗ ประการนี้อยู่”

ฑี.ม.(แปล) ๑๐/๑๓๕/๘๑

จากคำตรัสนี้ ทรงแสดงถึงเหตุคือการปฏิบัติด้วยความไม่ประมาท ก็จะได้ผลคือความเจริญ ความยั่งยืนของสิ่งที่ต้องการอย่างไม่ผันแปร ซึ่งทุกอย่างก็เป็นไปตามที่ตรัสค่ะ คือ ทุกอย่างเกิดจากเหตุปัจจัย เมื่อมีการทำเหตุเพื่อรักษาความเจริญไว้ ความเจริญก็ไม่ผันแปรไปตามเหตุที่ทำ

แต่จะบอกว่าไม่มีการแปรเปลี่ยนก็ไม่ถูกนักนะคะ เพราะคำว่า “ความเจริญ” ก็แสดงถึงการเปลี่ยนแปลง แสดงถึงความเป็นอนิจจังอยู่แล้ว เพียงแต่เมื่อยกคำว่าอนิจจังขึ้นมาทีไร เรามักมองว่าเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ไม่ดีเสียทั้งสิ้น ทั้งๆที่ความจริง อนิจจังเป็นคำกลางๆ คือ ไม่เที่ยง ไม่แน่นอนเพราะเปลี่ยนแปลงได้ โดยจะเปลี่ยนไปในทางที่ดีหรือไม่ดีก็ได้ทั้งนั้น

นอกจากจะต้องมีการกระทำคือสร้างเหตุปัจจัยเพื่อการไม่เปลี่ยนแปลงด้วยความไม่ประมาทแล้ว ยังต้องมีสติอยู่ตลอดเวลาด้วยค่ะ เพราะคุณธรรมที่มีแต่ขาดสติก็นำไปสู่การปันใจได้เช่นกัน ดังเช่น การมีเมตตาต่อผู้อื่น ขวนขวายช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ด้วยกรุณา เพราะการขวนขวายเพื่อช่วยจึงมีการตริตรึกถึงผู้ที่ต้องการช่วยเหลืออยู่บ่อยๆ หากสติไม่กำกับธรรมที่เป็นเสี้ยนในเมตตาคือเสน่หาก็แทรกเข้ามาได้

2

เพราะธรรมทั้งปวงไม่เป็นไปตามปรารถนาแต่เป็นไปตามเหตุปัจจัย เราจึงหวังไม่ควรหวังอะไรจากการทำเหตุ แม้จะต้องการผลสำเร็จและมีการกระทำเพื่อให้ได้ผลแล้ว แต่สิ่งที่เราทำก็คือการสร้างปัจจัยอันน้อมไปสู่ผลแต่ไม่อาจคาดเดาได้ว่าจะต้องได้ผลสำเร็จตามที่ปรารถนาเพราะหากผลนั้นเกิดจากเราเพียงผู้เดียว เราก็ย่อมได้รับผลไม่ในวันใดก็วันหนึ่งเพียงแต่เราบอกไม่ได้ว่าเมื่อไหร่ ผลที่ได้ไม่เป็นไปตามที่ต้องการว่าจะต้องได้เมื่อนั่นเมื่อนี่ เช่น การปฏิบัติธรรม หากเราเพียรทำไปเรื่อยๆ หมั่นศึกษาธรรมไปเรื่อยๆ หมั่นตรวจสอบวิธีการปฏิบัติไปเรื่อยๆ (เช่น ตรวจสอบว่าเรามีศีลที่เป็นไท คือ เป็นไปเพื่อสมาธิหรือไม่, ดูสภาพจิตว่าเป็นสุขมากขึ้นหรือไม่ ปล่อยวางได้มากขึ้นหรือไม่, ดูวิธีที่ปฏิบัติต่อบุคคลอื่นเหมาะสมหรือไม่, ธรรมที่นำมาปฏิบัติว่าสอดคล้องกับวิถีชีวิตหรือไม่ เป็นต้น) หมั่นตั้งสติติดตามสภาวะและหาแดนเกิดของสภาวธรรมไปเรื่อยๆ ไม่หวังผลจากการปฏิบัติอันจะทำให้เกิดเหตุแห่งทุกข์ขึ้นมาใหม่ วันหนึ่งข้างหน้าเราก็ต้องได้รับผลจากการปฏิบัตินั้นนอกเหนือไปจากผลที่ได้แล้วคืออยู่อย่างเป็นสุขในปัจจุบันเพราะการไม่หวัง

ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า รูปที่ละได้เป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล นำความสุขมาให้ตราบสิ้นกาลนาน เรื่องที่ใจคิดก็เป็นรูปค่ะ เป็นรูปที่เรียกว่า ธรรมารมณ์ ที่รับรู้ด้วยนามคือ มโน หรือใจ การคิดหวังถึงสิ่งใดสิ่งหนึ่งจึงจัดเป็นรูปด้วยหากละความคิดหวังได้ สุขใจก็เกิดในทันทีและเกื้อกูลแก่สุขอันถาวร แต่ความที่เรายังเป็นปุถุชน จึงยังละรูปทั้งหมดไม่ได้ แต่อย่างไรเสียก็ต้องฝึกการละค่ะ โดยเริ่มจากรูปหยาบคือรูปที่นำความผิดหวัง เสียใจ โกรธ เป็นต้น มาให้ก่อน  แล้วค่อยๆละรูปที่ละเอียดขึ้น คือรูปที่นำความสุขมาให้ กระทั่งในที่สุด รูปที่นำความสุขมาให้ก็ต้องค่อยๆละ เพราะเมื่อมีรูปที่เราคิดหวัง ก็ยังมีความเห็นว่าเป็นตน คือมีตนของผู้หวัง อันทำให้ไม่สามารถบรรลุธรรมสูงสุดในพุทธศาสนาได้

ซึ่งการที่จะละรูปที่นำความเสียใจ โกรธ ผูกโกรธ พยาบาท มาให้ตนนั้น ก็ต้องบ่มเพาะเมตตา และการให้อภัย

แต่หากผลนั้นเกิดจากการมีผู้อื่นร่วมด้วย ปัจจัยที่เราคุมไม่ได้ก็คือผู้ที่ไม่ใช่ตัวเรา ดังนั้นจึงอาจไม่สำเร็จตามใจปรารถนา ซึ่งเราก็ต้องยอมรับเพราะความที่ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา เมื่อยอมรับจึงวางใจ เพียงดูสิ่งที่ไม่เป็นไปตามความปรารถนาเฉยอยู่

ความรักของชายหญิงก็เป็นสิ่งปรุงแต่ง ที่แสดงความเป็นสิ่งปรุงแต่งทั้งการปรุงแต่งเอง (คือเป็นสิ่งที่แต่ละบุคคลปรุงแต่งขึ้น) และสิ่งที่สำเร็จจากการปรุงแต่ง (คือสำเร็จจากบุคคลสองคนปรุงแต่งร่วมกัน) และเป็นการปรุงแต่งด้วยตัณหา คือ รักเพื่อจะเสพสิ่งที่ดีจากอีกฝ่าย เพราะต้องการเสพสิ่งที่ดีจากอีกฝ่าย เราจึงทำสิ่งดีๆให้กันเพื่อให้ได้รับสิ่งดีๆตอบแทน แต่เพราะเป็นรักเพื่อที่จะเสพ จึงทำให้ความรักชายหญิงมีความหวงแหนว่าสิ่งที่ตนเสพจะถูกแย่งชิงไป ความสุขจากการเสพจะสูญสลายไป จึงทำให้ในความรักมีความระแวงเป็นพื้น ซึ่งผลก็คือ มีการจ้องจับผิด มีการตามหึงหวง พูดส่อเสียด จนเกิดปัญหามาแล้วหลายคู่

คุณพิษนุ นิลกลัด เคยเขียนถึงความรักของชายหญิงในคอลัมน์ “ คลุกวงใน “เอาไว้ว่าจะมีระยะโปรโมชั่นเพียงสองปีครึ่ง เมื่อถึงระยะก็หมดโปรคู่ครองมักรู้สึกไม่เป็นสุขกับการใช้ชีวิตคู่ ซึ่งอันที่จริงก็เป็นไปตามธรรมชาติของตัณหานั่นเองค่ะ

เพราะธรรมชาติของตัณหา เมื่อไม่ได้ก็ไขว่คว้า ครั้นได้มาก็ชื่นชม เสพจนสุขสมอยู่ชั่วระยะ จากนั้นก็จะชาชิน เบื่อการเสพเวทนาจากสิ่งเก่าๆ อยากได้สิ่งใหม่ที่เลิศกว่ามาเสพแทน ดังนั้นหากคู่แต่งงานรู้ไม่ทันธรรมชาติของตัณหา ไม่สร้างเหตุปัจจัยที่จะรักษาความรักไว้ ด้วยการปฏิบัติตนต่อกันอย่างเสมอต้นเสมอปลาย สำรวมในกามด้วยการตั้งจิตว่าจะพอใจแต่เพียงในคู่ของตนแล้วอบรมตนด้วยสิกขาบทหรือศีลอันมีกาเมสุมิฉาจารา เวรมณี เป็นต้น สุดท้าย ก็ไม่พ้นการเบื่อหน่ายในชีวิตคู่ เบื่อหน่ายในตัวคู่อันเป็นวัตถุกาม แต่เพราะกิเลสเป็นเหตุให้อยากเสพหรือกิเลสกามยังคงมีอยู่ จึงทำให้อยากเสพเวทนาเดิมๆแต่กับคนใหม่ๆ

หรือเมื่อทั้งคู่ไม่สามารถให้สิ่งที่ต้องการเสพแก่กันได้ การไม่พยายามเรียนรู้ ปรับปรุงแก้ไขความผิดพลาด ปล่อยปัญหาให้ตั้งอยู่ก็เป็นเหตุแห่งความเบื่อหน่ายได้เช่นกัน

การพูดส่อเสียดเป็นเรื่องที่พบได้บ่อยมากในชีวิตประจำวันเลยค่ะ ศาสนาพุทธให้ความสำคัญกับการพูดส่อเสียดนี้ว่าเป็นเหตุให้เกิดการแตกความสามัคคีในหมู่บ้าง เป็นเหตุให้เราละเลยสิ่งที่เราควรทำเพราะมัวแต่ไปใส่ใจคำพูดส่อเสียดของคนอื่นจนนำมาคิดวุ่นวายบ้าง เป็นเหตุนำไปสู่อบายเพราะต้องคอยประดิษฐ์คำพูดเพื่อส่อเสียดคนอื่น หรือ เมื่อถูกส่อเสียดแล้วก็คิดแค้นคอยหาทางแก้คืนบ้าง แต่เชื่อไหมคะ เหตุใหญ่ที่ทำให้เกิดปัญหาครอบครัวกลับมาจากการพูดส่อเสียด เพราะผู้พูดมักขอเพียงได้สะใจที่ได้พูดกระทบแต่ลืมนึกถึงผลที่ตามมาในภายหลังว่าจะทำให้ความรักจากอีกฝ่ายค่อยๆลดน้อยลง สร้างความขุ่นเคืองให้เขาเนืองๆ เป็นเหตุให้ครอบครัวมีปัญหาความไม่เข้าใจกัน

การพูดส่อเสียด บางทีมีเหตุมาจากความระแวง แต่บางทีก็มาจากเหตุอื่นๆค่ะ เช่น ความต้องการให้อีกฝ่ายเป็นอย่างที่ใจเราอยากให้เป็นแต่เพราะไม่กล้าพูดตรงๆบ้าง การมองโลกอย่างที่อยากให้เป็น ไม่ใช่อย่างที่เป็นอยู่จริงและปล่อยให้ความไม่พอใจที่อีกฝ่ายไม่เป็นอย่างใจเราอยากคุกรุ่นอยู่เสมอจนในที่สุดก็ก้าวล่วงออกมาทางวาจาบ้าง การคาดการณ์ล่วงหน้าไว้แล้วว่าจะเกิดความผิดพลาดขึ้น เมื่อเกิดความผิดพลาดขึ้นจริงๆ จึงพูดส่อเสียดที่เหตุการณ์เป็นไปอย่างที่คาดคิดบ้าง ฯลฯ ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีผลต่อความสัมพันธ์ทั้งสิ้น ซึ่งหากหวังความยืนยาวของความสัมพันธ์ ก็ต้องหมั่นมองโทษของสิ่งเหล่านี้และละการกระทำนั้นๆเสีย

การมองโลกอย่างที่ใจอยากให้เป็น ไม่ใช่มองโลกอย่างที่เป็นอยู่จริง ก็เป็นอีกเหตุหนึ่งที่ทำให้มีปัญหาค่ะ เพราะหวังให้อีกฝ่ายเป็นอีกคน หรือทำให้สิ่งที่เราอยากเห็น อยากได้ยิน เมื่ออีกฝ่ายไม่เป็นไปตามที่อยากให้เป็นก็นำไปสู่ความเสียใจ ขัดใจ หงุดหงิด ดิฉันพบคู่ที่ปล่อยปัญหานี้ไว้ให้เรื้อรังก็กลายเป็นปัญหาใหญ่ที่นำไปสู่ความแตกแยกแม้จะยังอยู่ด้วยกัน ทำให้คู่ชีวิตผู้มองโลกอย่างนั้นต้องเยียวยาด้วยการรักษาของแพทย์มาแล้ว

หรือหากมีเป้าหมายชีวิตที่ต่างกัน วิถีชีวิตเพื่อบรรลุเป้าหมายก็อาจเป็นอีกเหตุที่นำไปสู่ปัญหาชีวิตคู่ เช่น คนหนึ่งอยากมีฐานะดีจึงหมั่นทำมาหากินจนลืมนึกถึงครอบครัว ในขณะที่อีกคนอยากใช้ชีวิตกับครอบครัวอย่างมีความสุขโดยไม่ใส่ใจเรื่องการสร้างฐานะเท่าใด วิถีชีวิตของคนทั้งสองก็จะก็จะค่อยๆห่างกันออกไปทุกที จนในที่สุดก็อาจเกิดปัญหาได้

เพราะใจคนเรานั้นเปลี่ยนแปลงได้เสมอ แต่หากคู่ครองมีเป้าหมายเดียวกันคือนิพพาน ก็เป็นอันยืนยันได้ว่าชีวิตคู่จะไม่ใคร่มีปัญหา เนื่องจากนิพพานเป็นภาวะเดียวไม่มีสอง ดังนั้น เมื่อบุคคลทั้งคู่รู้ดีว่าตนยังมีตัณหา แต่ไม่ยอมอยู่อย่างเป็นทาสของตัณหา (ตณฺหาทาโส) กลับตั้งใจจะอยู่อย่างผู้ที่รู้ว่าตนมีหน้าที่อย่างไรและพยายามทำหน้าที่หรือกิจของตนให้ดีที่สุดทั้งกิจทางโลกและกิจในอริยสัจ จึงอยู่อย่างอาศัยตัณหาละตัณหา* คือ มีตัณหาที่จะสร้างสิ่งที่ดีเพื่อละตัณหาที่จะทำในสิ่งที่ทำให้เราตกต่ำโดยไม่ใส่ใจคำพูดแสลงหูที่อาจมากระทบ อบรมเมตตาและอภัย มีการเพียรประพฤติไม่ยึดมั่นว่าเป็นของเรา หมั่นมีอินทรีย์สังวรเพื่อปิดกั้นตนจากสิ่งยั่วยุภายนอก ฝึกสติปัฏฐานเพื่อการเกิดขึ้นและรักษากุสลธรรมกับการละและระวังอกุศลธรรมไม่ให้เกิดขึ้นได้ และ เพียรน้อมลงสู่ความว่าง

คนสองคนเมื่อหวังในสิ่งเดียวกัน มีเป้าหมายในชีวิตและการฝึกตนด้วยวิธีเดียวกัน ก็ย่อมทำให้วิถีชีวิตและการเป็นอยู่คล้ายๆกัน จนยากที่จะปีนเกลียวกันได้

ก็จะทำให้สามารถร่วมดูแลซึ่งกันและกันและร่วมดูแลลูกหลานไปตลอด

เพระชีวิตคู่ของทุกคู่ชีวิตก็มีสิทธิ์พบภาวะขาเตียงคลอน หรือ เตียงหัก ได้เสมอค่ะ……………………………………………………..

*“บุคคลเมื่อยังยินดีในตัณหาอยู่ ก็ให้อยู่อย่างเป็นนายของตัณหา ซึ่งการที่จะอยู่อย่างนายของตัณหาก็คืออยู่อย่างอาศัยตัณหาละตัณหา คืออาศัยตัณหาที่มีสร้างสิ่งที่เป็นกุศลให้ยิ่งๆขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งกุศลกรรมนั้นก็คือการมีการปฏิบัติเพื่อให้ตัณหาดับ เมื่อใดที่ศรัทธาและปัญญาเจริญงอกงามขึ้นมาเท่าทัน ตัณหาก็จะถูกละไปได้เอง”

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวฑฺฒโน) ธรรมกถาในการอบรมกรรมฐาน.กรุงเทพ : มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย, ครั้งที่ ๓, พ.ศ. ๒๕๓๗ (หน้า ๑๖๐)

[๑๘๖] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)

กิเลสเครื่องกังวลว่า สิ่งนี้ของเรา

หรือสิ่งนี้ของคนอื่น ย่อมมีในผู้ใด

ผู้นั้นเมื่อไม่ได้ความยึดถือว่าเป็นของเรา

ย่อมไม่เศร้าโศกว่า ของๆเราไม่มี

ขุ.ม.(แปล) ๒๙/๑๘๖/๕๒๕

หมายเลขบันทึก: 570320เขียนเมื่อ 13 มิถุนายน 2014 08:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2014 07:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

เป็นอนิจจังจริงครับ

แต่ชอบดอกไม้ที่พี่วาด

สบายดีไหมครับ

บันทึกอย่างมีความเพียร แน่นสาระ ได้แง่คิด ดอกไม้สวย

ขอบพระคุณอาจารย์ขจิตและคุณสมานมากค่ะ กรุณาฝากความเห้นไว้

รวมถึงทุกท่านที่แวะมาด้วยค่ะ

รักด้วยความคิด ให้ ไม่หวังสิ่งตอบแทนและให้ความรักออกไปถ่ายเดียว

ต้องเพียรฝึกอีกเช่นกันค่ะ

ขอบคุณบันทึกดี ๆ ภาพสวยมาก ๆ  ค่ะพี่ตุ๊กตา

อ่านจนจบ

พบว่า..บุคคลเมื่อยังยินดีในตัณหาอยู่ ก็ให้อยู่อย่างเป็นนายของตัณหา ซึ่งการที่จะอยู่อย่างนายของตัณหาก็คืออยู่อย่างอาศัยตัณหาละตัณหา คืออาศัยตัณหาที่มีสร้างสิ่งที่เป็นกุศลให้ยิ่งๆขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งกุศลกรรมนั้นก็คือการมีการปฏิบัติเพื่อให้ตัณหาดับ เมื่อใดที่ศรัทธาและปัญญาเจริญงอกงามขึ้นมาเท่าทัน ตัณหาก็จะถูกละไปได้เอง

อาศัยมันเพื่อละมันนะครับ...พยายามให้ได้มากเท่าที่ตัวเองจะทำได้ครับ

..

เป็นบันทึกคุณภาพมากเลยครับคุณ ณัฐฯครับ

ขอบคุณนะครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท