633. Positive Deviance (PD): เครื่องมือพัฒนาองค์กรยุคใหม่


Positive Deviance (PD): เครื่องมือพัฒนาองค์กรยุคใหม่

โดยดร.ภิญโญ รัตนาพันธุ์

วิทยาลัยบัณฑิตศึกษาการจัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

บทนำ

ในบทความนี้ผู้เขียนได้นำเสนอเครื่องมือใหม่ที่ใช้สำหรับการพัฒนาองค์กร (Organization Development) ที่เรียกว่า Positive Deviance (PD) ซึ่งเป็นกระบวนการค้นหาบุคคล หรือกลุ่มบุคคลที่มีพฤติกรรม ความสามารถ หรือกลยุทธ์ที่ทำให้ตนเองสามารถแก้ปัญหาบางประการได้ ทั้งๆที่คนในองค์กรส่วนใหญ่ทำไม่ได้ เมื่อค้นพบแล้วองค์กรสามารถถอดแบบความสำเร็จ เพื่อนำมาสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับองค์กร หรือสังคมได้อย่างได้ผล อย่างยั่งยืนโดยลดการพึ่งพิงจากผู้เชี่ยวชาญภายนอก เนื่องจาก PD มีสมมติฐานว่าในทุกชุมชม ทุกองค์กร สมาชิกมีความรู้ มีความสามารถที่จะสามารถแก้ปัญหาของตนเองได้ดีอยู่แล้ว PD จึงเป็นเครื่องมือที่เป็นทางเลือกในการพัฒนาองค์กรที่น่าสนใจมากเครื่องมือหนึ่ง โดยสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับสาขาวิชาใดๆ ก็ได้ไม่ว่าจะเป็นสายบริหาร วิศวกรรม วิทยาศาสตร์สุขภาพ การศึกษา เกษตรกรรม

Abstract

In the article, the authors presents a new tool for organization development called, Positive Deviance (PD). PD is a process for identifying a unique indivdual or group of people who have strategy in dealing with a particular problem, whereas most of people in that communiy are not capable of. Once identified, such startegy can be learned and duplicated by others. This reduces organization's dependency on external expertises. PD is based on the assumption thar every community, organization, their members already have their own excellent solution. Therefore PD is an alternative tool. It can be allplied to diveres fields such as management, engineering, health sciences, education or agriculture.

Keywords

Positive Deviance, PD, Positive Deviants, พัฒนาองค์กร, Organization Development

นิยามและความเป็นมาของ Positive Deviance

Positive Deviance (PD)คือวิธีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมหรือสังคม โดยอาศัยการสังเกตว่าในชุมชนใดๆ จะมีคนคนใดคนหนึ่งหรือกลุ่มคนกลุ่มหนึ่ง (เรียกว่า Positive Deviants) ซึ่งมีความแตกต่างจากคนอื่น เนื่องจากมีพฤติกรรม หรือกลยุทธ์ที่ทำให้พวกเขามีทางแก้ปัญหาที่ดีกว่าคนอื่นๆ ทั้งๆที่บุคคลนั้นๆ หรือกลุ่มคนนั้นๆ ล้วนแล้วได้รับทรัพยากรจากแหล่งเดียวกันที่อาจขาดแคลนเช่นกัน หรือเผชิญความท้าทาย หรืออุปสรรคเช่นเดียวกับคนอื่นๆ แต่กลับประสบความสำเร็จ ในขณะที่คนส่วนใหญ่ไม่ประสบความสำเร็จ PD ถือกำเนิดขึ้นเมื่อทศวรรษ 90 โดยเจอรี่ย์และโมนิค สเตอร์นิน โดยทั้งสองได้เข้ามาช่วยประเทศเวียดนามแก้ปัญหาภาวะทุพโภชนาการ ตามโครงการ Save the Children in Vietnam ซึ่งได้รับการสนับสนุนโดยองค์กรสหประชาชาติ ในครั้งแรกก็ได้ให้ความช่วยเหลือแบบที่ทำกันมาเช่นการรับบริจาค การศึกษา การฝึกอบรม แต่ภาวะทุพโภชนการก็ยังสูงถึง 64% ตอนโครงการจบลง เมื่อไม่มีงบประมาณ และต้องจบโครงการ โดยก่อนสิ้นสุดโครงการไม่นาน ทั้งสองได้ตั้งข้อสังเกต เห็นว่า มีครอบครัวบางครอบครัวในชุมชน ที่แม้ยากจนเหมือนกัน แต่ลูกๆกลับไม่มีภาวะขาดสารอาหาร เมื่อทำการสืบสาวต่อก็พบว่าครอบครัวสองสามครอบครัวดังกล่าวมีพฤติกรรมที่ต่างจากครอบครัวอื่น

เมื่อเข้าไปตรวจสอบโดยละเอียดก็พบว่าครอบครัวดังกล่าวแทนที่จะป้อนข้าวลูกเพียงสองมื้อเหมือนครอบครัวชาวเวียดนามอื่นๆ ทำกัน ครอบครัวนี้ป้อนข้าวลูกสามสี่มื้อต่อวัน โดยมีการเสริมอาหารเด็กด้วยมันหวาน กุ้งและปู ซึ่งชาวเวียดนามมองว่าไม่ค่อยเหมาะสม หลังค้นพบ มีการเอาเรื่องราวนี้คณะผู้วิจัยมิได้เอาไปเล่าต่อเท่านั้น หากแต่มีการจัดโครงการเปลี่ยนพฤติกรรม โดยเชิญคุณแม่ในพื้นที่เป้าหมาย โดยให้นำวัตถุดิบคือมันหวาน กุ้งและปูมาด้วย จากนั้นคณะนักวิจัยจะพาคุณแม่ทั้งหมด ปรุงอาหารแล้วพากันป้อนเด็กตรงนั้นเลย ภายในสองปี ในพื้นที่ทดลอง แนวคิดนี้เผยแพร่ออกไป ภาวะทุพภโภชนการลดลงถึง 85% โดยเมื่อออกจากพื้นที่นี้ไปแล้ว พฤติกรรมการให้อาหารเด็กแบบใหม่นี้ยังคงอยู่ และกลายเป็นวัฒนธรรมใหม่ในที่สุด

(ที่มา: http://www.oxygenpf.com.au/vietnam-trek/)

PD เป็นวิธีการแก้ปัญหาที่เน้นจุดแข็งเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในระดับพฤติกรรมและสังคม วิธีการนี้ช่วยให้ชุมชนค้นพบคำตอบสำหรับปัญหาที่ซับซ้อน ซึ่งเป็นคำตอบที่มีอยู่แล้ว วิธีการแบบ PD แตกต่างจากการแก้ปัญหาแบบเดิมๆ เพราะไม่ได้เน้นที่การดึงทรัพยากรจากภายนอกมาช่วยมากนัก โดยตัวกระบวนการเองจะเน้นที่การเชื้อเชิญให้ชุมชน ร่วมกันค้นหาคำตอบจากชุมชนเอง ซึ่งอาจยั่งยืนและสร้างสรรค์กว่า ปัจจุบันได้มีการใช้ PD แก้ปัญหาในหลายวงการไม่ว่าจะเป็นภาวะทุพโภชนการในเด็ก การแก้ปัญหาเด็กออกจากโรงเรียนก่อนวัยอันควร การติดเชื้อในโรงพยาบาล

PD มีสมมติฐานดังต่อไปนี้

  • ชุมชนมีคำตอบต่อทุกปัญหาอยู่แล้ว คนในชุมชนล้วนเป็นผู้เชี่ยวชาญในการแก้ปัญหาของตนเอง
  • ชุมชนมีการจัดการตนเอง และมีทรัพยากรมนุษย์ รวมทั้งสินทรัพย์สังคมที่จะสามารถนำมาแก้ปัญหาใดๆก็ได
  • ชุมชมมีปัญญาร่วม มีวิีธีการที่ไม่จำเป็นต้องอาศัยการชี้นำจากผู้นำในชุมชน หรือผู้เชี่ยวชาญนอกชุมชนเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ปัญญาดังร่วมดังกล่าวมีอยู่มากมายและหลากหลายในชุมชน ด้วยเหตุนี้ PD จึง พยายามมุ่งที่จะดึงปัญญาร่วมของชุมชนออกมา เพื่อแก้ปัญหาต่างๆ ที่จำเป็นต้องอาศัยการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม หรือการเปลี่ยนแปลงทางสังคม
  • ความยั่งยืนเป็นหัวใจของ PD และ PD เองก็ทำให้ชุมชนหรือองค์กรสามารถสืบค้นและค้นพบคำตอบสู่การแก้ปัญหาที่ยั่งยืนกว่า เนื่องจากเป็นพฤติกรรมที่ไม่ปรกติที่มีการปฏิบัติอยู่แล้วในชุมชน แต่นำไปสู่ความสำเร็จ ภายใต้ขีดจำกัดและความท้าทายในปัจจุบัน
  • การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมใดๆจะมีความเป็นไปได้สูงกว่าหากอาศัยการปฏิบัติ มากกว่าเพียงแค่รู้เฉยๆ

กระบวนการการวิจัยแบบ Positive Deviance

  1. การเชื้อเชิญ: เริ่มต้นด้วยการเชื้อเชิญชาวชุมชน หรือคนในองค์กร ที่ต้องการแก้ปัญหาที่ชุมชนหรือองค์กรเผชิญอยู่ ขั้นตอนนี้สำคัญมากเนื่องจากจะเป็นขั้นแรก ที่ชุมชนจะรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของกระบวนการที่พวกเขาจะนำไปสู่การแก้ปัญหา
  2. การนิยามปัญหา : ชุมชน หรือคนในองค์กรต้องเป็นศูนย์กลางในการกำหนดประเด็นปัญหาด้วยตนเอง ซึ่งมักนำไปสู่การกำหนดประเด็นปัญหาที่ต่างจากความเห็นของ "ผู้เชี่ยวชาญภายนอก" อนึ่งชุมชนควรเป็นผู้รวบรวมข้อมูลเชิงปริมาณเพื่อกำหนดตัวชี้วัด ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ชุมชน หรือคนในองค์กรสะท้อนปัญหาผ่านหลักฐานที่มีตัวเลขประกอบ และเพื่อจะสามารถนำตัวเลขดังกล่าวไปวัดความก้าวหน้าของโครงการได้ ในการเริ่มกระบวนการนี้ชุมชนหรือองค์กรต้องมีการระบุผู้มีส่วนได้เสีย และผู้ตัดสินใจต่างๆให้ได้ตั้งแต่แรก ทั้งนี้ตลอดกระบวนการทำ PD นั้น ชุมชนสามารถดึงผู้มีส่วนได้เสียและผู้ตัดสินใจเข้ามามีส่วนร่วมได้ตลอดเวลาอย่างไม่มีจำกัด
  3. ค้นหาบุคคลหรือกลุ่มคนที่เป็น PD : ขั้นตอนนี้อาศัยการศึกษาข้อมูล และการสังเกต จากนั้นเป็นการระบุหาคนหรือกลุ่มบุคคลที่มีพฤติกรรมแตกต่างจากกลุ่มอื่น (Positive Deviants)
  4. ค้นหาแนวทางการปฏิบัติหรือพฤติกรรมที่ไม่ปรกติแต่สร้างผลกระทบในเชิงบวกสูง: ขั้นตอนนี้เรียกว่าการสืบค้นหา Positive Deviance (Positive Deviance Inquiry) โดยชาวชุมชน หรือคนในองค์กรร่วมกันค้นหาบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่มีพฤติกรรมต่างจากผู้อื่น แต่สามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกได้ (Positive Deviants) จากนั้นช่วยกันถอดพฤติรรม ทัศนคติ หรือความเชื่อที่ทำให้คนหรือบุคคลกลุ่มนั้นสร้างผลกระทบในเชิงบวกให้กับชุมชนหรือองค์กรนั้นๆ หัวใจสำคัญของขั้นตอนนี้มิใช่อยู่ที่การยกย่องใครให้เป็นบุคคลต้นแบบ การค้นหานี้เพื่อยืนยันตัวบุคคลจริง ว่าเป็นบทพิสูจน์ที่มีชีวิตว่ามีบุคคล "ในชุมชนหรือองค์กร" ที่ได้แก้ปัยหาดังกล่าวได้แล้ว โดยไม่ต้องพึ่งพิง "ผู้เชี่ยวชาญจากภายนอก"
  5. การออกแบบโครงการ: หลังจากที่ชุมชน หรือองค์กรค้นพบกลยุทธ์ที่ออยู่เบื้องหลังความสำเร็จแล้ว ชาวชุมชนจะช่วยกันกำหนดว่าจะยอมรับ "กลยุทธ์" ใดบ้าง จากนั้นจะช่วยกันวางแผนขยายผล เพื่อให้ชาวชุมชนอื่นๆเลียนแบบกลยุทธ์ความำสเร็จนั้น อนึ่งการทำ PD จะไม่เน้นการขยายผลโดยการเล่าเรื่อง "แบบอย่างที่ดีที่สุด (Best Practice)” เท่านั้น หากแต่จะช่วยชาวชุมชนเรียนรู้จากการปฏิบัติจริงด้วย
  6. การติดตามผลและการประเมินผล: การติดตามและประเมินผลโครงการ PD จะทำผ่านกระบวนการที่เน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน ดังนั้นชุมชนจะเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะติดตามผลและประเมินอย่างไร และเมื่อไร เครื่องมือที่ชุมชนเลือกใช้ก็จะเหมาะกับบริบทของโครงการนั้นๆ ด้วยเหตุนี้แม้กระทั่งชุมชนที่รู้หนังสือน้อยมาก ก็จะสามารถติดตามผลได้โดยอาศัยรูปภาพ และเครื่องมือที่เหมาะสมอื่นๆ การประเมินผลจะเปิดโอกาสให้ชาวชุมชนสามารถเห็นความก้าวหน้าของโครงการ เมื่อเทียบกับเป้าหมายและช่วยให้สามารถเกิดการตอกย้ำพฤติกรรม ทัศนคติและความเชื่อใหม่ๆ ได้มากยิ่งขึ้น
  7. การขยายผลในมิติที่ใหญ่ขึ้น: การขยายผลโครงการ PD ในสามารถทำให้เกิดขึ้นได้โดยผ่านการสังเกตเห็นความสำเร็จของชุมชนอื่นๆ โดยผ่านการประสานของนักวิจัย หรือที่ปรึกษานักพัฒนาองค์กร แต่อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะขยายตัวไปในระดับใด กระบวนการค้นหา PD ของชุมชนยังคงเป็นหัวใจสำคัญต่อการยอมรับพฤติกรรม ทัศนคติและความรู้ใหม่ๆ

กรณีศึกษา Positive Deviance ที่โรงพยาบาลป่าติ้ว จังหวัดยโสธร

ที่โรงพยาบาลป่าติ้วจังหวัดยโสธร มีการพัฒนาโครงการวิจัยจากงานประจำ (Umboon S., Lakornwong N., Ruangchaivut E. And Rattanaphan P. (2012) เกี่ยวกับโรคกลัวเข็มฉีดยาขึ้นมาก ถือเป็นตัวอย่างการทำ Positive Deviance ได้เป็นอย่างดี โดยดำเนินการตามขั้นตอนดังนี้

  1. การเชื้อเชิญ: เริ่มด้วยการเชิญชวนบุคลากรโรงพยาบาลเข้าร่วมโครงการวิจัย R2R
  2. การนิยามปัญหา : บุคลากรระบุปัญหาเจอเจาะเข็มน้ำเกลือเข้าเส้นพบว่ามีพยาบาลบางท่านเจาะหลายครั้งไม่เข้า โดยจากการเก็บสถิติระหว่างวันที่ 1-31 ธันวาคม พศ. 2555 ในผู้ป่วย 60 คน พบว่ามีอัตราการฉีดเข้าเส้นครั้งเดียวเพียง 75%
  3. ค้นหาบุคคลหรือกลุ่มคนที่เป็น PD : จากการสอบถามค้นพบว่ามี Positive Deviants คือมีพยาบาลสองท่านที่ "เจาะ" ครั้งเดียวเข้า คือมีอัตราการเจาะเข็มนำ้เกลือเข้าเส้นเลือกครั้งเดียวสูงมาก
  4. ค้นหาแนวทางการปฏิบัติหรือพฤติกรรมที่ไม่ปรกติแต่สร้างผลกระทบในเชิงบวกสูง: มีการสอบถาม คณะพยาบาลในโรงพยาบาลแนะนำว่าควรให้พยายาลสองท่านนี้เปิดการอบรมให้คนอื่นที่เหลือ
  5. การออกแบบโครงการ: นัดหมายสาธิต ฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการโดยให้พยาบาลสองท่านนี้เป็นโค้ชฝึกอบรมพยาบาลอีก 6 ท่าน
  6. การติดตามผลและการประเมินผล: จากการติดตามหลังการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการค้นพบว่าาอัตรการเจาะเข็มน้ำเกลือเข้าเส้นรั้งเดียว เพิ่มจาก 25% เป็น 75%
  7. การขยายผลในมิติที่ใหญ่ขึ้น: คณะนักวิจัยมีการไปนำเสนอผลงานที่งานประชุมด้านการพัฒนาองค์กรระดับนานาชาติคือ The 2012 AI Summit In Bangkok และได้มีการนำ PD ไปขยายผลในงานวิจัยด้านอื่นๆได้

.

(ที่มา: www.aithailand.org)

สรุป

Positive Deviance (PD) คือวิธีการค้นหาบุคคล หรือกลุ่มบุคคลที่มีทักษะ ความสามารถ หรือกลยุทธ์ที่พิเศษ ที่สามารถแก้ปัญหาที่ซับซ้อนของชุมชน หรือองค์กรได้ภายใต้เงื่อนไข อุปสรรคแบบเดียวกันกับคนอื่น แต่คนส่วนใหญ่ไม่สามารถแก้ปัญหานั้นได้ PD ถือเป็นทางเลือกใหม่ในการพัฒนาองค์กร ชุมชน หรือแม้กระทั่งการวิจัยแนวอื่นๆ องค์ประกอบสำคัญของการทำ PD คือการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน หรือองค์กรที่เข้ามาค้นหาปัญหา และร่วมรับผิดชอบโครงการตั้งแต่ต้นจนจบ โดยร่วมค้นหาบุคคลหรือกลุ่มบุคคลพิเศษที่สามารถแก้ปัญหาที่คนอื่นแก้ไม่ได้ จากนั้นร่วมกันนำมาขยายผลโดยไม่เน้นที่การเล่ากรณีศึกษาความสำเร็จ แต่เน้นการเปลี่ยนแปลงโดยการปฏิบัติจริง ซึ่งสร้างความสำเร็จและความยั่งยืนให้กับโครงการมากกว่า

เอกสารอ้างอิง:

Tuhus-Dubrow, R. The Power of Positive Deviants: A promising new tactic for changing communities from the inside. Boston Globe. November 29, 2009

Umboon S., Lakornwong N., Ruangchaivut E. and Rattanaphan P. (2012). Appreciative R2R. Proceeding in the 2012 AI Summit in Bankok.

หมายเลขบันทึก: 570316เขียนเมื่อ 13 มิถุนายน 2014 07:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 กรกฎาคม 2017 10:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

มีการพัฒนาองค์กรหลายเรื่องเลยนะครับ

ชอบใจๆๆ

ตอนนี้ผมลงมือปฏิบัติแล้วครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท