Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

แม่บัวติ๊บอาจฟ้องบริษัทนายจ้างต่อศาลแรงงานไทย แม้ข้อพิพาทในสัญญาจ้างแรงงานเกิดในประเทศเมียนม่าร์ก็ตาม


กรณีศึกษานางบัวติ๊บ : การกำหนดเขตอำนาจของศาลไทยเหนือคดีพิพาทระหว่างนางบัวติ๊บและบริษัท บ้านสวยริมเมย จำกัดในเรื่องค่าจ้างแรงงาน

โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

กรณีศึกษาในวิชากฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล

เมื่อวันที่ ๑๙ พฤษภาคมพ.ศ.๒๕๕๗

https://www.facebook.com/note.php?saved&&note_id=10152478532318834

------------

ข้อเท็จจริง[1]

------------

โรงพยาบาลอุ้มผางซึ่งเป็นหนึ่งในสี่ภาคีจากภาคประชาสังคมที่เข้าร่วมทำงานภายใต้ “โครงการศึกษาวิจัยและให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิเด็กและผู้ด้อยโอกาสในชุมชนจังหวัดตากและชุมชนกลุ่มจังหวัดชายแดนในประเทศไทย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕ – พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๙” ได้มีคำร้องมายังคณะผู้ศึกษาวิจัยภายใต้โครงการดังกล่าวเมื่อวันที่ ๒๗ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๕ ทั้งนี้ นางจันทราภา จินดาทอง นักสังคมสงเคราะห์ประจำโรงพยาบาลอุ้มผางได้มีข้อหารือมายังคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ดังนี้

“น้องโลตัส” หรือ “เด็กชายจิตติพัฒน์” เกิดเมื่อวันที่ ๑๗ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๕ ณ โรงพยาบาลอุ้มผาง จากเด็กหญิงมะซาว ซึ่งเป็นชาวเมียนม่าร์อายุประมาณ ๑๔ ปี รับจ้างเลี้ยงวัวและดูแลสวนยางพาราอยู่ที่หมู่บ้านเจ่โด่ง เลยชายแดนเปิ่งเคลิ่งเข้าไปเขตประเทศเมียนม่าร์ เมื่อมารดาไม่มีชื่อในทะเบียนราษฎรทั้งของประเทศเมียนม่าร์และประเทศไทย จึงไม่มีบัตรประจำตัวของคนสัญชาติของทั้งสองประเทศที่เกี่ยวข้องรวมถึงประเทศใดเลยบนโลก นางจันทราภาจึงได้ออกหนังสือรับรองการเกิด (ท.ร.๑/๑) ของโรงพยาบาลอุ้มผางให้ และดำเนินการแจ้งการเกิดของน้องโลตัสในทะเบียนประวัติบุคคลซึ่งไม่มีสถานะทางทะเบียนให้แก่น้องโลตัสต่ออำเภออุ้มผาง อำเภอดังกล่าวได้บันทึกรายการสถานะบุคคลของน้องโลตัสในทะเบียนประวัติเพื่อบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนราษฎร (ท.ร.๓๘ ก) และให้มีเลขประจำตัวประชาชน ๑๓ หลัก ขึ้นต้นด้วยเลข ๐

ด้วยโรงพยาบาลอุ้มผางตระหนักว่า มารดายังเป็นเด็กวัยเยาว์ จึงไม่ยังไม่มีความพร้อมที่จะดูแลเด็กวัยเยาว์อย่างเหมาะสม ดังนั้น นางจันทราภาจึงหารือประชาสังคมรอบโรงพยาบาลอุ้มผางถึงความเป็นไปได้ที่จะดูแลน้องโลตัส มีบุคคลในหลายครอบครัวเสนอที่จะเป็น “ครอบครัวบุญธรรม” ให้แก่น้องโลตัส ซึ่งทางโรงพยาบาลอุ้มผางได้เลือกครอบครัวของนางบัวติ๊บและนายสุริยา ครอบครัวนี้อาศัยอยู่ในอำเภออุ้มผางนั้นเอง นางบัวติ๊บและนายสุริยาสมรสกันมานาน แต่ไม่มีบุตร การได้รับมอบหมายจากโรงพยาบาลอุ้มผางให้ดูแลน้องโลตัสในระหว่างกระบวนการตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองเด็กที่ขาดไร้บุพการี จึงเป็นการสร้างครอบครัวที่อบอุ่นมากขึ้นให้แก่ทั้งบุคคลทั้งสองและน้องโลตัสเอง

นางบัวติ๊บและนายสุริยาจดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมายในวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๔ การก่อตั้งครอบครัวระหว่างบุคคลทั้งสองจึงเป็นไปตามกฎหมายไทย ทั้งสองคนมีอาชีพทำไร่ทำสวน ฐานะปานกลาง มีความขยันหมั่นเพียร

นางบัวติ๊บจะยังประสบปัญหาความไร้สัญชาติ เพราะเธอไม่ได้รับการรับรองสถานะคนสัญชาติโดยรัฐใดเลยบนโลก แต่เธอมีสถานะเป็นราษฎรไทยในทะเบียนบ้านคนที่มีสิทธิอาศัยอยู่ชั่วคราว (ท.ร.๑๓) ตามกฎหมายไทยว่าด้วยการทะเบียนราษฎร เธอถือบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยที่ออกโดยอธิบดีกรมการปกครองโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายไทยว่าด้วยการทะเบียนราษฎร เธอมีเลขประจำตัวประชาชน ๑๓ หลักขึ้นต้นด้วยเลข ๖ เธอเป็นบุตรสาวคนโตของนายลูลู และนางเพียง ซึ่งเกิดที่ประเทศเมียนม่าร์ เมื่อราว พ.ศ.๒๕๓๐

เธอเข้ามาในประเทศไทยทางฝั่งบ้านเปิ่งเคลิ่ง ตำบลแม่จัน อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก ตั้งแต่ยังแบเบาะ บัวติ๊บมีพี่น้องร่วมบิดามารดาอีก ๒ คน ได้แก่ (๑) นายสุขซึ่งเกิดที่บ้านเปิ่งเคลิ่งเมื่อราว พ.ศ.๒๕๓๑ ซึ่งเพิ่งได้รับการเพิ่มชื่อใน ท.ร.๑๔ เป็นบุคคลสัญชาติไทยตามมาตรา ๒๓ แห่ง พรบ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑ เมื่อวันที่ ๒๔ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๒ และ (๒) เด็กหญิงสาวิกา ซึ่งเกิดเมื่อวันที่ ๓ กันยายน พ.ศ.๒๕๔๘ ที่โรงพยาบาลอุ้มผาง สาวิกาถูกบันทึกใน ท.ร.๑๓ แต่ทะเบียนบ้านนี้ระบุว่า สาวิกาไม่มีสัญชาติไทย และมีเลขประจำตัวประชาชน ๑๓ หน้า ขึ้นต้นด้วยเลข ๗

ขณะนี้นางบัวติ๊บ นายลูลู (บิดา) และนางเพียง (มารดา) อยู่ระหว่างการยื่นคำร้องขอรับรองสถานะคนต่างด้าวที่เข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมายและมีสิทธิอาศัยถาวรตามกฎหมายไทยว่าด้วยคนเข้าเมือง ส่วนเด็กหญิงสาวิกาอยู่ในระหว่างการยื่นคำร้องขอสัญชาติไทยต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยตามกฎหมายไทยว่าด้วยสัญชาติ

ส่วนนายสุริยา อินเสาร์ ได้รับการรับรองสถานะคนสัญชาติไทยในทะเบียนราษฎรของรัฐไทยในทะเบียนบ้านคนอยู่ถาวร (ท.ร.๑๔) ในสถานะคนสัญชาติไทย เขามีเลขประจำตัวประชาชน ๑๓ หลัก ขึ้นต้นด้วยเลข ๓

--------

คำถาม

--------

หากบริษัท บ้านสวยริมเมย จำกัด ซึ่งประกอบการบ้านพักตากอากาศที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก รับนางบัวติ๊บเข้าทำงานเป็นลูกจ้างของบริษัทดังกล่าว โดยให้ทำหน้าที่พนักงานทำความสะอาดบ้านพักตากอาการของบริษัท ซึ่งตั้งอยู่ในบ้านก้อเชอ จังหวัดกะเหรี่ยง ประเทศเมียนม่าร์

สัญญาจ้างแรงงานระหว่างบริษัท บ้านสวยริมเมย จำกัด และนางบัวติ๊บ ทำ ณ ตูกับสูรีสอร์ท อำเภออุ้มผาง ประเทศไทย

อนึ่ง บริษัท บ้านสวยริมเมย จำกัด เป็นบริษัทตามกฎหมายไทย ซึ่งมีสำนักงานแห่งใหญ่ตั้งอยู่ในประเทศญี่ปุ่น โดยมีหุ้นส่วนข้างมากเป็นคนสัญชาติญี่ปุ่น ในขณะที่หุ้นส่วนข้างน้อยมีสัญชาติเมียนม่าร์ บริษัทนี้มีบ้านพักตากอากาศตั้งอยู่ทั้งในประเทศไทยและประเทศเมียนม่าร์

หากนางบัวติ๊บไปทำงานตามสัญญาจ้างแรงงานกับบริษัท บ้านสวยริมเมย จำกัด บริษัทนายจ้างได้มอบหมายให้เธอมีหน้าที่เป็นผู้จัดการบ้านพักตากอากาศของบริษัทดังกล่าว ซึ่งตั้งอยู่ที่บ้านก้อเชอ จังหวัดกะเหรี่ยง ประเทศเมียนม่าร์

หากมีข้อพิพาททางแรงงานเกิดขึ้นระหว่างนางบัวติ๊บและบริษัท บ้านสวยริมเมย จำกัด จนทำให้บริษัท บ้านสวยริมเมย จำกัด บอกเลิกการจ้างแรงงานกับนางบัวติ๊บ และปฏิเสธที่จะจ่ายค่าจ้างแรงงานที่ยังค้างอยู่หลังการบอกเลิกการจ้างแรงงาน

โดยหลักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล ถามว่า ศาลไทยจะรับคำฟ้องของนางบัวติ๊บที่ฟ้องต่อศาลนี้ให้บังคับ บริษัท บ้านสวยริมเมย จำกัด ให้จ่ายค่าจ้างแรงงานที่ยังค้างอยู่หลังการบอกเลิกการจ้างแรงงาน หรือไม่ เพราะเหตุใด[2]

---------------

แนวคำตอบ

----------------

โดยหลักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล ปัญหาว่า ศาลไทยอาจจะรับคำฟ้องหรือไม่นั้น ย่อมขึ้นอยู่กับกฎหมายมหาชนของรัฐคู่กรณี ซึ่งเมื่อคดีถูกฟ้องต่อศาลไทย กฎหมายมหาชนของรัฐคู่กรณีในที่นี้ ก็คือ กฎหมายวิธีพิจารณาความแรงงานของรัฐไทยซึ่งเป็นกฎหมายของรัฐเจ้าของศาล ซึ่งในที่นี้ ก็คือ พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ นั่นเอง

โดยมาตรา ๓๓ แห่ง พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒บัญญัติว่า

คำฟ้องคดีแรงงานให้เสนอต่อศาลแรงงานที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาลแรงงานนั้น ถ้าโจทก์มีความประสงค์จะยื่นคำฟ้องต่อศาลแรงงานที่โจทก์หรือจำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลแรงงาน เมื่อโจทก์แสดงให้ศาลแรงงานเห็นว่าการพิจารณาคดีในศาลแรงงานนั้น ๆ จะเป็นการสะดวก ศาลแรงงานจะอนุญาตให้โจทก์ยื่นคำฟ้องตามที่ขอนั้นก็ได้

เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ ให้ถือว่าสถานที่ที่ลูกจ้างทำงานเป็นที่ที่มูลคดีเกิดขึ้น

ไม่ว่าการดำเนินกระบวนพิจารณาจะได้ดำเนินไปแล้วเพียงใด ก่อนศาลแรงงานมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดี คู่ความอาจร้องขอต่อศาลแรงงานที่โจทก์ได้ยื่นคำฟ้องไว้ ขอให้โอนคดีไปยังศาลแรงงานอื่นที่มีเขตอำนาจได้ แต่จะต้องยกเหตุผลและความจำเป็นขึ้นอ้างอิง เมื่อศาลแรงงานพิจารณาเห็นสมควรจะมีคำสั่งอนุญาตตามคำขอนั้นก็ได้ แต่ห้ามมิให้ศาลแรงงานออกคำสั่งเช่นว่านั้น เว้นแต่ศาลแรงงานที่จะรับโอนคดีไปนั้นได้ยินยอมเสียก่อน ถ้าศาลแรงงานที่จะรับโอนคดีไม่ยินยอมก็ให้ศาลแรงงานที่จะโอนคดีนั้นส่งเรื่องให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางชี้ขาด คำชี้ขาดของอธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางให้เป็นที่สุด”

จึงสรุปเป็นหลักได้ว่า ศาลแรงงานไทยย่อมมีเขตอำนาจเหนือคดีพิพาทเรื่องค่าจ้างแรงงานระหว่างนางบัวติ๊บและบริษัทสวนสวยริมเมย จำกัด เมื่อ (๑) ศาลแรงงานที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาลแรงงานนั้น และ (๒) ศาลแรงงานที่โจทก์หรือจำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลแรงงานถ้าโจทก์มีความประสงค์จะยื่นคำฟ้องต่อ

เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า “หากนางบัวติ๊บไปทำงานตามสัญญาจ้างแรงงานกับบริษัท บ้านสวยริมเมย จำกัด บริษัทนายจ้างได้มอบหมายให้เธอมีหน้าที่เป็นผู้จัดการบ้านพักตากอากาศของบริษัทดังกล่าว ซึ่งตั้งอยู่ที่บ้านก้อเชอ จังหวัดกะเหรี่ยง ประเทศเมียนม่าร์” หากพิจารณาว่า ข้อพิพาทที่เสนอต่อศาลเป็นข้อพิพาทอันเกิดจากสัญญาจ้างแรงงานซึ่งมูลคดีนี้ไม่ได้เกิดในประเทศไทย อันอาจสรุปได้ว่า ศาลไทยจึงไม่มีเขตอำนาจเหนือข้อพิพาท

แต่อย่างไรก็ตาม ถ้านางบัวติ๊บ โจทก์มีความประสงค์จะยื่นคำฟ้องต่อศาลแรงงานที่ตนมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลแรงงาน นางบัวติ๊บก็จะต้องแสดงให้ศาลแรงงานเห็นว่า ตนตั้งบ้านเรือนอยู่ในประเทศไทย อันทำให้มีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทย และการพิจารณาคดีในศาลแรงงานไทยจะเป็นการสะดวก ศาลแรงงานไทยก็จะอนุญาตให้โจทก์ยื่นคำฟ้องตามที่ขอนั้น ก็ได้

ดังนั้น ศาลไทยจึงอาจรับคำฟ้องที่นางบัวติ๊บฟ้องบริษัท สวนสวยริมเมย จำกัด เป็นจำเลยได้ เพราะมาตรา ๓๓ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งกำหนดให้ศาลไทยมีเขตอำนาจเหนือคดีเกี่ยวกับการจ่ายค่าจ้างแรงงาน หากจะเป็นการสะดวกแก่นางบัวติ๊บ ผู้เป็นโจทก์

----------------------------------------------


[1] เค้าโครงของเรื่องมาจากเรื่องจริงซึ่งผู้ออกข้อสอบน ามาจากข้อมูลการท างานภายใต้ “โครงการศึกษาวิจัยและให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิเด็กและผู้ด้อยโอกาสในชุมชนชายแดนไทย – เมียนม่าร์ ประจ าปีการศึกษา ๒๕๕๖” ซึ่งเป็นงานในปีที่ ๒ ของ “โครงการศึกษาวิจัยและให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิเด็กและผู้ด้อยโอกาสในชุมชนจังหวัดตากและชุมชนกลุ่มจังหวัดชายแดนในประเทศไทย ระหว่างปี พ.ศ.๒๕๕๕-๒๕๕๙” กรณีศึกษานี้ถูกเผยแพร่ครั้งแรกต่อสาธารณชนในการประชุมวิชาการเรื่อง “สถานการณ์ส าคัญเกี่ยวกับความเป็นไปได้ทางกฎหมายและนโยบายของรัฐไทยและผูกพันรัฐไทย ในการจัดการปัญหาความด้อยโอกาสของเด็กและเยาวชนข้ามชาติจากเมียนม่าร์ โดยผ่าน ๑๕ กรณีศึกษาหลักและกรณีศึกษาในสถานการณ์เดียวกันที่เสนอโดยเจ้าของปัญหาเองและคนท างานในภาคประชาสังคม” ในวันที่ ๑๕ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๗ เวลา ๙.๐๐ – ๑๒.๐๐ น. ณ ห้องประชุมอำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก บุคคลในกรณีศึกษาประสงค์ที่จะให้คณะผู้ศึกษาวิจัยใช้เรื่องราวของตนเป็นกรณีศึกษาต้นแบบเพื่อสร้างสูตรสำเร็จให้การให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนในสถานการณ์เดียวกัน จึงประสงค์ให้ใช้ชื่อจริงของเจ้าของปัญหาเอง

อนึ่ง ข้อเท็จจริงเก็บและบันทึกโดย อ.ดร.รัชนีกร ลาภวณิชชา อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนางสาววิกานดา พัติบูรณ์ ผู้ช่วยทางวิชาการในโครงการบางกอกคลินิก คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในระหว่างการลงพื้นที่อ าเภออุ้มผาง จังหวัดตาก ระหว่างวันที่ ๑๔ – ๑๗ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๗

[2] ข้อสอบความรู้ชั้นปริญญาตรี ภาคบัณฑิต คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิทยาเขตท่าพระจันทร์ การสอบภาคแก้ตัว ประจำปีการศึกษา ๒๕๕๖ วิชาบังคับ ชั้นปีที่ ๔ วันที่ ๗ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๗

หมายเลขบันทึก: 569805เขียนเมื่อ 5 มิถุนายน 2014 00:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 มิถุนายน 2014 00:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท